เป็นธรรมดา อะไรยิ่งทรงพลังมาก ยิ่งต้องตกเป็นเป้าสงสัย ความที่เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม กูเกิล สามแบรนด์นี้สอดแทรกเข้ามาอยู่ในทุกวันของ (แทบ) ทุกชีวิตบนโลก และนโยบาย personalize เนื้อหาโฆษณาของมันก็ช่างก้าวล้ำ สร้างความฉงนฉงายให้เราไม่หยุดหย่อน จนถึงจุดนี้ ชาวโลกจำนวนมากเริ่มรู้สึกตรงกันว่า มันชักจะ personal ไปหรือเปล่า ทำไมเฟซบุ๊กจึงรู้จักฉันดีกว่าที่ฉันรู้จักตัวเองเสียอีก #เรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง
เพิ่งเมื่อไม่นานนี้เองที่เรายังตื่นเต้นว่า เพียงคลิกเว็บจองตั๋วไปปารีส สักพักเฟซบุ๊กก็จะจัดโฆษณาโรงแรมที่ปารีส โปรโมชันเช่ารถขับที่ปารีส กิจกรรมน่าทำที่ปารีส มาเสิร์ฟให้เราแบบรู้ใจยิ่งกว่าแฟน ต่อมา เราก็ได้อัศจรรย์ปน’รมณ์เสียนิดๆ เมื่อซักเกอร์เบิร์กมีนโยบายกว้านซื้อเพื่อควบรวม เขาก็ย่อมเข้าถึงชีวิตของเราได้ละเอียดลออขึ้นอย่างน่าขนลุก เราคลิกตามอินสตาแกรมใคร เฟซบุ๊กก็จะเสนอหน้าเขามาให้เราแอดในเฟซบุ๊กด้วย รวมถึงญาติพี่น้องของเขา ร้านอาหารที่เขาเช็กอิน และอื่นๆๆๆ พ่วงต่อกันมาไม่จบสิ้น
นี่เป็นแค่แง่มุมเดียวเท่านั้น คุณแอบเป็นกิ๊กใคร อย่าแปลกใจที่วันหนึ่งแฟนคุณจะจับได้ง่ายๆ เพราะ (ความสาระแนของ) เฟซบุ๊ก ที่ช่างขยันเชื่อมโยงทุกคนไว้ในเครือข่ายแน่นแฟ้นของมัน และในที่สุด หลายคนก็มาถึงคำถามที่ว่า นอกจากแอบส่องพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของเรา (โดยละเอียด) แอบล่วงรู้ความลับมากมายแล้ว เฟซบุ๊กยังแอบฟังเราด้วยใช่หรือไม่!
มันชักจะ personal ไปหรือเปล่า ทำไมเฟซบุ๊กจึงรู้จักฉันดีกว่าที่ฉันรู้จักตัวเองเสียอีก #เรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง
คุณไม่เคยแม้แต่จะคลิกไลก์รูปแมว เพจแมว หรือเขียนคำว่า cat ไม่ว่าจะภาษาใดลงในอินเทอร์เน็ต เพียงแค่เช้าวันหนึ่งคุณกับเพื่อนคุยกันเรื่องแมว แล้วคุณก็นึกอยากเลี้ยงแมวขึ้นมา เที่ยงนั้นเอง โฆษณาอาหารแมวก็เสนอหน้ามาให้คุณเห็นทันที นี่มันหมายความว่ายังไง! พอคุณถามคนอื่นเรื่องนี้ ทุกคนก็ล้วนมีเรื่องราวชวนสะพรึงนี้มาแชร์
“ใช่ ฉันคิดว่ามันแอบฟังเรา ฉันแค่พูดเปรยว่าอยากไปรัสเซีย แพ็กเกจเที่ยวรัสเซียก็โผล่มาเฉย”
“วันก่อนฉันบอกเพื่อนว่าคิดถึงแฟนเก่า ฉันไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขามีไอจีหรือเปล่า แต่วันต่อมาก็มีชื่อเขาโผล่มาแนะนำ อินสตาแกรมก็แอบฟังเรา!”
