เมื่อวันอังคารที่ 22 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่เอ็กซอนโมบิล (ExxonMobil) ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในศาลสูงนิวยอร์ก หลังจากกระแสประท้วงและกล่าวโจมตีจากสาธารณชนต่อเนื่องมากว่า 4 ปี โดยบริษัทเผชิญกับข้อหาฉ้อโกงนักลงทุน เนื่องจากจงใจปกปิดตัวเลขต้นทุนและผลกระทบที่แท้จริงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การศึกษาชิ้นล่าสุดโดยสถาบันการรับผิดชอบด้านภูมิอากาศ (Climate Accountability Institute) พบว่าธุรกิจเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใหญ่ที่สุด 20 อันดับแรกของโลกปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ราวร้อยละ 35 ในภาคอุตสาหกรรมพลังงาน โดยเอ็กซอนเป็นบริษัทอันดับ 4 มีการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งสิ้นราว 4.2 หมื่นล้านตันตั้งแต่ ค.ศ. 1965 – 2017

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นผลจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลสามารถจัดการได้โดยหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานว่าด้วยผลกระทบภายนอก (externality) กล่าวคือ ที่ทุกวันนี้บริษัทเหล่านั้นสามารถจำหน่ายเชื้อเพลิงฟอสซิลและสร้างกำไรได้เป็นกอบเป็นกำเนื่องจากเชื้อเพลิงดังกล่าว ‘ราคาถูก’ เกินกว่ามูลค่าที่แท้จริง โดยผลักต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมให้กับสาธารณชนเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น สภาวะโลกร้อน หรือวิกฤติทางสิ่งแวดล้อมที่บ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น

หนทางหนึ่งที่จะทำให้กลไกตลาดกลับมาทำงานได้ถูกต้องอีกครั้ง คือการผนวกเอาผลกระทบภายนอกกลับเข้าไปในราคา เมื่อเชื้อเพลิงฟอสซิลถูกจำหน่ายในราคาที่แท้จริงแล้ว ย่อมไม่สามารถแข่งขันได้กับพลังงานแหล่งอื่นซึ่งมีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า อาทิ ลมหรือแสงอาทิตย์ สุดท้ายกลไกตลาดก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งแรงในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มิใช่ซ้ำเติมให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น

เลติเชีย เจมส์ (Leticia James) อัยการสูงสุดแห่งรัฐนิวยอร์ก กล่าวหาว่าเอ็กซอนดำเนิน “แผนการฉ้อฉลมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน” เนื่องจากบริษัทฯ พยายามฉายภาพลวงตาว่าตนเองได้คำนึงถึงความเสี่ยงจากโอกาสที่จะเกิดกฎหมายฉบับใหม่ในการควบคุมปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการปฏิบัติงานตามปกติของธุรกิจ โดยเธอได้เปรียบเทียบกับหมู่บ้านโพเทมกิน (Potemkin Village) ที่อิงถึงเหตุการณ์ที่กริกอรี โพเทมกิน (Grigory Potemkin) ได้สร้างหมู่บ้านปลอมเคลื่อนที่ได้เพื่อแสดงความเจริญตลอดสองข้างทางคราวที่พระนางแคทเธอรีนที่ 2 (Empress Catherine II) เสด็จประพาสไครเมีย เมื่อ ค.ศ. 1787

ข้อหาที่เอ็กซอนเผชิญนับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะนี่ไม่ใช่การเรียกร้องให้รับผิดชอบต่อผลกระทบภายนอกตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม แต่เป็นประเด็นที่บริษัททำให้นักลงทุน ‘เข้าใจผิดในสาระสำคัญ’ ซึ่งผิดกฎหมายหลักทรัพย์ของรัฐนิวยอร์ก เนื่องจากบริษัทมีการใช้ต้นทุนตัวแทน (proxy cost) ของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต่ำเกินไป และเช่นเดียวกับการประเมินผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ 2 องศาเซลเซียสต่อการดำเนินธุรกิจของเอ็กซอนที่ต่ำเกินไป

จงใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์?

หลายคนอาจมองว่าการโจมตีเหล่าอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลในยุคที่ความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้รับการยืนยันโดยนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากว่า “ร้ายแรงและเกิดขึ้นจริง” และบริษัทในอุตสาหกรรมเหล่านั้นจะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ตนกระทำในอดีตเป็นสิ่งที่ไม่ยุติธรรมต่อบริษัทเหล่านั้น เนื่องจากเป็นมุมมองแบบ ‘หลังเกิดเหตุการณ์’ กล่าวคือบริษัทฯ ไม่ทราบว่าการดำเนินธุรกิจในอดีตจะส่งผลลัพธ์รุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต

แต่การ์ด ‘รู้เท่าไม่ถึงการณ์’ คงใช้ไม่ได้กับเอ็กซอน เนื่องจากมีการขุดคุ้ยคลังเอกสารของบริษัทย้อนกลับไปเมื่อราว 50 ปีก่อน มีการพบบันทึกข้อความที่แสดงอย่างชัดเจนว่าบริษัทรับทราบเป็นอย่างดีถึงการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ของตนเองจากการดำเนินธุรกิจ

