การต่อสู้กับระบอบเหยียดผิวของคนผิวดำในแอฟริกาใต้อาจฟังเป็นอดีตไกลๆ แต่ใครก็ตามที่ได้พบ บาทหลวงไมเคิล แลปสลีย์ (Father Michael Lapsley) นักบวชแองกลิกันผู้เบิกบานและร่ำรวยอารมณ์ขัน ได้เห็นท่านยกถ้วยชาขึ้นจิบ รูดหน้าจอมือถือ หรือออกท่าทางยามพูดคุยด้วยมือเทียมทั้งสองข้าง คงอดคิดไม่ได้ว่า
สำหรับคุณพ่อไมเคิล อดีตบางตอนอาจยังสดใหม่เหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน
เช้าวันที่ 18 เมษายน 1990 ที่บ้านพักในซิมบับเว คุณพ่อไมเคิลเฉียดตายจากระเบิดที่ซ่อนมาในพัสดุสิ่งพิมพ์ทางศาสนาสองฉบับ ท่านเขียนเล่าว่า “ถ้าแก้วหูของข้าพเจ้าไม่แตก ข้าพเจ้าต้องได้ยินเสียงเพดานถล่มลงมารอบตัว ถ้านัยน์ตาข้าพเจ้าไม่บอด ข้าพเจ้าคงได้เห็นสภาพในห้องนั่งเล่นที่เต็มไปด้วยซากปรักหักพัง”
คุณพ่อไมเคิลรอดชีวิต แต่ต้องสูญเสียมือทั้งสองข้างและดวงตาข้างขวาไปโดยถาวร หูทั้งสองข้างแม้ผ่านการผ่าตัดหลายครั้ง ก็มีระยะการได้ยินที่จำกัด ท่านกล่าวว่า “ร่างกายของข้าพเจ้าได้กลายเป็นหลักฐานแห่งความโหดเหี้ยมของการเหยียดผิว”
คุณพ่อไมเคิล แลปสเลย์เป็นชาวนิวซีแลนด์ เกิดเมื่อ ค.ศ. 1949 บวชเป็นพระในคริสต์ศาสนานิกายแองกลิกันที่ประเทศออสเตรเลีย ท่านย้ายมาประจำแอฟริกาใต้ ในปี 1973 การแบ่งแยกคนต่างเชื้อชาติที่สืบเนื่องจากจากยุคล่าอาณานิคม และถูกทำให้เป็นกฎหมายนับจากปี 1948 เป็นต้นมา ก่อความอยุติธรรมขึ้นทุกรูปแบบ แม้จะเป็นคนขาวและคนนอก คุณพ่อไมเคิลได้เข้าร่วมขบวนการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำ จนกระทั่งถูกเนรเทศ ทำให้ต้องย้ายไปพำนักอยู่ในเลโซโท และซิมบับเวในเวลาต่อมา
หน่วยสืบราชการลับของซิมบับเวแจ้งให้ท่านทราบว่า ท่านมีชื่ออยู่ในโพยมรณะของทางการแอฟริกาใต้ ความตายเป็นสิ่งจริงและสัมผัสได้ ท่านไม่เคยสตาร์ตรถก่อนจะตรวจดูใต้ท้องรถให้เแน่ใจเสียก่อน และเรียนรู้ที่จะกลิ้งตัวลงกับพื้นเมื่อได้ยินเสียงที่อันตรายและน่าสงสัย
หลังการรักษาตัวในซิมบับเวและออสเตรเลียนานกว่าแปดเดือน คุณพ่อไมเคิลกลับไปแอฟริกาใต้อีกครั้ง ในปี 1993 ท่านรับหน้าที่เป็นอนุศาสนาจารย์ที่ Trauma Center for Victims of Violence and Torture ภายหลังพรรคสมัชชาแห่งชาติแอฟริกา (Afircan National Congress: ANC) นำโดยนายเนลสัน แมนเดลา ชนะการเลือกตั้ง และแอฟริกาใต้เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง คุณพ่อไมเคิลได้ก่อตั้งสถาบันเพื่อการเยียวยาความทรงจำ (Institute for Healing of Memories) ขึ้นที่เมืองเคปทาวน์ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ชาวแอฟริกาได้บอกเล่าความทรงจำและเยียวยาบาดแผลจากอดีต
ตลอดเวลาเกือบสองทศวรรษ ท่านได้รับเชิญไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์และจัดเวิร์กช็อปเยียวยาความทรงจำในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ เยอรมนี คิวบา สหรัฐอเมริกา รวันดา ออสเตรเลีย เป็นต้น ซึ่งท่านได้บันทึกประสบการณ์ ข้อคิดคำนึง และบทเรียนของผู้คนในประเทศเหล่านั้นไว้ในหนังสือกึ่งอัตชีวประวัติชื่อ Redeeming The Past – My Journey from Freedom Fighter to Healer
ระหว่างการเวิร์กช็อป คุณพ่อไมเคิลจะชวนให้ผู้เข้าร่วมถ่ายทอดเรื่องราวเล่าสู่กัน เช่นว่า อะไรคือเรื่องที่เจ็บปวดที่สุดในชีวิต รอดชีวิตหรือผ่านช่วงเวลานั้นมาได้อย่างไร อะไรคือเรื่องที่วิเศษสุดที่ได้ประสบ อดีตของพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายมีผลต่อชีวิตหรือไม่ รวมถึงคำถามเปิดที่เชี่ยมโยงความทรงจำของปัจเจกเข้ากับความทรงจำสาธารณะ ได้แก่
ท่านได้ทำอะไร
ท่านถูกกระทำอย่างไร
มีสิ่งใดที่ท่านควรทำ แต่มิได้กระทำหรือไม่
เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บาทหลวงไมเคิลได้รับเชิญมาเป็นองค์ปาฐกในงานปาฐกถาเสม พริ้งพวงแก้ว ครั้งที่ 24 ก่อนที่ท่านจะเดินทางต่อไปประเทศพม่า
The Momentum ได้มีโอกาสพูดคุยกับท่านถึงความสำคัญของการเยียวยาความทรงจำ
