ภาพถ่าย 2 มิติที่ถูกพิมพ์ลงบนแผ่นกระดาษบางๆ สักแผ่นหนึ่ง จะส่งเสียงร้องตะโกนเรียกให้ผู้คนมาสนใจได้อย่างไร? บางทีภาพถ่ายเหล่านั้นอาจจะมีเวทมนตร์และเหล่าพ่อมดแม่มดทั้งหลายจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากช่างภาพ ผู้คัดเลือกมาแล้วว่าจะถ่ายทอดภาพออกมาในมุมใดอย่างไรแล้วจึงบรรจงกดชัตเตอร์ จากนั้นอาจจะร่ายมนตร์เพิ่มด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์บ้างตามแต่ความพึงพอใจ จนกระทั่งในขั้นตอนสุดท้ายคือการจัดแสดงต่อสาธารณะชน ผู้เข้ามาซึมซับผลงานของช่างภาพ
หลายครั้งที่เวทมนตร์ของภาพถ่ายไม่ได้พาผู้ชมไปพบแต่ภาพสวยงามชวนพิศมัย แต่ยังพาเราไปสู่ภาพความรุนแรง โหดร้าย หรือความเจ็บปวด ที่ดึงให้ผู้ชมตกอยู่ในภวังค์ของความเศร้าหมองและตกตะกอนในความทรงจำ เช่น นิทรรศการภาพถ่าย Exodus Déjà Vu โดย 7ช่างภาพหลากเชื้อชาติ ที่เคยจัดแสดงมาแล้วที่ประเทศมาเลเซียและตุรกี ก่อนจะมาจัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
นิทรรศการดังกล่าวจัดแสดงภาพจากช่างภาพข่าวที่เลือกจับภาพในพื้นที่ที่มีเพื่อนมนุษย์ได้รับความเดือดร้อน อันเนื่องมาจาก สงคราม ชาติพันธ์ หรือปัญหาเรื้อรังอื่นๆ ที่เป็นเหตุพัดพาให้มนุษย์ต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน โดยในบทความนี้ ผู้เขียนขออนุญาตเล่าถึงเฉพาะผลงานที่สะกดผู้เขียนไว้ได้มากที่สุด นั่นคือภาพของเซอร์จี โพโนมารีฟ ช่างภาพข่าวรัสเซียระดับแนวหน้า เจ้าของรางวัลพูลิตเซอร์ ผู้ถ่ายทอดวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวรัสเซีย รวมถึงภาพเหตุการณ์สงครามและความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
ในกระบวนแรก ภาพถ่ายของเขาทำให้เราสะดุดตาทันทีที่สายตากวาดผ่าน และเมื่อหยุดอยู่ตรงหน้าภาพนั้นแล้ว ภาพยังเหมือนมีพลังแม่เหล็กรั้งให้เราจ้องมองเข้าไปอย่างมิอาจขัดขืน จนแทบลืมที่จะอ่านคำบรรยายใต้ภาพเพื่อรู้ที่มาที่ไปก่อน และพบว่าความรู้สึกจากการมองภาพอย่างเดียวกับมองภาพพร้อมอ่านข้อความข้างๆ ในกรอบเล็กๆ นั้นต่างกันออกไป และยิ่งน่าขบขันเพราะระหว่างที่หยุดยืนในภวังค์ เจ้าข้อความในกรอบน้อยๆ ก็ดันหลุดร่วงลงกับพื้นทำให้หลุดออกจากภวังค์นั้นอย่างง่ายดาย
และเหล่านี้ คือภาพถ่ายของเขา
ภาพการบรรทุกผู้อพยพบนเรือเช่นนี้ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์ในคัมภีร์ไบเบิล ปฐมกาลบทที่ 6:5 ที่กล่าวว่า “เราจะให้มนุษย์และสัตว์ทั้งปวงสิ้นสุดต่อหน้าเราด้วยเหตุว่าแผ่นดินโลกเต็มไปด้วยความโหดร้ายเพราะการกระทำของมนุษย์ ดูเถิด เราจะทำลายพวกเขาพร้อมกับแผ่นดินโลก เจ้าจงต่อเรือด้วยไม้สนโกเฟอร์ แล้วทำเรือเป็นห้องๆ…เราจะเป็นผู้ทำให้น้ำท่วมแผ่นดินเพื่อทำลายมนุษย์และสัตว์ใต้ฟ้าที่มีลมปราณ ทุกสิ่งที่อยู่บนแผ่นดินจะตายสิ้น…จงนำสัตว์ตัวผู้และตัวเมียทุกชนิดอย่างละคู่จากสัตว์ที่มีชีวิตทั้งปวงเข้าไปไว้ในเรือเพื่อให้มีชีวิตรอดอยู่กับเจ้า…”
