‘อกพี่กลัดหนอง พี่หมองดั่งคลองแสนแสบ…’ –  เพลง แสนแสบ

‘บ้านน้องอยู่ฝั่งขะโน้น  บ้านพี่อยู่ฝั่งขะนี้…’ – เพลง คลองเชื่อมรัก

‘แอบรักคนดีแต่ปีน้ำหลาก เอารักลอยมาฝาก คนสวยปากคลอง….’ – เพลง รักข้ามคลอง

เชื่อว่าหลายคนอาจจะเคยได้ยินท่วงทำนองเพลงเหล่านี้มาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเพลง ‘แสนแสบ’ ที่เล่าเรื่องราวความรักที่สุดแสนระทมของ ชาย-หญิง ริมฝั่งคลอง หรือ เพลงที่มีจังหวะเร้าอารมณ์แบบ 3 ช่า อย่างเพลง ‘คลองเชื่อมรัก’ ที่ขึ้นทำนองครั้งใด มิวายอยากจะเต้นทุกที 

ที่ผู้เขียนนำบทเพลงที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตริมคลองมาพรรณาให้ฟัง เพราะเชื่อว่าภายในเพลงเหล่านี้ได้แฝงภาพของวิถีชีวิตของผู้คนริมสายน้ำ โดยเฉพาะการใช้ชีวิตที่ต้องพึ่งพาสายน้ำลำคลองเป็นหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของ ‘คน’ ที่อาศัยริมฝั่ง ‘คลอง’ ใน ‘เมือง’ มหานครใหญ่แห่งนี้

กรุงเทพมหานครฯ ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ มีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสายน้ำหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิต และมีคูคลองเสมือนปราการทางธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็เป็นดั่งเส้นเลือดน้อยใหญ่ที่ลำเลียงผู้คนเข้าสู่พระนคร

ว่ากันว่าสายน้ำและเวลาไม่เคยคอยใคร ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อเวลาล่วงเลยไป เมืองได้รับการพัฒนาและขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ การสัญจรทางน้ำก็ถูกลดบทบาทลง จากคลองที่เคยใหญ่โตก็ค่อยๆ เล็กลง จากคลองแสนแสบที่ ขวัญ-เรียม จำต้องห่างเหินกันเพราะมีลำคลองกั้น ก็มีสะพานข้ามไปถึงกันอย่างรวดเร็ว

แน่นอนว่าในยุคนี้การคมนาคมทางน้ำอาจไม่ได้มีบทบาทเท่าถนนหนทาง แต่เชื่อว่ายังมีผู้คนอีกไม่น้อยที่ชื่นชอบการเดินทางด้วยเรือ อาจไม่ได้รวดเร็วทันใจ แต่การค่อยๆ ไปก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้หลายคนหลงรัก

ย้อนกลับไปในช่วงเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม ‘Thinking อิน คลอง ล่องเรือดูกรุงฯ’ ซึ่งจัดขึ้นโดย นิตยสารสารคดี (Sarakadee Magazine) พาไปสัมผัสวิธีชีวิตของชุมชนริมสายน้ำที่ยังมีชีวิตชีวา เรียนรู้ธรรมชาติของสองฝั่งคลอง เเละมุมมองสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป จากยุครุ่งเรืองจนถึงปัจจุบัน

พวกเรานัดกันที่ท่าน้ำวัดกัลยาณมิตร ผู้เขียนมาก่อนเวลานัดเล็กน้อย จึงขอเดินลัดเลาะลำน้ำเจ้าพระยาขึ้นไปบนสะพานสะพานพุทธยอดฟ้าฯ เพื่อนั่งชมวิวทิวทัศน์ของกรุงเทพฯ แต่ทันใดนั้นเม็ดฝนก็โปรยปรายลงมา ทำเอาต้องหาที่หลบกันพัลวัน ทว่าเพียงไม่นานฝนก็หยุดลง เมื่อใกล้เวลานัดลงเรือจึงรีบเดินกลับไปยังสถานที่นัดหมาย

ฝนไม่ได้นำพามาเพียงแต่ความชุ่มฉ่ำ แต่ยังนำสายรุ้งมาด้วย ทำให้เช้าวันนั้นกลายเป็นวันที่สดใส สายรุ้งพาดผ่านวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารแบบพอดิบพอดี ผู้เขียนจึงได้เห็นภาพของใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นดั่งสายเลือดเส้นใหญ่ที่คอยหล่อเลี้ยงผู้คนทุกชีวิต

