การปรับทัศนียภาพคลองสายหลักในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2561 ชวนให้รู้สึกถึงการเริ่มต้นใหม่ ผ่านการสร้างสีสันและชีวิตชีวา ให้แก่เมืองหลวงแห่งนี้ จนในบางช่วงจังหวะที่หยิบกล้องขึ้นมาถ่าย ภาพบางมุมก็ให้ความรู้สึกว่า ช่างคล้ายคลึงกับบ้านเมืองในต่างประเทศอยู่ไม่น้อย

ไม่ใช่แค่สภาพคลอง หรือพื้นทางเดินที่รื้อแก้ไขจนดูสะอาดสะอ้าน แต่รวมไปถึงลูกเล่นที่ปรากฏอยู่ระหว่างคลองสายหลักตลอดทั้งเส้น ด้วย ‘ศิลปะบนฝาท่อสาธารณูปโภค’ ที่มีลวดลายสะดุดตาแตกต่างกันไป เช่น บนเส้นทางเดินเท้าริมคลองผดุงกรุงเกษม ตั้งแต่สถานีรถไฟหัวลำโพง จนถึงสะพานจตุรภักตร์รังสฤษดิ์ (สะพานขาวดุสิต) รวมระยะทาง 4 กิโลเมตร ล้วนมีฝาท่อสีสันสดใสติดตั้งอยู่เป็นระยะ

สาเหตุที่ศิลปะบนฝาท่อกลายเป็นจุดสนใจแก่นักท่องเที่ยว ไม่ใช่การทำให้ลวดลายน่าสนใจเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะเรื่องราวที่อยู่บนงานศิลปะ ซึ่งปรากฏเป็นลวดลายสถานที่หรือชุมชน คล้ายเป็นหมุดหมายให้นักท่องเที่ยวได้เซลฟีและเช็กอินว่าเคยมาสถานที่แห่งนี้

เช่น บริเวณใกล้กับสถานีรถไฟหัวลำโพงมีการวาดเป็นรูปขบวนรถจักรไอน้ำหรือบริเวณหน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง และฝาท่อตลอดแนวคลองผดุงกรุงเกษม ก็มีลวดลายสะท้อนวิถีชีวิตของคนสมัยก่อนที่สัญจรทางน้ำ ภาพดอกหางนกยูงสีส้มที่ปลูกริมสองฝั่งคลอง กระทั่งแผนที่ขนาดเล็กของคลองดังกล่าวตลอดทั้งเส้น อีกทั้งฝาท่อบางส่วนมีการเขียนข้อความสั้นๆ เช่น เมืองของฉัน คลองของฉัน เมืองในฝัน หรือข้อความเตือนสติผู้เดินผ่านไปผ่านมา เช่น ห้ามทิ้งขยะลงคลอง

สำหรับภาพวาดที่ปรากฏเป็นส่วนหนึ่งจากโครงการพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ทางเท้าริมคลองผดุงกรุงเกษม ภายใต้หัวข้อ ‘คลองของฉัน เมืองในฝัน’ ที่เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนโรงเรียนบำรุงอิสลามวิทยา และมูลนิธิเดอะฮับสายเด็ก (The Hub Saidek) มาแสดงความสามารถด้านศิลปะ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัยชุมชนเมืองและนักออกแบบกลุ่มเมืองยิ้ม เป็นผู้สนับสนุนให้กิจกรรมลุล่วงไปได้ด้วยดี

หากมองอย่างผิวเผิน ศิลปะที่เกิดขึ้นอาจเป็นแค่การสร้างสีสันธรรมดา และมีหลายประเทศที่เคยดำเนินงานในลักษณะเดียวกันมาก่อน เช่น ประเทศญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ แต่อย่างน้อยสิ่งที่เกิดขึ้นก็ถือเป็นวิธีการชุบชีวิตเมืองเก่าหรือชุมชนที่มีอัตลักษณ์อันดีให้มีตัวตน เป็นการสร้างกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นเมือง ‘Creative Cultural City’ และส่งมอบมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่านี้ให้ลูกหลานสืบต่อไป

นอกจากตลอดเส้นคลองผดุงกรุงเกษม ฝาท่อลักษณะดังกล่าวยังถูกติดตั้งอยู่ที่ย่านเยาวราช สามยอด คลองโอ่งอ่าง เวิ้งนาครเขษม จนถึงถนนเจริญกรุง ในลวดลายที่สื่อถึงอัตลักษณ์ประจำย่านนั้น พร้อมภาษาอังกฤษและภาษาจีนบอกชื่อสถานที่ ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองโอ่งอ่าง และโครงการศิลปะชุมชนกิจกรรมแต้มสี กรุงเทพฯ เมื่อปี 2561 เช่นกัน

สิ่งที่กรุงเทพฯ ควรทำต่อจากนี้ คือการทำนุบำรุงรักษาฝาท่อที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์เชื่อมโยงท้องถิ่น ที่เป็นจุดเล็กๆ จุดหนึ่งในการต่อยอดกรุงเทพฯ ให้น่าอยู่ยิ่งกว่าเดิม แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลได้ด้วยการไม่ทิ้งขยะลงคลองหรือพื้นที่สาธารณะ แค่นี้ก็มากพอแล้ว

Tags: , , , , ,