“เยาวชนจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อไปในอนาคต”

Kaori Hori ตัวแทนเยาวชนจากประเทศญี่ปุ่น กล่าวบนเวทีเสวนา ‘APEC Youth Conference Voices of the Future 2022’ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ วชิราวุธวิทยาลัย โดย Kaori เป็นหนึ่งในตัวแทนเยาวชน 86 คน จาก 14 เขตเศรษฐกิจ ที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้

ประโยคสั้นๆ ของเธอสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญว่า เพราะอะไรการประชุมตัวแทนเยาวชนจึงมีความหมายไม่น้อยไปกว่าการประชุมเอเปค ที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องของ ‘ผู้ใหญ่’ การมีพื้นที่ที่เยาวชนจะได้ส่ง ‘เสียง’ ของพวกเขาจึงเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ควรเปิดใจฟัง

ภายใต้ธีมงาน Open. Connect. Balance. ของเอเปคในปีนี้ เต็มไปด้วยความหลากหลายของการตีความทั้ง 3 คำนี้ที่แตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศ หากแต่สิ่งหนึ่งที่เยาวชนเหล่านี้มีร่วมกันก็คือ พวกเขาหวังว่าเสียงของพวกเขา รวมถึงปฏิญญาเยาวชน พ.ศ. 2565 (Youth Declaration 2022) ที่ร่วมกันร่างขึ้นและนำเสนอต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำของเขตเศรษฐกิจเจ้าภาพฯ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา นอกจากจะช่วยสะท้อนมุมมองที่เยาวชนมีต่อปัญหา ความท้าทาย และโอกาสในประเด็นทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศเอเปค พร้อมเสนอแนะวิธีแก้ไขปัญหาแล้ว ยังเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่เสียงของพวกเขาจะถูกรับฟังและไม่โดนมองว่าเป็นเพียงเสียงของเด็กเท่านั้น

มาฟัง ‘เสียง’ ของพวกเขาให้มากขึ้นกับบทสัมภาษณ์ 9 เยาวชน จาก 7 ประเทศ ที่ตั้งใจพูดในสิ่งที่พวกเขาคิดและเชื่อมั่น ผ่านงานเสวนาดังกล่าวที่จัดขึ้นและสนับสนุนโดย บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)

บนเวที ประเด็นหนึ่งที่หลายประเทศหยิบยกมาพูดถึงคือความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ดูเหมือนปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างเด็กที่ฐานะดีและเด็กที่ฐานะด้อยกว่าจะเป็นปัญหาร่วมทั่วโลก และช่องว่างนั้นถูกทำให้กว้างขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

Nguyen Le Phu Thinh ตัวแทนเยาวชนและนักการศึกษาจากเวียดนามพูดถึงประเด็นนี้ว่า “เด็กที่มีฐานะดีกว่ามีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ที่จะช่วยพวกเขาได้ในอนาคต มากกว่าเด็กที่โอกาสน้อยกว่า มากไปกว่านั้น การลงทุนทางด้านการศึกษาส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนในเมืองใหญ่มากกว่าเมืองเล็กๆ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนทั้งจากภาครัฐหรือภาคเอกชน พวกเราในฐานะตัวแทนเยาวชนจึงมีหน้าที่ในการลดช่องว่างเหล่านี้ เพื่อให้เด็กที่ด้อยโอกาสได้เข้าถึงโอกาสทางการศึกษามากขึ้น”

Lauren Margaret Garrison ตัวแทนจากสหรัฐฯ เสริมเรื่องนี้ว่า “นี่คือโอกาสสำคัญที่เราจะพูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพราะว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกประเทศ สถานการณ์โรคระบาดที่ผ่านมายิ่งทำให้เห็นว่า เด็กที่มาจากครอบครัวที่มีรายได้สูงกว่าสามารถเข้าถึงบริการทางการศึกษาและทรัพยากรต่างๆ ได้มากกว่าอย่างเห็นได้ชัดในช่วงที่ต้องเรียนทางไกลกัน ดังนั้น เมื่อเราก้าวข้ามสถานการณ์โรคระบาดได้แล้วในตอนนี้ จึงเป็นจังหวะเหมาะที่จะพูดเรื่องนี้อย่างจริงจัง”

