ปี 2567 ไม่มีใครพูดถึง ‘วัคซีน’ อีกต่อไป เมื่อโรคโควิด-19 กลายเป็นโรคทั่วไป คนในประเทศได้รับวัคซีนถ้วนหน้า ทุกอย่างเปิดให้บริการตามปกติ
ฉับพลันนั้นก็มีข่าวเล็กๆ เกิดขึ้น 2 ข่าว ข่าวหนึ่งคือข่าวที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง ฮาร์ท-สุทธิพงษ์ ทัดพิทักษ์กุล นักร้องและผู้ประกาศข่าว เพราะแชร์โพสต์เกี่ยวกับการผูกขาด ‘วัคซีน’ ด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกข่าวคือการที่บริษัทผู้ผลิตระงับการใช้วัคซีนประเภท ‘ไวรัลเวกเตอร์’ ของแอสตราเซเนกา (AstraZenaca) เพราะส่งผลข้างเคียงมากเกินไป
และต้องไม่ลืมว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ก็ยังคงมีคดีความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เช่นเดียวกัน เพราะใช้คำว่า ‘วัคซีนพระราชทาน’ กับวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด
เรื่องทั้งหมดคือเรื่องที่สัมพันธ์กันอย่างเลี่ยงไม่ได้ และกลายเป็นประเด็นใหญ่ของสังคมที่ตั้งขึ้นกับแอสตราเซเนกา ในวันที่แม้วัคซีนตัวนี้จะถูก ‘ต้นทาง’ ระงับการจัดจำหน่ายไปแล้ว แต่ ‘ผลลัพธ์’ ยังคงอยู่
‘แอสตราเซเนกา’ คืออะไร
อันดับแรก สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ ในห้วงเวลาการระบาดของโรคโควิด-19 สิ่งที่ประชาชนและรัฐบาลทั่วโลกโหยหาก็คือ วัคซีนที่จะทุเลาความรุนแรงของโรคลง ทุกประเทศล้วนจัดหาของที่ดีที่สุด เพื่อเปิดประเทศให้เร็วที่สุด และระดมฉีดวัคซีนเป็นวงกว้างในทันที
รัฐบาลไทยซึ่งเวลานั้นมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตัดสินใจเลือกวัคซีนของแอสตราเซเนกาและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเป็น ‘ม้าหลัก’ โดยเลือกผลิตเองในประเทศที่โรงงานของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ท่ามกลางการระบุว่า วัคซีนดังกล่าวเป็น ‘วัคซีนพระราชทาน’ จากน้ำพระทัยของในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องด้วยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์มีในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นผู้ก่อตั้ง โดยรัฐบาลไทยอุดหนุนเงินกว่า 1,400 ล้านบาท ให้บริษัทนี้ผลิตวัคซีนเป็นบริษัทเดียวในประเทศ
การเลือกวัคซีนของแอสตราเซเนกาเป็นม้าหลัก ทำให้ธนาธรออกมาแถลงข่าวถึงความไม่โปร่งใสในการเลือกบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ให้เป็นผู้ผลิตเพียงรายเดียว ถือเป็นการ ‘แทงม้าตัวเดียว’ อีกทั้งบริษัทดังกล่าวยังไม่มีความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ โดยขาดทุนสะสมกว่า 581 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564
ขณะเดียวกัน หากไม่สามารถส่งมอบวัคซีนได้ทัน ก็อาจทำให้ประชาชนตั้งคำถามกับบริษัทที่พระมหากษัตริย์ถือหุ้น 100% ได้
แม้ในเวลาต่อมาจะมีคนแจ้งความธนาธรด้วยกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ แต่สิ่งที่ธนาธรพูดก็เป็นจริง แม้จะมีการฉีดวัคซีนเข็มแรกในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 แต่ก็เป็นการฉีดวัคซีนประเภท ‘เชื้อตาย’ ของซิโนแวค (Sinovac) จากประเทศจีน ไม่ใช่แอสตราเซเนกา กว่าแอสตราเซนเนกาจะผลิตออกมาเป็นวงกว้าง ก็ประสบกับโรคเลื่อนหลายครั้งหลายครา และในเวลานั้นก็เริ่มมีการพูดเป็นวงกว้างว่า เหตุที่ประเทศไทยไม่สามารถนำวัคซีนชนิด mRNA จากไฟเซอร์ (Pfizer) หรือโมเดอร์นา (Moderna) เป็นเพราะต้องการผูกขาดให้วัคซีนจากแอสตราเซเนกาด้วยหรือไม่
นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สุทธิพงษ์ถูกแจ้งจับด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อตั้งคำถามดังกล่าว
และประเทศไทย เมื่อให้โรงงานของสยามไบโอไซเอนซ์เป็นผู้ผลิตวัคซีน จากเรื่องยา-เวชภัณฑ์ก็กลายเป็นเรื่องการเมืองไปโดยปริยาย
ระหว่างนั้นเริ่มมีรายงานในทางลบเกี่ยวกับวัคซีนของแอสตราเซเนกา กับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดอยู่บ้าง คือพบผลข้างเคียงจากวัคซีนชนิดนี้ว่า ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไม่รุนแรง เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงในบางราย ทว่าบางรายก็พบผู้ป่วยอาการภาวะลิ่มเลือดอุดตัน โดยเฉพาะในประเทศออสเตรเลีย มีผู้ที่มีอาการนี้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนชนิดนี้ด้วยอัตรา 2-3 รายต่อประชากรอายุต่ำกว่า 60 ปี 1 แสนราย
