9 เมษายน 2553 หนึ่งวันก่อนหน้านั้น ผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงได้เดินทางไปปิดล้อมสถานีภาคพื้นดินดาวเทียมไทยคม ที่อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ภายหลังจากทหารยึดสถานีดาวเทียมไทยคม เพื่อปิดกั้นการ ‘ถ่ายทอดสด’ สถานีโทรทัศน์พีเพิลแชนแนลของแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
ในเวลานั้น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) เพื่อจัดการกับ ‘ม็อบเสื้อแดง’ แล้ว โดยมี สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เป็นผู้อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดย ศอฉ. มีที่ตั้งอยู่ในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ และมีการระดมกำลังทหารจากทั่วประเทศ เพื่อจัดการกับผู้ชุมนุมเสื้อแดง ซึ่งมีเพียงข้อเรียกร้องเดียวคือขอให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ ‘ยุบสภา’
การชุมนุมที่ลาดหลุมแก้วจบลงด้วยฝ่ายคนเสื้อแดงสามารถยึดอาคารสถานีภาคพื้นดินของดาวเทียมไทยคมได้สำเร็จ สถานีโทรทัศน์ของคนเสื้อแดงกลับมาแพร่ภาพได้ตามปกติ กลายเป็นทหารที่ประจำการบริเวณสถานีไทยคมเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ หนังสือ ‘ลับ ลวง พราง’ ของ วาสนา นาน่วม ระบุว่าฝ่ายทหารรู้สึก ‘เสื่อมเสียเกียรติ’ อย่างมาก ที่ทหารหลายพันคนต้องยอมวางโล่ กระบอง และอาวุธทุกอย่างที่มี เพื่อยอมแพ้ต่อคนเสื้อแดง
ชัยชนะของผู้ชุมนุมที่ปทุมธานี ทำให้ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดงประกาศ ‘ยกระดับ’ การต่อสู้อีกครั้งในวันที่ 10 เมษายน ท่ามกลางข่าวลือว่าทหารก็เตรียมปฏิบัติการ และได้รับไฟเขียวให้เข้าสลายการชุมนุมที่เวทีหลัก ทั้งที่ราชประสงค์และสะพานผ่านฟ้าลีลาศ
แต่เช้าวันนั้น ไม่มีใครรู้ว่าจะมีปฏิบัติการสลายการชุมนุมที่บริเวณถนนราชดำเนินด้วย ‘กระสุนจริง’
1. วิสุทธิกษัตริย์
เช้าวันที่ 10 เมษายน 2553 ในช่วงสาย ทหารตั้งแนวล้อมเวทีสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ของกลุ่ม นปช. ในภาพคือบริเวณสี่แยกวิสุทธิกษัตริย์ เชิงสะพานพระราม 8 มีทหาร พร้อมด้วยอาวุธครบมือประจำการ เพื่อเริ่มปฏิบัติการสลายการชุมนุม
ในเช้าวันนั้น ยังไม่มีคำว่า ‘ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่’ หากแต่เริ่มมีข่าวกระเส็นกระสายเข้าหูแกนนำ นปช. แล้วว่า ทหารอาจกระทำการบางอย่างเพื่อยึดพื้นที่ชุมนุม หากแต่แกนนำ นปช. เชื่อว่าจะเป็นพื้นที่ ‘ราชประสงค์’ ใจกลางศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ มากกว่าจะเป็นเวทีสะพานผ่านฟ้าฯ
ในช่วงสายของวันเดียวกัน กำลังทหารก็เต็มพรึ่บทั่วบริเวณถนนราชดำเนินนอก และรอบๆ พื้นที่ถนนราชดำเนินกลาง
หากแต่ปฏิบัติการนั้นเริ่มเร็วกว่าที่คิด ช่วงเวลา 13.00 น. ขวัญชัย ไพรพนา หนึ่งในแกนนำ นปช. ได้นำกำลังรวมตัวหน้ากองบัญชาการกองทัพภาคที่ 1 ถนนราชดำเนินนอก หลังมีข่าวว่าทหารเตรียมสลายการชุมนุม ทหารเริ่มปฏิบัติการโดยใช้รถฉีดน้ำฉีดใส่ผู้ชุมนุม เริ่มมีการใช้กระสุนยาง และเริ่มมีการใช้แก๊สน้ำตา ตลอดบริเวณถนนราชดำเนินนอก
หลังมีข่าวสลายการชุมนุม คนเสื้อแดงที่อยู่รอบนอก เดินทางเข้ามาบริเวณถนนราชดำเนินมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความเชื่อว่าหากผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก สุดท้ายทหารจะถอย และล้มเลิกความพยายามในการสลายการชุมนุม แต่สุดท้ายความเชื่อดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง มีการระดมอาวุธสงครามเพื่อยิงขึ้นฟ้า ก่อนจะกดกระบอกให้ต่ำลงในเวลาต่อมา