นี่เป็นข้อความที่พระยะโฮวาตรัสกับโนอาห์ตั้งแต่ก่อนคริสตกาล แต่กลับบังเอิญสอดคล้องกันดีกับภาพเหตุการณ์ในปี 2015 หากแต่เรือในภาพนี้ไม่ได้ใหญ่อย่างเรือของโนอาห์ที่สามารถบรรจุสิ่งมีชีวิตได้มากมายนัก ผู้คนบนเรือดูแน่นขนัดจนไม่เหลือที่ว่าง ท่าทางของคนเหล่านั้นแสดงถึงความต้องการที่จะหลุดออกจากความแออัดยัดเยียดบนเรือเต็มทน เนื่องจากการเดินทางครั้งนี้คงใช้เวลานานพอควร โดยเฉพาะกลุ่มคนทางฝั่งขวาของเรือที่ดูท่าทีแล้วพร้อมกระโจนลงจากเรือ และพวกเขาก็มาออกันอยู่ตรงนั้นจนทำให้เรือเอียง
เรือลำนี้ไม่ได้บรรทุกแต่ผู้อพยพ แต่มันยังแบกเอาความหวังของคนเหล่านั้นหรืออาจจะรวมถึงคนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีโอกาสลงเรือลำนี้มาด้วย ความหวังว่าจะพบเจอสิ่งที่ดีกว่าที่ที่จากมา แม้ในความเป็นจริง โอกาสจะริบหรี่เหลือเกินก็ตาม
หัวเรือหันทิศทางพุ่งมายังผู้ชมโดยมีชายคนหนึ่งกำลังชักลากให้เรือเคลื่อนไปข้างหน้า คล้ายว่ากำลังจะถึงฝั่ง แต่กรอบภาพที่จำกัดให้เราเห็นแค่ผืนน้ำปราศจากผืนแผ่นดิน ให้ความรู้สึกว่าฝั่งยังอยู่อีกไกลเหลือเกิน ทั้งที่ระดับน้ำตื้นพอที่คนจะลงเดินได้ และอีกความรู้สึกที่เด่นชัดคือการที่เรือลำนั้นคล้ายจะพุ่งเข้ามาหาเราแท้ๆ แต่เราที่ยืนนิ่งอยู่ตรงนั้นกลับไม่สามารถยื่นมือเข้าไปช่วยเหลืออะไรได้เลย
เรายังคงอยู่ที่นั่น เกาะเลสบอส ที่ซึ่งชายคนหนึ่งนั่งขดตัวกลม สีหน้าและแววตาดูเยือกเย็นยากจะคาดเดาความรู้สึก แต่ร่างกายที่ห่อหุ้มไว้ด้วยกระดาษสีทองก็พอจะทำให้รู้ว่าอากาศตอนนั้นคงโหดร้ายกับเขามาก กระดาษนั้นก็ช่างบางเบาดูไม่อาจจะปกป้องผิวหนังมนุษย์จากสภาพอากาศอันหนาวเหน็บได้
ในภาพที่ 2 นี้ต่างจากภาพแรก เพราะมีบุรุษหุ้มทองเพียงคนเดียวในภาพแต่ทว่ากลับส่งพลังดึงดูดได้ไม่น้อยไปกว่าภาพแรก ด้วยกระดาษหุ้มสีทองสะท้อนด้วยแสงจากดวงอาทิตย์ที่ทำให้ดูเหมือนว่ามีแสงสีทองอร่ามเปล่งออกมาจากร่างของเขา ซึ่งปกติแล้วแสงสีทองมักทำให้นึกถึงการมีพลังอำนาจ เป็นสีแห่งความร่ำรวยเงินทอง สีของความเป็นมงคล เราไม่รู้ได้ว่าเขาคว้าเอากระดาษสีทองนั้นมาจากไหน แต่เมื่อมันมาอยู่กับชายผู้ลี้ภัยที่กำลังตกอยู่ในห้วงเวลามืดหม่น สีทองอร่ามนั้นจึงยิ่งย้อนแย้งและกรีดลึก