ทว่าหากมองในแง่ธุรกิจ การผลิตวัคซีนให้กับแอสตราเซเนกาสามารถสร้างรายได้ให้กับ ‘สยามไบโอไซเอนซ์’ ได้เป็นกอบเป็นกำ สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า ผลประกอบการของบริษัทดังกล่าวมีรายได้รวม 4,900 ล้านบาท เป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 1,900% และหากมองผลกำไรในปี 2563 ตลอดทั้งปี มีกำไรเพิ่มขึ้นกว่า 4,650% ไปอยู่ที่ 1,698 ล้านบาท
นั่นจึงทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัย-ตั้งคำถามกับการผลิตวัคซีนที่โรงงานแห่งนี้
สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดนี้ ทีมวิจัยจากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุว่า วัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิผล (Vaccine Effectiveness: VE) อยู่ที่ 73% ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสก่อโรค ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับเทคโนโลยี mRNA
และจากข้อมูลของกรมควบคุมโรคเมื่อ 30 มิถุนายน 2566 (ข้อมูลล่าสุดที่เผยแพร่) เปิดเผยว่า มีประชากรไทยได้รับวัคซีนแอสตราเซเนการวมแล้วกว่า 48.72 ล้านโดส แบ่งเป็นเข็มแรก 22 ล้านโดส เข็มสอง 28 ล้านโดส และเข็มสาม 5.6 ล้านโดส
อย่างไรก็ตาม ผ่านมากว่า 4 ปีของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 วัคซีนดังกล่าวดูเหมือนจะหมดอายุขัย เมื่อมีการออกประกาศ Commission Implementing Decision ของคณะกรรมาธิการยุโรป เมื่อเดือนมีนาคม 2567 ว่า ให้ถอดถอนการใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาในมนุษย์ตามคำร้องที่บริษัทได้ยื่นคำร้องเข้ามาว่า วัคซีนมีผลข้างเคียงทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันและเกล็ดเลือดต่ำ
อีกทั้งต่อมาเมื่อเดือนเมษายน 2567 มีรายงานจากทีมที่ปรึกษาด้านเทคนิค (Technical Advisory Group on COVID-19 Vaccine Composition: TAG-CO-VAC) องค์การอนามัยโลกออกมาระบุว่า สูตรวัคซีนป้องกันไวรัสควรใช้สายพันธุ์ JN.1 เป็นหลัก ที่สามารถกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีได้ดีกว่า ในวันที่เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ไปหลายชนิด
จากเหตุปัจจัยข้างต้นส่งผลให้เมื่อวานนี้ (7 พฤษภาคม 2567) บริษัทแอสตราเซเนกาออกเอกสารแถลงการว่า บริษัทจะยุติการผลิตทั่วโลกและถอดถอนใบอนุญาตทางการตลาด (EU Marketing Authoriation) โดยอ้างเหตุว่า ในปัจจุบันมีวัคซีนที่พร้อมรับมือกับการกลายพันธุ์เรียบร้อยแล้ว ทำให้ความต้องการวัคซีนดังกล่าวลดน้อยลงไป
“วัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้พัฒนามาก จนมีวัคซีนที่ได้รับการพัฒนามากเป็นส่วนเกิน ทำให้ความต้องการของ Vaxzevria ลดลง ดังนั้นแอสตราเซเนกาจึงตัดสินใจถอนถอนใบอนุญาตทางการตลาดในยุโรป” บริษัทแอสตราเซเนกาอ้างคำแถลง
ขณะที่ในไทย สถาบันวัคซีนแห่งชาติออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงว่า รับทราบข้อมูลเรื่องการเกิดภาวะลิ่มเลือดร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำแล้ว และสำหรับประเทศไทยไม่ได้มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซนเนกาอีกต่อไป โดยให้เหตุผลเรื่อง ‘ความปลอดภัย’ และการกำกับดูแลความปลอดภัยของวัคซีนให้มีประสิทธิภาพ
ทั้งหมดนี้ถือเป็นการปิดฉากและบอกลาวัคซีนชนิดแอสตราเซนเนกาในตลาดโลกไปโดยปริยาย
ทว่าสิ่งที่ยังเหลืออยู่ก็คือบรรดาคดีที่เกิดจากการวิพากษ์วัคซีน และการจัดการนโยบายวัคซีนที่เคยโหมประชาสัมพันธ์กันครั้งหนึ่งว่าเป็น ‘วัคซีนจากฟ้า’
เรียกได้ว่าวัคซีนจากไปแล้ว แต่ ‘คดี 112’ ยังคงอยู่ และจะยังดำรงอยู่ต่อไป หากสภาพบ้านเมืองยังคงเป็นไปเช่นนี้
อ้างอิง
https://www.who.int/news/item/26-04-2024-statement-on-the-antigen-composition-of-covid-19-vaccines
https://ec.europa.eu/health/documents/community-register/2024/20240327162288/dec_162288_en.pdf
https://reviewprakan.com/blog/mRNA-Viral-Vector-Vaccine
https://prachatai.com/journal/2021/01/915
Tags: Siam Bioscience, วัคซีน, โควิด-19, วัคซีนโควิด, แอสตราเซเนกา