1.

นักรบผู้ยึดมั่นวิถีแห่ง ‘บูชิโด’ (Bushido) ฟาดฟันกำราบศัตรูด้วยดาบคาตานะ ยอมมือเปื้อนเลือดเพื่อเถลิงอำนาจผู้เป็นนายสู่ตำแหน่งโชกุน (Shogun) นั่นจึงทำให้อาชีพซามูไร (Samurai) มีเกียรติ ศักดิ์ศรี และเป็นส่วนหนึ่งบนหน้าประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ก่อนจะถูกลดทอนบทบาทในยุคสมัยเอโดะ และหมดสิ้นเมื่อเข้าสู่ยุคสมัยเมจิจากการปฏิวัติระบบการปกครอง เพื่อเปิดประตูมุ่งสู่โลกาภิวัตน์ตามอย่างชาติตะวันตก

ด้วยตำนานร้อยแปดที่เอ่ยเท่าไรก็ไม่จบ ทำให้เรื่องราวของซามูไรยังคงถูกเล่าปากต่อปากโดยเฉพาะภาพยนตร์ ซีรีส์ และสารคดี บ้างก็ถูกเติมแต่งใส่ความแฟนตาซีเพิ่มอรรถรส เหมือนที่เรื่อง ‘Shogun’ ซีรีส์แนวย้อนยุคที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายของ เจมส์ คลาเวลล์ (James Clavell) กำลังฉายในแพลตฟอร์ม Disney+ ซึ่งมีเนื้อหาเล่าถึงญี่ปุ่นปลายสมัยเซ็นโกคุ (Sengoku) ที่เหล่าบรรดาซามูไรถูกแบ่งเป็นก๊ก และเข้าห้ำหั่นกันเพื่อตำแหน่งจอมทัพสูงสุด หรือที่รู้จักกันดีในนาม ‘โชกุน’

ถึงกระนั้น หากถอดความแฟนตาซีและภาพจำที่เห็นในภาพยนตร์ ปัจจุบันสถานะของเหล่าตระกูลซามูไรกลับแปรเปลี่ยนชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ถอดเสื้อเกราะหลายพันชั่ง วางดาบที่เป็นดังหัวใจสำคัญลง แล้วหันมาใส่สูทผูกเนกไทเจรจาธุรกิจแทนเสียอย่างนั้น

พูดให้เห็นภาพชัดเจน คือหลายอุตสาหกรรมชั้นนำและเศรษฐกิจในญี่ปุ่น ณ เวลานี้ ล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยหน่อเนื้อเชื้อไขของอดีตเหล่าซามูไรผู้องอาจ ว่าแต่จากวิถีบูชิโดพลิกมาเกี่ยวข้องกับเรื่องของธุรกิจได้อย่างไรกันล่ะ?

2.

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจว่า แม้กาลเวลาจะล่วงเลยมานานหลายร้อยปี แต่หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า ลึกๆ แล้ว DNA วิถีความเป็นซามูไรยังคงแทรกซึมอยู่ในสายเลือดของชาวญี่ปุ่น สะท้อนผ่านบุคลิกและคุณลักษณะการวางตัวต่างๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเรื่องของความภักดีที่มีต่อองค์กรดังทำงานถวายหัวต่อโชกุน การวางตัว มารยาททางสังคม แม้แต่การให้เกียรติคู่แข่งก็เป็นเรื่องที่พวกเขาให้ความสำคัญเช่นกัน ดังที่เรามักกล่าวว่า ถ้าจะเอาอย่างเรื่องระเบียบและมารยาทให้เอาอย่างคนญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง

เช่นนั้น จุดเปลี่ยนใดที่ทำให้เหล่าซามูไรละทิ้งความเป็นนักสู้แล้วหันมาสนใจด้านการค้าขายกันล่ะ?

เรื่องนี้มีบันทึกในสมัยยุคเมจิให้เห็นอยู่มากมาย ในชื่อเหตุการณ์ ‘การปฏิวัติเมจิ’  (Meiji Revolution) หลังเข้าสู่ศตวรรษที่ 17 ชาติตะวันตกหลายชาติเริ่มแสวงหาความรุ่งโรจน์ด้วยการล่าอาณานิคม ซึ่งประเทศญี่ปุ่นคือหนึ่งในจุดหมายปลายทางของชาวตะวันตกเช่นกัน 

กระทั่งปี 1853 สหรัฐอเมริกา คือชาติแรกที่สามารถสั่นคลอนระบบการปกครองแบบรัฐโชกุนได้สำเร็จ จากการรุกล้ำอ่าวโตเกียว ซึ่งตรงกับสมัยของโชกุน โทกุงาวะ อิเอซาดะ (Tokugawa Iesada) โดยบังคับให้ญี่ปุ่นเปิดน่านน้ำชิโมดะ (Shimoda) และฮาโกดาเตะ (Hakodate) เพื่อเปิดทางสำหรับการเข้ามาแย่งชิงทรัพยากรพื้นอันอุดมสมบูรณ์ รวมไปถึงเข้ามาทำการค้า ซึ่งแต่เดิมชาติตะวันตกมีเพียงฮอลันดา (เนเธอร์แลนด์ในปัจจุบัน) เท่านั้น

