การตัดสินใจของกลุ่ม พลเรือน–ทหารหนุ่ม ในนาม ‘คณะราษฎร’ เมื่อ 91 ปีก่อน เปลี่ยนประวัติศาสตร์ไทยไปตลอดกาล ประเทศไทยเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็น ‘ประชาธิปไตย’ ด้วยจุดมุ่งหมายให้ประชาชนมีอำนาจขีดเขียนอนาคตด้วยตนเอง ราษฎรมีสิทธิเท่าเทียมกัน เสมอหน้ากัน พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
ภาพถ่ายหลายภาพถูกบันทึก ณ วันนั้น ในวันแห่งการ ‘ปฏิวัติเงียบ’ สถาบันพระมหากษัตริย์ หรือ ‘ฝ่ายเจ้า’ ไม่ได้มีใครคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น การอภิวัฒน์สยามเกิดขึ้นอย่างสงบราบเรียบ ไร้แรงปะทะ ต่างจากอีกหลายประเทศที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์รุนแรง
หลายภาพในห้วงเวลาดังกล่าวกลายเป็นภาพ ‘คลาสสิก’ ไม่ว่าจะเป็นภาพของพระยาพหลพลพยุหเสนา นำกำลังชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และอ่านคำแถลงการณ์ของคณะราษฎร ภาพของ ‘ยานเกราะ’ เรียงรายกันหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ภาพของ ‘หมุดคณะราษฎร’ ที่กลายเป็นอดีต พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 7 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จประทับ ณ สหราชอาณาจักร ก่อนทรงสละราชสมบัติไม่นาน
ในความเป็น ‘ภาพเก่า’ รายละเอียดบางอย่างอาจไม่ครบถ้วน ท่ามกลางการ ‘ปฏิวัติเงียบ’ ภาพดังกล่าวอาจไม่ได้ถูกบันทึกจากหลายมุมมอง แต่ในวันที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้า Adobe Photoshop BETA สามารถเติมเต็ม ‘ส่วนขยาย’ ณ วันอภิวัฒน์สยามได้ ย่อมทำให้ภาพบางภาพ เรื่องบางเรื่อง มี ‘รายละเอียด’ เพิ่มขึ้น แม้ไม่ใช่รายละเอียดตามประวัติศาสตร์ แต่ก็เป็น ‘จินตนาการ’ ตามที่ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มองเห็น
The Momentum ชวนย้อนดูภาพเก่าๆ เหล่านี้อีกครั้ง ในโอกาส 91 ปี วันอภิวัฒน์สยาม ว่าบรรดา AI มองเห็นอะไรจากภาพคลาสสิกเหล่านี้
ทหารอัญเชิญรัฐธรรมนูญ 2475 ไปจัดแสดง ณ ท้องสนามหลวง
ตามข้อมูลของพิพิธภัณฑ์รัฐสภา ระบุว่า งานฉลองรัฐธรรมนูญนั้นจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 โดยมีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ณ ท้องสนามหลวง
ในภาพนี้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ถูกวางบนพานแว่นฟ้า พานสองชั้นอันเป็นสัญลักษณ์ว่ารัฐธรรมนูญนั้นสร้างขึ้นโดยตัวแทนราษฎรแล้วทูลเกล้าเสนอให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย
ภาพโดย AI มีการเพิ่ม ‘มนุษย์’ อีกคนด้านขวามือพร้อมกับสิ่งเสมือนคล้าย ‘ม่าน’ ราวกับว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหน้าเวทีการแสดง…
คณะราษฎรและ ‘ยานเกราะ’ หน้าวังปารุสกวัน
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรได้ยึดวังปารุสกวันไว้ โดยวังแห่งนี้มีที่ตั้งอยู่ต่อกับด้านหน้าของลานพระบรมรูปทรงม้า และไม่ห่างจากพระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งเป็นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมากนัก คณะราษฎรจึงได้ใช้วังปารุสกวันเป็นที่ตั้งกองบัญชาการปฏิวัติ และได้เป็นทำเนียบรัฐบาลสมัยแรกของระบอบประชาธิปไตย
ยานเกราะเหล่านี้มีส่วนสำคัญในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น พระยาทรงสุรเดชได้พูดกับผู้บังคับกองรักษาการ กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ให้นำรถเกราะ รถรบ ไปใช้ควบคุมสถานการณ์ และกลายเป็นสัญลักษณ์ว่าประเทศสยามได้เข้าสู่อีกยุคหนึ่งแล้ว
ในภาพนี้ AI มีการเพิ่มรายละเอียดของวังปารุสกวันให้ครบถ้วน และมีนายทหารอีกจำนวนหนึ่งอยู่ทางขวามือ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จเปิดสะพานพุทธฯ
ในวันที่ 6 เมษายน 2475 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงไม่นาน ในหลวงรัชกาลที่ 7 เสด็จเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ และพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 1 เป็นพระราชพิธีครั้งใหญ่ในวาระครบรอบ 150 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ โดยสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ถือเป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งที่ 2 ถัดจากสะพานพระราม 6 ที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ทว่าเป็นสะพานถนนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของประเทศไทย
ในภาพที่ถูกต่อขยายโดย AI มีการเพิ่มรายละเอียดของเจ้าหน้าที่วังด้านขวามือของภาพให้สวม ‘สูทสากล’ และมีจำนวนเจ้าหน้าที่มากขึ้น แม้รายละเอียดใบหน้าจะไม่ครบสมบูรณ์ก็ตาม
ในหลวงรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระราชินี
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง หนังสือพิมพ์ The New York Times ฉบับวันที่ 25 มิถุนายน 2475 ได้ตีพิมพ์ภาพนี้ พร้อมกับคำบรรยายว่า หนึ่งในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่กี่แห่งในโลกถูกโค่นล้มในวันนี้ เมื่อกองทัพและกองทัพเรือของดินแดนที่งดงามแห่งนี้ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบประชาธิปไตย และร่างรัฐธรรมนูญขึ้น
ในภาพที่ขยายโดย AI ได้เสริมภาพของในหลวงรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระราชินีให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ทั้งมีรายละเอียดของห้องที่ประทับตามจินตนาการ
ทหารเรือและทหารบกฝ่าย ‘คณะราษฎร’ กับพระสงฆ์
ในภาพนี้ ทหารเรือและทหารบกของฝ่ายคณะราษฎรกำลังอ่านและแจกแถลงการณ์ของคณะราษฎรในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 โดยมีพระสงฆ์และสามเณรกำลังรับฟังอย่างตั้งใจ
ในภาพที่ขยายใน AI ได้เสริมตัวละครรายรอบพระสงฆ์เพิ่มขึ้น โดยมีกลุ่มบุคคลแต่งกายแปลกๆ รายล้อม ไม่ชัดเจนว่าเป็นกลุ่มบุคคลสวมชุดอะไร
คณะราษฎรเข้าควบคุม ‘พระที่นั่งอนันตสมาคม’
ภาพนี้เกิดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เช่นกัน โดยเป็นภาพของกองทหารที่เคลื่อนพลเข้าไปภายในพระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งหินอ่อนทรงยุโรปเพียงองค์เดียวในประเทศไทย ซึ่งจัดสร้างขึ้นในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 5 และแล้วเสร็จในสมัยในหลวงรัชกาลที่ 6 ทั้งนี้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระที่นั่งอนันตสมาคมได้ทำหน้าที่ในฐานะรัฐสภาแห่งแรกของประเทศไทย
ในภาพนี้ AI ได้ขยายให้รายละเอียดของพระที่นั่งอนันตสมาตมตามจินตนาการ และมองกลุ่มทหารด้านล่างคล้าย ‘ภาพวาด’ ไม่ได้มีรายละเอียดชัดเจน
เสด็จประทับ ‘ลอนดอน’
ในปี 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ พร้อมกับเสด็จประทับกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ขณะมีพระชนมายุได้ 41 พรรษา ภายหลังเหตุการณ์ ‘กบฏบวรเดช’ ในปี 2476 ซึ่งกระทำโดย ‘ฝ่ายเจ้า’ ล้มเหลว และในหลวงรัชกาลที่ 7 ทรงไม่เห็นด้วยกับแนวทางของคณะราษฎรหลายประการ
ในภาพดังกล่าว AI ได้เสริมภาพชาวต่างชาติแต่งกายคล้ายบาทหลวงอยู่ด้านข้างของในหลวงรัชกาลที่ 7
หมุดคณะราษฎร
ในอดีตหมุดคณะราษฎรฝังอยู่บนพื้นถนนข้างฐานพระบรมรูปทรงม้า ลานพระราชวังดุสิต การฝังหมุดคณะราษฎรเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2479 โดยหมุดดังกล่าวทำด้วยโลหะสัมฤทธิ์ พิธีฝังหมุดเป็นความต้องการของพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎรสายทหารบก ผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง สร้างวัตถุเพื่อรำลึกถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่การปกครองแบบประชาธิปไตยจวบจนถึงปัจจุบัน
จนกระทั่ง ปี 2560 หมุดคณะราษฎรซึ่งเดิมเขียนไว้ว่า “ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ” สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย โดยมีการนำ ‘หมุดหน้าใส’ ซึ่งเขียนว่า “ขอให้ประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องคำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง” มาใส่แทน