“เคยมีสมมติฐานว่าแหล่งสำคัญของการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศคือการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล. . . ตอนนี้ไม่มีความสงสัยต่อไปแล้วว่าการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้นและการลดพื้นที่ป่าจะทำให้ปัญหาจากการเพิ่มขึ้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศรุนแรงขึ้น”

ช่วงคริสตทศวรรษที่ 1980s บริษัทเอ็กซอนมีชื่อเสียงในฐานะผู้นำด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีการเอกสารภายในที่ระบุถึงความกังวลจากสาธารณะต่อการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ กระทั่งมีแผนศึกษาผลกระทบจากการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ บริษัททราบดีว่าการมีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากเกินไปย่อมนำไปสู่วิกฤตการณ์ในระดับโลก ทั้งฝนและหิมะที่รุนแรงขึ้น ภัยแล้ง อุณหภูมิที่สูงขึ้น การกลายเป็นทะเลทราย และปัญหาในภาคเกษตร

แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ ราว ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา เอ็กซอน ‘กลับลำ’ ทางความคิดโดยเปลี่ยนบทบาทจากผู้นำด้านวิทยาศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นการตั้งคำถามต่อข้อค้นพบดังกล่าว เช่นเอกสารเผยแพร่ภายในเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1988 ที่ระบุอย่างชัดเจนถึงจุดยืนของเอ็กซอนที่ว่า จะ “เน้นความสำคัญเรื่องความไม่แน่นอนของข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับภาวะเรือนกระจกที่รุนแรงขึ้น”

กรีนพีซ สหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ข้อค้นพบที่น่าสนใจว่า ระหว่าง ค.ศ. 1997 – 2015 เอ็กซอนได้สนับสนุนเงินทุนมูลค่ากว่า 33 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับองค์กรกว่า 60 แห่งเพื่อผลิตงานวิจัยที่ตั้งคำถามเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนำไปสู่ความสงสัยในระดับสาธารณะ และแม้ว่าบริษัทเอ็กซอนเองจะออกมายอมรับว่าการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นสาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเมื่อ ค.ศ. 2007 แต่บริษัทก็ยังวางแผนการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 25 ภายใน ค.ศ.2025

ข้อกล่าวหาต่อเอ็กซอน

นับตั้งแต่ ค.ศ. 2007 หลังจากที่เอ็กซอนออกมายอมรับว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลคือสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็ได้มีการกล่าวอ้างว่าบริษัทจะนำต้นทุนตัวแทน (proxy cost) ของคาร์บอนไดออกไซด์และแก๊สเรือนกระจกอื่นๆ มาประกอบการตัดสินใจลงทุน การวางแผนธุรกิจ รวมถึงการประเมินมูลค่าแหล่งทรัพยากรน้ำมันและแก๊สธรรมชาติที่ถือครองอยู่ รวมถึงใช้ในการประมาณอุปสงค์ของเชื้อเพลิงเหล่านั้นในอนาคต

อ่านถึงตรงนี้ หลายคนก็คงคิดว่าเอ็กซอนนั้น ‘ล้ำหน้า’ ถึงขั้นการนำต้นทุนตัวแทนซึ่งยังไม่ใช่ต้นทุนจริงๆ ที่มีการบังคับใช้ กล่าวคือ มีประเทศเพียงหยิบมือเท่านั้นที่จัดเก็บภาษีจากการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์หรือแก๊สเรือนกระจกอื่นๆ แต่บริษัทได้นำความเสี่ยงที่ต้นทุนจะเพิ่มจากกฎระเบียบที่เคร่งครัดขึ้นมาผนวกไว้ในกระบวนการตัดสินใจขององค์กร ก็นับว่าเป็นการบริหารความเสี่ยงที่ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนควรจะสบายใจได้

ความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความสำคัญมากสำหรับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลนะครับ เพราะหากรัฐบาลบังคับใช้กฎหมายอย่างภาษีคาร์บอนเมื่อไร โครงสร้างพื้นฐาน สัมปทาน และอีกสารพัดทรัพยากรที่ลงทุนไปมหาศาลเพื่อพัฒนาแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลก็อาจหายวับไปกับตา ซึ่งในแวดวงการเงินจะเรียกว่าสินทรัพย์หมดค่า (stranded assets) กล่าวคือ สินทรัพย์ที่ครั้งหนึ่งสามารถทำรายได้ในอนาคต แต่เนื่องจากเหตุการณ์บางอย่าง เช่น กฎหมายบางฉบับ ทำให้สินทรัพย์นั้นด้อยค่าลงอย่างมาก หรืออาจเปลี่ยนสภาพกลายเป็นหนี้สินแทน

