Prada แบรนด์ไฮเอนด์สัญชาติอิตาลี ออกมายอมรับว่า คอลเลกชันรองเท้าแตะรุ่นใหม่ได้รับแรงบันดาลใจจากโกลฮาปูรี (Kolhapuri) รองเท้าพื้นเมืองอินเดียของรัฐมหาราษฏระ หลังทางการส่งจดหมายประท้วง และสาธารณชนวิจารณ์ผลงานว่า เป็นการ ‘ฉกฉวยวัฒนธรรม’ (Cultural Appropriation) และ ‘ไม่ให้เกียรติช่างฝีมือ’
ในงาน Milan Fashion Week ครั้งล่าสุด Prada เปิดตัวคอลเลกชันเสื้อผ้า Spring/ Summer 2026 ซึ่งหนึ่งในนั้นคือรองเท้าแตะหนีบรุ่นใหม่ ทรงแบน หนังสีน้ำตาล มีเอกลักษณ์คือหูคีบบริเวณนิ้วโป้งและกลางเท้า ถือเป็นแฟชั่นที่สะท้อนธีมหลักของงานคือ ‘อิสระที่ออกแบบเองได้’ และ ‘ผลงานที่สร้างจากของจริง’ ตามที่ ราฟ ไซมอนส์ (Raf Simons) ผู้อำนวยการร่วมของ Prada เคยอธิบายไว้
อย่างไรก็ตามผลงานชิ้นนี้กลับต้องเผชิญเสียงวิจารณ์ในโลกโซเชียลฯ จนลุกลามกลายเป็นปัญหาระดับชาติ หลัง อนัยตา ชรอฟฟ์ อาดาจาเนีย (Anaita Shroff Adajania) ผู้อำนวยการด้านแฟชั่นนิตยสาร Vogue อินเดีย และ Diet Sabya แอ็กเคานต์นิรนามที่มักเปิดโปงความฉาวโฉ่ในแวดวงแฟชั่น ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า รองเท้าแตะของ Prada คล้ายคลึงกับโกลฮาปูรี รองเท้าแตะพื้นเมืองที่ผลิตในรัฐมหาราษฏระ
โกลฮาปูรีเป็นรองเท้าแตะทำมือ มีจุดกำเนิดในศตวรรษที่ 12 และตั้งชื่อตามเมืองโกลฮาปูรีในรัฐมหาราษฏระ มีวิธีการทำคือ ใช้หนังควายตากแห้งมาเย็บและถักทอ ผ่านการย้อมด้วยสีธรรมชาติ และไม่ใช้วัสดุอื่นๆ อย่างกาวหรือสารสังเคราะห์ประกอบ ทำให้โกลฮาปูรีเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้เวลาผลิตนานถึง 1-2 สัปดาห์ ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของอินเดีย และมีราคาคู่ละ 20-30 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 640-970 บาท)
“ไม่ได้จะเป็นป้าแก่จู้จี้จุกจิกหรอกนะ แต่เราพร้อมกันไหมกับการซื้อรองเท้า Prada รุ่นโกลฮาปูรี ที่ราคาสูงถึง 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3.2 หมื่นบาท) ต่อคู่ แล้วนี่ก็จะกลายเป็น ‘แฟชั่น’ เพราะพวกคนยุโรปเริ่มใส่ น่าสนใจนะว่าไหม ถ้าลองคิดดูกันสักหน่อย”
แอ็กเคานต์ Diet Sabya ใน Instragram โพสต์คลิปวิดีโองานแฟชั่นโชว์ที่มีรองเท้า ขณะที่อาดาจาเนียโพสต์ Instragram Story เปรียบเทียบรองเท้าโกลฮาปูรีที่มีอยู่ กับรองเท้ารุ่นใหม่ของ Prada เช่นเดียวกับด้านชาวเน็ตอินเดียที่วิจารณ์ว่า พวกเขาก็มีรองเท้าแบบเดียวกันที่บ้าน หรือทำไมแบรนด์ดังระดับโลกจึงกล้าฉกฉวยอัตลักษณ์พื้นเมืองไป