ด้วยความที่เป็นประเทศปิดมาตลอด ยุทโธปกรณ์ต่างๆ หรือพาหนะที่จะสามารถต่อกรอริต่างแดนจึงเป็นไปได้ยาก ซ้ำยังต้องกลืนน้ำลายจำใจเปิดบ้านให้เขาเข้ามาเสียโดยดี สร้างความความไม่พอใจแก่กลุ่มปัญญาชนและขุนนางส่วนหนึ่งพอสมควร

3.

เมื่อระบอบการปกครองแบบรัฐโชกุนถึงคราวสั่นคลอน ผนวกกับที่ผ่านมารูปแบบการปกครองดังกล่าวนำมาซึ่งการแก่งแย่ง ฆ่าฟันนองเลือดอยู่เป็นนิจ กลุ่มปัญญาชนจึงจัดตั้งกลุ่มคณาธิปไตยเมจิ (Meiji Oligarchy) และเตรียมอัญเชิญพระจักรพรรดิโคเม (Emperor Komei) ขึ้นครองราชย์ กระทั่งเกิดสงครามกลางเมือง (Boshin War) ล้มล้างระบอบโชกุน ผลคือ โทกุงาวะ โยชิโนบุ (Tokugawa Yoshinobu) โชกุนคนสุดท้ายตัดสินใจสละอำนาจ กลุ่มคณาธิปไตยเมจิจึงเชิญเจ้าชายมุตสึฮิโตะ (Mutsuhito) เถลิงราชย์เป็นพระจักรพรรดิองค์ใหม่ในปี 1867 แทนที่พระจักรพรรดิโคเมที่สิ้นพระชนม์ไปก่อนหน้า 

เมื่อเริ่มต้นสู่ยุคเมจิ สังคมของชาวญี่ปุ่นพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมืออีกครั้ง แต่เดิมที่ดำรงอยู่ได้ด้วยสังคมการเกษตรเป็นหลัก แต่เมื่อเข้าสู่ยุคใหม่การจะวิ่งตามขาติอื่นให้ทัน ย่อมต้องเน้นเรื่องของ ‘เศรษฐกิจ’ ที่ดำเนินด้วยระบบ ‘อุตสาหกรรมใหม่’ โดยที่พวก ‘พ่อค้า’ มีส่วนสำคัญเสียยิ่งกว่านักรบ 

ดังนั้น ซามูไรบางส่วนจึงปรับตัวเข้ากับยุคสมัยใหม่นี้ โดยส่วนใหญ่เน้นไปที่การทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรและเหล็กเป็นหลัก ไม่ช้า จึงกำเนิดกลุ่มพ่อค้าที่พื้นเพเดิมคือเหล่าซามูไรหรือขุนศึกศักดินา ในชื่อเรียกว่า ‘ไซบัตสึ’ (Zaibatsu) หรือกลุ่มการค้าขนาดใหญ่ที่ขึ้นตรงต่อจักรพรรดิ 

การกำเนิดของไซบัตสึไม่ใช่เพียงกลุ่มเจ้าสัวธรรมดาที่ซื้อขายกันเพียงแค่สิ่งทอ ผลผลิตทางการเกษตร หรือปศุสัตว์ตามที่เห็นในหนังแนวย้อนยุค เพราะอำนาจของไซบัตสึเปรียบเสมือน ‘ลมใต้ปีก’ ของจักรพรรดิในยามที่ระบบการปกครองนี้เพิ่งตั้งไข่ 

โดยตระกูลในกลุ่มไซบัตสึที่มีฐานะร่ำรวยเป็นทุนเดิมตั้งแต่ยุคสมัยปกครองด้วยโชกุน ได้รับคำเชิญจากจักรพรรดิให้รับหน้าที่เป็น ‘รัฐวิสาหกิจ’ ดูแลในส่วนของธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์ การคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ ธุรกิจเหมืองต่างๆ ซึ่งแร่เหล็กส่วนใหญ่ที่อยู่ในมือของไซบัตสึ ล้วนถูกนำไปใช้แปรรูปเป็นวัตถุดิบสร้างอาวุธให้ทันสมัยเทียบชาติตะวันตก แม้แต่เรื่องของการศึกษาเองพวกเขาก็มีส่วนในการสร้างสถานศึกษาเช่นกัน

นั่นจึงทำให้ญี่ปุ่นในเวลานั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดด แม้ช่วงเริ่มแรกจะมีการปะทะกับเหล่ากลุ่มซามูไรหรือโรนิน โดยเฉพาะกลุ่มกบฏซัตสึมะ (Satsuma rebellion) ที่มี ไซโก ทากาโมริ (Saigo Takamori) ซามูไรคนสุดท้ายเป็นผู้นำ

4.

