หลังจากได้รับแจ้งจากพ่อแม่ของเยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี ว่าเด็กๆ ที่ไปฝึกซ้อมฟุตบอลตั้งแต่เช้าวันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน 2561 แต่จนค่ำก็ยังไม่ได้กลับบ้าน จนราวๆ หนึ่งทุ่ม โค้ชฟุตบอลทีมโรงเตี๊ยม 168 จึงออกตามหา ก่อนจะพบว่า ที่หน้าถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน มีจักรยาน 11 คัน และมอเตอร์ไซค์ 1 คันจอดอยู่พร้อมสัมภาระวางไว้ ทำให้คาดการณ์ว่า โค้ชเอกพล จันทวงษ์ คงจะพาเด็กๆ อีก 11-12 คนเข้าไปเที่ยวในถ้ำ แต่เกิดเหตุให้ออกมาไม่ได้ … นี่เป็นข้อมูลตามรายงานข่าวชิ้นแรกๆ ที่ออกมา

แล้ววันถัดมา เรื่องราวนี้ก็กลายเป็นข่าวใหญ่ ว่าจะทำอย่างไรเพื่อช่วย 13 ชีวิตที่หายไป ร่องรอยจากที่พบรองเท้า กระป๋องน้ำ สัมภาระ ที่วางเอาไว้ที่หน้าโพรงใหญ่ของถ้ำ ยิ่งส่งสัญญาณน่าเป็นห่วงว่าทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีจะติดอยู่ภายใน วันถัดมา (24 มิ.ย.) เจ้าหน้าที่ชุดค้นหา 2-3 ชุด ประกอบด้วย หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 3 กองกำลังผาเมือง สภ.แม่สาย, วนอุทยานถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน สำนักงานพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15, มูลนิธิสยามรวมใจ (ปู่อินทร์) สมาคมศิริกรณ์เชียงรายบรรเทาสาธารณภัย ก็สลับกันเข้าไปสำรวจภายในระยะ 3-4 กิโลเมตร แต่ก็ไม่พบ ก่อนที่จะระดมกำลังจากเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการสงครามพิเศษ หรือ หน่วยซีลของทหารเรือ นักประดาน้ำจากสวีเดน และผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำมาช่วยกันค้นหา

เบาะแสเท่าที่มี จำนวนผู้ประสบภัย และความน่าประหลาดใจในตัวเหตุการณ์ ยิ่งเพิ่มน้ำหนักให้ทั้งเจ้าหน้าที่ สื่อมวลชน และคนที่ติดตามข่าวทวีความกังวล ระคนไปกับความพยายามหาสารพัดแนวทางแก้ปัญหา จนเกิดเป็นกระแสการให้กำลังใจของคนไทยทั้งประเทศ

ขณะที่การค้นหาดำเนินต่อไป ทุกฝ่ายเฝ้าติดตามและหวังจะได้ยินข่าวดี ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้คนเฝ้าติดตามข่าว ไม่ว่าจะได้มาจากการนั่งทางในหรือเฝ้าสังเกตการณ์ผ่านจอคอมพิวเตอร์  เมื่อถูกขึ้นต้นด้วยคำว่าข่าวด่วน นั่นก็มากเพียงพอแล้วที่จะทำให้คนรอรับสารอย่างใจจดใจจ่อกดเข้าไปอ่านทันที ก่อนจะมาหลงทางในพายุข่าวแห่งความสับสน

เพราะในเวลานี้ ก็เกิดเทศกาลปล่อยข่าวปลอม ที่แม้มีอายุสั้นๆ แต่ก็ให้โอกาสฉกฉวยผลประโยชน์นานาประการที่มาในหลายรูปแบบ

นานารูปแบบ ข่าวปลอมข่าวด่วน

ข่าวปลอมที่เผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย มีทั้งที่พลาดพลั้งเข้าใจผิดจริงซึ่งเกิดได้ทั้งจากผู้ใช้สื่อทั่วไปจนถึงองค์กรสื่อมืออาชีพ แต่กรณีที่น่ากังวล คือกลุ่มที่ตั้งใจปล่อยข่าวปลอม ซึ่งมีให้สังเกตเห็นได้หลายลักษณะ

อ้างข่าววงใน แต่หาแหล่งอ้างอิงไม่ได้

ในส่วนของผู้ใช้สื่อทั่วไป ข่าวลือเหล่านี้มักเห็นบ่อยในรูปแบบของ ‘ข่าววงใน’ ที่อ้างว่ามาจากคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์โดยตรง แต่หาที่มาที่ไปหรือต้นตอไม่ได้ว่าใครเป็นคนพูด เป็นประโยคสั้นๆ มักไม่มีอ้างอิง ทำให้คนที่เข้ามาอ่านเข้าใจผิดแล้วรีบกดแชร์ต่อ

 

 

แหล่งข่าวเป็นคน ‘มีองค์’

ส่วนอีกกรณีหนึ่ง เกิดมาจากบุคคลธรรมดาที่ ‘มีองค์’ สามารถสื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ เพียงแค่เข้าฌานนั่งสมาธิ ที่เรามักจะเรียกกันง่ายๆ ว่า ‘องค์ลง’  โดยร่างทรงรวมถึงหมอดูต่างๆ ก็จะออกมาทำนายทายทักว่าเด็กๆ กำลังทรมานและต้องการความช่วยเหลือ บ้างก็ว่าเด็กยังมีชีวิตอยู่แต่โดนบังตาเอาไว้จนหาทางออกจากถ้ำไม่ได้ หลากหลายคำทำนายที่แตกต่างกันตามร่างทรงแต่ละองค์ ยิ่งทำให้คนที่ติดตามข่าวอยู่ในสภาวะหล่นทับไปด้วยข้อมูล ยิ่งฉงนหาคำตอบกับเหตุการณ์ไม่ได้ ก็เปิดทางให้ความเชื่อเหล่านี้มาเติมเต็มจินตนาการได้สมบูรณ์