จากสถิติพบว่า ในเมืองหลวงของประเทศไทยมีคลองไม่ต่ำกว่า 1 พันคลอง มีความยาวรวมกันมากกว่า 2.6 พันกิโลเมตร แต่มีคลองเพียงหยิบมือเท่านั้นที่ยังคงสามารถสัญจรด้วยเรือได้ ที่เหลือกลายเป็นคูคลองขนาดเล็ก ส่วนใหญ่ใช้เพื่อการระบายน้ำเท่านั้น ไม่ได้ใช้ประโยชน์อื่นใด

แม้บางสิ่งอาจผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน จนเหลือเพียงร่องรอย แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยกับสายน้ำลำคลองอยู่รวมกันมาอย่างยาวนาน

เรือออกจากท่าวัดกัลยาณมิตรลัดเลาะไปตามสายน้ำคลองบางกอกใหญ่ หรือที่หลายคนเรียกว่า คลองบางหลวง ซึ่งเป็นคลองขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันยังมีเรือสัญจรมากมาย โดยเฉพาะเรือท่องเที่ยวที่พาลูกค้ามากหน้าหลายเชื้อชาติมาสัมผัสบรรยากาศของคลองแห่งนี้

ภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของการสัญจรด้วยเรือในคลองแห่งนี้คือ ‘พระพุทธธรรมกายเทพมงคล’ ปางสมาธิ สูงราว 69 เมตร ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ สูงเด่นเป็นเอกลักษณ์ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของบรรดาไกด์ที่พามาหยุดให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปกลับไป

‘เรือสุขสำราญ’ ออกท่องเที่ยวตามวิธีแห่งสายน้ำ

วันนี้เราได้กัปตันและไกด์มากฝีมือ ซัน-ศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ เจ้าของเรือไฟฟ้าสุขสำราญ เขาเป็นชาวบางกอกแต่กำเนิด เติบโตมากับสายน้ำและลำคลองแห่งนี้ตั้งแต่เด็ก

หลายคนอาจรู้จักเขาในฐานะผู้สื่อความหมายของการท่องเที่ยวโดยเรือ แต่อีกด้านเขาคือผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม ความชื่นชอบสายน้ำตั้งแต่เด็กประกอบกับความอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้ซันตัดสินใจซื้อเรือแท็กซี่ (Taxi boat) ลำหนึ่งมาทดสอบใส่เครื่องกลไฟฟ้า แทนที่จะเป็นเครื่องยนต์น้ำมัน

ซันลองผิดลองถูกอยู่นาน จนในที่สุดเขาก็พบหนทางที่สามารถดัดแปลงเรือไฟฟ้าให้ใช้ได้จริง และที่สำคัญเรือมีเสียงเงียบ เบาสบาย เหมาะกับการล่องในคลอง เรียกได้ว่าอาจเป็นเรือไฟฟ้าลำแรกๆ ในประเทศไทย แต่ที่แน่ๆ คือลำแรกในคลองบางหลวงแห่งนี้

เรือที่ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์

“ปัญหาที่เราพบมากที่สุดของเรือมีอยู่ 2 อย่าง คือ หนึ่ง การถ่ายน้ำมันเครื่องลงในลำคลอง ช่วงแรกผมให้บริการนักท่องเที่ยว เห็นคนดูแลเรือเทน้ำมันลงในน้ำ เลยตัดสินใจทันทีว่าจะไม่ใช่วิธีนี้ สอง เครื่องยนต์เรือให้เสียงที่ดังเกินไป คนขับเรือแทบทุกคนเมื่ออายุมากขึ้นมักมีปัญหาเรื่องหู ผมจึงตัดสินใจเปลี่ยนเรือลำนี้ให้กลายเป็นเรือไฟฟ้า เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ”

