“ปากกาแข็งแกร่งกว่าดาบ”
หากแปลวลีนี้แบบตรงไปตรงมาตามลักษณะของวัตถุ อาจจะดูไม่มีเหตุผลสักเท่าไร เพราะอุปกรณ์การเขียนนั้นจะมีความแข็งแกร่งมากว่าอาวุธสงครามได้อย่างไร
แต่ความหมายที่แท้จริงของวลีนี้ก็คือ ปากกาเป็นตัวแทนของการ ‘สื่อสาร’ ข้อความต่างๆ ซึ่งมีอานุภาพที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้มากกว่าความ ‘รุนแรง’ ที่เปรียบเสมือนดาบของผู้มีอำนาจที่มักจะใช้อย่างป่าเถื่อน
และอาชีพที่จะทำหน้าที่สื่อสารข้อความเหล่านี้ได้ดีที่สุดก็คือ ‘สื่อ’
นิยามของคำว่าสื่อนั้นมีหลายรูปแบบ สื่อดั้งเดิมนันมีทั้งในรูปแบบสำนักข่าว หนังสือพิมพ์ นิตยสาร โทรทัศน์ หรือวิทยุ จนพัฒนามาในยุคปัจจุบันที่ ‘สื่อ’ ได้ขยับขยายขอบเขตของตัวเองไปยังโลกออนไลน์ จนเปลี่ยนบทบาทของทุกคนให้สามารถทำหน้าที่เป็นสื่อ คอยช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้สังคมได้
ถึงแม้สื่อในยุคปัจุบันจะถูกแทรกแซงจากความพัฒนาแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยี การที่ทำหน้าที่สื่อได้อย่างมีคุณค่าจริงๆ นั้นไม่ใช่แค่การหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาถ่ายเหตุการณ์ต่างๆ แล้วโพสต์ขึ้นบนเฟซบุ๊กของตัวเอง เพราะว่าในการทำงานสื่อมีกระบวนการมากมาย และการนำเสนอข่าวนั้นต้องใช้ความกล้าหาญในการสืบเสาะหาความจริงจากทุกๆ ด้านมานำเสนอ พร้อมทั้งเรียบเรียงข้อมูลมหาศาลให้กลายมาเป็นข่าวในรูปแบบต่างๆ ที่คนหมู่มากจะสามารถเข้าใจได้โดยง่าย
หากข่าวนั้นมีความสำคัญและมีน้ำหนักมากพอ เพียงการรายงานข่าวไม่กี่ชิ้นก็สามารถสร้างแรงกระเพื่อมและความเปลี่ยนแปลงในวงกว้างได้
เนื่องในโอกาสวันนักข่าว (วันที่ 5 มีนาคม ของทุกปี) The Momentum ขอนำเสนอส่วนหนึ่งของบรรดา ‘สื่อที่หาญกล้า ท้าทายอำนาจ และสร้างความเปลี่ยนแปลง’ ให้กับสังคมด้วยการตีแผ่ข้อเท็จจริง
1. The New York Times: ปฏิวัติระบบชายเป็นใหญ่ในฮอลลีวูด
บทความของเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ (The New York Time) จากสองนักข่าวสาว โจดี แคนเทอร์ (Jodi Kantor) และเมแกน ทูฮีย์ (Megan Twohey) ที่ออกมาเปิดโปงเรื่องของ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ (Harvey Weinstein) โปรดิวเซอร์ชื่อดังผู้ทรงอิทธิพลของวงการฮอลลีวูดที่ได้ทำการข่มขู่และล่วงละเมิดทางเพศหญิงสาวที่ทำงานอยู่ในบริษัทของเขา ไปจนถึงนักแสดงฮอลลีวูดที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ในบทความชิ้นนั้นได้มีบทสัมภาษณ์อย่างละเอียดของเหยื่อที่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศจากไวน์สไตน์ โดยไวน์สไตน์ได้ทำการข่มขู่หญิงสาวเหล่านี้ด้วยอาชีพการงาน เพราะว่าตเขาเป็นเจ้าของบริษัท ไวน์สไตน์ฯ ที่ผลิตภาพยนตร์อันโด่งดังมากมาย เช่น Pulp Fiction, Good Will Hunting หรือ The King’s Speech ทำให้เขาเป็นหนึ่งในโปรดิวเซอร์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในวงการภาพยนตร์ฮอลลีวูด และมักใช้อำนาจที่มีในการข่มขู่ลูกน้องอยู่เสมอ
บทความนี้สร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง เพราะเหล่านักแสดงและผู้หญิงในวงการได้ออกมาช่วยกันแฉเปิดโปงว่า วงการฮอลลีวูดนั้นเต็มไปด้วยความเน่าเฟะของวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่จนเกิดเป็น ‘#Metoo Movement’ ในทวิตเตอร์ ที่สาวไปถึงดาราที่มีชื่อเสียงมากมายที่เคยทำการล่วงละเมิดทางเพศคนอื่น ไม่ว่าจะเป็น ไบรอัน ซิงเกอร์ (Bryan Singer) เจมส์ ฟรังโก (James Franco) หรือเบน แอฟเฟล็ก (Ben Affleck) รวมถึงดาราชายที่มีชื่อเสียงอีกเป็นร้อยคนที่โดนข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ
สุดท้าย ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์ ถูกจับเข้าคุกด้วยข้อหาข่มขืนเป็นเวลา 23 ปี ซึ่งนอกจากเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศภายในวงการ กระแสนี้ยังทำให้เกิดการตั้งคำถามของความเท่าเทียมทางเพศในวงการฮอลลีวูดอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าตัวระหว่างนักแสดงชาย-หญิง เงินเดือนของผู้หญิงในตำแหน่งต่างๆ ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ การทำให้วงการฮอลลีวูดให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้นอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเในจอหรือนอกจอ
การออกมาเปิดโปงเรื่องอื้อฉาวของวงการฮอลลีวูดและอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทำให้ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ สาขา Public Service ในปี 2018 จากการรายงานข่าวนี้
2. Jamal Khashoggi: สั่นคลอนอำนาจของราชวงค์ซาอุฯ
จามาล คาช็อกกี (Jamal Khashoggi) คือนักข่าวอิสระสัญชาติซาอุดีอาระเบียที่เป็นหัวหอกสำคัญในการรายงานข่าวเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลและราชวงค์ซาอุฯ รวมถึงสนับสนุนกระแส ‘อาหรับสปริง’ ที่สั่นสะเทือนขั้วอำนาจเผด็จการในตะวันออกกลาง กระแสเรียกร้องประชาธิปไตยให้กับซาอุฯ และประเทศในพื้นที่ตะวันออกกลาง
คาช็อกกีเคยทำข่าวสำคัญหลายเรื่อง เช่น การบุกอัฟกานิสถานของโซเวียต และการขึ้นมามีอำนาจของอุซามะห์ บิน ลาดิน (Osama Bin Laden) รวมถึงข่าวสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่ 1 ที่ประเทศคูเวต เขารับตำแหน่งรองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์อาหรับ นิวส์ ภาคภาษาอังกฤษ ก่อนที่จะเข้าไปเป็นบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์อัล-วาตัน ซึ่งเป็นสื่อยักษ์ใหญ่ของซาอุดีอาระเบียในปี 2003 และยังเคยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับเจ้าหน้าที่ทางการระดับสูงของซาอุฯ แต่ต่อมาก็กลายเป็นบุคคลที่รัฐบาลซาอุฯ หมายหัวจนต้องลี้ภัยมายังสหรัฐฯ และทำงานร่วมกับสำนักข่าว เดอะ วอชิงตัน โพสต์ (The Washington Post)โดยที่เขาเริ่มเสนอข่าววิพากษ์วิจารณ์ราชวงศ์ซาอุฯ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน (Mohammed Bin Salman)
จากนั้นในวันที่ 2 ตุลาคม ปี 2018 คาช็อกกีหายตัวไปหลังจากเดินทางไปที่สถานกงสุลซาอุดีอาระเบียในตุรกี ซึ่งภายหลังมีการรายงานจากเจ้าหน้าที่ตุรกีว่าเขาถูกสังหารโดยกลุ่มสายลับของซาอุฯ ซึ่งหลายสำนักเชื่อว่าสาเหตุของการสังหารนี้มาจากการรายงานข่าวเชิงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อรัฐบาลและราชวงศ์ซาอุฯ ของคาช็อกกีอย่างต่อเนื่อง
คดีการสังหารคาช็อกกีในครั้งนี้ยืดเยื้อนานจนมโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ได้ออกมารับสารภาพว่าการสังหารคาช็อกกีเป็นเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของพระองค์เอง สร้างความสั่นคลอนให้กับกลุ่มราชวงค์ซาอุฯ เป็นอย่างมาก