ภาพของกลุ่มคนในชุดกันฝนยืนกระจายจนเต็มพื้นที่ในแนวนอน ภาพซูมเข้าไปใกล้จนเรามองเห็นพื้นที่ในภาพไม่ชัดเจน บอกได้ยากว่าพวกเขาทำอะไรกันอยู่ ทุกคนในภาพล้วนก้มหน้า ยกเว้นคนด้านซ้ายสุดของภาพที่เผยให้เห็นใบหน้าซึ่งเต็มไปด้วยความทุกข์ ละอองของความทุกข์นี้ยังกระจายไปทั่วทั้งภาพสอดคล้องไปกับละอองฝุ่นขุ่นมัวในภาพ ภาพที่ดูใกล้ชิดแลอึดอัด ช่างภาพใช้เวทมนตร์ของเขาทำให้เราได้กลิ่นของวิญญาณและความตาย
ภาพสุดท้ายนี้ดูแล้วต่างจากภาพอื่นที่ยกมา เรามองเห็นความรักและความหวังเล็กๆ อยู่ในนั้น ตั้งแต่รูปทรงหัวใจจากสองคนที่ยืนอยู่กลางเฟรม รวมถึงอีกสองคนด้านล่างซ้าย ที่เคลียคลอกันใกล้ชิดภายใต้ผ้าห่มผืนเดียวกัน จริงอยู่ว่าอาจจะด้วยอากาศหนาวเหน็บ แต่การได้ซุกใบหน้าและเอนอิงตัวไปที่อีกคนหนึ่งก็อาจจะทำให้เขาเป็นสุขและอบอุ่นกว่าคนอื่นๆ ในภาพก็เป็นได้ และแม้ในภาพจะอวลไปด้วยหมอกควันอึมครึมอย่างภาพก่อนหน้า แต่ด้วยสีหน้าอันหลากหลายของเหล่าผู้อพยพในภาพ ก็บันดาลให้เราเกิดอารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลายระคนไปเช่นกัน
ในภาพนี้เรามองเห็นผู้อพยพในฐานะปุถุชน พวกเขาผ่านความเจ็บปวดสาหัส หากแต่ก็มีห้วงอารมณ์ปกติอย่างคนทั่วไป แม้ไม่อาจล่วงรู้ความคิดหรืออารมณ์ที่แท้จริงของพวกเขา แต่ชั่ววินาทีที่ช่างภาพกดชัตเตอร์ ภาพนั้นก็สะท้อนสภาวะของผู้อพยพได้ดีไม่น้อยไปกว่าภาพอื่นๆ ที่สื่ออารมณ์หม่นเศร้ารุนแรง
ทั้งสี่ภาพที่ยกมานี้ ทำให้ผู้เขียนนึกถึงประเด็นที่มักถูกกล่าวถึงในคัมภีร์ของคริสตศาสนา เรือที่เข้าฝั่งในเกาะเลสบอสอาจเทียบได้กับเรือโนอาห์ ขณะที่บุรุษห่อทองชวนให้นึกถึงการกำเนิดของเยซูในรางหญ้า (แม้ในภาพจะมีหญ้าแห้งเหี่ยวอยู่เพียงน้อยนิด) แต่ด้วยร่างที่ถูกห่อหุ้มด้วยกระดาษสีทองมองไม่เห็นเสื้อผ้าชิ้นอื่นดูล่อนจ้อนคล้ายทารกแรกเกิด หากแต่คลุมไปด้วยแสงเรืองทองสีทองที่เกิดจากการถ่ายจากมุมที่แสงตกกระทบ ในความเจ็บปวดเราจึงคล้ายจะเห็นความหวังของการกำเนิดใหม่ ในทางตรงข้ามภาพผู้อพยพในชุดกันฝันชวนให้นึกถึงความตาย และภาพสุดท้ายคือภาพแห่งความรัก
แนวคิดตามแบบศาสนาคริสต์อาจจะดูซ้ำซากเหมือนภาพจิตรกรรมในขนบเดิมที่ถูกมองว่าเชยไปแล้ว แต่ในยามที่มนุษย์ต้องการที่พึ่งเมื่อโลกโหดร้ายกับเราจนเกินไป ก็อาจจะเป็นศาสนาที่ช่วยเป็นที่ยึดเหนี่ยวและส่งความหวัง ซึ่งนั่นคือผลจากเวทมนตร์ของช่างภาพรัสเซียผู้นี้ ไม่ว่าเขาจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม
หมายเหตุ: ภาพประกอบบทความมาจากนิทรรศการภาพถ่าย Exodus Déjà Vu และเป็นผลงานของ Sergey Ponomarev ทั้งสิ้นโดยผู้เขียนถ่ายภาพมาอีกทีหนึ่งเพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น
Tags: Exhibition, Refugee, Photographer, Photography