บริษัทโซเชียลมีเดียชื่อดัง อย่าง ยูทูบ วิมีโอ และเฟซบุ๊ก ลบวิดีโอทฤษฎีสมคบคิดที่กำลังเป็นไวรัลในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิดเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสโคโรนา

โดยวิดีโอที่ถูกลบเป็นวิดีโอเทรลเลอร์ยาว 26 นาที ของภาพยนตร์เรื่อง “Plandemic” ที่ว่าด้วยการเกิดไวรัสและการระบาด และส่วนขยายของภาพยนตร์ที่เป็นบทสัมภาษณ์ จูดี้ มิโควิตส์ บุคคลผู้เป็นที่รู้จักในขบวนการต่อต้านวัคซีน ซึ่งเป็นขบวนการที่ลดความน่าเชื่อถือโดยอ้างผลกระทบของวัคซีน

โฆษกของยูทูบกล่าวว่า บริษัทลบ “เนื้อหาคำแนะนำที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ซึ่งรวมถึงภาพยนตร์เรื่อง Plandemic” ตัวแทนจากเฟซบุ๊กก็กล่าวเช่นกันว่า “คำแนะนำที่ว่า ‘การสวมหน้ากากจะทำให้คุณป่วย’ อาจทำให้เกิดอันตราย ดังนั้นเราจึงลบวิดีโอนี้ออก”

ด้านวิมีโอ โฆษกก็ออกมาให้เหตุผลว่า บริษัท “ยืนหยัดในการรักษาแพลตฟอร์มให้รอดพ้นจากเนื้อหาที่ทำให้เกิดอันตรายและเผยแพร่ความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับข้อมูลด้านสุขภาพ ซึ่งวิดีโอนี้ถูกลบโดยทีม Trust & Safety เนื่องจากละเมิดนโยบายดังกล่าว”

ทวิตเตอร์เองก็มีท่าทีต่อเรื่องนี้เช่นกัน โดยตอบคำถามของเดอะวอชิงตันโพสต์ว่า ทวีตของมิโควิตส์ที่แชร์วิดีโอสัมภาษณ์ของเธอเองไม่ได้ฝ่าฝืนนโยบายโควิด-19 แต่ทวิตเตอร์ก็ลบแฮชแท็ก #PlagueofCorruption และ #PlandemicMovie ออกจากคำค้นและส่วนของเทรนด์

วิดีโอนี้เต็มไปด้วยข้อมูลเท็จโดยอ้างว่า มหาเศรษฐีทั้งหลายทำให้ไวรัสโคโรนาระบาดเพื่อที่ต่อไปจะได้ขายวัคซีนได้ทั่วโลก นอกจากนี้ ยังได้ทำลายความน่าเชื่อถือของ Anthony S. Fauci ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ โดยการนำภาพฟุตเทจที่ไร้บริบทของเขาในขณะที่กล่าวในข่าวสั้นทำเนียบขาว ซึ่งสุดท้ายเป็นการอ้างอย่างไม่มีมูลความจริงว่า การสวมหน้ากากทำให้เกิดอันตราย

ดิจิตอลเทรนด์รายงานว่า ในตอนที่วิดีโอดังกล่าวถูกลบออกจากเฟซบุ๊ก มียอดเข้าชมถึง 1.8 ล้านครั้ง 17,000 คอมเมนท์ และมียอดแชร์เกือบ 150,000 ครั้ง นอกจากนี้ วิดีโอในยูทูบก่อนที่จะถูกลบออกก็มียอดเข้าชมกว่า 1 ล้านครั้ง เช่นกัน

ทฤษฎีสมคบคิดได้ถูกนำมาใช้อย่างมากในช่วงที่มีโรคระบาดระดับโลก สาเหตุส่วนหนึ่งคือ เพราะพื้นฐานของมนุษย์จะรู้สึกไม่สบายใจกับสิ่งที่ไม่แน่นอน โดย ไมค์ วู้ด นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านความเชื่อเรื่องทฤษฎีสมคบคิด กล่าวว่า “หลายๆ ครั้ง มีการวนเอาทฤษฎีสมคบคิดในครั้งก่อนๆ มาใช้ ในการระบาดของโรคโควิด-19 นี้เองก็มีการใช้ทฤษฎีสมคบคิดอย่างเช่น ไวรัสนี้ไม่เป็นอันตราย ไวรัสนี้คืออาวุธชีวภาพที่จะมาสังหารทุกคน หรือไวรัสนี้เป็นข้ออ้างของรัฐบาลเพื่อที่จะฉีดวัคซีนฆ่าทุกคน”

บริษัทที่ให้บริการโซเชียลมีเดียก็พยายามที่จะต่อสู้กับข้อมูลผิดๆ นี้ โดยเฟซบุ๊กมีการติดป้ายเนื้อหาที่ไม่ถูกต้อง และลดการปรากฏในหน้าฟีดของผู้ใช้  ขณะที่ทวิตเตอร์เริ่มที่จะกำหนดการเสิร์ชเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาของผู้ใช้ในสหรัฐฯ ให้เชื่อมกับแฮชแท็กของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สำหรับยูทูบก็มีมาตรการจัดการเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน โดยตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ยูทูบมีนโยบายเฉพาะที่ห้ามวิดีโอที่มีเนื้อหาตั้งคำถามเกี่ยวกับการแพร่เชื้อหรือการมีอยู่ของโรค ส่งเสริมการรักษาที่พิสูจน์ไม่ได้ หรือเชิญชวนให้ประชาชนเพิกเฉยต่อคำแนะนำของทางการ

ที่มา

https://www.washingtonpost.com/technology/2020/05/07/plandemic-youtube-facebook-vimeo-remove/?fbclid=IwAR1FuH39q5BCT_JqkOb3EyWqfBHQ6BKxud9_m42oAyilp1q6wW7zp7X_OsM&utm_campaign=wp_main&utm_medium=social&utm_source=facebook 

https://www.cnbc.com/2020/05/07/facebook-youtube-struggling-to-remove-plandemic-conspiracy-video.html 

https://www.bbc.com/news/technology-52588682 

ภาพ: OLI SCARFF / AFP

Tags: ,