ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำผิดและใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ จากเหตุการณ์คานเหล็กถนนพระราม 2 ในโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 ดาวคะนอง วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก พังทรุดตัวระหว่างการก่อสร้างในช่วงเช้าของวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา แม้จะเป็นอุบัติเหตุใหญ่ที่เกิดขึ้นกับโครงการภาครัฐจนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 6 ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก แต่กลับต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะได้ข้อสรุปว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบกับความสูญเสียดังกล่าว
หลังอุบัติเหตุที่เกิดจากโครงการรัฐได้เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ขณะเดียวกันแนวคิดเรื่อง ‘สมุดพกผู้รับเหมา’ ก็ถูกพูดถึงขึ้น ซึ่งเป็นมาตรการที่ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตั้งมั่นจะใช้ในการแก้ปัญหาการก่อสร้างในโครงการรัฐที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยมองว่าจะสามารถใช้เป็นบทลงโทษ ควบคุม ดูแลผู้รับเหมา ไปจนถึงการประเมินให้คะแนนในด้านการนำเนินงาน ที่หากทำไม่ถูกต้อง หละหลวมจนเกิดอุบัติเหตุ ก็จะมีการหักคะแนน ซึ่งจะส่งผลต่อการรับงานและประมูลงานในอนาคต
กระนั้นเองนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาพูดถึงมาตรการดังกล่าว แต่เป็นมาตรการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพูดตลอดการดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ยุครัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน มาจนถึงยุครัฐบาล แพทองธาร ชินวัตร ที่เมื่ออุบัติเหตุเกิดขึ้นครั้งใดสมุดพกผู้รับเหมาก็จะผุดขึ้นเมื่อนั้นคล้ายกับเป็นคำพูดในการเอาตัวรอด
The Momentum เปิดไทม์ไลน์ ‘สมุดพกผู้รับเหมา’ มาตรการจากรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมที่ประชาชนคุ้นหูว่า ในวันนี้มีความคืบหน้าไปถึงไหน ประกาศใช้เมื่อไร อะไรที่ทำให้มาตรการนี้ไม่เกิดขึ้นสักที แล้ววันนี้ประเทศไทยมีมาตรการควบคุม เอาผิด กำกับ หรือดูแลผู้รับเหมาหรือไม่ ไปจนถึงปัจจุบันประเทศแห่งนี้สามารถเอาผิดผู้รับเหมาเจ้าไหนได้บ้างหรือยัง
‘สมุดพกผู้รับเหมา’ คืออะไร
สมุดพกผู้รับเหมา เป็นมาตรการที่กระทรวงคมนาคมหมายมั่นให้ใช้ในการลงโทษผู้รับเหมาการก่อสร้าง ในโครงการของภาครัฐที่ทำงานเสร็จล่าช้าไม่เป็นไปตามแผน มีความไม่ปลอดภัยและปฏิบัติงานไม่ได้มาตรฐาน จนเป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียทั้งกับชีวิตและทรัพย์สิน โดยรูปแบบการทำงานของสมุดพกจะกำหนดให้ผู้รับเหมาในโครงการของภาครัฐมาขึ้นทะเบียน และจะมีการประเมินการทำงานของผู้รับเหมาระหว่างก่อสร้าง
หากผู้ประเมินพบว่า ผู้รับเหมามีการปฏิบัติที่ขัดต่อระเบียบหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในสมุดพก จะทำการ ‘ตัดคะแนน’ ลดลำดับชั้นของผู้รับเหมาลง ซึ่งมีผลกับการรับงานภาครัฐ รวมถึงกระทบกับสิทธิในการเข้ามาประมูลงานโครงการต่างๆ ภาครัฐในอนาคตด้วย
อย่างไรก็ตามมาตรการสมุดพกผู้รับเหมา ยังไม่มีรายละเอียดจากกระทรวงคมนาคมที่ชัดเจนว่า การทำผิดหลักเกณฑ์ของผู้รับเหมาที่จะทำให้ถูกตัดคะแนนมีอะไรบ้าง การทำผิด 1 ครั้งผู้รับเหมาจะถูกหักคะแนนเท่าไร และคะแนนเท่าไรจึงจะถูกตัดสิทธิการประมูลโครงการของภาครัฐได้ เนื่องจากมาตรการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการจัดทำ
สมุดพกกับรัฐมนตรีสุริยะ