“ตายแล้ว ฉันท้อง นี่ฉันยังไม่ได้บอกใครเลย เฟซบุ๊กมันจะไปบอกแม่ฉันไหมเนี่ย”
บางครั้งความคิดฟุ้งก็พาเรามโนไปไกล แต่บางครั้ง โลกเทคโนโลยีก็มีความหลอนที่ทำให้เชื่อได้ว่าทฤษฎีสมคบคิดนั้นอาจมีส่วนจริง โทรศัพท์เรามีไมโครโฟน หน้าจอคอมพ์เราก็มี ถ้าเรามอบสิทธิ์ในการเข้าถึงนั้นแก่ทุกแอปพลิเคชันที่เราโหลด ก็ไม่ต่างจากมอบกุญแจบ้านให้คนแปลกหน้า อย่ากระนั้นเลย นี่แปลว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกอินเทอร์เน็ตประกอบขึ้นจากกระบวนการสมคบคิดครั้งใหญ่ของเทคไทคูนเพื่อล่อลวงพวกเราใช่หรือไม่ ถามว่าล่อลวงทำไม เพื่อจะดูดเงินอันน้อยนิดจากกระเป๋าเราน่ะรึ ก็ใช่น่ะสิ แม้จะน้อยนิดแต่รวมกันหลายใบแล้วก็มหาศาลอยู่นะ
ปฏิเสธรอบที่ร้อย
ตอนกระแสเรื่องนี้เริ่มขึ้นเมื่อปีก่อน เฟซบุ๊กก็ออกมาปฏิเสธอย่างเป็นทางการว่าไม่เคยใช้ไมโครโฟนแอบฟังใคร แล้วก็ต้องคอยยืนยันเช่นนั้นอยู่เรื่อยมาเพราะความสงสัยเรื่องนี้ไม่เคยจางหาย ยังคงมีผู้รู้ออกมาให้ความเห็นว่า แม้เฟซบุ๊กจะออกตัวว่าไม่เคยทำ แต่ในทางทฤษฏีแล้วสามารถทำได้ เฟซบุ๊กอเมริกามีฟังก์ชันที่สามารถฟังเสียงดนตรีแบ็กกราวด์ หรือรายการทีวีใดก็ตามที่กำลังเสพอยู่ แล้วให้ผู้ใช้สามารถแท็กชื่อเพลงหรือรายการนั้นไปอัปเดตสเตตัสได้ทันที ซึ่งเฟซบุ๊กยืนยันว่าฟังก์ชันนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อคนๆ นั้นกำลังใช้เฟซบุ๊กและกำลังอัพเดตสเตตัสอยู่เท่านั้น
มันช่างชวนให้ตะขิดตะขวงใจเหลือเกิน ในเมื่อไอโฟนสามารถเปิดไมค์ (ในนามของแอปฯ ต่างๆ) ได้ทุกเมื่อโดยเราอาจไม่รู้ตัว โพลล่าสุดของเทเลกราฟที่เปิดโหวตในหัวข้อ ‘คุณคิดว่าเฟซบุ๊กแอบฟังคุณหรือไม่’ มีคนมั่นใจว่าแอบฟังมากถึง 69 เปอร์เซ็นต์ เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ร็อบ โกลด์แมน หัวหน้าฝ่ายโฆษณาของเฟซบุ๊ก ถึงกับต้องออกโรงประกาศในทวิตเตอร์ส่วนตัว
“ผมเป็นคนดูแลเรื่องการโฆษณา เราไม่ได้-และไม่เคย-ใช้ไมโครโฟนของคุณเพื่อการโฆษณา ไม่จริงเลย” – ร็อบ โกลด์แมน
เมื่อใส่ใจ ก็เป็นไปได้ว่า… จะเจอ