ตอนที่เกิดระเบิด คุณพ่อเคยคิดบ้างไหมว่า ทำไมต้องเป็นตัวท่าน ทำไมความดีไม่ได้ยืนอยู่ข้างท่านเสียแล้ว
ผมร่วมอยู่ในขบวนการต่อสู้ที่สังหารผลาญชีวิตผู้คนมากมาย และรู้ดีว่าตนเองก็อาจเป็นหนึ่งในนั้น การมีส่วนร่วมในการต่อสู้ที่สำคัญต่อชาวแอฟริกาใต้ระดับความเป็นความตาย และรุนแรงถึงขั้นเป็นหรือตายได้เช่นกัน ทำให้ผมเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะต้องพบความตาย แต่สิ่งที่ผมไม่ได้เตรียมใจมาก่อนคือ ความพิการทางกายโดยถาวร
นาทีที่เกิดระเบิด ผมรู้ตัวว่ากลุ่มอำนาจที่สนับสนุนการเหยียดผิวเล่นงานผมเข้าแล้ว แต่ก็รู้ในนาทีนั้นว่า พวกเขาล้มเหลวและผมชนะ เพราะระเบิดนั้นถูกส่งมาเพื่อฆ่า แต่ผมยังหายใจอยู่ มันเป็นชัยชนะ แต่ก็ต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าที่จะทำให้การรอดตายนั้นเป็นชัยชนะได้อย่างแท้จริง ซึ่งหมายถึงการรักษาตัว ฟื้นตัว เข้มแข็ง และกลับมาทำงานอีกครั้ง
บางครั้งท่านเคยรู้สึกไหมว่า ตายไปเสียเลยยังดีกว่า
ใช่ บางขณะผมคิดว่า บางที… (เน้นเสียง) คงดีกว่าถ้าตายไปเสียเลย แต่ไม่บ่อยนัก ส่วนหนึ่งก็เพราะผมไม่เคยพบใครที่สูญเสียมือไปทั้งสองข้าง ไม่มีแบบอย่าง จึงไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอย่างไรเมื่อไม่มีมือ และคนก็คอยบอกผมอยู่เรื่อย ด้วยความประสงค์ดีล่ะว่าอะไรบ้างที่ผมจะทำไม่ได้อีก เตือนแต่ข้อจำกัด แต่ในเวลาเดียวก็มีกำลังใจและความปรารถนาดีหลั่งไหลมาจากทุกมุมโลก ซึ่งช่วยให้ผมจดจ่อกับการเดินไปข้างหน้า และกลับมามีชีวิตได้อย่างแท้จริง
จำได้ว่าตอนที่กลับไปรักษาตัวที่ออสเตรเลีย หมอบอกว่าคงต้องใช้เวลารักษาและพักฟื้นปีครึ่งถึงสองปี ผมก็บอกว่า โอย…ผมไม่มีเวลามากพอหรอก ผมรอดชีวิตมาแล้วต้องเดินหน้าเดี๋ยวนี้
ในช่วงที่ต้องทนพิษบาดแผลและความเจ็บปวดจากการผ่าตัดหนแล้วหนเล่า ท่านเคยโกรธและคิดอยากแก้แค้นไหม
ไม่คิดว่าในหัวของผมตอนนั้นจะมีเรื่องการแก้แค้น ความรู้สึกที่ฝังอยู่ในใจค่อนข้างถาวรคือความโศกเศร้าและรู้สึกสูญเสีย เหมือนเวลาที่คุณสูญเสียใครบางคน การสูญเสียอวัยวะไปก็คล้ายกัน และการรับมือกับการสูญเสียมันไปอย่างไม่มีวันหวนคืน การยอมรับความจริงข้อนี้ให้ได้ อยู่กับมันให้ได้
จำได้ว่าตอนรักษาตัวอยู่ที่ออสเตรเลีย ผมไปเทศน์ที่โบสถ์แห่งหนึ่ง ผู้หญิงคนหนึ่งบอกผมว่า ท่านมีศรัทธาไม่มากพอ ผมบอกว่าคุณหมายถึงอะไร เธอบอกว่า ‘ถ้าท่านสวดอ้อนวอนอย่างจริงจัง มือของท่านจะกลับมา’ ผมก็ตอบไปว่า ฝันไปเถอะ ผมจะสวดทั้งวันทั้งคืนก็ได้แต่มันไม่มีทางกลับคืนมา
แล้วเธอเชื่ออย่างนั้นจริงๆ หรือคะ
คงเป็นความไร้เดียงสาของเธอ ผมรู้ว่ามือสองข้างจะไม่กลับคืนมา ทางเลือกก็คือจะตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร ผมเห็นตั้งแต่เริ่มแรกว่า ถ้าผมรู้สึกโกรธเกลียด อยากแก้แค้น ผมจะตกเป็นเหยื่อ เป็นฝ่ายถูกกระทำตลอดไป แต่ถ้าขจัดความรู้สึกเหล่านั้นได้ ในแง่หนึ่งผมจะเป็นอิสระ และอาจจะอิสระกว่าคนที่ต้องการให้ผมตาย เพราะพวกเขาต้องอยู่กับความรู้สึกผิด ไม่ก็ต้องคอยกดข่มความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเพื่อจะมีชีวิตอยู่ต่อไป
ในสายตาคนนอก เมื่อพรรคเอเอ็นซีของเนลสัน แมนเดลาชนะการเลือกตั้ง แอฟริกาใต้กลายเป็นประเทศประชาธิปไตยอย่างแท้จริง อำนาจกลับมาอยู่ในมือคนส่วนมากของประเทศ เหมือนว่าการต่อสู้ของประชาชนลุล่วงแล้ว ในความเป็นจริงมันเป็นอย่างนั้นไหม
ในแง่หนึ่งเราทุกคนค่อนข้างไร้เดียงสา เราคิดว่าในอีกไม่กี่ปี เราคงจะช่วยกันสร้างสังคมที่ดีพร้อมขึ้นได้ แต่ 20 ปีต่อมา เราจึงเข้าใจว่า การยึดอำนาจรัฐเป็นงานที่ง่ายที่สุด พูดอย่างนี้ผมไม่ได้ปฏิเสธว่ามันต้องแลกมาด้วยความสูญเสียและการเสียสละของผู้คนมากมาย แต่เมื่อเทียบการยึดอำนาจการปกครองประเทศกลับคืนมา กับการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่สังคมที่ปรารถนา ประการหลังเป็นภารกิจที่ยากยิ่งกว่า เพราะอดีตก่อร่างปัจจุบัน สิ่งที่ตกทอดมาจากอดีตส่งผลถึงปัจจุบัน ดังนั้น เราต้องจัดการกับอดีตพร้อมไปกับการพยายามสร้างอนาคตที่เราอยากเห็น เราให้กำเนิดรัฐธรรมนูญที่งดงามที่สุดในโลก ดีที่สุดในโลก แต่การทำให้เป็นจริงในทางปฏิบัติ สร้างสังคมที่เราต้องการ เป็นภารกิจที่ยากยิ่งกว่า รวมถึงการเปลี่ยนจิตใจมนุษย์
