แม้จะเผชิญกับข่าวเสียๆ หายๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้ใช้ แต่เฟซบุ๊กก็ยืนยันภาพลักษณ์ในการสร้างชุมชนและการเชื่อมต่อ และคำว่า ‘Big Idea’ ดูเหมือนจะเป็นคำสำคัญที่ได้รับการเน้นย้ำในพรีเซนเทชั่น

เฟซบุ๊กมองว่า ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ที่มี ‘บิ๊กไอเดีย’ จากทั่วโลก สามารถใช้เครื่องมือนี้ไปเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม

จอห์น แวกเนอร์ กรรมการผู้จัดการ facebook ประเทศไทย เริ่มต้นเล่าเรื่องส่วนตัวของเขา ว่าภรรยาคนไทยสามารถทำข้าวซอยออกมาอร่อย ทั้งที่ไม่เคยทำ ก็เพราะสั่งซื้อเครื่องปรุงจาก ‘ร้านแม่น้อย’ ซึ่งเปิดเพจอยู่ในเฟซบุ๊ก เขาสรุปว่า นี่คือตัวอย่างของการที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่ Digital Society ที่ทำให้ธุรกิจเล็กๆ ในชุมชนติดต่อกับลูกค้าที่อยู่ห่างไกลได้

แวกเนอร์กล่าวต่อว่า เฟซบุ๊กเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อน Digital Transformation ของไทยในสามส่วน ได้แก่ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ และชุมชนต่างๆ

และนี่คือความพิเศษของประเทศไทยที่เขาอยากเน้นย้ำให้เราเห็นชัดๆ

 

Social Commerce คนไทยขายเก่ง

แวกเนอร์ชี้ให้เห็นตัวเลขว่า ประเทศไทยมีการเติบโตของ Social Commerce หรือเครือข่ายสังคมค้าขายออนไลน์เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียแฟซิฟิก และมีผู้คนติดต่อสื่อสารในการทำมาค้าขายผ่านการส่งข้อความเมสเซนเจอร์ติด 1 ใน 5 อันดับสูงสุดในบรรดาประเทศทั่วโลก

จอห์น แวกเนอร์ กรรมการผู้จัดการ facebook ประเทศไทย

เขากล่าวว่า สิ่งที่เฟซบุ๊กสนใจมากก็คือ ความคิดพลิกแพลงของผู้ค้ารายย่อยในไทย ที่สามารถนำเครื่องมือของเฟซบุ๊กไปประยุกต์ใช้เพื่อการขายของได้ แม้ว่าเฟซบุ๊กจะไม่ได้สร้างฟีเจอร์นั้นมาเพื่อการขายของก็ตาม เช่น แม่ค้าขายเสื้อผ้ารายหนึ่งใช้ฟีเจอร์ Live เพื่อเปิดการขายแบบสดๆ ถ่ายทอดผ่านเพจเฟซบุ๊กของร้านค้า ทั้งที่เดิมที เฟซบุ๊กเพียงมองเห็นว่าการ Live เป็นอีกช่องทางสื่อสารที่ทำให้ผู้คนได้เชื่อมโยงถึงกัน ไม่ได้สร้างมาเพื่อให้ใช้ขายของแต่อย่างใด

“นี่อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไม ผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ในไทย 51% ซื้อขายผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์”

ชวดี วงศ์พยัต หัวหน้าฝ่ายธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม facebook ประจำประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ไทยเป็นประเทศแรกที่ได้ใช้ฟีเจอร์ Marketplace และเป็นพื้นที่ทดลองและนำข้อมูลไปพัฒนาโปรดักต์ดังกล่าว ก่อนเผยแพร่ไปตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ชวดีกล่าวว่าเฟซบุ๊กตั้งเป้าหมายในการสนับสนุนเอสเอ็มอีในสองแง่มุม หนึ่ง คือการทำให้ธุรกิจเล็กๆ เหล่านี้ได้รับการค้นพบ (get discovered) และสอง คือการให้ความรู้เพิ่มเติม (educated) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้แพลตฟอร์มเฟซบุ๊กได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เช่น โครงการ facebook blueprint ซึ่งเป็นหลักสูตรออนไลน์ ที่สอนใช้งานฟีเจอร์ต่างๆ

ชวดี วงศ์พยัต หัวหน้าฝ่ายธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม facebook ประจำประเทศไทย (ซ้าย) และ จอห์น แวกเนอร์ กรรมการผู้จัดการ facebook ประเทศไทย (ขวา)

อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญจากผู้ใช้และสื่อมวลชนก็คือ การสนับสนุนเอสเอ็มอี จะไปด้วยกันได้อย่างไรกับนโยบายลดยอดการเข้าถึง (reach) ของโพสต์จากเพจต่างๆ หรือธุรกิจที่อยากจะรุ่งต้องอาศัยการบูสต์โพสต์ หรือจ่ายเงินค่าโฆษณาให้เฟซบุ๊กเสมอไป

ส่วนนี้ชวดีตอบว่า เฟซบุ๊กยึดนโยบายการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้ เพราะฉะนั้น แพลตฟอร์มจึงเน้นสนับสนุนคอนเทนต์ที่สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ (engagement) หรือกระตุ้นให้เกิดบทสนทนา เป็นการตอบโดยปริยายว่า ฝั่งผู้ค้าเองก็มีโจทย์ในการคิดคอนเทนต์

แต่ก็ยังมีหลายส่วนที่เราตั้งข้อสงสัยต่อไปได้ เช่น หากยอดการเข้าถึงลด แล้วยอดการมีปฏิสัมพันธ์จะมาจากที่ไหน เป็นต้น

 

ธุรกิจขนาดใหญ่ กับความหวังที่จะเข้าไปช่วยขับเคลื่อน

ความรู้สึกหลอกหลอนเวลาที่เราเดินเข้าห้างสรรพสินค้า แล้วคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับสินค้านั้นกลับโผล่ขึ้นมาในเฟซบุ๊ก ในฟากองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ มองว่านี่เองคือโอกาสในการสร้าง “ประสบการณ์ไร้รอยต่อ” ระหว่างการค้าในโลกออฟไลน์และออนไลน์

แวกเนอร์ยกตัวอย่างองค์กรขนาดใหญ่หลายแห่งที่ปรากฏในสื่อต่างๆ ว่าต้องการปรับตัวเข้าสู่โลกออนไลน์ ทั้งการประกาศตัวปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลแบงค์กิงของธนาคารไทยพาณิชย์หรือกสิกรไทย หรือการขานรับโลกเทคโนโลยีภายในองค์กรอย่าง CP หรือ SCG

แต่มองภาพรวมในประเทศไทย แม้หลายส่วนจะตระหนักแล้วว่าต้องกระโดดเข้าสู่โลกดิจิทัล แต่ยังมี ‘ช่องว่าง’ ของความสามารถและการขาดกลยุทธ์ ที่ทำให้ยังปรับตัวตามไม่ได้ทันท่วงที คิดมูลค่าของโอกาสในการค้าขายที่เสียไปนี้ เท่ากับหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเฟซบุ๊กมองว่าเครื่องมือของตนจะสามารถช่วยแก้ปัญหาให้ธุรกิจเหล่านี้เชื่อมต่อกับลูกค้าได้

ชุมชนออนไลน์ในเชิงบวก

ส่วนที่สามซึ่งดูเหมือนเฟซบุ๊ก ประเทศไทย จะภูมิใจนำเสนอที่สุด เห็นจะเป็นเรื่องการสร้างชุมชนออนไลน์ เฟซบุ๊กได้เชิญแอดมินกรุ๊ป/เพจจากสามกลุ่มมาแนะนำ ได้แก่ กลุ่ม Help Us Read กลุ่มและเพจ Run2gether และเพจ HandUp Network ซึ่งทั้งสามเป็นตัวแทนของการสร้างกลุ่มชุมชนที่นำไปสู่ ‘สิ่งดีๆ’

ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Help Us Read กลุ่มเฟซบุ๊ก (group) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันระหว่างผู้พิการทางสายตาและคนสายตาปกติ เพื่อให้คนสายตาปกติช่วยอ่านข้อความและบรรยายลักษณะของสิ่งที่อยู่ในรูปภาพ เขาบอกว่าผู้พิการจำนวนมาใช้งานเฟซบุ๊กได้คล่องแคล่ว เพราะมีเครื่องมือสำหรับช่วยอ่านข้อความในหน้าจอ จึงเกิดไอเดียใช้แพลตฟอร์มเชื่อมโยงคนเหล่านี้

