“ชายชาวเกาหลีกินปลาดิบ ติดเชื้อแบคทีเรีย จนต้องตัดมือทิ้ง!”

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วหลายคนน่าจะได้เห็นพาดหัวข่าวสร้างความตระหนกตกใจนี้ผ่านตากันมาบ้าง โดยสำนักข่าวออนไลน์ในประเทศไทยเริ่มจากเว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานข่าวชิ้นนี้ในช่วงเย็นของวันที่ 29 ส.ค. 61 จากนั้นเช้าตรู่วันรุ่งขึ้นรายการเรื่องเล่าเช้านี้ก็หยิบข่าวนี้มาเล่าในช่วงข่าวต่างประเทศ ตามมาด้วยเว็บไซต์สนุกและกระปุกในช่วงสายของวันเดียวกัน ซึ่งที่มาที่ไปน่าจะมาจากสำนักข่าวต่างประเทศอย่าง Dailymail และ The Sun ของอังกฤษในวันก่อนหน้า

แต่อย่างไรก็ตาม ต้นเรื่องของข่าวนี้คือวารสารทางการแพทย์ The New England Journal of Medicine (NEJM) ในคอลัมน์ Image Challenge (ผมขอแปลว่า ‘ภาพท้าทาย’ เพราะเป็นการนำเสนอ ‘ภาพ’ คนไข้หรือรอยโรคที่น่าสนใจ เพื่อ ‘ท้า’ ให้แพทย์ ‘ทาย’ คำถามเกี่ยวกับภาพนั้น) เมื่อ 19 ก.ค. 61 และได้รับการเฉลยในอีก 1 สัปดาห์ถัดมา (26 ก.ค. 61)

คอลัมน์ออนไลน์นี้เผยแพร่ภาพมือของคนไข้ที่มีลักษณะบวมเต่ง และมีถุงน้ำสีเลือดขนาดใหญ่ขึ้นตรงกลางฝ่ามือ พร้อมกับโจทย์ว่า “ผู้ป่วยชายอายุ 71 ปีมาโรงพยาบาลด้วยอาการไข้ และอาการปวดมือซ้ายอย่างรุนแรงภายหลังจากรับประทานอาหารดิบ 12 ชั่วโมง เขามีโรคประจำตัวเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2, ความดันโลหิตสูง และโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ตรวจร่างกายพบถุงน้ำปนเลือด 3.5×4.5 เซนติเมตรที่ฝ่ามือข้างซ้าย ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยการทำผ่าตัดและส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค เชื้อที่น่าสงสัยมาที่สุดคือเชื้อใด?”

ต้นเรื่องของข่าว ‘ชายชาวเกาหลีกินปลาดิบ…’ ในเว็บไซต์ของ NEJM

ดังนั้นอย่างแรกสุดจึงเป็นที่น่าสนใจว่าคอลัมน์ตอบคำถามในวารสารทางการแพทย์ได้กลายมาเป็น “ข่าว” ของประชาชนทั่วไป ทั้งที่จุดประสงค์ของคอลัมน์ทำนองนี้คือการนำเสนอ “ภาพ” เพื่อที่จะกระตุ้นให้ผู้อ่าน ซึ่งก็คือบุคลากรทางการแพทย์ได้ทบทวนความรู้และเกิดความตื่นตัวว่า “ยังมีเรื่องยังที่ไม่รู้/คาดไม่ถึงอีก!” ในการอ่านวารสารเท่านั้น ถึงแม้ต่อมาคำถามนี้จะได้รับการเฉลยและถูกจัดอยู่ในหมวด Images in Clinical Medicine (ผมขอแปลว่า ‘ภาพในเวชปฏิบัติ’) ซึ่งเนื้อหาก็ได้รับการแปลมาอย่างที่ปรากฏอยู่ในข่าว แต่ผู้เขียนก็เขียนในเชิงวิชาการสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างแพทย์ด้วยกันมากกว่าที่จะเขียนในเชิงสื่อสารกับคนทั่วไป