โดยสามัญสำนึก คนเราไม่น่ายอมรับการแบ่งแยกผู้คนด้วยสีผิว แต่คนขาวในแอฟริกาใต้กลับรู้เห็นเป็นใจกับเรื่องนี้ถึงขั้นยอมให้ตราเป็นกฎหมาย มันเป็นไปได้อย่างไร เพราะเราก็ไม่เชื่อเช่นกันว่าคนขาวทุกคนใจแคบใจร้ายหรือเห็นแก่ตัว
ถูกต้อง สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความชั่วร้ายเชิงระบอบ และคนที่มีส่วนร่วมในระบอบก็ติดเชื้อไปด้วย แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็ได้รับประโยชน์จากระบอบนั้น แต่ก็มีคำถามว่า เป็นไปได้อย่างไรที่คนกลุ่มน้อยบงการคนส่วนมากได้ เหมือนคำถามที่ว่าคนเยอรมันปล่อยให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวได้อย่างไร ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลนาซีก็ไม่ได้มีทหารมากพอจะมายืนถือปืนจ่อหัวคนทุกคนให้ทำตาม อันที่จริง ระบอบที่ชั่วร้ายเหล่านี้คือคนกลุ่มน้อยที่มีปืน แต่พวกเขากลับยึดคนทั้งประเทศเป็นตัวประกันได้ ดังนั้น ส่วนหนึ่งของความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องความกลัวและพลังของคตินิยม
กิจการล่าอาณานิคมที่ทำกันมาก็มีรากมาจากเรื่องนี้ คนอังกฤษเอาสมองส่วนไหนมาคิดว่าตนมีสิทธิครองโลก มันเป็นความรู้สึกว่าตนสูงส่งกว่า ลองนึกดู คนอังกฤษจากเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งมายึดครองอินเดียที่มีอารยธรรมสืบทอดยาวนาน มาก่อนที่…
คนอังกฤษจะรู้จักปลูกมันฝรั่ง
(หัวเราะลั่น) ใช่เลย มันไม่สมเหตุสมผลเลย มันเป็นเรื่องของคตินิยมที่พวกเขาคิดว่าตนสูงส่งกว่า เหนือกว่าคนอื่น เห็นคนอื่นต่ำต้อย เมื่อพูดถึงบริบทของเรา ผมคิดบ่อยครั้งว่า นอกจากความเสียหายทางการเมืองและเศรษฐกิจ ผลที่เลวร้ายที่สุดของลัทธิถือผิวคือความบาดเจ็บทางจิตวิญญาณ มันทำให้คนเชื่อว่าตนเหนือกว่าผู้อื่น ทำให้คนเชื่อว่าตนต่ำต้อยกว่าผู้อื่น มีความเป็นมนุษย์น้อยกว่าผู้อื่น
ท่านคิดว่าคตินิยมและความเชื่อแบบนั้นมาจากไหน
เป็นคำถามที่น่าสนใจ ถ้าย้อนดูการล่าอาณานิคม ระบบทาสและการค้าทาส เราจะเห็นถึงบทบาทของความโลภ คตินิยมเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับการก่อกรรมทำเข็ญผู้อื่น แต่ความโลภคือกุญแจ ในบริบทของแอฟริกาใต้ มันสืบเนื่องมาตั้งแต่ระบบทาส การถือผิว ตามด้วยลัทธิเสรีนิยมใหม่ และในทุกระบอบ ผลประโยชน์ของคนกลุ่มเล็กๆ แลกมาด้วยผลประโยชน์และสิทธิความเป็นมนุษย์ของคนส่วนมาก แล้วคตินิยมก็เข้ามาเกลื่อนกลบให้ความชอบธรรมแก่ความโลภ แก่ระบบทาส แก่เสรีนิยมใหม่ และเราทุกคนกำลังเป็นประจักษ์พยานสิ่งเดียวกันนี้ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก ในสเกลที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เราต้องช่วยกันเปิดโปงความโลภเหล่านี้
สหรัฐอเมริกาเองก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากระบบทาส และพวกเขาก็ร่ำรวยมหาศาล ในแอฟริกาใต้ ถ้าคุณเป็นคนขาว คุณก็สามารถมีมาตรฐานชีวิตเลิศหรูแบบเดียวกับมหาเศรษฐีทั่วโลก สิ่งเดียวที่ต้องทำคือจัดการกับสำนึกดีชั่วของตัวเอง ถ้าทำได้คุณก็โอเค และผมว่านั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมสังคมคนขาวในแอฟริกาใต้ถึงเป็นวัตถุนิยมและฉาบฉวย เพราะถ้ามองในระดับจิตวิญญาณ ไม่มีเรื่องใดเลยที่รับได้ ผมเองเป็นคนนอก นับแต่วันแรกที่มาถึงแอฟริกาใต้ ผมฉงนสงสัยมาโดยตลอด เวลาเห็นคนผิวขาวที่เกิดในแอฟริกาใต้ โตมาที่นั่น สามารถมองลอดสภาพความเป็นจริงรอบตัวและอยู่ได้อย่างไม่ทุกข์ร้อน และไม่เคยคิดที่จะเข้าร่วมขบวนการต่อต้านลัทธิถือผิว สำหรับผมสิ่งเหล่านี้เลวร้าย ยอมรับไม่ได้
อย่างที่คุณพ่อบอกว่า แม้จะมีรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์แล้วแต่ยังมีการงานอื่นให้ต้องทำ นั่นเป็นสาเหตุให้ท่านเริ่มงานเยียวยาหรือเปล่า