นอกจากนี้ Maharashtra Chamber of Commerce, Industry & Agriculture (MACCIA) หน่วยงานท้องถิ่นในมหาราษฏระ ส่งจดหมายประท้วงถึง Prada ให้ออกมาขอโทษ โดยรวบรวมเสียงของผู้ผลิตรองเท้าโกลฮาปูรีนับพันราย พร้อมย้ำว่า รองเท้านี้ได้รับรางวัล GI (Geographical Indication) จากรัฐบาลอินเดียในปี 2019 แสดงให้เห็นถึงการเป็นสินค้าที่ผลิตเฉพาะถิ่น
อย่างไรก็ตามล่าสุด Prada ออกมายอมรับและขอโทษถึงกรณีข้างต้น โดย โลเรนโซ เบอร์เทลลี (Lorenzo Bertelli) หัวหน้าฝ่ายภาพลักษณ์องค์กร ตอบกลับจดหมายของ MACCIA ว่า รองเท้าดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจจากสินค้าพื้นเมืองของอินเดียจริง แต่กลับไม่ได้ให้เครดิตช่างฝีมือที่รักษามรดกวัฒนธรรมมานานนับร้อยปี ซึ่งขณะนี้คอลเลกชันดังกล่าวกำลังอยู่ในขั้นตอนการเริ่มออกแบบ ขณะที่โฆษก Prada ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่า บริษัทเคารพงานฝีมือ การออกแบบในท้องถิ่นมาตลอด และพร้อมพูดคุยหาทางออกกับช่างทำรองเท้าในอินเดีย
ปรากฏการณ์ดังกล่าวสร้างความสั่นสะเทือนให้กับแวดวงแฟชั่นอินเดีย โดยเฉพาะช่างฝีมือผลิตงานท้องถิ่น โดย ประภา สัตบุต (Prabha Satpute) ให้สัมภาษณ์กับ BBC News Marathi ว่ารู้สึกเสียใจ เพราะต้องทำงานหนักเพื่อผลิตรองเท้าคู่นี้ และ Prada ไม่ควรฉกฉวยประโยชน์จากแรงงานฝีมือ
ขณะที่ ฮาร์ช โกเอนกา (Harsh Goenka) นักธุรกิจชื่อดังมองว่า ปกติแล้ว ช่างทำรองเท้ายังได้เงินเล็กน้อยจากการผลิตรองเท้า เหตุการณ์ครั้งนี้ยิ่งซ้ำเติมพวกเขา ขณะที่แบรนด์ดังระดับโลกได้เงินจากวัฒนธรรมของคนอื่น เช่นเดียวกับ กาณิกะ กาห์เลาต์ (Kanika Gahlaut) คอลัมนิสต์แฟชั่นชาวอินเดียที่มองว่า อย่างไร Prada ก็ได้รับประโยชน์จากรองเท้าโกลฮาปูรีอยู่ดี
“การที่ไม่เรียกรองเท้ารุ่นใหม่ว่า โกลฮาปูรี Prada มีความผิดฐานการสร้างเงินจากการฉกฉวยวัฒนธรรมของผู้อื่น” นเรนทรา กุมาร (Dhanendra Kumar) อดีตผู้อำนวยการธนาคารโลก (World Bank) ให้สัมภาษณ์กับ Economic Times ว่า แรงงานฝีมือในอินเดียผลิตผลงานเก่ง แต่แทบไม่มีเงินทุนที่จะต่อยอดส่งสินค้าเหล่านี้ไปให้นักธุรกิจ
อย่างไรก็ตามมีผู้เห็นต่างว่า อินเดียเป็นประเทศที่ ‘อ่อนไหว’ ประเด็นทางวัฒนธรรมมากเกินไป จนบางครั้ง ความภาคภูมิใจในรากเหง้าก็กลายเป็นความโกรธแค้นทางชาตินิยม โดย ราฆาเวนทระ ราธโร (Raghavendra Rathore) ดีไซเนอร์ชื่อดังให้สัมภาษณ์กับ The New York Times ว่า Prada ไม่ได้ทำลายคอมมูนิตี้ผู้สร้างรองเท้าในอินเดีย แต่ผลักดันให้สินค้าเหล่านี้กลายเป็นแฟชั่น สร้างภาพลักษณ์ที่ดี และทำให้รองเท้าขายได้มากขึ้น