กระนั้นเอง หมุดหน้าใสก็ตั้งอยู่ไม่นานนัก หลังจากนั้นก็มีรายงานว่า ‘หมุดหน้าใส’ ก็หายไปจากลานพระราชวังดุสิต กลายเป็นอีกหนึ่งหมุดที่ถูกลืม พื้นที่ลานพระราชวังดุสิตจากนั้น กลายเป็นพื้นที่หวงห้าม มีการกั้นรั้วไม่ให้รถยนต์เข้าออก และพลตำรวจโท สำราญ นวลมา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้น ได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2565 ห้ามรถแล่นผ่านบริเวณถนนอู่ทองใน และลานพระราชวังดุสิตโดยเด็ดขาด ด้วยเหตุผลว่า “ถนนบางสายมีความหนาแน่นของการจราจรลดลงและมีความคล่องตัวมากขึ้น แต่มีผลทำให้รถที่สัญจรในทางใช้ความเร็วสูงและขาดความระมัดระวังในการขับขี่ ทำให้เกิดอุบัติเหตุในทางบ่อยครั้งต่อผู้ขับขี่ด้วยกันและผู้เดินเท้าในบริเวณนั้น ส่งผลต่อความปลอดภัยและความสะดวกในการจราจร”
ในภาพ AI ได้แต่งเติมหมุดคณะราษฎรให้ฝังแน่นมากขึ้น พร้อมกับเสริมด้านข้างให้หมุดคณะราษฎรเสมือนเป็นวัตถุคงทนถาวรมากขึ้น ตรงกันข้ามปัจจุบันที่หายไปอย่างไร้ร่องรอย
สี่ทหารเสือ+1
ในภาพประวัติศาสตร์นี้ สี่ทหารเสือของคณะราษฎร ได้แก่ พันเอกพระยาทรงสุรเดช พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา พันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ และ พันเอกพระยาฤทธิอัคเนย์ นั่งถ่ายภาพพร้อมหน้ากัน สามในสี่คือ พันเอกพระยาทรงสุรเดช พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา และพันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ ล้วนเป็นนักเรียนนอก และทั้งหมดล้วนเป็นทหารหัวก้าวหน้าแห่งกองทัพบก
สำหรับตำแหน่งพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหัวหน้าของคณะราษฎร พันเอกพระยาฤทธิอัคเนย์ เป็นผู้บังคับการหน่วยทหารปืนใหญ่ ส่วนพันโทพระประศาสน์พิทยายุทธ เป็นผู้ควบคุมตัวกรมพระนครสวรรค์วรพินิจที่วังบางขุนพรหม ขณะที่พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นผู้วางแผนนำกองกำลังทหารก่อการปฏิวัติ
อย่างไรก็ตาม หลังคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ แต่ละคนกลับกระจัดกระจายไปคนละทาง พระยาทรงสุรเดชขัดแย้งกับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อกบฏและสุดท้ายต้องลี้ภัย พระยาพหลพลพยุหเสนา ยังคงอยู่กับคณะราษฎรจนวาระสุดท้ายในปี 2490 พระยาฤทธิอัคเนย์ลี้ภัยทางการเมืองจากการขัดแย้งกับ จอมพล ป. เช่นกัน และ พระประศาสน์พิทยายุทธ ก็มีบทบาทสำคัญในกบฏพระยาทรงสุรเดช และไม่เคยมีบทบาททางการเมืองอีกเลย กระทั่งเสียชีวิตในปี 2492
ว่ากันว่า ความขัดแย้งทั้งหมด เป็นสาเหตุทำให้การ ‘อภิวัฒน์สยาม’ ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ภาพนี้ AI ได้แต่งภาพทหารเสือคนที่ 5 นั่งร่วมกับทหารเสือสี่คน
อ่านประกาศ ‘คณะราษฎร’
ในภาพนี้ คณะราษฎรได้นำมวลชนมารวมกัน ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อประกาศแถลงการณ์ฉบับที่ 1 ในการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน และเปลี่ยนแปลงการปกครอง
คณะราษฎรวางแผนเป็นครั้งแรกที่บ้านพักนักเรียนไทยในปารีสนับตั้งแต่ปี 2469 โดยตกลงที่ใช้วิธีการยึดอำนาจโดยฉับพลัน และเลี่ยงการนองเลือด โดยมี ปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะราษฎรอุดมไปด้วยข้อขัดแย้ง ทั้งในแง่หลักคิดการ ‘ประนีประนอม’ กับกลุ่มอำนาจเก่า หรือความเห็นที่ไม่ลงรอยกันในบรรดาคณะผู้ก่อการ โดยเฉพาะระหว่าง ปรีดี พนมยงค์ และจอมพล ป. พิบูลสงคราม
มรดกจากคณะราษฎรค่อยๆ จางหายนับตั้งแต่การรัฐประหาร 2490 และสูญสิ้นโดยสิ้นเชิงนับตั้งแต่การรัฐประหารโดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500 วาทกรรมที่สืบมาจากนั้นก็คือการก่อการทั้งหมด เป็นการ ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ กระทั่งเรื่องและชื่อของคณะราษฎรกลับขึ้นมาใหม่อีกครั้งในการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ นิสิตนักศึกษาตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา
ภาพนี้ AI ได้ต่อเติมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ด้วยการเพิ่มมวลชนเบื้องรอบ และเบื้องข้าง ขณะเดียวกัน ภาพถ่ายภาพนี้ก็ดูคล้ายภาพวาด abstract เมื่อถูกแต่งเติมขอบที่หายไป
Tags: คณะราษฎร, เปลี่ยนแปลงการปกครอง, 24 มิถุนายน 2475, อภิวัฒน์สยาม