การพูดถึงเรื่องนี้นั้น ไม่ใช่แค่ว่าถ้าสถานการณ์นี้เกิดขึ้นอีกจะรับมืออย่างไร แต่ Adrian Marcelo Urquiza Font ยังหมายรวมถึงการป้องกันผลที่ตามมาจากเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ที่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีอัตราการออกจากโรงเรียนของนักเรียนสูงขึ้น รวมไปถึงปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชน

“เราต้องคิดไปถึงว่า ถ้ามีสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก เราจะป้องกันอย่างไรไม่ให้เหตุการณ์ซ้ำรอย”

ตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทยเองก็ได้นำเอาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามาเป็นไฮไลต์ในการพูดถึงบนเวทีนี้ ผ่านการนำเสนอของสามเยาวชนที่เป็นตัวแทนจากทีมเยาวชนไทยทั้ง 12 คน คือ สพล ตัณฑ์ประพันธ์ นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นภัสสร พิศิษฏพงศ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และ มนัสยา พลอยนำพล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรทำหน้าที่ให้ความรู้และเตรียมความพร้อมแก่ทีมเยาวชนไทยที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ รวมถึงเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของการประชุมเยาวชนนี้ด้วย

แนวคิดของเยาวชนไทยคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาประเทศ แต่ในประเทศไทยนั้นทรัพยากรด้านการศึกษาไม่ได้กระจายไปอย่างทั่วถึง การเข้าถึงอุปกรณ์เทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต และแหล่งความรู้ไม่เท่ากัน อีกทั้งครูอาจารย์มีภารกิจนอกเหนือจากการสอนมากเกินจำเป็น ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาหลายปี แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข 

โดยตัวแทนเยาวชนไทยเห็นว่า การยกระดับการแนะแนวอาชีพ (Career Guidance) ด้วยการให้เด็กๆ เข้าถึงความรู้และการแนะแนวเหล่านี้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่านการประสานกับภารกิจด้านสังคมขององค์กรเอกชนและภาครัฐต่างๆ จะช่วยสร้างเส้นทางสำหรับเด็กที่ขาดโอกาสให้มีอาชีพที่ดี และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้  

นอกจากเรื่องความเท่าเทียมกันทางการศึกษา เรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ คืออีกประเด็นที่ตัวแทนเยาวชนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญ

สองตัวแทนจากญี่ปุ่น Kaori Hori และ Momori Hirabayashi พูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะถูกมองว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ความเหลื่อมล้ำในสังคมยังคงปรากฏอยู่ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องให้การศึกษาและทำให้คนเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย

ที่สำคัญ เรื่องความเหลื่อมล้ำทางเพศนี้ไม่ใช่แค่การพูดถึงเฉพาะแต่ความเท่าเทียมกันในที่ทำงานเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงอิสระในการใช้ชีวิต ไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการ ซึ่งจะนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ความยั่งยืนเป็นอีกเรื่องที่ตัวแทนเยาวชนจากหลายประเทศให้ความสำคัญ และเป็นอีกเรื่องที่รวมอยู่ในปฏิญญาเยาวชน พ.ศ.2565 ด้วย นั่นหมายความว่า พวกเขามองเห็นเอเปคเป็นเวทีที่จะสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้

“พวกเรามีความรับผิดชอบในการพัฒนาอนาคต เราทำงานร่วมกันเพื่อที่จะสร้างอนาคตที่ยั่งยืน เยาวชนมีบทบาทสำคัญมากที่จะทำการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เป็นจริงได้ การประชุมเอเปคถือเป็นโอกาสดีที่จะเอาคนมาร่วมมือกัน เพื่อทำให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนหลายๆ ด้าน เป็นไปได้จริง” ตัวแทนเยาวชนจากประเทศต่างๆ ลงความเห็น

