‘พ่อแม่ก็อาจได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากการเลี้ยงลูก’
คำกล่าวนี้ดูเหมือนจะเป็นจริงไม่น้อยเลย เมื่อพ่อแม่หลายบ้านนำวิธีการเลี้ยงลูกแบบอ่อนโยน (Gentle Parenting) มาปรับใช้กับชีวิตคู่ของตน เพราะในครอบครัวนอกจากจะมีบทบาทเป็นพ่อแม่ของลูกแล้ว สิ่งที่ละเลยไม่ได้เช่นกันคือบทบาทของสามีภรรยาที่จำเป็นต้องอ่อนโยนต่อกันจนเกิดเป็นคำว่า ‘Gentle Partnering’ หรือ ‘การเป็นพาร์ตเนอร์อย่างอ่อนโยน’
สำหรับที่มาของการเลี้ยงลูกอย่างอ่อนโยนนั้น คิดค้นโดย คาเรน เอสเทรลลา (Karen Estrella) กุมารแพทย์จากประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า “แนวคิดของการเลี้ยงลูกแบบ Gentle Parenting คือการเป็นโค้ชให้ลูกมากกว่าที่จะเป็นผู้ลงโทษ”
เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ลูกอาจทำให้พ่อแม่หงุดหงิด โมโห ไม่ได้ดั่งใจ แทนที่พ่อแม่จะดุด่าว่ากล่าว หรือพูดจาเชิงลบกับลูก ให้เปลี่ยนมาบอกกล่าวถึงเหตุผลกับลูกอย่างสุภาพและอ่อนโยนแทน ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าครอบครัวกำลังเตรียมตัวออกจากบ้านในตอนเช้า พ่อแม่ต้องไปส่งลูกที่โรงเรียนก่อนจะไปทำงาน แต่ลูกกลับร้องไห้งอแง จนพ่อแม่กังวลว่าจะไปทำงานสาย ในสถานการณ์แบบนี้พ่อแม่มักจะดุลูก เช่นว่า “เลิกงอแงและรีบไปโรงเรียนได้แล้ว” หรือตะโกนว่า “หยุดทำตัวไร้สาระ แม่ไปทำงานสายแล้ว” ซึ่งประโยคเหล่านี้เต็มไปด้วยความรู้สึกเชิงลบ และทำให้เด็กรู้สึกกลัวจนยอมหยุดดื้อ เพราะวิตกกังวลและกลัวพ่อแม่ลงโทษ ในขณะที่พ่อแม่ก็ไม่ได้อธิบายอะไรเลย
การเลี้ยงลูกแบบอ่อนโยนคือ การที่พ่อแม่หยุดคิดสักพักแทนที่จะดุด่าหรือตะโกน พ่อแม่พยายามช่วยให้ลูกๆ เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น แสดงความเห็นอกเห็นใจ เคารพต่อความรู้สึกของลูก ต้องให้โอกาสลูกในการประมวลผลพฤติกรรมของตนเองและรับผิดชอบต่อตนเอง อย่างในสถานการณ์ข้างต้น ต้องสงบสติอารมณ์และมั่นคง และพูดอย่างใจเย็นว่า
“แม่จะไปส่งที่โรงเรียนแล้วจะไปทำงาน เราต้องออกจากบ้านตรงเวลา หวังว่าหนูจะเตรียมตัวให้พร้อม สวมรองเท้านักเรียนตรงประตูให้เรียบร้อย เพราะถ้าลูกไม่พร้อม เราจะไปสายกันทั้งคู่ แล้วแม่ก็จะรู้สึกโกรธ ถ้าแม่โกรธ หนูจะไม่ได้ขนมหรือของเล่น”
แม้จะเป็นวิธีการที่ดี แต่เอสเทรลลายังกล่าวอีกว่า มันเป็นความท้าทายของพ่อแม่อย่างมาก โดยเฉพาะในเวลาที่โกรธหรือโมโห และอยากดุลูกมากกว่าที่จะคุยด้วยเหตุผล
อย่างไรก็ตามพ่อแม่หลายครอบครัวที่สมาทานวิธีการเลี้ยงลูกแบบ Gentle Parenting รายงานว่า การเลี้ยงลูกแบบนี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับลูกดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผู้ปกครองบางคนจึงเริ่มสงสัยว่า เทคนิคเหล่านี้จะใช้ได้ผลกับชีวิตแต่งงานหรือไม่ ท้ายที่สุดแล้วความเห็นอกเห็นใจและเปิดใจรับฟัง ก็ถือเป็นรากฐานสำคัญของการสื่อสารที่มีคุณภาพของผู้ใหญ่เช่นกัน นำมาสู่การเป็น Gentle Partnering ของพ่อแม่หรือคู่รัก
“แก่นแท้ของการเลี้ยงลูกแบบอ่อนโยนคือ ความเห็นอกเห็นใจ ความอดทน และการสื่อสารด้วยความเคารพ ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติที่สามารถนำมาปรับใช้กับใครก็ได้ โดยเฉพาะกับคู่รักของเรา” เจนนิเฟอร์ แชปเปลล์ มาร์ช (Jennifer Chappell Marsh) นักบำบัดคู่รักจากรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ กล่าว
และมาร์ชยังเห็นด้วยว่า Gentle Partnering มีประโยชน์อย่างมากในสถานการณ์ที่ตึงเครียด เพราะสมองของผู้ใหญ่เองก็ทำงานผิดปกติได้เหมือนสมองเด็ก ดังนั้นเทคนิคการสื่อสารอย่างอ่อนโยน แต่มีประสิทธิภาพจึงส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ โดยเฉพาะตอนที่คู่รักกำลังอารมณ์เสีย