ซันไม่เพียงแต่เป็นผู้ให้บริการเรือท่องเที่ยว แต่เขายังรักลำคลองจากใจจริง ช่วงหนึ่งเขาทำแอปพลิเคชันในการนับจำนวนขยะที่ไหลมาตามลำคลองเพื่อเก็บสถิติว่าคลองบริเวณใดมีขยะไหลมามากที่สุด และจะทำอย่างไรให้ขยะน้อยลง อีกทั้งการมาท่องเที่ยวกับซัน มีข้อแม้คือเอาขยะมาเท่าใดต้องเก็บกลับไปให้หมด และหากเขาขับเรือเจอขยะที่ลอยมาก็จะขอเจียดเวลาเล็กน้อยในการเก็บขยะจากลำน้ำขึ้นเรือเพื่อไปทิ้งบนบก ที่สำคัญ เรือสุขสำราญจะไปตามเส้นทางน้ำขึ้น-ลง ตามธรรมชาติ ไม่ฝืนกฎธรรมชาติแต่อย่างใด

“เรือสุขสำราญลำนี้ไปไหนก็ได้ในคลองย่านฝั่งธนฯ แต่ขออย่างเดียวให้เป็นไปตามธรรมชาติ การท่องเที่ยวแบบผมคือจะเปิดตารางน้ำดู เช้าน้ำขึ้นสูงเราขึ้นเหนือ บ่ายก็ลงตามน้ำ เที่ยวแบบชื่นชมธรรมชาติในจังหวะที่ดีที่สุด นั่นคือสิ่งสวยงามที่สุด”

ครั้งหนึ่ง กทม. ได้รับการขนานนามว่า ‘เวนิสตะวันออก’

หากพูดว่า กทม. มีจุดเริ่มต้นจากคลองคงไม่แปลกนัก การตั้งถิ่นฐานชุมชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครในปัจจุบันเริ่มต้นมาเนิ่นนานตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา ระยะแรกชุมชนในพื้นที่นี้มีลักษณะเป็นหมู่บ้านขนาดเล็กกระจัดกระจายตามลำน้ำ มีแบบแผนการตั้งถิ่นฐานดำรงอยู่แบบเดิมโดยแทบไม่เปลี่ยนแปลงเป็นเวลานับพันปี

กระทั่งต้นพุทธศตวรรษที่ 21 ชุมชนเมืองเริ่มเจริญขึ้นตรงบริเวณที่เป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสบกลับคลองบางกอกใหญ่ ชุมชนเมืองแห่งนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็วและถูกขนานนามว่า ‘เมืองบางกอก’ ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 24 เมืองบางกอกถูกยกให้เป็นศูนย์กลางการปกครองของราชอาณาจักรสยามนามว่า ‘กรุงธนบุรี’ มีประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขอบเขตเมืองถูกขยายออกไป จนกระทั่งปีพ.ศ. 2325 มีการสร้างเมืองใหม่ฝั่งตรงข้ามศูนย์กลางเมืองธนบุรี ซึ่งเดิมเป็นราชธานีของราชอาณาจักรสยามภายใต้การปกครองของราชวงศ์จักรีนามว่า ‘กรุงเทพมหานครฯ’

อย่างไรก็ดี ในช่วงทศวรรษแรกของการก่อตั้งเมือง ถนนไม่ได้มีบทบาทสำคัญสำหรับกรุงเทพมหานครฯ ในขณะนั้นกรุงเทพมีลักษณะเป็น ‘เมืองน้ำ’ กล่าวคือชีวิตทางสังคมของชาวเมืองส่วนใหญ่ทั้งการพักอาศัย การค้าขาย การเดินทาง และการพักผ่อนหย่อนใจ ล้วนมีหลักแหล่งอยู่ในแม่น้ำลำคลองหรือเกาะตามชายแม่น้ำลำคลอง ถนนหนทางมีน้อยมาก และแทบจะไม่มีความสำคัญใดๆ ต่อชีวิตประจำวันของคนเมือง 

ถนนที่พอจะมีอยู่มักเป็นทางใช้สอยของชนชั้นสูงและเพื่อประกอบพิธีกรรมเท่านั้น แม่น้ำลำคลองต่างหากคือหัวใจที่เป็นตัวกำหนดโครงสร้างทางกายภาพของเมือง และมีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของชุมชนเมืองและวิถีชีวิตของผู้คนในเมือง ทำให้ เมืองกรุงเทพฯ จึงได้รับการขนานนามว่า ‘เวนิสตะวันออก’ ไปโดยปริยาย