2. สะพานมัฆวานรังสรรค์
ความเชื่อเดิมของเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 ก็คือ ผู้เสียชีวิตคนแรกนั้นเริ่มเสียชีวิตในช่วงเย็น หลังการปรากฏตัวของ ‘ชายชุดดำ’ แต่เรื่องจริงนั้นกลับตรงกันข้าม…
เกรียงไกร คำน้อย คนขับตุ๊กตุ๊กและผู้ชุมนุม วัย 23 ปี คือผู้เสียชีวิตคนแรกตั้งแต่เวลา 15.30 น. หลังถูกยิง ร่างของเขาถูกพบบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ไม่ไกลจากกำแพงกระทรวงศึกษาธิการ โดยกระสุนปืนเอ็ม 16 ยิงเข้าบริเวณหน้าอกและลำตัวของเกรียงไกร มีการนำตัวของเกรียงไกรไปส่งที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาลในเวลาต่อมา ก่อนเขาจะเสียชีวิตในวันรุ่งขึ้น 11 เมษายน 2553 เนื่องจากหลอดเลือดใหญ่บริเวณอุ้งเชิงกรานฉีกขาด
กรณีของเกรียงไกร ศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2557 ว่า เจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงถูกเกรียงไกร โดยกระสุนดังกล่าวมีทิศทางจากที่ทหารเคลื่อนกำลังเข้ามา และพบว่าทหารได้ใช้กระสุนจริงในการขอคืนพื้นที่ ไม่ปรากฏว่ามีกองกำลังอื่นๆ ในที่เกิดเหตุ และวิถีกระสุนก็มาจากฝั่งทหาร
อีกทั้งยังมีช่างภาพสถานีโทรทัศน์หลายแห่งเป็นพยานในศาล พยานทุกคนยืนยันว่ามีการใช้กระสุนจริงจากฝั่งทหารยิงใส่ผู้ชุมนุมในลักษณะแนวราบกับพื้น ทั้งยังมีคลิปวิดีโอยืนยันในวันเกิดเหตุ
อย่างไรก็ตาม ทหารได้ให้การว่ามีเพียงแต่การยิงปืนขึ้นฟ้า และไม่มีการใช้กระสุนจริง แม้จะมีร่องรอยกระสุนจริงจำนวนมากในที่เกิดเหตุก็ตาม
จนถึงวันนี้ ยังไม่ปรากฏว่าทหารผู้ใดเป็นผู้ยิงเกรียงไกร มีเพียงคำสั่งศาลที่ระบุว่าวิถีกระสุนมาจากฝั่งทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ขอคืนพื้นที่ จากด้านแยกสวนมิสกวันตามคำสั่งของ ศอฉ. เท่านั้น แต่ไม่สามารถยืนยันตัวตนได้ว่าทหารนายใดเป็นผู้ยิง
3. หน้าอาคารสหประชาชาติ
หลังจากทหารเริ่มใช้อาวุธจริงต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น แกนนำได้ชวนให้มวลชนกลับไปยังฐานที่มั่นเดิมคือบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ตลอดจนอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งมีมวลชนจำนวนมากกว่าเพื่อรักษาพื้นที่ ในเวลาเดียวกันก็เริ่มมีเฮลิคอปเตอร์บินวนบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เพื่อขอให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน ยุติการชุมนุม เนื่องจากแกนนำ นปช. ทุกคนในเวลานั้นมีหมายจับในข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน
เวลา 17.00 ปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พันเอก สรรเสริญ แก้วกำเนิด (ยศในขณะนั้น) โฆษก ศอฉ. แถลงข่าวผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ โดยปณิธานระบุตอนหนึ่งว่าเหตุที่ต้องขอคืนพื้นที่ เพื่อต้องการให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว และการดำเนินการดังกล่าวเกิดขึ้นตามพื้นฐานกติกาสากลและหลักกฎหมาย โดยคำนึงถึงสิทธิความปลอดภัยและหลักมนุษยธรรม
