18 มกราคมของทุกปี ถือเป็นวันแห่งความภาคภูมิใจของกองทัพไทย เป็นวันครบรอบการทำยุทธหัตถีระหว่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กับพระมหาอุปราชของพม่า สมเด็จพระนเรศวรสามารถเอาชนะได้ และกลายเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสยาม

‘กองทัพไทย’ ถือเอาวันที่พระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะเมื่อ 431 ปีก่อน เป็น ‘วันกองทัพไทย เป็นวันทำรัฐพิธี ถือเป็นวันที่ทั้งสี่เหล่าทัพภาคภูมิใจ จัดสวนสนาม ทำพิธีอย่างยิ่งใหญ่ ประกาศศักดาการเป็นกองทัพเพื่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชน ตามคำขวัญอย่างสมเกียรติ

แม้ในเวลานั้นจะยังไม่มีคำว่าชาติสยามหรือชาติไทย แต่เรื่องเล่าและตำนานดังกล่าวคือสิ่งที่ฝังอยู่ในประวัติศาสตร์อย่างหนักแน่น เพื่อให้เห็นความยิ่งใหญ่และความต่อเนื่องของความเป็นไทย คำถามก็คือหลังจากสี่ศตวรรษผ่านไปจนถึงวันนี้ กองทัพไทยมีสถานะเป็นอย่างไร ยัง ‘ยิ่งใหญ่’ เหมือนเดิมหรือไม่ ความสามารถในการป้องกันประเทศนั้นมีมากน้อยขนาดไหน

ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา Global Firepower เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลทางการทหารของประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพิ่งจัดอันดับ ‘แสนยานุภาพ’ ทางทหารของประเทศต่างๆ บนโลก จนพบว่าเพิ่งมีการจัดอันดับกองทัพไทยให้อยู่ในลำดับที่ 24 จากทั้งหมด 145 ประเทศในโลก โดยงบประมาณที่รัฐบาลไทยใช้ลงทุนกับอาวุธยุทโธปกรณ์ กำลังคน และการจัดกำลังทหารนั้นคิดเป็นมูลค่ากว่า 191,973 ล้านบาท

การจัดอันดับของ Global Firepower จัดให้ไทยอยู่ลำดับที่ 24 ติดกับชาติที่อยู่ในภาวะสงครามอย่างไต้หวัน ซึ่งได้อันดับที่ 23 และประเทศผู้ร่ำรวยอย่างซาอุดีอาระเบีย ซึ่งอยู่ที่ 22 ขณะที่ประเทศเยอรมนี ชาติมหาอำนาจของยุโรปนั้นได้อันดับที่ 25 แสนยานุภาพน้อยกว่ากองทัพไทยเสียอีก

คำถามก็คือมีความจำเป็นมากขนาดนั้นจริงหรือไม่ ในการบริหารกองทัพให้มีแสนยานุภาพเกรียงไกรในยามที่ประเทศไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม ไม่ได้มีความขัดแย้งอะไรกับชาติรอบข้าง และไม่ได้อยู่ในสถานะประเทศร่ำรวย

และบทเรียนจากกรณีเรือหลวง ‘สุโขทัย’ ล่ม เรือเหาะใช้งานไม่ได้จริง และเรื่องเครื่องตรวจระเบิด GT200 ประกอบกับเรื่องการทุจริต พัวพันกับเรื่องสีดำ สีเทา หลายเรื่อง ก็ชวนให้ตั้งคำถามว่าถึงเวลาจริง กองทัพไทยมีแสนยานุภาพ มีประสิทธิภาพในการรบจริงหรือเปล่า

350,000+100,000 นาย กำลังสำรองล้นหลาม

ตัวเลขจาก Global Firepower พบว่าไทยมีกำลังสำรองทั้งสิ้นรวม 4.5 แสนนาย คิดเป็นอันดับ 16 ของโลก ใกล้เคียงกับประเทศอย่างบราซิลและโคลอมเบีย ส่วนในภูมิภาคนี้ยังน้อยกว่าประเทศเมียนมา อินโดนีเซีย และเวียดนาม 

หากย้อนกลับมาดูตัวเลขภายในประเทศ จะพบค่าใช้จ่ายในงบประมาณกระทรวงกลาโหมว่าอยู่ในซีกของบุคลากรสูงที่สุดเกิน 60% เป็นที่แน่นอนว่าอยู่ใน ‘กองทัพบก’ สูงที่สุด คิดเป็นกว่า 2.45 แสนนาย และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งบประมาณของกองทัพบกนั้นคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของงบประมาณด้านการทหารทั้งหมดของประเทศ

ประเด็นเรื่องกำลังพลของไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักใน 2 ข้อ หนึ่งคือจำนวน ‘นายพล’ หรือนายทหารยศพลตรีขึ้นไปของทุกเหล่าทัพ ที่คาดว่าจะมีรวมกันราว 700-800 นาย โดยที่จำนวนมากเริ่มรับราชการในช่วงผ่านพ้น ‘สงครามเย็น’ ไปแล้ว ทำให้นายพลเหล่านี้ไม่ได้มีโอกาสรบทัพจับศึกที่ไหน หากแต่รับราชการยาวนานตามลำดับชั้นก็มีโอกาสรับตำแหน่งนายพล ซึ่งมีสวัสดิการงอกเงยจำนวนมาก

