หากใครผ่านไปยังถนนจรัญสนิทวงศ์จะพบเห็นอาคารดับเพลิงอาคารเก่าอายุนับ 60 ปี ตั้งตระหง่านด้วย ‘หน้าจั่ว’ ปลายแหลม 3 ยอด มีรถดับเพลิงคันเล็ก-ใหญ่จอดเรียงราย พร้อมทำหน้าที่ ‘ผจญเพลิง’ ทันทีที่ได้รับการร้องขอ
‘สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางอ้อ’ คือชื่อที่เป็นทางการของอาคารแห่งนี้ เป็นอาคารดับเพลิงแบบเก่าหลังท้ายๆ ที่ยังคงสภาพเดิมอยู่ ขณะที่อาคารดับเพลิงแบบใหม่ ซึ่งเป็นอาคาร 6-7 ชั้น มีห้องพักเจ้าหน้าที่อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เริ่มเปิดใช้ไปแล้วหลายแห่ง หลังจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้รับงบประมาณให้ทยอยปรับปรุงอาคารดับเพลิงทั่วเมืองหลวงจนได้อาคารใหม่เอี่ยมอ่องมา
เมื่อนั้นอาคารเก่าอย่างอาคารดับเพลิงบางอ้อ ซึ่งใช้งานมานานหลายทศวรรษก็ค่อยๆ หมดหน้าที่ลงไป อาคารดับเพลิงบางอ้อแห่งนี้ก็เช่นกัน งบประมาณผ่านสภากรุงเทพมหานครจนครบทุกดับเพลิงทั่วกรุงเทพฯ โดย กทม.ทยอยปรับปรุงอาคารแต่ละแห่ง สำหรับอาคารดับเพลิงบางอ้อคาดว่าจะทุบภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า พร้อมกับสร้างใหม่เป็นอาคารสูงที่ใช้ประโยชน์ได้มากกว่าตามที่ กทม.กำหนดไว้
รวมถึงอาคารหอสูง ‘ศูนย์ฝึกดับเพลิงและกู้ภัย’ แบบเก่า ก็จะถูกทุบลงเช่นเดียวกัน แล้วไปรวมไว้ที่อาคารศูนย์ฝึกดับเพลิงแห่งเดียวที่อยู่ที่เขตหนองจอก ปลายสุดของกรุงเทพฯ
The Momentum ชวนดูทั้งสถานที่ และผู้คน ของดับเพลิงบางอ้อ ก่อนที่จะถูกทุบในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
(1)
สำหรับพื้นที่ดับเพลิงบางอ้อ ครอบคลุมพื้นที่ถนนจรัญสนิทวงศ์ ติดต่อกับสถานีดับเพลิงบางอ้อ สถานีดับเพลิงบวรมงคล สถานีดับเพลิงบางซ่อน พื้นที่ส่วนใหญ่ที่สถานีดับเพลิงนี้ดูแลเป็นตึกแถว-อาคารพาณิชย์ บ้านเดี่ยวน้อยใหญ่ยังตั้งเรียงรายอยู่จำนวนหนึ่งสองฟากฝั่งถนนจรัญสนิทวงศ์ รวมถึงอาคารคอนโดมิเนียมทั้ง Low Rise และ High Rise ติดกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
ถัดไปด้านหลัง ยังมีอาคารเก่าเป็นหอสูง เป็น ‘ศูนย์ฝึกดับเพลิงและกู้ภัย’ ของ ‘สถานีดับเพลิงบางอ้อ’ ตั้งอยู่ด้านหลัง ขณะเดียวกัน บรรดานักดับเพลิงทั้งหลายล้วนพักกันอยู่ที่แฟลต อันเป็นส่วนหนึ่งของสถานีดับเพลิง
47 คน คือจำนวนนักดับเพลิงที่อยู่ในสถานีดับเพลิงแห่งนี้ หากคืนไหนเข้าเวรพวกเขาต้องนอนรวมกันใน ‘ห้องประชุม’ ชั้น 2 และทันใดที่มีเสียงแจ้งให้ดับเพลิง พวกเขาต้องเตรียมพร้อมสวมชุด ใส่อุปกรณ์เต็มยศ ที่มีน้ำหนักกว่า 20 กิโลกรัมทันที
แล้วมีเสาโหนลงมาเหมือนในหนังฝรั่งไหม? – เราถาม
“บางสถานียังมีอยู่ แต่ที่เราสร้างใหม่ไม่มีแล้ว… ต้องบอกว่าเมื่อก่อนต้องการความรวดเร็ว วิ่งลงมารูดเสา ใส่ชุด แล้วก็ออกไปได้เลย แต่ปัจจุบัน เขาเริ่มมองเรื่องความปลอดภัย บางทีรูดลงมาแล้วแขนขาหัก หรือบางทีเราไม่พร้อม รูดลงมาอาจจะบาดเจ็บได้ เหตุเราไม่รู้ว่าเกิดตอนไหน บางทีนอนๆ อยู่แล้วโรยตัวลงมา ปัจจุบัน เลยเหลือแค่สัญลักษณ์ว่าดับเพลิงต้องมีเสารูด ดับเพลิงต้องมีระฆัง” โกสินทร์ หรรษาวงศ์ หัวหน้าสถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางอ้อเล่าให้ฟัง