ขณะที่พันเอกสรรเสริญกล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะดำเนินการตามแผนงานขอคืนพื้นที่ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่หน้าประตูกองทัพภาคที่ 1 โดยผู้ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงกว่า 200-300 คน พยายามที่จะบุกเข้าไปในพื้นที่กองทัพภาคที่ 1 โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำความเข้าใจและฉีดน้ำใส่ แต่หลังจากนั้นแกนนำกลับมีการปลุกระดมประชาชน จึงได้มีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ต่อ พร้อมกับให้สัมภาษณ์ว่าไม่มีการใช้อาวุธและกระสุนจริง
“เจ้าหน้าที่ที่ถืออาวุธปืนจริงมีเฉพาะเจ้าหน้าที่ชั้นสัญญาบัตรและนายสิบอาวุโสเท่านั้น ซึ่งจะยืนอยู่แถวหลังสุดของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน จะมีภารกิจในการยิงปืนขึ้นฟ้า เพื่อข่มขวัญผู้ชุมนุมให้ล่าถอยตามแผนงานที่เรากำหนดไว้เท่านั้น การดำเนินการดังกล่าวถือว่าเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้” พันเอกสรรเสริญแถลงข่าวไว้ตอนหนึ่ง
แน่นอนว่าความเป็นจริงขัดแย้งกับที่พันเอกสรรเสริญแถลง เพราะมีผู้เสียชีวิตรายแรก ถูกยิงตั้งแต่เวลา 15.30 น. และในเวลาต่อมา ศาลก็มีคำสั่งว่าการเสียชีวิตนั้นเกิดขึ้นจากกระสุนในฝั่งทหาร
เพียงแต่ไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นผู้ลั่นไก ศาลบอกแต่เพียงว่าเป็นกระสุนที่เกิดจากปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ ซึ่งเป็นไปตามพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมี ศอฉ. เป็นผู้รับผิดชอบเท่านั้น
4. อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นมา เฮลิคอปเตอร์เริ่มโปรยแก๊สน้ำตาลงมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีผู้เสียชีวิตหนึ่งรายคือ มนต์ชัย แซ่จอง ซึ่งเสียชีวิตจากแก๊สน้ำตาที่โปรยลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ โดยมนต์ชัยมีอาการหัวใจวาย ภายหลังถูกแก๊สน้ำตา ขณะเดียวกันยังมีผู้ชุมนุมอีกรายถูกกระสุนยางจนทำให้ตาขวาบอด
ในเวลาเดียวกัน มีความพยายามนำรถหุ้มเกราะ และยานพาหนะทหารจำนวนมาก เข้ามาปิดล้อมผู้ชุมนุมผ่านถนนตะนาวและถนนดินสอ พร้อมกับมีการยิงปืนขึ้นฟ้าขู่เป็นระยะ ตอนนั้นทุกคนคาดว่าปฏิบัติการ ‘ขอคืนพื้นที่’ จะยุติลงก่อนฟ้ามืด เพราะไม่เป็นผลดีกับฝ่ายทหาร เนื่องจากอาจมีมือที่สามเข้ามา ‘ผสมโรง’ และอาจเกิดอันตราย ไม่เป็นผลดี ไม่ว่ากับฝ่ายไหน
แต่ทุกคนก็คิดผิด ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ยังดำเนินต่อไป และสถานการณ์ก็ย่ำแย่ลง ทันทีที่กระสุนเอ็ม 79 ถูกยิงลงใส่บริเวณกองบัญชาการของทหารที่ตั้งอยู่ในโรงเรียนสตรีวิทยา ทำให้ พันเอก ร่มเกล้า ธุวธรรม รองเสนาธิการ กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ฯ จังหวัดปราจีนบุรี เสียชีวิต พร้อมกับทหารอีก 4 นาย และทหารบริเวณนั้นได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดจำนวนมาก
จนถึงวันนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่าวิถีกระสุนของเอ็ม 79 ที่ยิงลงมายังกลุ่มทหารนั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากไหน แต่เชื่อว่ามีการ ‘ล็อกเป้า’ เป็นอย่างดี ให้ลงมายังกองบัญชาการและที่พันเอกร่มเกล้าโดยตรง