ภาพประกอบจากทวิตเตอร์ เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน 61

 

ฉวยโอกาส หลอกให้คนบริจาคเงิน

อีกกรณีหนึ่งก็คือการแอบอ้างเพื่อยักยอกทรัพย์ มีเนื้อหาใจความแอบอ้างว่าอยากจะขอเรี่ยไรเงินบริจาคจากผู้ใจบุญ เอาไปซื้ออุปกรณ์ยังชีพหรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการค้นหาเด็ก เช่น ไฟฉายคาดหัว รองเท้าบูทลุยโคลน ฯลฯ ให้กับเจ้าหน้าที่ค้นหา มีผู้หลงเชื่อโอนเงินไปให้

 

ภาพจากเฟซบุ๊กของผู้แอบอ้าง โพสต์เมื่อวันอังคารที่ 26 มิถุนายน 2561

ทำไมต้องหลอกกัน

ในช่วงวิกฤตที่ผู้คนเพ่งความสนใจไปที่เรื่องเดียวพร้อมๆ กัน หากในโซเชียลมีเดียมีบัญชีหรือเพจใดที่รายงานเหตุการณ์ขึ้นมา ก็สร้างความนิยมขึ้นมาได้ไม่ยาก พูดภาษาชาวบ้านคือ นี่เป็นประเด็นหอมหวานสำหรับการโหนกระแส

แต่เท่านั้นอาจไม่พอสำหรับบางเพจ เพราะเพียงการดึงภาพและอัปเดทข้อมูลชั้นสอง แม้คะแนนป็อบปูล่าจะเพิ่มเร็วจากยอดไลก์และแชร์ แต่เทียบกันไม่ได้หากมีการเติมเชื้อไฟแห่งความขัดแย้ง

กรณีที่เห็น คือมีการโจมตีว่า มีสื่อมวลชนชื่อดังกระทำไม่ถูกไม่ควร ด้วยการรุกล้ำไปในบริเวณที่เจ้าหน้าที่ทำงาน อีกทั้งยังเปิดหน้าเจ้าหน้าที่หน่วยซีลของทหารเรือ จนทำให้ต้องมีการออกมาแก้ข่าว ระหว่างที่ข้อมูลผิดพลาดกำลังทำงาน ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่ ผู้สร้างข่าวก็ได้แต้มของการถูกมองเห็นและกล่าวขานไปเป็นที่เรียบร้อย

ยิ่งเรื่องราวเป็นที่สนใจ การรายงานถี่ๆ ก็ยิ่งเป็นที่ต้องการ นอกเหนือไปจากข้อเท็จจริง การคาดคะเนของผู้สื่อข่าวหรือคนในเหตุการณ์ก็เป็นข่าวได้ในตัวมันเอง เช่น การคาดคะเนว่าเจอผู้สูญหายทั้ง 13 คน บางแห่งก็อ้างว่าพบศพผู้สูญหาย ทั้งที่เรื่องราวเหล่านั้นล้วนเกิดจากการคาดคะเน

สิ่งที่เรามองเห็นจากสถานการณ์นี้ นอกจากความเป็นคนไทยใจดี ความสงสารและต้องการเอาใจช่วย สิ่งที่คนเสพข่าวสารโดยเฉพาะในยุคติดโซเชียลต้องการมากที่สุด คือความรวดเร็ว และเหตุผลเบื้องลึกลงไปอีกก็คือการแข่งขันกันสร้างฐานความนิยมด้วยการเพิ่มยอดไลก์ ยอดแชร์ ยอดรีทวีต และเพิ่มจำนวนผู้ติดตาม

มีเพจจำนวนมากที่สามารถขยายฐานคนติดตามให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นจากการเกาะติดสถานการณ์นี้ เช่น เพจเฟซบุ๊ก sky thai news ในเฟซบุ๊ก จากเดิมมีผู้ติดตามเพจราว 2 แสนคน หลังจากลงข่าวเกาะติดเรื่องถ้ำหลวง ก็มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นสูงถึง 6 แสนคนภายในหนึ่งสัปดาห์ ด้านเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ที่ออกมาให้ข่าวเรื่องร่างทรงคนแรกๆ ก็มีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นกว่า 2 พันคนภายในคืนเดียว

ท่ามกลางโจทย์ที่ต้องเสนอเรื่องให้ได้ก่อนใคร ความเร็วของข้อมูลเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่สื่อและเพจต่างๆ อยากจะทำให้ได้ แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายเสมอก็คือ ความเร็วและไวที่จะมาควบคู่กับความถูกต้องนั้น ต้องอาศัยหลายปัจจัย ทั้งความเชี่ยวกรากในสนามที่จะเข้าถึงข้อมูลขั้นต้น และการตั้งคำถามเพื่อตรวจสอบข้อมูล และกลั่นกรองเนื้อหาก่อนจะมาถึงมือผู้เสพข่าว

และในยามคับขันเช่นนี้ คนเสพข่าวคือผู้ควบคุมที่ดีที่สุด ที่ต้องพึงไตร่ตรองและใช้วิจารณญาณในการคิดและวิเคราะห์ ก่อนจะเชื่อและแชร์เรื่องใดเรื่องหนึ่งออกไปด้วย

Tags: , , , ,