ถึงอย่างนั้นคนทั่วไปก็ควรได้รับรู้กรณีศึกษา (case study) เป็นอุทาหรณ์เช่นเดียวกับโรคอื่นๆ  เพราะประชาชนคงจะไม่มีโอกาสเข้าถึงหรือเข้าใจข้อมูลที่ตีพิมพ์อยู่ในวารสารทางการแพทย์เลยถ้าสื่อไม่ไปอ่านเจอแล้วนำมาเสนอกับประชาชนด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ภาพคนไข้รายนี้จึงได้รับความสนใจจากสื่อ (ซึ่งผมยังสงสัยอยู่ว่าทำไมถึงกินระยะเวลาถึง 1 เดือนกว่าจะเป็นข่าว) และได้รับการตอบรับจากคนทั่วไปจนเกิดความตระหนักถึงข้อเสียของการกินปลาดิบ แต่ช้าก่อนครับ! ตรงนี้สื่อจงใจ ‘แปลงสาร’ และแปลผิดต่อๆ กันมาตั้งแต่ The Sun ว่า “Sushi lover has hand amputated after catching ‘flesh-eating’ infection from eating raw fish” (คนชอบกินซูชิถูกตัดมือหลังจากติดเชื้อกินเนื้อคนจากการกินปลาดิบ)

แต่ช้าก่อนครับ! ตรงนี้สื่อจงใจ ‘แปลงสาร’ และแปลผิดต่อๆ กันมา

ในขณะที่ต้นเรื่องระบุแต่เพียงว่า “…after eating raw seafood (ภายหลังจากกินอาหารทะเลดิบ) ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นสัตว์ทะเลชนิดใด ซึ่งแม้จะเข้าใจได้ว่านักข่าวต้องเขียนพาดหัวข่าวให้สะดุดตากับคนกลุ่มใหญ่ที่นิยมรับประทานซูชิกันมากขึ้น ทว่าเนื้อหาข่าวภายในก็ยังใส่สีตีความเกินกว่าที่ปรากฎในวารสารอยู่ดี ยกตัวอย่าง “…โดยมือของเขามีสภาพบวม และเป็นแผลพุพอง ทั้งหน้ามือ และหลังมือ หลังจากที่เขารับประทานปลาดิบเข้าไป โดยใช้มือหยิบปลาดิบ

  ต่อมาอย่างที่สองเมื่อคำถามจากคอลัมน์ในวารสารทางการแพทย์มาถึงจุดนี้แล้ว ผมเลยอยากชี้ชวนให้เห็นคำใบ้ที่ซ่อนอยู่ในคำถามของแพทย์ท่านนี้สักนิดว่ากรณีศึกษานี้สามารถเทียบเคียงกับคนทั่วไปได้หรือไม่? ลองย้อนกลับไปอ่านคำถามอีกรอบตรงส่วนที่ผมขีดเส้นใต้ไว้ได้นะครับ จะสามารถสรุปเป็นปัจจัย 3 ประการที่ทำให้เกิดโรค (epidemiological triad) ได้ ดังนี้

  1. มนุษย์ (host) หมายถึงลักษณะของคนไข้ ซึ่งรายนี้เป็นผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคเบาหวานและโรคไตเรื้อรัง (7-8%) ทำให้มีภูมิคุ้มกันต่ำและติดเชื้อได้ง่ายขึ้น รวมถึงโรคตับแข็งจากแอลกอฮอล์ (31-43%) และโรคตับแข็งจากสาเหตุอื่น (24-31% ของผู้ป่วย) โดยคาดการณ์ว่าอุบัติการณ์การติดเชื้อชนิดนี้ในสหรัฐฯ อยู่ที่ 5 คนต่อประชากร 1 ล้านคนต่อปี
  2. เชื้อโรค (agent) หมายถึงเชื้อก่อโรค หากเป็นโรคอื่นอาจหมายถึงสารเคมี พลังงาน อาวุธ ซึ่งผู้เขียนได้เฉลยว่าเป็นเชื้อ Vibrio vulnificus ญาติสนิทมิตรสหายกับเชื้ออหิวาตกโรค (V. cholerae) ที่ทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ แต่เชื้อนี้มักทำให้เกิดโรคติดเชื้อที่ผิวหนัง หากมีแผลแล้วไปสัมผัสกับน้ำทะเล หรือทำให้เกิดโรคติดเชื้อในกระแสเลือดได้หากรับประทานอาหารดิบหรืออาหารปรุงเสร็จที่ปนเปื้อนกับเชื้อนี้
  3. สิ่งแวดล้อม (environment) หมายถึงปัจจัยแวดล้อม เช่น ธรรมชาติ เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งเชื้อนี้มักปนเปื้อนในอาหารทะเล โดยเฉพาะหอยนางรม เพราะเป็นสัตว์ที่กรองน้ำทะเลเข้ามาในตัวเพื่อกินอาหาร รองลงมาคือกุ้ง (ถ้าให้ผมพาดหัวข่าว อาจจะพาดว่า “ชายชาวเกาหลีกินหอยนางรมดิบ…”  แทน เพราะเกือบร้อยทั้งร้อยเขาจะโทษหอยนางรมถ้าเป็นเชื้อชนิดนี้ ฮ่าๆ) จึงอาจเป็นไปได้ว่าคนไข้รายนี้จะแกะหอยนางรมกินแล้วติดเชื้อเข้าทางผิวหนัง ส่วนข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่ามีการติดเชื้อชนิดนี้ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย ทั้งจังหวัดที่ติดทะเลและไกลทะเล เช่น ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สันนิษฐานว่าระยะเวลาการขนส่งที่นานทำให้เชื้อแบ่งตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนถึงระดับที่ก่อให้เกิดโรครุนแรง