หลังปราบกบฏซัตสึมะสำเร็จ ต่อด้วยการกำชัยเหนือศึกจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 อำนาจของญี่ปุ่นก็แผ่กระจายอำนาจไปทั่วเอเชีย ในขณะที่กลุ่มไซบัตสึก็ยังคงอำนาจ จากเดิมที่สร้างเครือข่ายอำนาจในฐานะนักรบ แปรเปลี่ยนเป็นเพิ่มฐานบริษัทลูกรายย่อยเพื่อระดมทุนกอบโกยกำไร 

อย่างไรก็ตาม ตามที่ทราบกันดีในหน้าประวัติศาสตร์ว่า จักรวรรดิญี่ปุ่นทะเยอทะยานเสียจนกลายเป็นมีดย้อนคมในเวลาถัดมา เมื่อพวกเขาพ่ายแพ้ในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 และพบกับโศกนาฏกรรมจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมา (Hiroshima) และนางาซากิ (Nagasaki)

ท่ามกลางซากปรักหักพัง ฝุ่นควัน และเสียงร่ำไห้ สายเลือดบูชิโดทั้งหลายที่ยังเหลือรอด กลับเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศอันเจิดจรัสนี้ไม่มีวันมอดดับลง เมื่อมีบรรทัดฐานทางสังคม วัฒนธรรม และจารีต ที่แข็งแรงซึ่งเป็นรากฐานส่วนหนึ่งที่มาจากยุคของซามูไร 

เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรม ที่แม้โรงงานส่วนใหญ่กว่า 80% จะถูกทำลายไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่พวกเขาก็ค่อยๆ ใช้เวลาเพียงไม่กี่สิบปีในการฟื้นตัว เช่นเดียวกับเลือดนักสู้บูชิโดที่กดความเจ็บปวดจากการสูญเสีย และลุกขึ้นมาเชิดหน้าลุยต่ออีกครั้ง กระทั่งเกิดเป็นภาพของญี่ปุ่นตามที่เห็นในปัจจุบัน คือเป็นผู้นำภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีอันดับต้นๆ ของโลก

โดยที่เหล่าตระกูลซามูไรก็ยังคงหลงเหลือให้เห็นอยู่ แต่ไม่ใช่ในคราบของนักรบ แต่เป็นนักลงทุนธุรกิจหัวก้าวหน้า เช่นตระกูลชิมาสุ (Shimasu) ซึ่งเป็นอดีตไดเมียวปกครองแคว้นซัตสึมะ ปัจจุบันกลายเป็นบริษัท Shimadzu Coporation ที่เป็นผู้นำนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก ด้วยคติเท่ๆ ว่า Excellence in Science หรือแม้แต่บริษัทมิตซูบิชิ (Mitsubishi) ที่ก่อตั้งโดย อิวาซากิ ยาตาโร (Iwasaki Yataro) ซึ่งมีคุณูปการต่อประเทศญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งการสร้างฐานทัพเรือ เรือรบ รถยนต์ และเครื่องบินรบ ก่อนต่อมาจะผันตัวมาเป็นผู้นำด้านเครื่อใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ แท้จริงต้นตระกูลของยาตาโรก็มาจากซามูไร

ปัจจุบัน ลูกหลานซามูไรบางส่วนยังสร้างชื่อเสียงแก่ชาติญี่ปุ่น ไม่ใช่แค่แง่ของอุตสาหกรรมหรือเทคโนโลยี แต่ยังรวมไปถึงอาชีพอื่นๆ เช่นนักแสดง พ่อครัว นักการเมือง และอื่นๆ อีกมากมาย แม้แต่ ฮิโรยูกิ ซานาดะ (Hiroyuki Sanada) นักแสดงนำจากเรื่อง Shogun ก็ยังสืบเชื้อสายมาจาก ซานาดะ ยูกิมูระ (Sanada Yukimura) ซามูไรในตำนานที่มีฉายาว่า ‘นักรบอันดับหนึ่งแห่งญี่ปุ่น’

ที่มา:

https://www.insidejapantours.com/japanese-culture/samurai/

https://www.forbes.com/sites/forbesbusinessdevelopmentcouncil/2022/07/21/what-a-17th-century-samurai-can-teach-us-about-entrepreneurship/?sh=18c155d31e4f

https://www.everand.com/book/194312250/Samurai-Business-The-Way-of-the-Warrior-for-Professionals-in-the-Digital-Century

https://www.asianstudies.org/publications/eaa/archives/the-perry-expedition-and-the-opening-of-japan-to-the-west-1853-1873-a-short-history-with-documents/

https://www.worldhistory.org/Meiji_Period/

https://www.asianstudies.org/publications/eaa/archives/the-perry-expedition-and-the-opening-of-japan-to-the-west-1853-1873-a-short-history-with-documents/

https://www.shimadzu.com/an/news-events/sesp/index.html

Tags: , , , , ,