3. Süddeutsche Zeitung: ยุติการคอร์รัปชันของผู้มีอำนาจด้วย Panama Paper
ในปี 2016 ที่ผ่านมา ‘เอกสารปานามา’ (Panama Paper) คือเอกสารลับที่มีเนื้อที่ 2.6 เทระไบต์ ซึ่งรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 1977 มาจนถึง 2015 โดยมีเอกสารย่อยภายในจำนวนกว่า 11 ล้านชิ้นที่เปิดเผยถึงการโต้ตอบอีเมล์ และสัญญาทางกฎหมายต่างๆ จากบริษัทกว่า 2.14 แสนแห่ง ที่ถูกตั้งขึ้นมาโดยเหล่าบุคคลที่มีชื่อเสียงและทรงอิทธิพลทั่วโลก เช่น ผู้นำประเทศ, เจ้าหน้าที่ในองค์กรชื่อดัง และบรรดามหาเศรษฐี เพื่อใช้บริษัทเหล่านั้นในการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ แบบหลีกเลี่ยงภาษี และหลีกเลี่ยงการเปิดเผยตัวตน
ข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้หลุดออกมาจากบริษัท มอสแซก ฟอนเซกา (Mossack Fonseca) ซึ่งเชี่ยวชาญในการตั้งบริษัทบังหน้าเพื่อใช้ปกปิดตัวตนที่แท้จริงในการทำธุรกรรมต่างๆ โดยบริษัทเหล่านี้จะถูกเรียกว่า Shell Company (เปลือก) ทำให้มีเหล่าบุคคลชื่อดังทั่วโลกพากันมาใช้บริการมากมาย
ทีมข่าวจากสำนักข่าว ซึดดอยต์เชอ ไซทุง (Süddeutsche Zeitung) ในประเทศเยอรมนีได้รับข้อมูลนี้จากแหล่งข่าวที่เคยทำงานอยู่ภายในบริษัทมอสแซก ฟอนเซกา มาก่อน โดย ซึดดอยท์เชอ ไซทุง ได้ทำการร่วมมือกับเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนนานาชาติ และสื่ออีกมากกว่า 100 รายในการขุดคุ้ยเรื่องราวต่างๆ จากเอกสารกว่า 11 ล้านชิ้นนี้
ในเอกสารเหล่านี้ได้ระบุถึงการทำธุรกรรมลับที่ชี้กลับไปยังประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ของรัสเซีย, นายกรัฐมนตรี ซิกมุนเดอร์ กุนน์ล็อกสัน (Sigmundur Gunnlaugsson) ของประเทศไอซ์แลนด์ และสามารถสืบสาวต้นตอการฉ้อโกงต่างๆ ไปได้ถึง 82 ประเทศด้วยกัน นอกจากการโกงธุรกรรมทางการเงินแล้ว ก็ยังมีประเด็นเรื่องการหนีภาษี การยักยอกเงินรัฐ การค้าอาวุธ การค้ายาเสพติด และการทุจริตอีกมากมายจนทำให้เหล่าผู้มีอำนาจหลายคนต้องเข้าคุก หรือสูญเสียอำนาจที่เคยมีจนหมดสิ้น
4. The Guardian, The Washington Post: ทำให้ทั้งโลกหันมาสนใจ Digital Privacy
ข่าวสุดอื้อฉาวนี้ถูกเปิดโปงในปี 2013 โดยสำนักข่าวสัญชาติอังกฤษ เดอะ การ์เดียน (The Guardian) ที่เปิดเผยว่าสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ NSA ได้บังคับ ‘เวอไรซอน’ (Verizon) บริษัทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารเจ้าใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ส่งข้อมูลบันทึกการใช้โทรศัพท์ของลูกค้ามาให้พวกเขาทั้งหมดรวมกว่า 10 ล้านคน
ต่อจากนั้นไม่นาน สำนักข่าวเดอะ วอชิงตัน โพสต์ (The Washington Post) ของสหรัฐฯ ก็เดินหน้าสืบสวนต่อจนพบว่า NSA และหน่วยงานข่าวกรองของสหราชอาณาจักร ได้ทำการดักฟัง เจาะระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทอินเทอร์เน็ตระดับโลกเป็นจำนวน 9 บริษัทอย่าง เฟซบุ๊ก, กูเกิล และไมโครซอฟต์ เพื่อทำการสอดแนมข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยไม่ได้รับความยินยอมด้วยโปรแกรมพิเศษที่ชื่อว่า ‘PRISM’ โดยอ้างว่าเป็น ‘มาตรการป้องกันผู้ก่อการร้าย’