“เมื่อก่อนต้องมีระฆังครับ เวลาได้รับแจ้งเหตุ ต้องมีคนเคาะระฆัง กริ๊งๆๆ ว่าเพลิงไหม้ แล้วทุกคนก็จะโรยตัว วิ่งลงมา ตอนนี้เรากดกริ่งแทนว่าเกิดเพลิงไหม้ ทุกคืนก็จะเป็นแบบนั้น”
ตัวชี้วัดคือต้องไปถึงเกิดเหตุไม่เกิน 8 นาที คือนาทีทอง ที่พวกเขาต้องเข้าพื้นที่ให้ทัน เพื่อช่วยคนออกมายังพื้นที่ปลอดภัยได้
(2)
หลายครั้ง หลายวาระ ต้องระดมนักดับเพลิงจากหลายพื้นที่เข้าไปช่วยกัน หนึ่งในเหตุการณ์ใหญ่ก็คือเหตุการณ์ไฟไหม้ชุมชนต้นโพธิ์ ก็จำเป็นต้องระดมนักดับเพลิงจากหลายพื้นที่เข้าไปช่วยกัน ทั้งปฏิบัติภารกิจควบคุมเพลิง และปฏิบัติการกู้ภัย ช่วยชีวิตคน
ความยากลำบากก็คือในเหตุการณ์เหล่านี้ มักเต็มไปด้วยความสับสนอลหม่าน นอกเหนือจากนักดับเพลิงแล้ว ยังต้องทำงานกับบรรดา ‘กู้ภัย’ บรรดาสื่อมวลชน รวมถึงบรรดา ‘ไทยมุง’ ฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ ‘ผู้บัญชาการเหตุการณ์’ จะต้องแม่นขั้นตอน จัดวางคนนับร้อยนับพันให้อยู่ในที่ที่ควรอยู่ ไม่เป็นอันตราย
ถามถึงเหตุการณ์ที่ลุ้นระทึกที่สุดสำหรับ โกสินทร์ หรรษาวงศ์ หัวหน้าสถานีดับเพลิงและกู้ภัยบางอ้อ คือเหตุการณ์เมื่อปลายปี 2551 ต่อเนื่องไปยังต้นปี 2552 คือเหตุการณ์ไฟไหม้ห้างเสือป่าพลาซ่า และเพลิงไหม้ซานติก้าผับในคืนวันเคาต์ดาวน์
สำหรับเสือป่าพลาซ่าเป็นอาคารศูนย์การค้าที่เต็มไปด้วยเชื้อเพลิงจากอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือที่มีแต่พลาสติก งานดับเพลิงใช้เวลายืดเยื้อยาวนาน เสี่ยงกับอาคารถล่มตลอดเวลา ขณะที่เพลิงไหม้ซานติก้าผับ คือเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 67 คน โดยเหตุการณ์ทั้งสองห่างกันเพียง 5 วันเท่านั้น
สำหรับโกสินทร์ เรื่องทั้งหมดทำให้เห็นความสำคัญของการจัดระบบบัญชาการเหตุการณ์ และการวางแผนเข้าพื้นที่ผจญเพลิง
(3)
“ดับเพลิงพวกเราก็ต้องมีใจรักในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ส่วนในเรื่องความเสี่ยง คนที่จะทำงานได้ ต้องผ่านการฝึกมา 6 เดือน ถึงจะเป็นนักดับเพลิงได้ แต่ละปี ต้องมีการฝึกทบทวนอีก ต้องมีความรู้ มีทักษะ แล้วก็มีความพร้อม เวลาจะไประงับเหตุ ชุดดับเพลิง หมวก เครื่องช่วยหายใจแบบสะพายหลัง เราต้องพร้อมก่อน
“ที่สำคัญคือเราต้องมีทีมงานที่ปฏิบัติงานร่วมกันที่ดี เราถูกสอนว่าเวลาปฏิบัติงานต้องมีบัดดี้ ห้ามเข้าไปในที่เกิดเหตุคนเดียวโดยเด็ดขาด ขณะเดียวกัน คนที่จะเข้าไปยังพื้นที่เกิดเหตุ ยังต้องมีคนตรวจสอบก่อนว่าคนที่จะเข้าไปแต่ละคนอุปกรณ์พร้อมไหม ถ้าไม่พร้อมก็ไม่ให้เข้า”
ขณะเดียวกัน นักดับเพลิงหนึ่งคนจะเข้าไปยังพื้นที่เพลิงไหม้ได้ระยะเวลาประมาณ 45 นาที ในพื้นที่หน้างาน หน้างานจึงต้องมี Control Board ที่คอยเช็กว่าใครเข้าไปกี่นาทีแล้ว แต่ละคนมีอากาศเหลืออยู่อีกกี่นาที และใครที่ต้องรีบออกมาเมื่อใกล้ครบเวลา
(4)
“ความจริงนักดับเพลิงเป็นอาชีพที่เสี่ยง มีงานวิจัยต่างประเทศที่ระบุว่า นักดับเพลิงอย่างพวกผมมีโอกาสเสียชีวิตก่อนคนอื่นอย่างน้อย 10 ปี ฉะนั้น เราต้องดูแลตัวเองอยู่ตลอด” โกสินทร์เล่าให้ฟัง