ทั้งนี้ The Guardian รายงานว่า ยอดค้นหารองเท้าท้องถิ่นของอินเดียใน Google เพิ่มขึ้นไปพร้อมกับยอดจำหน่ายตามท้องตลาด
ฉกฉวยวัฒนธรรมสะเทือนโลก เมื่อวงการแฟชั่นหากินกับวัฒนธรรมท้องถิ่น
ปัจจุบัน ปรากฏการณ์ฉกฉวยวัฒนธรรมได้รับให้ความสำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีแบรนด์ไฮเอนด์ชื่อดังนำวัฒนธรรมท้องถิ่น มาสร้างมูลค่าทางการค้า โดยไม่ได้ให้เครดิตหรือการอ้างอิงที่มาแต่อย่างใด
กรณีที่โด่งดังและคล้ายคลึงกับรองเท้าแตะ Prada คือ รองเท้าของ Paul Smith ที่ลอกเลียนแบบรองเท้าเปศวาร์ (Peshawari) สินค้าพื้นเมืองในปากีสถาน ซึ่งขายในท้องตลาดราคา 595 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 1.9 หมื่นบาท) ก่อนจะได้รับเสียงวิจารณ์ ทำให้แบรนด์ออกมายอมรับว่า ต้นแบบของรองเท้ามาจากเปศวาร์จริง
ปัญหาดังกล่าวยังรวมถึงแฟชั่นที่แสดงถึงเหตุการณ์ไม่เหมาะสมอย่าง Noose-style Necklace โดย Givenchy ซึ่งถูกมองว่า เป็นสัญลักษณ์การอัตวิบาตกรรมด้วยการผูกคอ หรือการเป็นทาสถูกกดขี่ ทันทีที่มีภาพนางแบบสวมใส่สร้อยดังกล่าวปรากฏออกไป ทำให้มีผู้วิจารณ์ว่า ‘การฆ่าตัวตายไม่ใช่แฟชั่น’
แม้จะมีข้อถกเถียงว่า อะไรคือนิยามของคำว่าฉกฉวยวัฒนธรรมกันแน่ เช่น กรณีแต่งตัวเพราะความสวยงาม แต่ ซูซี ลู (Susie Lau) บล็อกเกอร์ด้านแฟชั่นมองว่า การพิจารณาถึง ‘บริบท’ ก็มีความเหมาะสม เช่น การสวมใส่กี่เพ้าเพื่อความเซ็กซี่ หรือแต่งหน้าแคทอายเกินจริง ก็ควรจะถูกมองว่าเป็นปัญหา แม้จะเชื่อว่า วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่แชร์และแลกเปลี่ยนร่วมกัน แต่ต้องแสดงออกในเชิงบวก
ดังที่ ซารีม แบล็ก (Shameem Black) ผู้เชี่ยวชาญด้านเพศสภา สื่อ และวัฒนธรรมศึกษาจาก Australian National University วิจารณ์ว่า บางครั้ง การหยิบยืมวัฒนธรรมของชาติอื่น ก็ได้สร้างปัญหามากมาย หากผู้ยืมไม่ได้พิจารณาบริบทางประวัติศาสตร์ และความอ่อนไหวทางวัฒนธรรม
อ้างอิง
https://www.nytimes.com/2025/06/30/world/asia/india-prada-sandal.html
https://www.bbc.com/news/articles/cj4e24n20wwo
https://www.nytimes.com/2023/02/13/style/cultural-appropriation-fashion.html
Tags: เอเชีย, prada, รองเท้า, แบรนด์เนม, ฉกฉวยวัฒนธรรม, Cultural Appropiation, Kolhapuri, อินเดีย, แฟชั่น