หนึ่งปีหลังกลับไปแอฟริกาใต้ ผมทำงานที่ศูนย์ Trauma Center for Victims of Violence and Torture เป็นเวลาห้าปีในฐานะนักบวช เพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ได้แก่ นักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักสังคมสงเคราะห์ ช่วงเวลาห้าปีนั้นทำให้ผมเกิดข้อสรุปว่า คนแอฟริกาใต้ทุกคนได้รับผลกระทบจากหนทางที่ประเทศของเราก้าวย่างมา อาจเรียกได้ว่าบาดเจ็บ แต่ไม่ใช่เราทุกคนที่ออกอาการและต้องการความช่วยเหลือ มีคนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ต้องการนักจิตบำบัด คนส่วนใหญ่เดินหน้าใช้ชีวิตต่อไป ตื่นเช้าไปทำงาน แต่เราต่างมีธุระที่ยังไม่ได้สะสาง มีเรื่องราวที่ตกค้างอยู่ในตัวเรา เราต่างมีเรื่องราวที่ต้องการคนรับฟัง เราต้องการสลัดหลุดจากสิ่งที่ประสบมา ไม่ว่าเราจะยืนอยู่ข้างใดก็ตาม
ท่านรู้ได้อย่างไรว่า คนในสังคมยังมีอะไรบางอย่างที่คั่งค้างในใจ
ผมสัมผัสได้ว่าเราเป็นชาติที่บาดเจ็บ เป็นมนุษย์ที่มีบาดแผล เราบาดเจ็บจากสิ่งที่ทำ และสิ่งที่สมควรกระทำแต่ไม่ได้ทำ บาดแผลและความยุ่งเหยิงในใจส่งผลต่อสัมพันธภาพของเรา ต่อวิธีที่เราเลี้ยงดูลูก กับหลายเรื่องที่เราทำ เหล่านี้เป็นสัญญาณ และสัญญาณที่สำคัญคือการระเบิดออกในรูปแบบต่างๆ ในช่วงการต่อสู้ เรามีคำขวัญว่า ‘อย่าหวนไห้อาลัย จงเคลื่อนไหว’ มันอาจเป็นคำขวัญที่ดีทางการเมือง แต่ไม่ได้ดีต่อจิตใจ สมมติคุณยายของเราถึงแก่กรรม แกอายุ 95 ปีแล้ว เราเศร้าที่ท่านจากไปแต่ก็ไม่จำเป็นต้องโศกสลด แต่เราร้องไห้กันไม่หยุด ทำไม… เพราะเราไม่เคยได้ร้องไห้ ไม่มีโอกาส ไม่มีพื้นที่ เราจึงสั่งสมความทุกข์ใจและความเศร้าเอาไว้ เรามักบอกว่า อย่าแสดงให้ศัตรูเห็นว่าคุณรู้สึกอย่างไร จงเข้มแข็ง เราจึงเก็บมันไว้ข้างใน เมื่อสภาพสังคมเราดีขึ้น บาดแผลเหล่านี้ก็เริ่มปะทุ เพราะมันมีพื้นที่
ในศูนย์ฯ ของเรา เราจะพบคนที่เคยอยู่ในขบวนการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ ที่มาหาเราและบอกว่า ฉันต้องการความช่วยเหลือ ฉันอยากคุยกับนักจิตวิทยา ท่านช่วยฉันได้ไหม แต่…อย่าบอกใครนะว่าฉันมาที่นี่ และนั่นก็เหมือนจะเป็นวัฒนธรรมที่เราโตมา สมมติเราขาหัก เราก็ไปหาหมอเพื่อเข้าเฝือกหรือผ่าตัดแต่โดยดี แต่เวลารู้สึกเจ็บป่วยข้างใน เรากลับไม่กล้าหรือไม่คิดที่จะขอความช่วยเหลือ ทั้งที่ความรู้สึกรู้สา ความสะเทือนใจ เจ็บปวด เมื่อเกิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดขึ้น คือสัญญาณบ่งบอกว่าเราเป็นมนุษย์ เรามีเลือดเนื้อมีชีวิตจิตใจ จริงไหม
อย่างที่ท่านเขียนไว้ว่า ‘คนที่ไม่รู้สึกกลัวไม่ใช่มนุษย์ที่สมบูรณ์’
ใช่แล้ว คนที่น่าเป็นห่วงคือคนที่ไม่รู้จักกลัว หรือกลัวไม่เป็น มันเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ เราต่างต้องการพื้นที่ที่เราจะรู้สึกอ่อนแอ หรือแสดงความอ่อนแอ แม้คนที่เข้มแข็งที่สุดก็มีสิทธิที่จะรู้สึกอ่อนแอ เแต่วัฒนธรรมที่หล่อหลอมเรามา มักบอกว่าเด็กผู้หญิงร้องไห้ได้ แต่เด็กผู้ชายมักถูกสอนว่าห้ามร้องไห้ มนุษย์เราต้องมีสักวันที่เราร้องไห้ ไม่ว่าร้องไห้ออกมาหรือร้องอยู่ข้างใน
หลายประเทศในโลกที่ผมไปทำเวิร์กช็อป คนมักบอกว่าผู้ชายร้องไห้ไม่เป็น ผมบอกว่าจริงอะ โอเค… แต่พออยู่ในเวิร์กช็อป ก็ร้องไห้กันหมด ผมก็บอกว่า ไหนคุณว่าคุณร้องไห้ไม่เป็นไง
ตอนที่ผมทำงานที่ศูนย์ฯ ซึ่งทำงานคู่ขนานไปกับคณะกรรมการแสวงหาความจริงและสมานฉันท์ (Truth and Reconciliation Commission) เป็นกลไกการเยียวยาด้วยกระบวนการยุติธรรมที่รัฐบาลจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยรัฐบาลแรกของเราใช้จัดการกับอดีต มีคนราว 23,000 คนมาให้การกับคณะกรรมการ แต่มีคนมาขอความช่วยเหลือที่ศูนย์เราแค่ 55 คน คำถามในใจผมตั้งแต่แรกก็คือ ถึงจะมีคนมาเล่าเรื่องราวของเขา 23,000 คน แล้วคนอื่นๆ ล่ะ ทำให้ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องมีพื้นที่ศักดิ์สิทธิและปลอดภัยให้คนได้มาเล่าเรื่องราวของเขา โดยที่เขาจะไม่ถูกตัดสินหรือประณาม
โดยไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยุติธรรม
ไม่ใช่ แต่น่าสนใจว่าในรายงานสุดท้ายของคณะกรรมการแสวงหาความจริงและสมานฉันท์ พวกเขาถือเราเป็นตัวอย่างของงานที่ต้องทำต่อเนื่องไป คณะกรรมการหมดหน้าที่ในปี 1997 แต่งานของเรายังต้องทำงานต่อ ซึ่งกลายมาเป็นสถาบันเพื่อการเยียวยาความทรงจำ ซึ่งเราไม่ได้เป็นองค์กรภาครัฐ
แล้วการเล่าเรื่องราวโดยไม่มีการนำคนผิดมาลงโทษ จะช่วยอะไรได้
คุณเชื่อในการแก้แค้น-งั้นสิ
ก็ไม่เชิงค่ะ
(หัวเราะ) เวลาคุณนึกถึงสังคม คุณมองมันในเชิงการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ เวลานึกถึงปัจเจก คุณมองในเชิงจิตวิทยา อารมณ์ความรู้สึก ทางเพศ และจิตวิญญาณ แต่เราไม่ค่อยมองสังคมในเชิงจิตวิทยา อารมณ์ความรู้สึก ทางเพศ และจิตวิญญาณ ทั้งที่สังคมเองก็มีแง่มุมเหล่านี้
ลองมาดูรูปแบบการจองเวร หรือการลงโทษเพื่อความยุติธรรม เราจับกุมผู้กระทำความผิด นำตัวขึ้นศาล จำคุก แล้วทุกอย่างมันโอเคไหม เปล่าเลย ผู้ถูกกระทำอาจยังรู้สึกเจ็บปวด ขมขื่น ฉะนั้น การลงโทษไม่ได้เยียวยาจิตใจ พูดอย่างนี้ผมไม่ได้กำลังบอกว่า ภาระความรับผิดไม่สำคัญ แต่ภาระความรับผิดไม่ใช่ทั้งหมด แน่นอนว่าเวลาอำนาจฝ่ายนำเป็นผู้กระทำรุนแรง โดยมากจะไม่มีผู้ใดรับผิดหรือรับโทษ อย่างสิ่งที่เกิดขึ้นกับผม จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครรับผิด ไม่มี
ถ้าดูรายงานของคณะกรรมการเป็นตัวอย่าง มีคนมาบอกเล่าเรื่องราว 23,000 คน ในแง่กฎหมาย 18,800 รายถือเป็นผู้เสียหาย ขณะที่มีผู้รับผิดและร้องขอนิรโทษกรรม 7,700 ราย แต่เราให้นิรโทษกรรมแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ จากตัวเลขเหล่านี้ นั่นหมายความว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนเป็นพันๆ ไม่มีใครรับผิด แล้วคนเหล่านั้นจะรับมือกับอดีตอย่างไร
อีกตัวอย่างคือกรณีที่เกิดกับติมอร์ ผู้เสียหายวาดฝันว่าพวกนายพลที่รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดกับเขาจะต้องขึ้นศาลและรับโทษ แต่ก็ไม่มีวี่แววว่าจะเป็นจริง ฉะนั้น ในระหว่างที่ความยุติธรรมยังไม่เกิดขึ้น คุณจะทำอย่างไรกับความรู้สึกที่อยู่ข้างใน และนั่นคือเหตุผลที่คนในหลายประเทศขอร้องให้เราไปจัดเวิร์กช็อปเพื่อเยียวยาความทรงจำ เพราะระบบยุติธรรมและกฎหมายไม่สามารถจัดการความเจ็บปวดที่พวกเขาเก็บงำอยู่ในใจได้
ในระหว่างที่ความยุติธรรมยังไม่เกิดขึ้น คุณจะทำอย่างไรกับความรู้สึกที่อยู่ข้างใน ระบบยุติธรรมและกฎหมายไม่สามารถจัดการความเจ็บปวดที่พวกเขาเก็บงำอยู่ในใจได้
เมื่อเกิดสิ่งเลวร้ายขึ้นกับเรา จะมีเส้นทางสองเส้นทางที่เรามักจะเดินต่อไป เส้นทางหนึ่งผมเรียกว่า เหยื่อ-ผู้รอด-ผู้ชนะ อีกเส้นทางคือ เหยื่อ-ผู้กระทำ-เหยื่อ-ผู้กระทำ ที่เต็มไปด้วยความโกรธแค้นและขมขื่น เขาไม่สามารถปลดปล่อยกับคนในวงกว้างได้ จึงอาจปฏิบัติต่อลูกหรือคนใกล้ชิดอย่างที่ไม่สมควร หรือทำร้ายตัวเองด้วยการติดเหล้า ติดยา หรือกระทั่งฆ่าตัวตาย
แต่ขณะเดียวกัน บาดแผลในใจระดับปัจเจกก็ไม่ได้แยกขาดจากความเป็นไปทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนเห็นว่าสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองเปลี่ยนผ่านไปในทางที่ดีขึ้น อย่างน้อยเขาก็รู้สึกดี แต่ความยากลำบากส่วนหนึ่งของแอฟริกาใต้วันนี้ก็คือ เราเป็นหนึ่งในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนสูงมาก สังคมแบบนี้ไม่ได้ช่วยเยียวยาอะไรในระดับปัจเจก และคนอาจเกิดคำถามว่า แล้วที่ผ่านมาเราเสียสละไปเพื่ออะไร
เหมือนว่าโจทย์ใหม่ของแอฟริกาใต้ในเวลานี้จะเป็นเรื่องช่องว่างทางชนชั้น ไม่ใช่การแบ่งขั้วชัดเจนระหว่างคนขาวและคนผิวสีอีกต่อไป