ในเวลาเดียวกัน ยังเริ่มมีผู้พบเห็น ‘ชายชุดดำ’ พร้อมอาวุธหนักปะปนอยู่กับผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง ทำให้ทหารเริ่มใช้อาวุธปืนไล่ล่ากลุ่มชายชุดดำ ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการใช้กระสุนจริงสังหารผู้ชุมนุม โดยผู้ชุมนุมหลายคนถูกกระสุนเข้าที่หัว คล้ายกับมีการใช้อาวุธปืน ‘ไรเฟิล’ ทำให้เสียชีวิตทันที
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ตอนแรกทหารมีความพยายามที่จะ ‘ถอนกำลัง’ ออกจากพื้นที่ เนื่องจากเห็นว่าเป็นเวลาค่ำแล้ว แต่เมื่อ พลตรี วลิต โรจนภักดี ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ เรียกผู้บังคับการหน่วยทุกคนมาร่วมหารือ ก็มีระเบิดควันลง และตามมาด้วยลูกระเบิดเอ็ม 79 ทันที ซึ่งพลเอกอนุพงษ์ระบุว่าน่าจะเป็นการ ‘ชี้เป้า’ เพื่อให้ยิงมายังผู้บังคับบัญชา เนื่องจากผู้บังคับบัญชาแต่งกายแตกต่างจากกำลังพลทั่วไป
5. สี่แยกคอกวัว
สำนักข่าวประชาไทระบุว่า ในคืนวันนั้นมีผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากกระสุนปืนเข้าที่หัวรวม 9 คน ที่อก – ท้อง รวม 9 คน ที่คอ 1 คน ที่ขาหนีบ 1 คน ส่วนทหารที่เสียชีวิต ถูกสะเก็ดระเบิด 3 คน และถูกยิง 2 คน
คืนวันนั้นเริ่มมีคลิปเผยแพร่ตามเว็บบอร์ดต่างๆ อาทิ เว็บบอร์ดประชาไท เว็บบอร์ดฟ้าเดียวกัน ที่ทำให้เห็นว่านอกจากจะมีการ ‘ล็อกเป้า’ ทหารแล้ว ยังมีการ ‘ล็อกเป้า’ ผู้ชุมนุมด้วย โดยผู้ชุมนุมรายหนึ่งซึ่งถือธงถูกกระสุนปืนยิงเข้าที่หัว ทำให้เสียชีวิตทันที
วสันต์ ภู่ทอง เป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมที่ถูกล็อกเป้า ในคืนเกิดเหตุ เขาถือธงชาติไทย และร่วมดันไม่ให้ทหารเข้ามาบริเวณสี่แยกคอกวัว
ผลชันสูตรศพของวสันต์ระบุว่ามีบาดแผลที่เกิดจากกระสุนปืนที่มีความเร็วสูง ยิงเข้าที่ศีรษะ ทิศทางยิงมาจากหลังไปหน้า จากซ้ายไปขวา แต่ไม่สามารถบอกชนิดและขนาดของกระสุนปืนได้ คำสั่งศาลระบุว่า ‘ไม่อาจทราบได้ว่ากระสุนปืนที่ยิงผู้ตาย มีแนววิถีกระสุนมาจากทิศทางใด…’
ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดง ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า หลังจากเกิดเหตุ เขารีบเดินทางจากเวทีราชประสงค์มายังเวทีผ่านฟ้าฯ โดยได้ยินทั้งเสียงปืนและระเบิดดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้โทรไปเจรจากับ กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อขอให้ทหารยุติปฏิบัติการโดยทันที และคนเสื้อแดงก็จะถอยกลับเข้าที่ตั้ง
ขณะที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น ได้กล่าวปราศรัยในอีกหนึ่งปีให้หลัง ในการหาปราศรัยใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ว่า คืนวันที่ 10 เมษายน 2553 เป็นคืนที่มีความทุกข์มากที่สุด และเป็นวันที่เขาร้องไห้ตลอดทั้งคืน เพราะเสียใจที่มีเหตุสูญเสียและมีประชาชนเสียชีวิต
6. ริมถนนราชดำเนิน
หนังสือ ‘ความจริงเพื่อความยุติธรรม เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53’ ที่จัดทำโดย ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมกรณี เม.ย.-พ.ค. 53 (ศปช.) ซึ่งรวบรวมข้อมูลเหตุการณ์ 10 เมษาฯ ไว้อย่างเป็นระบบมากที่สุด ระบุว่า ‘ชายชุดดํา’ ปรากฏกายเข้ามาที่บริเวณสี่แยกคอกวัวพร้อมอาวุธสงคราม เมื่อเวลา 20.00 น. จากนั้นได้เริ่มยิงไปยังฝั่งทหาร จนเจ้าหน้าที่ทหารได้ถอยร่นไปทางย่านบางลำพู
ภาพจากกล้อง CCTV ได้ระบุเวลาว่า รถตู้ที่ได้นำชายชุดดำไปที่สี่แยกคอกวัว ได้ขับผ่านบริเวณสี่กั๊กพระยาศรี ในเวลา 20.19 น. และรับกลุ่มชายชุดดำกลับไปในเวลา 21.01 น. ปรากฏว่าชายชุดดำใช้เวลาอยู่ภายในพื้นที่ประมาณ 40 นาทีเท่านั้น…
