สำหรับบางคนแล้ว ‘ของเล่น’ ถือเป็นเพื่อนสนิท และเป็น ‘ความทรงจำ’ ที่ยากลืมเลือน 

เพราะด้วยความผูกพัน จึงไม่แปลกใจนักหากวิธีการ ‘ซ่อม’ จะเป็นตัวเลือกลำดับแรกก่อนการทิ้ง หรือมองหาของเล่นชิ้นใหม่มาทดแทน ทว่าเมื่อของเล่นชิ้นที่ชำรุดเกินจะซ่อมไหวด้วยตัวเอง จึงต้องเป็นหน้าที่ของร้านซ่อมของเล่นที่จะยื่นมือช่วยเหลือ เพื่อรักษาความทรงจำในของเล่นชิ้นนั้นให้คงอยู่ต่อไป

ส่งผลให้ปัจจุบัน ร้านซ่อมของเล่นเป็นอีกหนึ่งกิจการที่ ‘งานชุกมืออยู่ไม่น้อย’ 

เนื่องใน ‘วันเด็กแห่งชาติ’ ที่กำลังจะมาถึง The Momentum มีโอกาสพูดคุยกับ ‘บ้านของรัก ปากซอยลาดพร้าว 61’ ร้านซ่อมของเล่นที่ดำเนินกิจการโดย อนิรุทธ หุตางกูร ชายวัยเกษียณที่เชื่อว่า การซ่อมของเล่นนอกจากจะช่วยรักษาสิ่งของและคุณค่าทางจิตใจของลูกค้าได้แล้ว ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมจากการลดใช้พลาสติก รวมถึงฝึกฝนให้นักซ่อมของเล่นได้คิด เรียนรู้ และแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา

อนิรุทธเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเป็นนักซ่อมของเล่นว่า เกิดขึ้นหลังจากตัวเองเกษียณจากงานประจำ โดยอนิรุทธนึกอยากนำกิจกรรม ‘การซ่อมของเล่น’ ซึ่งเคยเป็นงานอดิเรกสมัยเด็กกลับมาทำอีกครั้ง เพราะปัจจุบันอนิรุทธรู้สึกว่าปัญหาขยะพลาสติกและภาวะโลกร้อน ส่วนหนึ่งก็มาจากการทิ้งของเล่นที่ส่วนใหญ่ผลิตมาจากพลาสติกนั่นเอง

ขณะเดียวกัน อนิรุทธมองว่าคงเป็นการดีต่อโลกและสิ่งแวดล้อมไม่น้อย หากสามารถชุบชีวิตของเล่นที่พังให้กลับมาใช้งานอีกครั้ง ทั้งเป็นลำไพ่พิเศษช่วงเกษียณได้อีก ผลสุดท้ายจึงตัดสินใจเปิดเป็นร้านรับซ่อมของเล่น โดยใช้ชื่อว่า ‘บ้านของรัก ปากซอยลาดพร้าว 61’

ด้วยความที่อนิรุทธซ่อมของเล่นเป็นงานอดิเรกตั้งแต่วัยเยาว์ จึงทำให้เขาซ่อมของเล่นได้หลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะของเล่นพลาสติกที่มีวงจรอิเล็กทรอนิกส์และทำงานด้วยการใส่ถ่านหรือแบตเตอรี่ ก่อนที่ต่อมาเขาจะต่อยอดรับซ่อมคีย์บอร์ดอิเล็กโทนด้วย ส่วนของเล่นที่อนิรุทธจะไม่รับซ่อม คือตุ๊กตาที่ไม่ใส่ถ่านเพียงเท่านั้น 

เมื่อถามว่าการซ่อมของเล่นที่ดีคืออะไร อนิรุทธอธิบายว่า ด้วยความที่จบวิศวกรรมศาสตร์มา ดังนั้น เมื่อยามซ่อมของเล่น ตัวเขาจะซ่อมและบำรุงระบบวงจรอิเล็กทรอนิกส์ไปด้วย รวมถึงทำความสะอาดจุดสัมผัสต่างๆ ให้สะอาดหมดจด ซึ่งแตกต่างจากช่างซ่อมของเล่นทั่วไป ที่ซ่อมแค่เฉพาะจุดที่เสียหาย

ส่วนสาเหตุที่ต้องทำเช่นนี้ เนื่องจากอนิรุทธเป็นช่างคนเดียวภายในร้าน และด้วยความที่มีของเล่นเข้ามาให้ซ่อมเพิ่มทุกวัน เขาจึงต้องซ่อมของเล่นทุกชิ้นให้กลับไปสภาพดีที่สุด อย่างน้อยต้องกลับไปใช้งานได้ 1-2 ปี เพราะหากของเล่นมีปัญหา ต้องกลับมาให้ซ่อมบ่อยๆ ก็จะเป็นการเพิ่มภาระงานให้เขายิ่งขึ้นไปอีก