ผมคิดว่าจำเป็นที่เราจะมองสังคมด้วยแว่นตาหลายอัน เมื่อมองในแง่การมีส่วนร่วมทางการเมืองก็จะเห็นภาพหนึ่ง เมื่อมองผ่านความมั่งคั่งก็จะเห็นอีกภาพ เช่นถ้าคุณมองในเรื่องว่า ก่อนและหลังปี 1994 ใครเคยมีน้ำประปามีไฟฟ้าใช้ แล้วตอนนี้ใครมีบ้าง ก็จะพบว่าสภาพการณ์หลายอย่างดีขึ้น การมองผ่านแว่นตาหลายๆ คู่ จะช่วยให้เราเห็นว่าประเด็นใดเกิดการเปลี่ยนผ่านแล้ว ประเด็นใดยังต้องทำงานต่ออีกมาก ปัญหาส่วนหนึ่งคือ ในตอนที่เราเป็นประชาธิปไตย มันเป็นช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ที่ทุนนิยมกำลังบ้าคลั่ง คนในประเทศของเราก่อนหน้านี้ ไม่มีอะไรเลย แต่จู่ๆ ก็พบโอกาสที่จะร่ำรวยขึ้นมา
ในขณะเดียวกัน เพื่อจะจัดการกับความไม่เป็นธรรมทางประวัติศาสตร์ เราจำเป็นต้องทำอะไรบางอย่างเชิงโครงสร้างและนโยบาย จำเป็นต้องมีการยืนยันสิทธิประโยชน์ (affirmative action) ของคนบางกลุ่มเพื่อให้เขาได้ลืมตาอ้าปาก เช่น ผู้หญิง คนผิวดำ คนพิการ เป็นต้น ไม่เช่นนั้น สังคมจะไม่มีวันเปลี่ยนได้ เราเปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่คนผิวดำมากขึ้น ฉะนั้นทุกวันนี้ผู้หญิงผิวดำที่มีการศึกษาค่อนข้างมีโอกาสในหน้าที่การงานที่ดี เราเสริมพลังทางเศรษฐกิจให้แก่คนผิวดำ แต่กลับลงเอยด้วยมหาเศรษฐีผิวดำแค่หยิบมือ รวมถึงประธานาธิบดีคนใหม่ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง (นายซีริล รามาโฟซา)
ในสมัยที่ระบอบเหยียดผิวมีอำนาจ คนขาวเป็นคนกลุ่มน้อยแต่กลับมีอำนาจเหลือล้น ทุกวันนี้แม้ว่าอำนาจทางการเมืองในมือพวกเขาจะลดลง แต่ในแง่เศรษฐกิจพวกเขาก็ยังมีอำนาจเหนืออยู่ ถ้าพูดเรื่องสิทธิในทางการเมือง อ๋อ-เราทุกคนเท่าเทียมกัน แต่พอหันมาดูความมั่งคั่ง โอย…มันคนละเรื่อง (หัวเราะเจือน้ำเสียงอ่อนใจ) แล้วเราจะเปลี่ยนแปลงมันได้อย่างไร เราจำเป็นต้องต่อสู้ เราชนะการเหยียดผิวในเชิงโครงสร้าง แต่เรายังไม่สามารถเอาชนะความเหลื่อมล้ำและความยากจนได้ ซึ่งเป็นเหมือนกันทั้งโลก ไม่ใช่แค่ในแอฟริกาใต้
ท่านกำลังจะเดินทางไปพม่า ท่านมีภารกิจอะไรที่นั่น
จัดเวิร์กช็อปการเยียวยาความทรงจำกับกลุ่มคะฉิ่น และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในร่างกุ้ง
จากประสบการณ์ในรวันดา คุณพ่อคิดว่าสิ่งเกิดขึ้นในรวันดาและในพม่ามีความคล้ายคลึงกันหรือไม่
ผมไม่แน่ใจ แต่มีคนบอกผมว่าความเกลียดชังระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กำลังรุนแรงขึ้น และไม่ใช่แต่กับชาวโรฮิงญาเท่านั้น เรื่องที่น่าสนใจคือ ตอนที่ผมไปทำเวิร์กช็อปที่ศรีลังกา มีพระจำนวนมากมาเข้าร่วมเวิร์กช็อป และมีพระจากพม่าด้วย พระหนุ่มรูปหนึ่งบอกผมว่า ท่านเห็นพระรูปนั้นไหม ระวังไว้นะท่าน เราไว้ใจเขาไม่ได้ ผมเคยคิดว่าพระในพุทธศาสนาเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่นี่เขากลับใช้คำพูดแบบ ‘เรา-เขา’
ในรวันดามีหลายประเด็นทับซ้อนกันอยู่ ย้อนไปถึงยุคอาณานิคม กลุ่มชนชั้นสูงที่เป็นชาวทุสซี เป็นที่โปรดปรานของพวกเจ้าอาณานิคม ก่อให้เกิดโครงสร้างสังคมที่อยุติธรรมและความรู้สึกแค้นเคืองที่ฝังรากลึก วิสัยทัศน์ทางศีลธรรมของผู้นำก็มีส่วน ผู้นำที่เป็นที่นิยมสามารถใช้ความคับแค้นของผู้คนเป็นเครื่องมือและนำไปสู่ความรุนแรงได้ ในท่ามกลางความขัดแย้งเราจำเป็นต้องมีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ทางศีลธรรมกว้างขวาง ไม่เลือกฝักฝ่าย ยกตัวอย่างเช่นผู้นำทางศาสนาก็สามารถเล่นบทได้ทั้งหลอมรวมผู้คนหรือทำให้ผู้คนแตกแยก สื่อเองก็มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ด้วยการใช้ภาษาที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถึงที่สุดเราต้องมองให้ทะลุถึงสิทธิความเป็นมนุษย์ เราอาจจะมีอุดมการณ์ต่างกัน แต่เบื้องต้นแล้วเราต่างเป็นมนุษย์ เราอาจจะคัดง้างกันทางการเมือง แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะมาใช้เข่นฆ่ากัน
สำหรับประเทศไทยล่ะคะ ท่านมีเรื่องใดที่อยากแบ่งปันประสบการณ์กับพวกเราบ้าง