สุดท้ายภาพจำเหล่านั้นค่อยๆ เลือนหายเมื่อบ้านบนบกได้รับการพัฒนา ถนนหนทางถูกสร้างขึ้น เมืองขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง แต่ถึงอย่างไรการพัฒนาในขณะนั้นก็ยังอิงตามแม่น้ำลำคลองเป็นหลัก ทำให้ในปัจจุบันในใจกลางเมืองรุงเทพฯ ยังคงเห็นลำคลองสายสำคัญ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นช่องทางคมนาคมเหมือนในอดีต แต่ก็เพียงพอที่จะเป็นหลักฐานสะท้อนถึงความแนบแน่นระหว่าง คน คลอง และ เมืองได้เป็นอย่างดี

*ข้อมูลอ้างอิงจาก

ณัฐวุฒิ ปรียวนิตย์ , เศรษฐกิจการเมืองของการตัดถนนในพระนคร สมัยรัชกาลที่ 1-5

นิตยสารสารคดี , ฉบับ 445 เมษายน 2565 ,240 ปี กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์

บรรยากาศริมฝั่งคลอง

ในขณะที่เรือล่องไป นอกจากสัตว์นานาชนิดที่ได้พบเจอ ไม่ว่าจะเป็นนกน้ำหลากหลายชนิด ไปจนถึง ‘ตัวเงินตัวทอง’ ที่คนไทยรู้จักกันดี แหวกว่ายสบายใจอยู่ในลำคลอง มีบางครั้งคราวที่มันจำเป็นต้องหลบ เพราะมีเรือที่ยังคงวิ่งไปมาในคลองบางกอกใหญ่แห่งนี้

นอกจากนี้ ยังมีร้านรวงที่นำสินค้าขึ้นมาขายบนเรือพอให้เห็นอยู่บ้าง แม้ว่าพ่อค้าแม่ค้าจะลดจำนวนลงไปมาก เนื่องจากนักท่องเที่ยวที่ลดลง และปัจจุบันผู้คนก็สามารถซื้อของได้จากทุกที่ ทำให้ส่วนใหญ่ที่เหลืออยู่จะเป็นการขายสินค้าเพื่อให้นักท่องเที่ยวมากกว่า หรือไม่ก็เป็นพ่อค้าขายอาหารที่ขายชาวบ้านริมฝั่งคลอง

เช่นเดียวกับ คุณลุงขายก๋วยเตี๋ยว นักซิ่งเรือ ที่มักขับเรือออกมาจากบ้านยามบ่าย เพื่อขายก๋วยเตี๋ยวให้กับบรรดานักท่องเที่ยวและผู้คนริมน้ำได้ลิ้มลองในรสชาติ

‘รถไฟ-เรือเมล์’

รถไฟ และ เรือเมล์ ถือเป็นพาหนะไม่กี่อย่างที่สะดวกและใช้ในการขนส่งผู้คนจำนวนมากพร้อมกันได้ ก่อนที่ถนนจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในช่วงหลังรัชกาลที่ 5 

กรุงเทพฯ เริ่มมีรถไฟสายแรก คือ รถไฟสายปากน้ำวิ่งระหว่างสถานีรถไฟหัวลำโพง ไปยังสถานีรถไฟปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ เริ่มเปิดทำการวิ่งเมื่อ พ.ศ. 2436 เป็นระยะทางกว่า 21 กิโลเมตร รถไฟสายนี้เป็นการร่วมลงทุนระหว่างบริษัทเอกชนของไทยกับบริษัทต่างประเทศ

แน่นอนว่าการมาถึงของรถไฟ ทำให้คนไทยในสมัยนั้นตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก เพราะรถไฟเป็นยานพาหนะทางบกที่วิ่งจากกรุงเทพฯ ไปยังต่างจังหวัด ซึ่งสมัยก่อนการจะไปต่างจังหวัดต้องเดินทางด้วยเรือเท่านั้น และใช้เวลาเดินทางไม่ต่ำกว่าค่อนวัน บางสถานที่อาจเป็นสัปดาห์หรือเดือน แต่เมื่อมีรถไฟก็สามารถย่นระยะเวลาเดินทางได้หลายเท่าตัว