การปรากฏตัวของ ‘ชายชุดดำ’ ได้เปลี่ยวแนวการเล่าเรื่องสถานการณ์ในวันนั้นและหลังจากนั้นไปโดยสิ้นเชิง ภาพของการชุมนุม นปช. ที่ฝ่าย ศอฉ. และฝ่ายรัฐบาล คือภาพของการชุมนุมที่มี ‘กองกำลังไม่ทราบฝ่าย’ เป็นผู้สนับสนุน และมีการใช้อาวุธหนักพร้อมตอบโต้กับทหารได้ตลอดเวลา ซึ่งทำให้ชนชั้นกลางมองภาพคนเสื้อแดงในแง่ลบต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง กระทั่งการสลายการชุมนุมในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 เหตุผลหนึ่งที่ ศอฉ. ใช้กล่าวอ้างก็คือ มีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายอยู่ในสถานที่ชุมนุม
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในวันที่ 11 เมษายน ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือมีคน ‘นอกคอก’ ที่ทำให้ทหารกับประชาชนไม่เข้าใจกัน โดยทหารจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรุนแรงกับบุคคลที่อยู่นอกกรอบของกฎหมาย
ขณะที่ พลตรี ดิฏฐพร ศศะสมิต โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ให้สัมภาษณ์ว่าเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นการวางแผนอย่างดีของฝ่ายตรงข้าม โดยอาจเป็นฝีมือของทหาร ทั้งที่อยู่ในราชการหรือทหารที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว พร้อมกับให้ข้อมูลว่าคนที่อยู่ใน ‘เวทีเสื้อแดง’ บางคน รู้มากกว่าตัวเองที่เข้าประชุม และรู้กระทั่งข้อมูลลับบางอย่างที่เป็น ‘นายพล’ เท่านั้นถึงจะรับรู้ได้
ข้อมูลที่กองทัพบกเชื่อก็คือ พลตรี ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง ‘ชายชุดดำ’ หรือ ‘นักรบโรนิน’ รวมถึงเป็นฝ่ายรักษาความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุมเสื้อแดง และเวทีเสื้อแดง จนอาจเป็นเหตุให้มีการสังหาร เสธ.แดง ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 ด้วยกระสุนจากพลซุ่มยิง ที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลม ฝั่งสวนลุมพินี
แต่จนถึงวันนี้ ยังไม่สามารถระบุได้ว่า ‘ชายชุดดำ’ เป็นใคร กระทั่งคนใกล้ชิดของ เสธ.แดง ศาลก็เพิ่งมีคำสั่ง ‘ยกฟ้อง’ ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยระบุว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการในวันที่ 10 เมษายน 2553 ทำให้จนถึงวันนี้ ยังเป็นปริศนาต่อไปว่าเกิดอะไรขึ้นในคืนวันนั้น
รายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เมษายน-พฤษภาคม 2553 (ตีพิมพ์เมื่อปี 2555) ระบุว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 26 ราย แบ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร 5 นาย และพลเรือน 21 ราย
ในภาพ ผู้ชุมนุมได้พากันนำร่างของ ฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพของสำนักข่าวรอยเตอร์ ออกจากพื้นที่ มีความพยายามทวงถามจากสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทางการไทยไขความกระจ่างว่าฮิโรยูกิถูกกระสุนจากใครหรือจากฝ่ายใดยิงเสียชีวิต
แต่จนถึงวันนี้ การเสียชีวิตทั้งของฮิโรยูกิและผู้ชุมนุมคนอื่นๆ หรือแม้แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหาร ก็ไม่สามารถที่จะเอาผิดใครได้แม้แต่คนเดียว
Tags: คนเสื้อแดง, สลายชุมนุมคนเสื้อแดง, Feature, 10 เมษา, นปช.