การเยียวยาความทรงจำเป็นเรื่องของมนุษยชาติ มันเกี่ยวข้องกับเราทุกคน ไม่มีมนุษย์เดินดินคนใดไม่มีบาดแผล และถ้าเราไม่สามารถจัดการกับบาดแผลเหล่านั้น มันก็จะกลัดหนอง นำความเจ็บปวดไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่งมาสู่ชีวิตเราข้างหน้า และอย่าลืมว่าปัจเจกกับสังคมไม่ได้แยกจากกัน
เพียงแค่อ่านรายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากล คุณก็รู้ได้ว่าบนเส้นทางที่สังคมไทยเดินมา มีความไม่เป็นธรรมและบาดแผลเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน อย่างที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ผมมีโอกาสไปกล่าวปาฐกถา ที่ตรงนั้นก็เคยมีนักศึกษาถูกฆ่า ซึ่งนี่คือความจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ แต่เมื่อเกิดสิ่งเลวร้ายขึ้นกับชาติ คนมักจะหาทางฝังกลบและลืมมันเสีย และมันก็เป็นทางเลือกทางประวัติศาสตร์ที่คนมักจะเลือกกัน แต่มันไม่ได้ช่วยอะไร เพราะเมื่อคุณฝังมันไว้ บาดแผลยังอยู่และพร้อมจะกลัดหนอง ชาติอาจเดินไปข้างหน้า แต่ญาติของผู้สูญเสียยังต้องอยู่กับมัน เรื่องราวของสิ่งที่เกิดขึ้นจะอยู่กับคนรุ่นต่อๆ ไป หากมีสิ่งใดที่เป็นความผิดพลาด ก็จำเป็นต้องมีการยอมรับว่ามันผิด ดังนั้น ผมเห็นว่าการเยียวยาความทรงจำเป็นเรื่องของคนไทยด้วย
คุณพ่อเรียกสิ่งนี้ว่า การเยียวยาความทรงจำ แต่คนบางกลุ่มอาจมองว่าเป็นการขุดคุ้ยอดีต ท่านเห็นว่าสิ่งนี้จำเป็นต่อสันติภาพที่ยั่งยืน แต่บางคนอาจมองว่าเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง
แน่นอนว่ามันมีแง่มุมทางการเมือง แต่สังคมเองมีความปรารถนาลึกๆ ที่จะแก้ไขในสิ่งผิดเสมอ ให้ความเจ็บปวดได้ถูกรับรู้ เพื่อจะฟื้นคืนศีลธรรมของสังคมเอง บ่อยครั้งผู้คนตกเป็นเหยื่อเพราะสังคมชี้นิ้วว่าคนผู้นั้นเป็นฝ่ายผิด แต่นักศึกษาที่ถูกฆ่า เขาผิดอะไร เพียงเพราะพวกเขาต้องการประชาธิปไตยอย่างนั้นหรือ นั่นเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะฆ่าหรือ คนน่าจะได้กลับมาตระหนักว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันน่าเศร้า
ขณะเดียวกันก็น่าสนใจที่จะได้คุยกับคนที่ยิงนักศึกษา เพราะทุกวันนี้สิ่งที่พวกเขาได้ทำก็อาจจะยังหลอกหลอนพวกเขาอยู่ก็ได้ พวกเขาเองก็เป็นพ่อเป็นแม่ นักศึกษาที่ถูกยิงอาจจะเป็นลูกหลานของพวกเขาก็ได้ จริงหรือไหม เราไม่ควรคิดว่าการเยียวยาเป็นเรื่องของผู้ถูกกระทำเท่านั้น แต่ควรรวมถึงผู้กระทำด้วย
บทเรียนหนึ่งจากประวัติศาสตร์คือ เมื่อมีการกีดกันคนกลุ่มหนึ่งไม่ว่าในทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม ในไม่ช้าเราจะเข้าสู่สงคราม สงครามกลางเมืองในศรีลังกา เกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะการเมืองที่ไม่เป็นธรรม กีดกันแบ่งแยกผู้คน แต่เมื่อสงครามยุติลง คนล้มตายไปนับหมื่น พวกเขาก็ยังต้องอยู่กับปัญหาเดิมที่ยังไม่ได้แก้และเป็นเหตุผลตั้งต้นที่ทำให้พวกเขาทำสงครามกัน
อย่างคาบสมุทรบอลข่าน พวกเขาบอกเลยว่าเราทำสงครามกันทุก 50 ปี เพราะคุณไม่เคยกลับไปสะสางปัญหาที่คั่งค้างอยู่ การเยียวยาความทรงจำคือการจัดการกับแผลเก่า ล้างหนอง ชำระให้เกลี้ยง เพื่อไม่ให้มันปะทุขึ้นอีก
แนวโน้มที่จะกลบฝังอดีตและบาดแผลของประวัติศาสตร์ มีเฉพาะในเอเชียหรือเปล่า
ไม่เลย มันอยู่ในสายเลือดของมนุษย์ ขอโทษนะ เอเชียไม่ได้ยูนีคอะไรนักหรอก ทั่วโลกก็เป็นเหมือนกัน สหรัฐอเมริกาซึ่งผมใช้เวลาที่นั่นหลายเดือนต่อปี ประเด็นเรื่องสีผิว ระบบทาส สิทธิของชนพื้นเมือง ก็ยังมีอยู่ อย่างที่เรารู้กันสหรัฐฯ สร้างชาติขึ้นมาจากระบบทาส แล้วพวกเขายินดีจะยอมรับความจริงข้อนี้ไหม ไม่มีทาง และในแง่หนึ่ง โดนัลด์ ทรัมป์ ก็คือตัวแทนของการปัดปฏิเสธนั้น
เมื่อพูดถึงความผิดพลาดในอดีตในฐานะภาระของประวัติศาสตร์ (Burden of History) แล้วคนเยอรมัน อเมริกัน และคนขาวในแอฟริกาใต้ล่ะ พวกเขามีชีวิตอยู่กับมันอย่างไร