เมื่อปี 2563 สื่อนิกเคอิเอเชียนรีวิว (Nikkei Asian Review) เคยรวบรวมตัวเลขพบว่าสัดส่วนนายพลไทยต่อจำนวนกำลังพลอยู่ที่ 1:660 นาย ขณะที่สหรัฐอเมริกานั้นมีนายพล 1 นาย ต่อกำลังพล 1,600 นาย โดยไทยมีสัดส่วนนายพลต่อกำลังพลสูงถึงสามเท่า 

เรื่องนี้ กองทัพไทยรู้ดีว่าสูงเกินไป และอยู่ในแผนที่จะปรับลดอัตราของนายพลลงให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ และไม่ให้งบประมาณในสัดส่วนของเงินเดือนถูกใช้ไปกับนายพลมากไป

อีกข้อคือเรื่องของ ‘ทหารเกณฑ์’ เป็นที่รู้กันว่าแต่ละปีจะมีการเกณฑ์ชายไทยเป็นทหารเกณฑ์จำนวนมาก โดยในช่วงปีหลัง มียอดเรียกเกณฑ์ทั้งสิ้นราว 9 หมื่น-1 แสนราย ทำให้ชายไทยจำนวนมากสูญเสียโอกาสในการประกอบสัมมาชีพอื่น หากแต่ต้องไปฝึกทหาร ไม่เพียงเท่านั้นยังมีข่าวทั้งเรื่องการฝึกแบบพิสดาร การทำร้ายร่างกายทหารเกณฑ์ และการคอร์รัปชัน เรียกรับเงินเพื่อไม่ต้องไปเกณฑ์ทหาร จนเป็นสิ่งที่อยู่คู่กองทัพไทยมาโดยตลอด

กองทัพกับการเมืองไทย

ย้อนกลับไปในอดีต กองทัพไทยผูกพันกับการเมืองไทยมาโดยตลอด แม้สามอำนาจอธิปไตยจะไม่มี ‘กองทัพ’ เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่กองทัพมักจะถือโอกาสทำหน้าที่เป็น ‘ผู้ปกป้อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์’ และผู้รักษาความสงบ ทุกครั้งที่ฝ่ายบริหารคือรัฐบาลถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชัน ถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดี หรือประชาชนเกิดความแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายด้วยเหตุนี้ การทำรัฐประหารจึงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์ไทย ตลอด 91 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง กองทัพมีการทำรัฐประหารรวมกันทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการรวม 30 ครั้ง ที่มีข้อมูลปรากฏนั้นอยู่ที่ 21 ครั้ง สำเร็จทั้งสิ้น 13 ครั้ง ไม่สำเร็จทั้งสิ้น 8 ครั้ง ทำให้อัตราการรัฐประหารสำเร็จอยู่ที่อันดับ 1 ของโลก โดยอาศัยเหตุผลว่าต้องเป็นผู้รักษาความสงบเรียบร้อยของปวงชนชาวไทย

แน่นอนว่าเชื้อจากการรัฐประหารครั้งล่าสุดยังอยู่แวดล้อมการเมืองไทย ผู้นำการรัฐประหารคือ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำหน้าที่ควบคุมกองทัพ สมาชิกวุฒิสภาที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบันก็มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน และจะมีบทบาทอย่างสูงในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไป

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐธรรมนูญจากคณะรัฐประหารยังกำหนดให้ปลัดกระทรวงกลาโหม รวมถึงสี่ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ได้แก่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ กระทั่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง สามารถรับเงินเดือนได้อีกทาง รวมถึงมีบทบาทในการผ่านกฎหมาย มีบทบาทสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ อีกทั้งสัดส่วนของทหารและตำรวจเกษียณอายุราชการในวุฒิสภาชุดปัจจุบันก็มีกว่า 104 คน

แน่นอนว่าอำนาจของสมาชิกวุฒิสภายังสามารถให้คุณให้โทษ ผ่านการแต่งตั้งองค์กรอิสระชุดต่างๆ มีอำนาจทางการเมืองอย่างแน่นหนา และสามารถอนุมัติ-ไม่อนุมัติใครในการดำรงตำแหน่งก็ได้

ด้วยเหตุนี้ ทหารและกองทัพไทยจึงสัมพันธ์กับการเมืองไทยอย่างเหนียวแน่นราวกับเป็นอีกหนึ่งอำนาจอธิปไตย ทั้งที่ในประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก กองทัพหาได้มีความเกี่ยวข้องกับการเมือง และมีเพียงประเทศ ‘ด้อยพัฒนา’ และ ‘กำลังพัฒนา’ เท่านั้น ที่กองทัพจะเข้ามาพัวพันกับการเมืองมาก และมีอำนาจทางการเมืองมากขนาดนี้

แต่หากโครงสร้างทางการเมืองยังเป็นเช่นนี้ กองทัพยังคงเป็นรัฐอิสระที่ไม่ว่ารัฐบาลซีกไหนก็ยุ่มย่ามไม่ได้ ทั้งยังมีทีท่าใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ

กองทัพไทยก็มีความเป็นไปได้ที่จะผูกกับการเมืองไทยต่อไปอีกนานแสนนาน

 

ที่มา

https://asia.nikkei.com/Politics/Thailand-Land-of-a-thousand-generals

https://www.pewresearch.org/fact-tank/2017/11/17/egypts-coup-is-first-in-2013-as-takeovers-become-less-common-worldwide/

Tags: , , ,