ความเกี่ยวข้องกันระหว่างสมุดพกผู้รับเหมากับสุริยะ เกิดขึ้นในขณะที่ต้องลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหาย หลังเกิดเหตุชิ้นส่วนประกอบของโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วง หล่นกระแทกพื้นกระเด็นโดนศีรษะของคนงานเสียชีวิต เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566
ครั้งนั้นสุริยะในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผย ‘แนวคิด’ ในการเอาผิดกับผู้รับเหมาที่รับผิดชอบโครงการว่า จะใช้สมุดพกเพื่อประเมินการทำงานในแต่ละด้านของผู้รับเหมา หากผู้ประเมินพบว่า ผู้รับเหมาปฏิบัติงานขัดหลักด้านความปลอดภัย จะถูกหักคะแนนตามรอบที่กระทำผิด ซึ่งจะมีผลกับการประมูลงานในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ โดยจะมีการเรียกผู้รับเหมาในโครงการต่างๆ เข้ามารับทราบรายละเอียดในเดือนมกราคม 2567
นับตั้งแต่อุบัติเหตุในโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วง มาตรการสมุดพกผู้รับเหมา ถูกพูดถึงบ่อยขึ้นโดยรัฐมนตรีคนเดิม กระทั่งต้นเดือนมกราคม 2567 ได้เกิดเหตุล้อประคองรถไฟฟ้าสายสีเหลืองร่วงหล่นใส่รถแท็กซี่บนถนน และแน่นอนว่าประเด็นเรื่องสมุดพกก็ถูกหยิบยกมาว่ากล่าวอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามถึงแม้จะพูดถึงมาตรการนี้บ่อย แต่เมื่อสื่อมวลชนสอบถามถึงความคืบหน้า มักจะได้รับคำตอบว่า กำลังพิจารณาลงความเห็นอยู่ระหว่างให้หน่วยงานจัดทำ หรือแม้กระทั่งไม่มีความคืบหน้า ที่สำคัญคือแม้ว่าสุริยะจะมีการกำหนดเวลาในบางครั้ง ที่กล่าวถึงสมุดพกผู้รับเหมาว่า จะมีความชัดเจนในรายละเอียดของมาตรการออกมาเมื่อไร แต่พอถึงเวลานั้นจริงกลับไม่มีข้อมูลใดออกมา
เช่นเดียวกับเหตุการณ์คานสะพานก่อสร้างทางพิเศษบนถนนพระราม 2 ทรุดตัวที่เพิ่งเกิดขึ้น ความคืบหน้าของสมุดพกก็ยังคง ‘อยู่ในระหว่างการดำเนินการ’ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตั้งเป้าหมายว่า มาตรการนี้จะเป็นรูปเป็นร่างภายในเดือนเมษายน 2568 ทว่า ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีกำหนดการที่จะประกาศใช้มาตรการดังกล่าวได้
ไทม์ไลน์สมุดพกผู้รับเหมา 1 ปี ที่ผ่านมามีความคืบหน้าอะไรบ้าง
24 ธันวาคม 2566
เหตุการณ์: เหล็กข้ออ้อยหล่นกระแทกพื้นกระเด็นถูกศีรษะคนงานเสียชีวิต บริเวณไซต์งานก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วง
มาตรการคมนาคม: สุริยะเปิดเผยแนวคิดว่าจะใช้สมุดพกผู้รับเหมา ให้คะแนนและประเมินการทำงานผู้รับเหมาในเรื่องความปลอดภัยในการก่อสร้าง ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาเข้าประมูลโครงการของรัฐ
ความคืบหน้า: ไม่ชัดเจน
กำหนดประกาศใช้: ไม่ทราบ
2 มกราคม 2567
เหตุการณ์: ล้อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองหล่นใส่รถแท็กซี่ที่อยู่บริเวณถนนเทพารักษ์ จังหวัดสมุทรปราการ
มาตรการคมนาคม: รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า จะนำสมุดพกผู้รับเหมามาใช้กับบริษัทเดินรถ เพราะกระทรวงสามารถทำได้เพียงสั่งผู้รับสัมปทานเดินรถให้หยุดเดินรถชั่วคราวตามสัญญา
ความคืบหน้า: ไม่ชัดเจน
กำหนดประกาศใช้: ไม่ทราบ
ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567
เหตุการณ์: คลิปกลุ่ม ‘สุขชาวบ้าน’ ล้อเลียนการก่อสร้างถนนพระราม 2 เมื่อ 20 ปีที่แล้ว กลับมาเป็นไวรัล จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์โครงการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ที่ยังสร้างไม่เสร็จ
มาตรการคมนาคม: รัฐมนตรีคมนาคมให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า จะประสานกรมบัญชีกลางนำสมุดพกผู้รับเหมามาใช้กำกับผู้รับเหมาที่ทำงานไม่สำเร็จตามเป้าหมาย โดยมีการลดระดับผู้รับเหมาจากชั้นพิเศษมาเป็นชั้นหนึ่ง ไม่ให้รับโครงการใหญ่ และไม่ให้เข้าประมูลโครงการใหม่ของกระทรวงคมนาคม