จะเห็นว่าโรค “…ติดเชื้อแบคทีเรีย จนต้องตัดมือทิ้ง!” ตามข่าวจะต้องมีองค์ประกอบทั้งสามประการ ถึงจะทำให้เกิดโรคที่ชวนตระหนกนี้ขึ้นมาได้ หากเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีแผล อาจมีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารทะเลดิบ เช่น หอยนางรมดิบ ก็อาจได้รับเชื้อชนิดนี้ แต่ไม่เกิดการติดเชื้อรุนแรงก็เป็นได้ (อยากให้ตระหนักว่ามีความเสี่ยง แต่ไม่ตระหนกจนเกินเหตุ)

ตระหนักว่ามีความเสี่ยง แต่ไม่ตระหนกจนเกินเหตุ

อย่างสุดท้ายถ้าพูดถึงการติดเชื้อจากปลาดิบโดยตรง คอลัมน์ Images in Clinical Medicine ในวารสารเดียวกันนี้เคยลงภาพพยาธิอนิสซาคิส (Anisakis simplex) ของแพทย์จากประเทศญี่ปุ่นไว้เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 59 พร้อมกับบรรยายว่า “คนไข้ผู้หญิงอายุ 36 ปี มาโรงพยาบาลด้วยอาการเจ็บหน้าอกและเจ็บลิ้นปี่ ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ตรวจร่างกายกดเจ็บบริเวณท้องเล็กน้อย ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ คลื่นไฟฟ้าหัวใจ และเอ็กซเรย์ทรวงอกปกติ

คนไข้ให้ประวัติเพิ่มเติมว่ารับประทานแซลมอนดิบประมาณ 2 ชั่วโมงก่อนจะมีอาการ การตรวจสแกนคอมพิวเตอร์ช่องท้องพบว่าผนังกระเพาะอาหารหนาตัวขึ้นทั่วโดยทั่ว เมื่อส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารพบพยาธิในภาพ จึงได้คีบออก หลังจากนั้นอาการปวดท้องของคนไข้ก็ดีขึ้น”

พยาธิอนิสซาคิส ในกระเพาะอาหารหลังจากรับประทานปลาดิบ

เท่าที่สืบค้นในกูเกิล ภาพกระเพาะอาหารของหญิงญี่ปุ่นนี้ยังไม่เคยปรากฏเป็นข่าวตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีภาพมือของชายเกาหลีเมื่อสัปดาห์ที่แล้วอาจสะท้อนให้เห็นว่าสื่อในปัจจุบันมีความไวต่อสิ่งที่อาจเป็นข่าวมากขึ้น แม้ภาพดังกล่าวจะปรากฏอยู่ในคอลัมน์ที่ไม่ได้เผยแพร่กับประชาชนโดยตรง เหตุผลสำคัญน่าจะเป็นเพราะข่าวที่กระทบต่อสุขภาพของประชาชนเป็นสิ่งที่ ‘ขายได้’ และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็เป็น ‘อำนาจ’ ชี้ผิดชี้ถูกกับประชาชนอย่างหนึ่ง ทุกซอกมุมของวารสารทางการแพทย์สื่อจึงสามารถนำมาเขียนใหม่ราวกับว่าเหตุการณ์นั้นๆ เพิ่งเกิดขึ้น

แต่สื่อควรใช้ความระมัดระวังในการนำเสนอ ทั้งการแปลอย่างตรงไปตรงมา ถอดความบนพื้นฐานความรู้ทางการแพทย์ และ (รวมทั้งประชาชนควร) ตระหนักถึงข้อจำกัดของกรณีศึกษาหรือกรณีที่น่าสนใจ (interesting case) ที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์มักเป็นโรคที่มีลักษณะเฉพาะ และพบได้ไม่บ่อยนัก

Tags: , , , , , ,