ส่วนเรือเมล์ แน่นอนว่าประเทศไทย ที่ได้ขึ้นชื่อว่า ‘เวนิสตะวันออก’ ย่อมให้ความสำคัญกับเรือเป็นหลัก เพราะเรือเมล์เป็นพาหนะประเภทเดียวที่ไปมาตามแม่น้ำลำคลองในแถบชายเมืองและต่างจังหวัดได้

ในปัจจุบันยังมีเรือเมล์ให้บริการเรือโดยสารคลองแสนแสบ และคลองมหานาค มีเส้นทางระหว่างท่าน้ำวัดศรีบุญเรือง ในเขตบางกะปิ จนถึงท่าสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย โดยมีจุดต่อเรือที่ท่าประตูน้ำ รวม 28 ท่าเรือ เป็นเรือที่วิ่งเร็ว แต่ก็ทำเอาสั่นสะท้านไปทั้งลำเรือ เนื่องจากเครื่องยนต์อยู่กลางลำเรือ

รวมถึงในแม่น้ำเจ้าพระยายังมีเรือธงสีบริการทุกวัน ตลอดเวลา ยิ่งหากใครเคยไปใช้บริการช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ช่วงขึ้น-ลง เรือ อาจมีความหวาดเสียวจะตกน้ำอยู่พอสมควร

นอกจากนี้ยังมีเรือไฟฟ้าที่หลายบริษัทเดินเรือต่างเริ่มทดลองใช้ในการท่องเที่ยวและรับ-ส่ง ผู้คน มีให้เห็นอยู่บ้าง แต่ราคาอาจจะสูงกว่าเรือธงสีทั่วไป

‘เด็กๆ ริมฝั่งคลอง’

ว่ากันว่าเด็กกับน้ำเป็นของคู่กัน เรือของเราจอดแวะพักที่ท่าเรือวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร (จอมทอง) และได้พบเด็กกลุ่มหนึ่งกำลังเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน ทำเอาผู้เขียนนึกถึงช่วงเวลาสมัยเด็กที่หลังเลิกเรียนก็นัดกับเพื่อนวิ่งเต้นกันลงน้ำเป็นประจำ

เมื่อน้องๆ เห็นพวกเราถือกล้องถ่ายภาพก็รีบว่ายน้ำหนีทันที คงเป็นเพราะช่วงแรกยังเขินอาย แต่ไม่นานพวกเราก็ได้นั่งคุยกับน้องๆ ริมท่าน้ำอย่างเป็นกันเอง พวกเขาเล่าว่าเป็นเด็กในหมู่บ้านริมคลอง ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ จะนัดมาเล่นด้วยกัน พอยามบ่ายแก่ๆ แดดร่มลมตกก็อยากระบายความร้อนด้วยการกระโดดลงเล่นน้ำในคลอง

น้องคนหนึ่งบอกกับพวกเราว่า ‘รีบเล่นในช่วงที่น้ำยังดี’ หมายความว่า ในบางครั้งน้ำในคลองจะมีสีสันที่ไม่น่าเล่น ซ้ำร้ายยังมีบางช่วงที่ส่งกลิ่น สะท้อนว่าการดูแลหรือการบำบัดน้ำคลองในปัจจุบันอาจจะไม่ได้รับการใส่ใจที่มากพอ

ท้ายที่สุด ก่อนพวกเราจะเดินทางกลับ น้องๆ บอกว่าขอโชว์ทีเด็ด คือการขึ้นไปยืนบนราวสะพานพร้อมกันและกระโดดน้ำลงมา เสียงดัง ‘ตู้ม’ น้ำกระจัดกระจาย พร้อมเสียงหัวเราะที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน

สำหรับผู้เขียน ภาพความสวยงามของวิถีชีวิตผู้คนริมฝั่งคลองและรอยยิ้มของเด็กเหล่านี้คือบทสรุปของทริปการท่องเที่ยวในคลองฝั่งธนฯ ได้เป็นอย่างดี แม้ว่าคลองอาจจะลดน้อยลง แต่หากพวกเราช่วยกัน เชื่อว่า ‘คลอง’ ยังสามารถเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและเป็นสถานที่ที่แสดงออกถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและสายน้ำได้เป็นอย่างดี

Tags: , , , , , ,