ในขณะเดียวกัน ซาบา ฮารูนี ลูรี (Saba Harouni Lurie) นักบำบัดการแต่งงานและครอบครัวที่มีใบอนุญาต ได้นำ Gentle Partnering มาใช้ในชีวิตแต่งงานของตนเมื่อไม่นานมานี้ เช่นเดียวกับอีกหลายครอบครัว โดยวิธีการเป็น Gentle Partnering มีวิธีการดังนี้
1. ใช้ความนุ่มนวลเพื่อเริ่มต้นบทสนทนาในสถานการณ์ตึงเครียด
เมื่อคู่รักเริ่มตกอยู่ในสถานการณ์ขุ่นเคืองกัน ในการเริ่มต้นให้เข้าหาคู่ของคุณโดยการใช้โทนเสียงที่อ่อนโยน และบอกเขาถึงความรู้สึกหรือความกังวลของคุณอย่างชัดเจน หลีกเลี่ยงการตำหนิ วิพากษ์วิจารณ์หรือการทิ้งระเบิด ซึ่ง เทรซี รอสส์ (Tracy Ross) นักบำบัดคู่รักในรัฐนิวยอร์กแนะนำว่า ควรเริ่มต้นบทสนทนาด้วยคำว่า ‘ฉัน’ แทนที่จะขึ้นต้นด้วยคำว่า ‘คุณ’ เพราะอาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่า กำลังโดนโจมตีได้ หลีกเลี่ยงการตำหนิติเตียนตู่รักของคุณ
“กฎคือคุณมีสิทธิพูดถึงตัวเองเท่านั้น” รอสกล่าว
2. พิจารณาว่าตอนไหนที่คู่ของคุณรู้สึกอ่อนไหวจากการกระทำของคุณ และอะไรที่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความรู้สึกนั้น
วิธีนี้คือการเรียนรู้ว่าคู่รักของเราอาจมีปมกับเรื่องอะไร ที่อาจไปกระตุ้นให้เกิดความไม่พอใจได้ โดย บริตตานี บูฟฟาร์ด (Brittany Bouffard) นักบำบัดที่เปิดคลินิกส่วนตัวในรัฐเดนเวอร์และรัฐโคโลราโด ยกตัวอย่างว่า
“การรู้ว่าสามีของคุณอาจรู้สึกอ่อนไหว เมื่อมีคนตั้งคำถามเกี่ยวกับความรู้ของเขา เพราะตอนเด็กๆ พ่อแม่ของเขาวิจารณ์เขามากเกินไป การได้รู้เรื่องราวนี้ถือเป็นสิ่งที่มีค่า เพราะเขาสามารถเล่าต้นเหตุของความรู้สึกแย่นี้ให้ภรรยาฟังได้” บูฟฟาร์ดระบุ
3. ลอง ‘ฟังอย่างไตร่ตรอง’ บ้าง
ในข้อนี้นักบำบัดคู่รักอย่างมาร์ชบอกว่า ในการบำบัดคู่รัก นักบำบัดมักจะขอให้คู่รักช่วยพูดซ้ำสิ่งที่คู่รักของคุณเพิ่งพูดไป ซึ่งเป็นวิธีการที่ได้ผล เพราะมันคือการบังคับให้คุณรับรู้ความรู้สึกของอีกฝ่ายก่อน ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าได้รับการยอมรับ รับฟัง ซึ่งหมายความว่าทั้งคู่จะสงบสติอารมณ์มากขึ้น
4. เพิ่มความเห็นอกเห็นใจให้กับคู่รักของคุณ
ในหลายสถานการณ์คู่รักมักมีอารมณ์โกรธและโมโหเป็นธรรมดา โดยบูฟฟาร์ดยกตัวอย่างว่า
“หากคุณกลับมาถึงบ้านแล้วพบว่าคู่รักของคุณเฉยเมยกับคุณ หรือหลังเลิกงานเธอกลับแสดงอาการโกรธ ให้คิดในใจว่าคู่รักของเรามีความดีอยู่ภายใน และกระตือรือร้นที่จะเป็นเซฟโซนให้กับคนรัก แทนที่จะคิดว่าตัวคุณทำอะไรผิดหรือเธอเป็นอะไรไป”
5. ชื่นชมในความพยายามของคนรัก
ซาราห์ สเปนเซอร์ นอร์ทีย์ (Sarah Spencer Northey) นักบำบัดคู่แต่งงานและครอบครัวในรัฐวิชิงตัน ดี.ซี. กล่าวว่า “การชื่นชมลูกของคุณว่าทำได้ดีนั้นเรียกว่า คำชมที่มีความหมาย”
เช่นเดียวกับคู่รัก ซึ่งคำชมเชยไม่ได้หมายความถึงแค่การบอกว่า ‘ทำได้ดี’ เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการให้ความเคารพกับสิ่งที่เขาทำด้วย ดังนั้นคำชมเชยจึงหมายถึงการได้รับการมองเห็นควบคู่ไปกับการได้รับการชื่นชม ทั้งยังเป็นการสื่อนัยว่าคุณต้องการเห็นพฤติกรรมใดจากเขามากขึ้นด้วย
นอกจากนี้นอร์ธีย์ยังบอกอีกว่า “ไม่มีคู่รักคู่ไหนที่เคยมาหาฉันแล้วบ่นว่า ความสัมพันธ์ของพวกเขาเต็มไปด้วยคำชมเชยมากเกินไป” นักบำบัดกล่าวทิ้งท้าย
ที่มา
https://www.mother.ly/relationships/relationship-advice-gentle-partnering/
https://health.clevelandclinic.org/what-is-gentle-parenting
Tags: family, Family Tips, Gentle Partnering, Gentle Parenting