ในสัปดาห์เดียวกันมีการเผยแพร่เอกสารข่าวของกระทรวงการคลังที่ระบุว่า กรมบัญชีกลางจะเพิ่มหลักเกณฑ์ในการประเมินงานผู้รับเหมา ภาครัฐสามารถระงับหรือจำกัดข้อเสนอผู้รับเหมาหากทำงานล่าช้า ไม่ทำตามสัญญา และทำงานไม่ได้มาตรฐานทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
ขณะเดียวกันกรมบัญชีกลางจะเสนอต่อคณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ ให้มีการปรับปรุงเกณฑ์ขึ้นทะเบียนผู้รับเหมางานก่อสร้าง เพื่อนำผลมาปรับลดชั้นการขึ้นทะเบียนผู้รับเหมา เพิ่มโทษสำหรับผู้รับเหมาที่ทำให้เกิดความเสียหายในการก่อสร้าง รุนแรงสูงสุดคือเพิกถอนใบทะเบียน
ความคืบหน้า: กระทรวงคมนาคมจะประสานกรมบัญชีกลางจัดทำสมุดพกผู้รับเหมา
หลังจากนั้นกระทรวงการคลังได้เผยแพร่เอกสาร ‘ข่าวกระทรวงการคลัง’ ฉบับที่ 1/2567 ลงวันที่ 6 มีนาคม 2567 ระบุว่า นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งการให้กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลาง พิจารณากำหนดมาตรการควบคุมการปฏิบัติงานการก่อสร้าง พร้อมทั้งชี้ว่า กรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างเสนอมาตรการควบคุมการปฏิบัติงานของผู้รับเหมา
กำหนดประกาศใช้: กรมบัญชีกลางจะเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว
29 พฤศจิกายน 2567
เหตุการณ์: คานทางยกระดับถนนพระราม 2 กม.ที่ 21 ถล่มระหว่างการก่อสร้าง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 8 ราย
มาตรการคมนาคม: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมระบุว่า จะนำมาตรการสมุดพกผู้รับเหมามาใช้กับผู้รับเหมา และจะประสานหน่วยงานเพื่อกำหนดมาตรการลดอุบัติเหตุระหว่างก่อสร้างในโครงการของรัฐให้เป็นรูปธรรม
ความคืบหน้า: กระทรวงคมนาคมกล่าวว่า จะเร่งประสานกับกรมบัญชีกลางเพื่อกำหนดมาตรการ
กำหนดประกาศใช้: ไม่ทราบ
4 ธันวาคม 2567
เหตุการณ์: รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Sustainability Forum 2025 : Synergizing for Driving Business ว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดคมนาคมร่วมพิจารณาร่างพิจารณาความเห็นของ ร่างระเบียนกระทรวงการคลังในการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้รับเหมา เพื่อนำไปหารือกับกรมบัญชีกลางเกี่ยวกับแนวทางจัดทำสมุดพกผู้รับเหมา
สำหรับกรอบระยะเวลาที่ให้หน่วยงานสรุปความเห็นต่อร่างระเบียบกระทรวงการคลังจะเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อนำไปพูดคุยกับกรมบัญชีกลางหาข้อสรุปต่อไป
มาตรการกระทรวงคมนาคม:
– จะมีการปรับเงินสูงสุดตามกฎหมาย
– ตัดสิทธิในการเข้าร่วมการประมูลโครงการของรัฐ
– เพิ่มการตัดคะแนนผู้รับเหมา
– หากคะแนนไม่ถึงเกณฑ์จะลดชั้นผู้รับเหมา และมีการถอดรายชื่อออกจากทะเบียนผู้รับเหมาในโครงการของรัฐทันที
ความคืบหน้า: อยู่ในระหว่างให้หน่วยงานคมนาคมร่วมกันพิจารณา
กำหนดประกาศใช้: ไม่ทราบ
15 มีนาคม 2568
เหตุการณ์: คานสะพานถนนพระราม 2 ทรุดตัวระหว่างการก่อสร้าง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บอีกจำนวนมาก
มาตรการคมนาคม: รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมกล่าวถึงสมุดพกผู้รับเหมา และคาดว่า กรมบัญชีกลางจะประกาศมาตรการออกมาชัดเจนในเดือนเมษายน 2568
ความคืบหน้า: กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการทำสมุดพกผู้รับเหมาร่วมกับกรมบัญชีกลาง
กำหนดประกาศใช้: ไม่ทราบ
สมุดพกคือความหวังแก้อุบัติเหตุโครงการรัฐ?