และจากการที่สมาชิกกลุ่มมีจำนวนถึง 11,000 คน และมีผู้ต้องการทำงานอาสาจำนวนมาก ทำให้ความต้องการของผู้พิการทางสายตาได้รับการตอบสนองทันทีทันใด เช่นกรณีการอ่านฉลากยา การอ่านข้อความข้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ หรือการอ่านข้อความในไฟล์ที่ได้รับมาเป็นไฟล์รูปหรือพีดีเอฟ ในลักษณะที่ผู้พิการทางสายตาไม่สามารถใช้ฟังก์ชันอ่านออกเสียงในสมาร์ตโฟนหรือคอมพิวเตอร์ได้

“มันคือเทคโนโลยีบวกกับน้ำใจครับ” ณัฐวุฒิกล่าว และยังเผยว่า ในอนาคต นอกจากจะใช้แพลตฟอร์มเพื่อผู้พิการทางสายตาแล้ว ยังสามารถต่อยอดไปสู่การอ่านเพื่อผู้ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ได้ด้วย

ส่วน ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้ก่อตั้งกลุ่ม run2gether สร้างกลุ่มขึ้นมาเพื่อให้ไกด์รันเนอร์จับคู่กับผู้พิการ ทำให้ผู้พิการสามารถออกไปวิ่งออกกำลังกายได้แม้มีข้อจำกัดทางด้านกายภาพ เช่น พิการทางสายตา หรือต้องนั่งวีลแชร์ ฯลฯ

“เมื่อเรามีเพื่อนเป็นคนพิการ เราจะมองเห็นปัญหาต่างๆ เพราะเมื่อมันเป็นปัญหาของเพื่อนเรา เราก็จะมองเห็นสิ่งนั้นเป็นปัญหาไปด้วย” เขายกตัวอย่างเช่น ลิฟต์สำหรับคนพิการ หรือเรื่องการไม่มีโอกาสได้ออกกำลังกาย

ส่วนเพจ HandUp Network ตัวแทนแอดมิน ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล กล่าวว่า เขาเคยเป็นนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ ที่ไปเข้าค่ายอาสา แต่กลับพบว่าร่างกายอันผอมบางของตัวเองช่างไม่เข้ากับการก่อสร้างอาคารเสียเลย

“จะทำอย่างไรถึงจะให้แต่ละคนลงแรงช่วยได้อย่างมีประสิทธิผล ด้วยทักษะที่ตนถนัด” คือโจทย์สำคัญที่เขานึกถึง และว่า HandUp คือการเชื่อมโยงระหว่างอาสาสมัครกับองค์กรเพื่อสังคม ตามสิ่งที่ฝ่ายหนึ่งถนัดและอีกฝ่ายต้องการความช่วยเหลือ เช่น องค์กรที่ช่วยเหลือเด็กอาจเชี่ยวชาญเรื่องการช่วยเด็ก แต่ยังต้องการบุคลากรที่เชี่ยวชาญการตลาดหรือการประชาสัมพันธ์ เป็นต้น และเขาเรียกสิ่งนี้ว่า “อาสาถนัด”

นี่คือสามตัวอย่างที่โดดเด่นที่เกิดจากกลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทย อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันว่า แม้เฟซบุ๊กจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเปิดโลกและสร้างชุมชนด้านบวกขึ้นมาได้ แต่ในอีกด้าน ปัญหาความขัดแย้งที่ปะทุและลุกลามที่เกิดจากการใช้เฟซบุ๊กก็มีเช่นกัน หรือปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวที่กลายเป็นประเด็นน่าเป็นห่วง ซึ่งเป็นต้นตอที่ทำให้มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กต้องไปตอบคำถามต่อสภาคองเกรสและสหภาพยุโรป

ปัญหาร้ายแรงเหล่านี้อาจจะเป็นเหตุผลที่เฟซบุ๊กสร้างโปรเจ็กต์ ‘คิดก่อนแชร์’ ขึ้นมา เพื่อให้เราทบทวนในฐานะผู้ใช้

เพราะในระหว่างที่อัลกอริทึมไม่สมบูรณ์แบบ (และอาจไม่มีทางสมบูรณ์แบบ) แพลตฟอร์มนี้อาจนำไปสู่สิ่งที่ดีหรือไม่ดีได้ทั้งนั้น และเฟซบุ๊กเองก็คงมีเรื่องที่ต้อง ‘รับฟัง’ เพื่อเรียนรู้จากผู้ใช้ และปรับเปลี่ยนอีกมาก

ที่เราก็หวังว่า พวกเขาจะฟังมากขึ้น ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งหลาย

Tags: , , , , , ,