รัฐสภารัฐวิคตอเรีย ออสเตรเลีย ผ่านกฎหมายการุณยฆาต (Voluntary Assisted Dying Act) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2017 โดยในวันพุธที่ 19 มิถุนายนนี้ กฎหมายจะเริ่มบังคับใช้เป็นวันแรก
ที่มาของกฎหมายฉบับนี้เริ่มจากครอบครัวของผู้ป่วยด้วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งคนหนึ่งในปี 2015 ทอร์รี่ เอสก์เดล ภรรยาของผู้ป่วยยื่นขอต่อรัฐสภารัฐวิคตอเรีย ขอให้มีกฎหมายที่มีทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการจบชีวิตของตัวเอง หลังจากที่สามีของเธอ มาร์ก เบรนแนน ต่อสู้กับโรคนี้มายาวนาน และไม่ต้องการมีชีวิตอยู่ต่อไป เอสก์เดลภรรยาบอกว่า การที่ไม่มีกฎหมายการุณยฆาต ทำให้การตายชองเบรนแนนเป็นไปด้วยความโดดเดี่ยว ซึ่งสร้างความเจ็บปวดให้กับครอบครัวอย่างมาก
รัฐบาลของรัฐวิคตอเรียได้รับคำร้องจากประชาชน 100 รายที่ต้องการใช้กฎหมายนี้แล้ว และคาดว่าในช่วง 12 เดือนแรก จะมีประชาชนนับสิบคนที่สามารถเข้าถึงการการุณยฆาตได้ แต่ละปีน่าจะมีผู้ขอใช้สิทธินี้ราว 100-150 คน
ผู้ยื่นขอเข้าสู่กระบวนการต้องเป็นชาววิคตอเรียที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งแพทย์ 2 คนประเมินแล้วว่าเป็นโรคในระยะสุดท้าย ซึ่งไม่สามารถทนต่อความเจ็บปวดได้ และอาจจะเสียชีวิตได้ภายใน 6-12 เดือน หากเป็นความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท ผู้ป่วยต้องมีความสามารถในการตัดสินใจตอนที่ยื่นขอ และจะไม่สามารถเตรียมการร้องขอล่วงหน้าได้ นอกจากนี้ผู้ที่ป่วยด้วยโรคสมองเสื่อมก็ไม่สามารถยื่นคำขอได้ กฎหมายนี้ป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายต้องถูกกดดันให้ตัดสินใจ ผู้ที่ได้รับประโยชน์ในพินัยกรรมจะไม่ได้รับอนุญาตลงนามเป็นพยานในการยื่นคำร้อง
หลังจากได้รับอนุญาตแล้ว ทางการจะส่งกล่องที่มียาและคู่มือไปที่บ้านของผู้ป่วย และผู้ป่วยเป็นผู้ถือกุญแจกล่องนี้ ทางการจะไม่เปิดเผยว่าใช้ยาอะไร แต่คล้ายกับยา Nembutal โดยยาจะถูกส่งจากโรงพยาบาลอัลเฟรด ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลก่อนทุกครั้ง ส่วนเภสัชกรมีหน้าที่ไปหาผู้ป่วยและดูแลเพื่อให้แน่ใจว่าได้รับบริการทางการแพทย์อย่างปลอดภัยที่สุด ผู้ป่วยจะดื่มยาจากถ้วยที่ผสมเองและกลืนลงไป หลังจากดื่มยาแล้ว ผู้ป่วยจะง่วงแล้วหมดสติอย่างรวดเร็ว โดยจะเสียชีวิตในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงต่อมา
หากผู้ป่วยเปลี่ยนใจไม่อยากกินยาแล้ว ก็สามารถส่งยากลับคืนได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยเสียชีวิตโดยไม่ได้รับยา ผู้ที่เป็นผู้ทำหน้าที่ประสานงานมีหน้าที่ส่งยาคืนให้กับหน่วยเภสัชกรรม
ก่อนหน้านี้ บางรัฐของออสเตรเลียก็มีกฎหมายการุณยฆาต แต่รัฐบาลกลางสั่งระงับในปี 1996-1997 รัฐวิคตอเรียจึงเป็นรัฐเดียวในปัจจุบัน ตอนนี้มีแพทย์ชาวออสเตรเลียประมาณ 80 คนแล้วที่ลงทะเบียนเป็นแพทย์ที่จะเกี่ยวข้องกับกระบวนการนี้
ที่มา:
https://mobile.abc.net.au/news/2019-06-16/voluntary-assisted-dying-starts-in-victoria/11207712
Tags: ออสเตรเลีย, การุณยฆาต, วิคตอเรีย