สมมติง่ายๆ ว่าที่บ้านเรามีรถกระบะอายุ 11 ปีที่ยังใช้งานเป็นประจำ วันดีคืนดี รัฐบาลออกกฎหมายห้ามใช้รถที่มีอายุเกิน 10 ปีเนื่องจากปัญหามลภาวะ รถกระบะที่ครั้งหนึ่งเราสามารถนำมาใช้ได้ก็จะกลายเป็นสินทรัพย์หมดค่าไปในทันที

ย้อนกลับมาที่เอ็กซอน จากคำกล่าวอ้างถึงการใช้ต้นทุนตัวแทน (proxy cost) ของคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ ค.ศ. 2007 ในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่ในคำฟ้องร้องมีการตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทใช้ 1) ต้นทุนที่ต่ำกว่าต้นทุนตัวแทนซึ่งเผยแพร่ต่อสาธารณะโดยอ้างอิงตามคู่มือภายในของบริษัทซึ่งไม่มีการเผยแพร่ 2) ต้นทุนที่ต่ำยิ่งกว่าเดิมภายใต้สมมติฐานว่ากฎหมายจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปอีกหลายทศวรรษในอนาคต หรือ 3) ไม่มีการคำนวณโดยอิงต้นทุนเกี่ยวกับการปล่อยแก๊สเรือนกระจกใดๆ เลย

การใช้ตัวเลขต้นทุนที่ต่ำเกินจริง การผนวกเอาต้นทุนดังกล่าวแบบล่าช้า หรือกระทั่งการละเลยที่จะรวมต้นทุนดังกล่าวเพื่อการตัดสินใจยังพบในการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ระยะยาวเพื่อประเมินการด้อยค่า (impairment) รวมถึงการคาดการณ์ความต้องการน้ำมันในอนาคต

ความอื้อฉาวยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะมีการกล่าวหาว่าเอ็กซอน “รู้อยู่แก่ใจ” ว่าต้นทุนดังกล่าวต่ำเกินจริง แต่หากปรับเพิ่มต้นทุนที่สูงขึ้นย่อมส่งผลต่อสถานะทางการเงินและสินทรัพย์ของบริษัทมหาศาล โดยเป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยง “การลดมูลค่าสินทรัพย์ครั้งใหญ่” ผู้บริหารจึงตัดสินใจใช้วิธี ‘ทางเลือก’ โดยนำต้นทุนที่แท้จริงของแก๊สเรือนกระจกมาใช้กับบางโครงการเท่านั้น

ประเด็นสุดท้ายที่มีการใช้คำค่อนข้างรุนแรงว่าเอ็กซอนทำให้นักลงทุนเข้าใจผิดโดยนำเสนอ “บทวิเคราะห์ลวงโลก” ที่ระบุว่าบริษัทเผชิญความเสี่ยงเพียงเล็กน้อยภายใต้สถานการณ์ที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียสหลังยุคอุตสาหกรรม ซึ่งในสถานการณ์ดังกล่าว การอุปโภคเชื้อเพลิงฟอสซิลย่อมถูกจำกัดเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ข้อสรุปของเอ็กซอนที่นำเสนอต่อนักลงทุนจึงไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง

เอ็กซอนปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและพร้อมจะพิสูจน์ความบริสุทธ์ในชั้นศาล โฆษกของเอ็กซอนให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว เดอะ การ์เดียน ว่า “การฟ้องร้องของอัยการสูงสุดแห่งรัฐนิวยอร์กนั้นสร้างความเข้าใจผิดและบิดเบือนข้อเท็จจริงของกระบวนการของเราเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทได้ตัดสินใจลงทุนโดยคำนึงถึงผลกระทบจากกฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันและในอนาคต” โดยย้ำกว่าการเลือกต้นทุนตัวแทนของเอ็กซอนนั้นสะท้อนความรับผิดชอบต่อความไว้วางใจจากผู้ถือหุ้นของบริษัท

ผลการตัดสินคดีในครั้งนี้เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เพราะเปรียบเสมือนการสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับบริษัทมหาชนในการคำนวณเอา ‘ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ ที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันและอาจรุนแรงขึ้นในอนาคตเข้าประกอบเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารความเสี่ยงและการตัดสินใจทางธุรกิจ

 

เอกสารประกอบการเขียน

อ่านหมายศาลจากศาลสูงนิวยอร์กถึงเอ็กซอนฉบับเต็มได้ที่นี่

Fossil Fuels on Trial: New York’s Lawsuit Against Exxon Begins

ExxonMobil faces trial over allegations of misleading investors on climate crisis

Did Exxon Deceive Its Investors on Climate Change?

Revealed: the 20 firms behind a third of all carbon emissions

Exxon Climate Fraud Investigation Widens Over Missing ‘Wayne Tracker’ Emails

How Exxon went from leader to skeptic on climate change research

“There is no doubt”: Exxon Knew CO2 Pollution Was A Global Threat By Late 1970s

 

ภาพ: SAUL LOEB / AFP

 

Tags: , ,