นั่นเป็นความจริง การศึกษาไม่นานมานี้พบว่านักดับเพลิงส่วนใหญ่ไม่ได้เสียชีวิตในกองเพลิง หากแต่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง สถิติยังพบว่าเมื่อเทียบกับคนทั่วไป นักผจญเพลิงมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งมากกว่าถึง 14%
เดือนเมษายนที่ผ่านมา หัวหน้าโกสินทร์เจอกับอาการ ‘สโตรก’ หรือโรคหลอดเลือดสมอง หรรษาประสบปัญหาเส้นเลือดในสมองแตกฝั่งซ้ายทับเส้นประสาท จนสมองสูญเสียกำลังสั่งการซีกซ้ายไปชั่วขณะหนึ่ง
ขณะเกิดเหตุ โกสินทร์อยู่ในสถานีดับเพลิงบางอ้อ และใช้เวลา ‘นาทีทอง’ ไปถึงโรงพยาบาลได้ทันเวลา หลังจากฟื้นตัว เขาก็หายจากอาการได้จนเกือบปกติ
แต่สำหรับนักดับเพลิงคนอื่นๆ ล้วนต้องทำงานภายใต้แรงกดดัน แม้เหตุเพลิงไหม้ใหญ่จะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่นักผจญเพลิง สถานีดับเพลิง จำเป็นต้องมีความพร้อมอยู่ตลอด เวร 24 ชั่วโมง ทำให้นักดับเพลิงไม่สามารถนอนเป็นเวลาได้ และในเวลาเดียวกัน เมื่อเข้าพื้นที่ ก็ยังต้องเสี่ยงกับสารเคมี สารพิษ หรือวัตถุไวไฟต่างๆ ที่มองไม่เห็น
ขณะเดียวกัน สารคาร์บอนมอนอกไซด์ ที่เกิดจากการเผาไหม้ เมื่อสะสมไปมากๆ ก็มีโอกาสเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เป็นโรคมะเร็งปอด สูงกว่าคนทั่วไปมาก
(5)
ถึงตรงนี้ อาคารดับเพลิงเก่า 3 จั่ว กำลังจะหมดหน้าที่ หลังเปิดให้บริการ ผ่านร้อนผ่านหนาวมานับตั้งแต่ปี 2515 ในรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร กำลังจะถูกรื้อทิ้ง เปลี่ยนเป็นอาคารทันสมัย 7 ชั้น พร้อมห้องพัก 64 ห้อง แยกอาคารจอดรถเรียบร้อย
ในอนาคต ดับเพลิงบางอ้อจะเป็นหน่วยใหญ่ที่สามารถสนับสนุนเหตุเพลิงไหม้ในกรุงเทพฯ ได้ทันท่วงที ด้วยอยู่ติดกับสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ ซึ่งจะเชื่อมบางอ้อ – เกียกกาย เข้าด้วยกัน
ตามประวัติศาสตร์ ตำรวจดับเพลิงขึ้นอยู่กับ ‘กรมตำรวจ’ จนถึงปี 2546 จากนั้น ก็อยู่กับ กทม. มาโดยตลอด
ล่าสุด การตัดสินใจเปลี่ยนดับเพลิงเป็นรูปแบบที่ทันสมัยขึ้น จึงเริ่มจาก กทม. ของบประมาณ เพื่อเปลี่ยนรูปแบบอาคารดับเพลิงให้เป็นอาคารสมัยใหม่
นั่นรวมถึงหอฝึกกู้ภัยที่ต้องทุบทิ้งไปโดยปริยาย ทำให้นักดับเพลิงจากนี้ ต้องไปฝึกโรยตัว ทำงานกับหอสูง ฝึกกับหอสูงที่ศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัย หนองจอก ที่สร้างใหม่
“ฝึกอะไรบ้างครับ?” เราตั้งคำถาม
“ความจริงมันมีศาสตร์และศิลป์ของมันอยู่ ทั้งการผูกเงื่อน การโรยตัวจากที่สูง การกู้ภัยจากที่สูง การใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องฝึกอยู่บ่อยครั้ง ต้องใช้เวลา”
“ก็คงคิดถึงอยู่บ้าง แต่อาคารแบบใหม่น่าจะใช้ประโยชน์ได้มากกว่า ประชาชนจะได้ประโยชน์มากกว่า” โกสินทร์ระบุ
โกสินทร์หวังว่าหลังจากสร้างอาคารใหม่ จะเป็นอาคารที่สามารถเชื่อมต่อกับ ‘ชุมชน’ รอบข้างได้มากขึ้น อาจเป็นได้ทั้งศูนย์การเรียนรู้ หรือสถานีดับเพลิงที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ที่อยากเป็นนักดับเพลิงในอนาคต
Tags: นักดับเพลิง, สถานีดับเพลิง, บางอ้อ, เพลิงไหม้