การรายงานข่าวนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และได้มีการเปิดเผยภายหลังว่าคนที่ส่งข้อมูลลับเหล่านี้ให้กับสำนักข่าวคือ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน (Edward Snowden) นักวิเคราะห์ระบบข้อมูลที่เคยทำงานให้กับซีไอเอ สโนว์เดนขโมยข้อมูลเหล่านี้ออกมาเปิดเผยให้ทั้งโลกรู้ จนตัวเขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในฐานะหนึ่งใน ‘Whistle Blower’ (ผู้แจ้งเบาะแส) ที่สำคัญที่สุด
หลังจากเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากทั่วโลกมากมาย ทำให้ประธานาธิบดี บารัก โอบามา ได้ออกมาแถลงว่าทางสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ จะเปลี่ยนวิธีการสอดแนมข้อมูลเพื่อป้องกันผู้ก่อการร้ายแบบใหม่เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของประชาชนทุกคน
5. The Boston Globe: เปลี่ยนแปลงมาตรฐานของศาสนจักร
ในปี 2002 ทีมข่าว Spotlight ของสำนักข่าวเดอะ บอสตัน โกลบ (The Boston Globe) ที่ประกอบไปด้วยนักข่าวเชิงสืบสวน (Investigative Journalist) จำนวน 5 คน ในชื่อทีม Spotlight ทำการเปิดโปงเหล่าบาทหลวงโบสถ์คาทอลิกท้องถิ่นในเมืองบอสตันว่า ได้ทำการล่วงละเมิดทางเพศเด็กๆ มากกว่า 20 คน โดยที่ไม่ได้รับการลงโทษอะไรเลย นอกจากนั้นทางศาสนจักรยังช่วยกันปกปิดเรื่องดังกล่าวอีกด้วย
ทีมข่าว Spotlight ใช้เวลากว่า 2 ปี ในการสืบสวนเรื่องราวทั้งหมดออกมาเป็นการรายงานข่าวชิ้นนี้ ซึ่งตลอดระยะเวลาระหว่างการสืบสวน ทีมข่าวต้องทำการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอเอกสารลับของทางโบสถ์คาทอลิกนับหลายพันฉบับ เพื่อนำมารวบรวมหลักฐานในการรายงานข่าว รวมถึงการเข้าไปพูดคุยกับ ‘เหยื่อ’ อีกมากมาย
หลังจากเดอะ บอสตัน โกลบตีพิมพ์เรื่องราวนี้ออกไป ทางศาสนจักรก็ต้องเสียค่าชดเชยต่างๆ ให้กับเรื่องราวอันฉาวโฉ่นี้เกือบ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาร์ดินัลเบอร์นาร์ด ลอว์ (Bernard Law) ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ต้องลาออกจากตำแหน่ง รวมถึงมีการร่างกฎหมายใหม่จากทางศาสนจักรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
เรื่องราวการเปิดโปงศาสนาจักรในครั้งนี้ ได้กลายมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง ‘Spotlight’ ที่บอกเล่าถึงเส้นทางอันยากลำบากของการสืบสวนข่าวได้เป็นอย่างดี และได้รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปในปี 2015 พร้อมรางวัลอื่นๆ อีก 5 รางวัล
ที่มา
https://journalism.nyu.edu/about-us/news/top-ten-works-of-journalism-of-the-decade/nominees/
https://www.theodysseyonline.com/5-times-journalists-changed-the-world-for-the-better
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-46449696
https://www.icij.org/investigations/panama-papers/what-happened-after-the-panama-papers/
https://www.bbc.com/news/world-europe-45812399
https://www.nytimes.com/2017/10/05/us/harvey-weinstein-harassment-allegations.html
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-23123964
http://www.guardian.co.uk/technology/2013/jun/07/uk-gathering-secret-intelligence-nsa-prism
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-23123964
https://www.propublica.org/article/spotlight-gets-investigative-journalism-right
https://www.washingtonpost.com/opinions/2021/03/01/justice-jamal-khashoggi-is-up-all-us/