หากพิจารณาจากอะไหล่และของเล่นที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วร้าน จึงไม่แปลกใจนักที่ช่างวัยเก๋ารายนี้จะบอกว่า งานอดิเรกซ่อมของเล่นถือว่ายุ่งและคิวรัดตัวไม่น้อย โดยแต่ละวันเขาจะมีของเล่นจากลูกค้าเข้ามาให้ซ่อม 3-5 ชิ้นต่อวัน และจะมีลูกค้าโทรศัพท์ติดต่อเข้ามาสอบถามปัญหาของเล่นเฉลี่ย 5 สายต่อวัน 

หลังจากตอบในประเด็นข้างต้น อนิรุทธถือโอกาสโชว์โทรศัพท์ของตนที่มีมากกว่า 5 เครื่อง โดยแต่ละเครื่องมีข้อมูลของลูกค้ากว่า 3,000 ราย

เมื่อถามว่าช่างซ่อมของเล่นทำอะไรบ้าง อนิรุทธอธิบายอย่างละเอียดว่า เขาจะตื่นราว 11.00 น. ก่อนใช้เวลาครู่หนึ่งสำหรับทำธุระส่วนตัว กระทั่งพร้อมนั่งประจำที่โต๊ะทำงาน ซึ่งมีอยู่เกือบ 10 โต๊ะ แต่ละโต๊ะวางกระจายอยู่ทั่วบ้าน เพื่อเริ่มซ่อมของเล่นลากยาวไปจนถึงช่วงตี 2-3 เป็นประจำแทบทุกวัน โดยระหว่างซ่อมของเล่น เขาจะเปิดหนังหรือซีรีส์จีนดูไปด้วยพลางๆ 

แม้ฟังดูเป็นกิจวัตรที่หักโหม แต่อนิรุทธกลับไม่รู้สึกว่านี่เป็นภาระที่หนักหนาสาหัส เพราะนี่ถือเป็นความชอบและความสนใจของเขาอยู่แล้ว ดังนั้น การซ่อมของเล่นหลัก 10 ชั่วโมงต่อวัน จึงเป็นความสนุกเสียด้วยซ้ำ

เมื่อถามว่ามีของเล่นที่ซ่อมแล้วรู้สึกภูมิใจไหม อนิรุทธหยุดคิด ก่อนหยิบของเล่นชิ้นหนึ่งที่เป็นของลูกค้าผู้สูงอายุหญิง ของเล่นชิ้นนั้นมีลักษณะเป็นตุ๊กตาเซรามิกที่กระดิกเท้าและผิวปากได้ ซึ่งเสียงผิวปากนั้นมาจากเทปแคสเซ็ตที่อัดเสียงเอาไว้

“ผมคิดว่าตุ๊กตาชิ้นนี้น่าจะมีคุณค่าทางจิตใจบางอย่างกับเขา อาจจะเกี่ยวกับคนที่มอบให้หรือมีเสียงของคนสำคัญอยู่ในเทป ผมไม่แน่ใจนัก แต่มันต้องสำคัญกับเขาแน่ๆ เพราะพอเราส่งมอบของเล่นที่ซ่อมเสร็จเรียบร้อย เขาดีอกดีใจใหญ่ ถึงกับให้ทิปเพิ่มเลย” อนิรุทธเล่าด้วยรอยยิ้ม

อีกหนึ่งความตั้งใจของอนิรุทธ คือการจะเผยแพร่ความรู้ให้กับคนที่สนใจการซ่อมของเล่น โดยแบ่งเป็น 2 คอร์ส ได้แก่

1. คอร์สซ่อมของเล่นสำหรับเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กรู้จักการซ่อมของเล่น และเข้าใจวงจรอิเล็กทรอนิกส์

2. คอร์สซ่อมของเล่นในรูปแบบแฟรนไชส์ สำหรับคนที่สนใจอยากทำอาชีพซ่อมของเล่น ที่เขาจะเผยแพร่ความรู้ต่างๆ และคอยเป็นที่ปรึกษาให้

อนิรุทธการันตีว่า ใครที่จบจากคอร์สนี้รายได้ดีแน่นอน เพราะอ้างอิงจากตัวเขาเอง ในช่วงปีแรกสามารถทำเงินได้ถึง 6 หมื่นบาทต่อเดือน และในปีต่อๆ มา ก็ทำเงินเพิ่มขึ้นได้ตลอด ในบางเดือนมากถึง 1.2 แสนบาทเลยทีเดียว

สุดท้ายแล้ว การซ่อมของเล่นสำคัญกับเด็กอย่างไร อนิรุทธอธิบายว่า สำคัญตรงที่สามารถเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก เป็นงานอดิเรกที่ชวนให้ได้คิด แก้ปัญหาและเรียนรู้สิ่งต่างๆ ทั้งยังช่วยประหยัดเงินและรักษาสิ่งแวดล้อมได้อีกทาง ดังนั้น หากเด็กทุกคนมีทักษะในการซ่อมของเล่นก็จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเอง สังคม และสิ่งแวดล้อม 

Fact Box

สำหรับคนที่สนใจซ่อมของเล่นกับอนิรุทธ สามารถติดต่อได้ที่ร้านบ้านของรัก ปากซอยลาดพร้าว 61 ร้านเปิดวันจันทร์-เสาร์ เวลา 11.00 น. โทรศัพท์: 09-9180-9888, Line ID: banlove61 

Tags: , ,