Josh Liam Ellwood ตัวแทนเยาวชนจากนิวซีแลนด์ ยกตัวอย่างความเป็นไปได้ในการสร้างความยั่งยืนในประเทศของเขาว่า “ที่นิวซีแลนด์ เรามีอุตสาหกรรมฟาร์มโคนมเป็นอุตสาหกรรมหลักอย่างหนึ่งของประเทศ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก การที่เราต้องการจะลดก๊าซนี้ แทนที่เราจะใช้วิธีเพิ่มภาษีให้กับเกษตรกรโดยตรง เราควรจะต้องสนับสนุนเกษตรกรในการทำการปศุสัตว์ในแบบที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ ถ้าเราสนับสนุนพวกเขาแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะดีขึ้นและเป็นไปในทิศทางที่เราต้องการ”

“พวกเราพยายามทำให้ข้อสรุปของเรานำไปปฏิบัติต่อได้ง่าย” นั่นคือสิ่งที่ตัวแทนเยาวชนวาดหวังไว้สำหรับปฏิญญาของพวกเขา เขาไม่ได้ต้องการยื่นปฏิญญาที่ซับซ้อน แต่เขาต้องการปฏิญญาที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ให้สิ่งที่พวกเขาระดมความคิดและความตั้งใจเห็นผลได้จริง

เนื้อหาในปฏิญญาสรุปได้ 3 ด้านหลักๆ ได้แก่ Open คือ การเปิดโอกาสด้วยการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษา และทักษะที่พร้อมสำหรับอนาคตอย่างเท่าเทียมกันให้กับเยาวชนในพื้นที่ชนบทและกลุ่มด้อยโอกาส

Connect เสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานและการเชื่อมโยงเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 

และ Balance สนับสนุนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน – เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ตลอดจนการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม

ยากไหมในการทำให้ผู้ใหญ่ โดยเฉพาะรัฐบาล ‘ฟัง’ เสียงของเด็ก เป็นคำถามที่เราอยากรู้ เพราะแม้แต่เด็กที่เป็นผู้นำเยาวชน ก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีผู้ใหญ่มองว่าเป็นเด็กอยู่วันยังค่ำ

“บางครั้งก็ยากเหมือนกันนะ” Adrian Marcelo Urquiza Font ตัวแทนจากเม็กซิโกกล่าว เขาเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงหรือทำให้ผู้ใหญ่เปิดใจฟังเรื่องเหล่านี้ต้องใช้ความพยายามและใช้เวลา

Lauren Margaret Garrison เสริมว่า นั่นเป็นเพราะเยาวชนมักจะถูกมองว่าขาดประสบการณ์ ไม่ได้อยู่ในสายงานต่างๆ มานานแล้วเหมือนอย่างผู้ใหญ่ แต่เธอก็เชื่อว่ายังมีอนาคตสำหรับเยาวชนและคาดหวังที่จะเห็นผลตอบรับจากปฏิญญาครั้งนี้

ขณะที่ตัวแทนจากจีน So Ze Long มองว่า นี่คือการส่งเสียงจากระดับล่างขึ้นไปสู่ระดับบน ซึ่งต่างจากการทำงานโดยทั่วไป การทำงานแบบนี้จะทำให้หลายภาคส่วนรับรู้และเข้าใจถึงปัญหามากขึ้น และนำไปสู่การร่วมมือกันของหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง

จากการพูดคุยกับบางส่วนของตัวแทนเยาวชน สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราเชื่อได้ก็คือ ‘เสียง’ ของพวกเขาจะไม่จบลงแค่การประชุมครั้งนี้อย่างแน่นอน เพราะ Nguyen Le Phu Thinh ตัวแทนจากเวียดนาม ได้พูดแทนทุกคนไว้ว่า “เราควรจะทำหน้าที่ทูตให้กับชุมชนของเราและความร่วมมือระดับโลก สร้างประโยชน์จากการเผยแพร่เรื่องราวดีๆ สนับสนุนความตั้งใจใหม่ๆ ถ้าเราสามารถเปลี่ยนแปลงชุมชนของเราได้ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงเป็นรูปธรรม รัฐบาลก็จะมองเห็นสิ่งนี้ และอาจจะขยายความเปลี่ยนแปลงนั้นให้ยิ่งใหญ่ขึ้น

“เพราะฉะนั้นสำหรับพวกเราแล้ว การประชุมเอเปคเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำความเปลี่ยนแปลงกลับไปสู่ชุมชนของพวกเราทุกๆ คน”

Tags: , , , ,