ตั้งแต่ปลายปี 2566 ที่ สุริยะกล่าวถึงสมุดพกผู้รับเหมา ผ่านมา 1 ปียังไม่มีรูปร่างหน้าตาของสมุดพกที่สามารถมองเห็นหรือจับต้องได้ และยังไม่ประกาศใช้ มีแต่เพียงหลักการทำงานของสมุดพกที่มีไว้เพื่อการประเมินการทำงานของผู้รับเหมาที่ทำงานในโครงการของรัฐ จึงยังไม่สามารถประเมินได้ว่า มาตรการดังกล่าวจะสามารถเอาผิดกับผู้รับเหมาอย่างได้สัดส่วนและแก้ปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น รวมไปถึงความล่าช้าในการก่อสร้างโครงการของรัฐได้จริงหรือไม่
แม้กระทั่งคำถามที่ว่า สมุดพกผู้รับเหมาจะเป็นผลดีหรือผลเสียกับประชาชน สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.พรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ว่า ยังไม่สามารถตอบคำถามเรื่องนี้ได้ เนื่องจากยังไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัดเกี่ยวกับสมุดพกผู้รับเหมาที่ถูกกล่าวถึงโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“ในอุบัติเหตุบนถนนพระราม 2 อาจจะไม่ถูกตัดคะแนนตามสมุดพกด้วยซ้ำ เพราะเหตุมันเกิดก่อนสมุดพกจะออก มาตรการไม่มีผลย้อนหลัง”
สส.พรรคประชาชนระบุต่อว่า การกล่าวถึงสมุดพกผู้รับเหมาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อ ‘ลดบรรยากาศ’ ในสังคมในระหว่างที่เกิดอุบัติเหตุ เพื่อให้มองว่า ทางกระทรวงกำลังทำอะไรบางอย่างเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว
“คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับสมุดพกจะต้องไปตามหามาตรการที่คุณเสนอ การมีมาตรการเฉพาะหน้าก็ดีกว่าไม่มีมาตรการเลย ทั้งนี้ก็ต้องไปเจาะข้อมูลให้ได้อุบัติเหตุเกิดขึ้นเพราะอะไร ใครผิดในเรื่องนี้ และในอนาคตจะแก้ไขปัญหาอย่างไร” สุรเชษฐ์กล่าว
ทั้งนี้ข้อสรุปของสมุดพกผู้รับเหมาในตอนนี้คือ ‘ยังไม่ได้ข้อสรุป’ และจนถึงวันนี้ยังไม่มีผู้รับเหมาเจ้าใดที่รับผิดชอบในส่วนของงานก่อสร้าง ที่เกิดอุบัติเหตุถูกตัดคะแนนในสมุดพกในวันนี้
อย่างไรก็ตามไทม์ไลน์ใหม่ของสมุดพกผู้รับเหมา ถูกเปิดเผยจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแล้วว่า จะมีความชัดเจนภายในเดือนเมษายน 2568 ซึ่งเป็นที่น่าจะจับตามองว่า ชัดเจนได้อย่างที่ว่าไว้หรือไม่
อ้างอิง
– ข่าวกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 14/2567 วันที่ 6 มีนาคม 2567
– https://www.bbc.com/thai/articles/cx2g35621rmo
– https://www.isranews.org/article/isranews-news/136458-highway.html
– https://www.youtube.com/watch?v=ta_qRNL-XsI