เวิร์กช็อปการเยียวยาความทรงจำจัดขึ้นครั้งแรกที่ฮัมบวร์ก เยอรมนี เมื่อหลายปีก่อน ชื่อของเวิร์กช็อปคือ ‘การจัดการภาระของประวัติศาสตร์’ ชายคนหนึ่งเล่าว่าเขาเกิดในช่วงปลายสงคราม ตอนเป็นเด็กเวลาไปทัศนศึกษากับโรงเรียนที่ไหนสักแห่งในยุโรป ครูบอกพวกเขาว่า อย่าบอกใครนะว่าพวกเธอมาจากเยอรมนี เงียบไว้
แต่ในหลายแง่มุม ผมคิดว่าคนเยอรมันรับมือกับสิ่งนี้ได้ค่อนข้างดี และพวกเขาไม่ปฏิเสธอดีต เขายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่แน่นอนว่าหลายทศวรรษทีเดียวที่พวกเขาปิดปากเงียบ พ่อแม่ไม่ได้เล่าอะไรให้ลูกๆ ฟัง แต่คนรุ่นต่อๆ มาเริ่มถามคนรุ่นก่อนหน้าว่า ขอโทษนะ-ในช่วงสงครามคุณทำอะไรบ้าง ซึ่งคนรุ่นก่อนหน้าอาจจะบอกว่า มันเป็นการลงมือของคนกลุ่มหนึ่ง เขาเองไม่ได้มีส่วน แต่หลักฐานมากมายก็ฟ้องว่า พวกเขาคงต้องรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
ในแอฟริกาใต้เองก็คล้ายกัน คนขาวส่วนมากจะบอกว่า ฉันไม่รู้เรื่องเลย แต่อันที่จริงพวกเขาอยากจะบอกว่าเราไม่อยากรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น เพราะราคาของการรับรู้หนักหนาเกินไป ถ้าคุณรับรู้ คุณก็ต้องร่วมรับผิดชอบ แต่ถ้าคุณยังปฏิเสธต่อไปได้ ไม่ว่าหลอกตัวเองหรืออะไรก็ตาม อย่างน้อยคุณก็อาจจะนอนตาหลับ ลองไปคุยเถอะ คุณจะไม่พบคนขาวคนไหนที่สนับสนุนระบอบเหยียดผิว แต่เราก็ถามเขาต่อได้ว่า จริงเหรอ แต่ไหงหลักฐานมันบอกอยู่โต้งๆ ล่ะ ว่าพวกคุณโหวตให้รัฐบาลผิวขาวในช่วงนั้นหนแล้วหนเล่า ถ้าลูกๆ ถาม เขาก็จะบอกว่า พ่อกับแม่ต่อต้านมันนะ โอเค…พ่อกับแม่ต่อต้านมัน แต่ตอนนั้นพ่อกับแม่ทำอะไรบ้างล่ะ อ๋อ-พ่อกับแม่ปฏิบัติต่อคนรับใช้ผิวดำที่บ้านอย่างดีนะ
แบร์ทอลท์ เบรคชท์กล่าวไว้ว่า “Woe is the land that has no heroes. Nay, woe is the land that needs heroes.” ในสังคมที่ไร้ความเป็นธรรมจำต้องอาศัยความกล้าหาญเพื่อจะหยัดยืนในความเป็นมนุษย์ แต่คนส่วนมากก็อาจต้องไหลไปตามน้ำเพราะความกลัวหรืออะไรก็ตาม ฉะนั้นพวกเขาจะพยายามกดข่มมโนธรรมของตนไว้ เพราะถ้ามโนธรรมในใจตื่นขึ้นเมื่อไร คุณต้องทำอะไรสักอย่าง คุณไม่สามารถทนดูความไม่เป็นธรรมตรงหน้าได้
บางครั้ง คนชอบพูดว่าคนขาวในแอฟริกาใต้ทำอย่างนั้นได้ยังไง ก็น่าจะถามเขากลับว่า ขอโทษนะ ถ้าคุณเป็นคนขาวในแอฟริกาใต้ตอนนั้น พวกคุณจะทำอะไร ถ้าคุณเป็นคนเยอรมันในยุคฮิตเลอร์ครองเมือง คุณจะทำอย่างไร คุณจะยืนขึ้นต่อสู้ไหม มันง่ายที่จะตัดสิน และเพิกเฉยต่อข้อจำกัดของความเป็นมนุษย์ และความจำเป็นที่ต้องประนีประนอม
แต่ถ้าเราประนีประนอมอยู่ตลอดเวลา ก็คล้ายว่าเราสะลึมสะลือต่อความจริง มีชีวิตเหมือนซอมบี้หรือเปล่า
ใช่เลย อย่างที่ผมบอกไง นี่คือสาเหตุหนึ่งที่สังคมคนขาวในแอฟริกาใต้เป็นวัตถุนิยมมาก เพราะเขาสนใจแต่เรื่องทางวัตถุแทนที่จะหันมาจัดการกับมโนธรรมของตัวเอง ไม่ก็เพื่อให้ลืมๆ ไป จะได้ไม่ต้องจัดการ
…
เสียดายว่าการมาเยือนประเทศไทยครั้งนี้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด คุณพ่อไมเคิลไม่มีโอกาสจัดเวิร์กช็อปเยียวยาความทรงจำเหมือนในประเทศอื่นๆ ที่ท่านไปเยือน ไม่เช่นนั้น พวกเราหลายคนอาจได้ใช้พื้นที่นั้นในการบอกเล่าอดีตแก่กัน ร้องไห้ไปด้วยกัน ไม่ว่าน้ำตานั้นจะมาจากความเจ็บปวดที่ถูกกระทำ หรือการแสดงความเสียใจในสิ่งที่ทำหรือไม่กล้าพอที่จะทำ
แต่อย่างน้อย เราอาจได้ตื่นขึ้น…และคืนความเป็นมนุษย์ให้แก่กัน
Fact Box
- สถาบันเพื่อการเยียวยาความทรงจำ ก่อตั้งขึ้นในปี 1998 โดยบาทหลวงไมเคิล แลปสลีย์ เพื่อสร้างพื้นที่ให้แก่ชาวแอฟริกาใต้ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความทรงจำ เยียวยาบาดแผลจากระบอบเหยียดผิวที่ฝากรอยไว้แก่พวกเขาทั้งคนผิวดำและคนผิวขาว ในฐานะกระบวนการสู่สันติภาพที่ยั่งยืนของประเทศ
- หนังสือกึ่งอัตชีวประวัติของบาทหลวงไมเคิล Redeeming The Past - My Journey from Freedom Fighter to Healer อยู่ระหว่างการจัดพิมพ์ภาคภาษาไทยในชื่อ เยียวยาอดีต การเดินทางจากนักสู้เพื่อเสรีภาพ สู่การเป็นผู้เยียวยา โดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา แปลโดย ดรุณ แซ่ลิ่ว