เอาเป็นว่า ถ้าเราเชื่อน้ำคำโกลด์แมน คำอธิบายว่าทำไมเรื่องที่เราพูดคุยกับเพื่อนถึงมาปรากฏในฟีดของเฟซบุ๊กเราได้ คำตอบง่ายๆ ก็คือมันเป็นเรื่องบังเอิญ ไม่มีอำนาจแห่งเทคโนโลยีลึกลับใดบงการ เพียงแต่โฆษณาเดี๋ยวนี้มันเยอะ และความสนใจของคุณ (เท่าที่เฟซบุ๊กเก็บข้อมูลไว้จากพฤติกรรมการเล่นเน็ตของคุณ) ก็มากและหลากหลายพอที่จะทำให้ระบบจัดสรรโฆษณาสามารถจัดสรรเรื่องราวที่ตรงใจคุณได้ ถ้าสังเกตดีๆ ก็จะพบว่า ไม่ใช่ทุกตัวที่จะโป๊ะเชะ เป็นไปได้ที่โฆษณาแค่หนึ่งหรือสองตัวในนั้นโผล่มาประจวบเหมาะกับจังหวะที่คุณเพิ่งพูดถึงมันพอดี ในขณะที่มีโฆษณาอีกเป็นร้อยเป็นพันไหลเลื่อนผ่านลูกตาคุณทุกวันที่คุณไม่ได้เอะใจ แต่ย่อมไปสะดุดอันที่เพิ่งจะนึกถึงหรือใส่ใจอยู่
ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์อธิบายปรากฏการณ์เก่าแก่เอาไว้ในนามของ Baader-Meinhof Phenomenon สรุปง่ายๆ ก็คือเมื่อเราใส่ใจสิ่งใดเป็นพิเศษ เราก็มักจะเจอสิ่งนั้นจริงๆ เช่น ตอนเด็กคุณไม่เคยใส่ใจเรื่องรถยนต์ คุณรู้ว่ามันเป็นสิ่งที่วิ่งอยู่บนถนน ก็แค่นั้นแหละ แต่เมื่อคุณคิดจะซื้อรถคันแรกในชีวิต อยู่ๆ ก็รู้สึกเหมือนมีรถวิ่งขวักไขว่เต็มเมือง มองไปทางไหนก็มีแต่รถๆๆ และเมื่อคุณจริงจังกับรถจี๊ป มองไปทางไหนก็มักเห็นรถจี๊ป
Baader-Meinhof Phenomenon เป็นปรากฏการณ์ที่เมื่อเราใส่ใจสิ่งใดเป็นพิเศษ เราก็มักจะเจอสิ่งนั้นจริงๆ
ปรากฏการณ์นี้ทำงานกับทุกความรู้สึกที่เข้มข้นเป็นพิเศษในใจเรา ความรู้สึกเชิงลบก็เช่นกัน มันเป็นอย่างที่โบราณว่าไว้ไม่ผิด เกลียดอะไรได้อย่างนั้น เมื่อคุณเริ่มผมร่วง อยู่ๆ คุณก็จะรู้สึกว่าใครต่อใครทำไมเขาผมหนาจังเลย เช่นเดียวกับเมื่อเรารักใครชอบใคร จิตใจฝักใฝ่ไปทางนั้น เห็นอะไรเข้าก็จะตีความว่ามันคือสัญญาณจากฟ้าว่าเขาคือคนที่ใช่ เพราะจิตใต้สำนึกของเราที่กำลังตกอยู่ในห้วงรักถูกโปรแกรมไว้ว่าให้มองหา ดาวตกมีให้เห็นบนฟ้าทุกคืน แต่คุณดันไปเห็นในคืนนั้นที่จับมือกัน คุณก็เชื่อมั่นแล้วว่าสะเก็ดหินที่โคจรหลุดเข้ามาในชั้นบรรยากาศและเกิดการเผาไหม้ขึ้นนั้น คือใบการันตีรักแท้
กล่าวถึงที่สุด เรื่องที่คุณบ่นอยากเลี้ยงแมว แล้วก็เห็นโฆษณาอาหารแมวพอดี มันจะเป็นแค่เรื่องบังเอิญเหมือนสะเก็ดดาวตก หรือมันจะเป็นการล่วงละเมิดสิทธิส่วนบุคคลครั้งมโหฬาร เราก็ไม่มีทางรู้ได้ แต่ในยุคที่เราเชื่ออะไรมากไม่ได้ ไม่เชื่อซะเลยก็ไม่ได้ แนะนำให้ลงมือทำเท่าที่ทำได้แล้วกัน เคสนี้ถ้าคุณยังคงขยาดกลัวและอ่อนไหว นี่คือสิ่งที่คุณสามารถทำได้และอาจช่วยให้หลับสบายขึ้น
สำหรับ iOS > Setting > Privacy > Microphone > Unselect Facebook
สำหรับ Android > Setting > Personal > Privacy & Safety > App Permissions > Microphone > Unselect Facebook
ภาพประกอบโดย ภัณฑิรา ทองเชิด