ในวันพุธ (12 มิ..) ที่ผ่านมา ผู้ว่าการรัฐเมนจากพรรคเดโมแครตเพิ่งจะลงนามผ่านร่างกฎหมายให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีทางเลือกในการจบชีวิตด้วยการใช้ยาได้อย่างถูกกฎหมาย หรือที่เรียกว่าDeath with Dignity Act’ โดยหากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้รัฐเมนจะเป็นรัฐที่ 8 ร่วมกับอีก 7 รัฐที่ออกกฎหมายเช่นนี้ ซึ่งได้แก่ แคลิฟอร์เนีย, โคโลราโด, ฮาวาย, นิวเจอร์ซีย์, โอเรกอน, เวอร์มอนต์ และวอชิงตัน รวมถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

กฎหมายนี้บัญญัติไว้ว่า ผู้ป่วยนั้นจะต้องเป็นผู้ป่วยที่มีสติสัมปชัญญะครบทุกประการและมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งป่วยระยะสุดท้ายหรือเป็นโรคที่ไม่อาจหายและได้แต่รอความตายเท่านั้น ภายใต้การวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งกระบวนการในการร้องขอจบชีวิตด้วยการใช้ยานั้นใช้เวลาประมาณ 6 เดือน โดยผู้ป่วยจะต้องร้องขอทางวาจา 2 ครั้ง และทางลายลักษณ์อักษร 1 ครั้ง

กฎหมายนี้อนุญาตให้แก่พลเมืองที่มีภูมิลำเนาอยู่ในรัฐเมนเท่านั้น ในขณะเดียวกันกฎหมายนี้ระบุว่าการกระทำภายใต้กระบวนการนี้จะไม่ถูกพิจารณาว่าเป็นการฆ่าตัวตาย’ ‘แพทยานุเคราะหฆาต’ ‘การุณยฆาตหรือฆาตกรรมภายใต้กฎหมายแม้ว่ากระบวนการที่ระบุไว้จะเทียบเคียงได้กับการให้ยาสำหรับการแพทยานุเคราะหฆาตก็ตาม

อย่างไรก็ตามก็มีผู้โต้แย้งกฎหมายฉบับนี้ โดยกล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เหมือนกับรัฐเล่นบทเป็นพระเจ้าที่จะเอาชีวิตใครไปก็ได้ ในขณะที่เจเน็ต มิลส์ ผู้ว่าการรัฐเมนกล่าวว่ามันไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่จะตัดสินว่าใครจะตายหรือใครจะมีชีวิตอยู่ หรือเมื่อไรที่พวกเขาจะต้องตายหรือนานแค่ไหนที่พวกเขาจะมีชีวิตอยู่ มันเป็นหน้าที่ของเราที่จะให้การดูแลชีวิตที่ครอบคลุมที่สุดเท่าที่จะทำได้ ฉันเคารพในสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล และในขณะเดียวกันฉันก็หวังว่ากฎหมายนี้จะถูกใช้อย่างเข้มงวด

ที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะผ่านกฎหมายนี้หลายครั้งแต่ก็ยังไม่ผ่านสภาเสียที หนึ่งในผู้ที่เสนอร่างกฎหมายนี้ในปี 2015 ก็คือ รีเบคก้า แวนโวร์เมอร์ ผู้ซึ่งเป็นมะเร็งเต้านมและลามไปยังกระดูก เธอเสียชีวิตในปี 2017 ในขณะที่กฎหมายนี้ยังไม่ผ่านสภา

สำหรับกฎหมายที่อนุญาตให้ผู้ป่วยมีสิทธิเลือกจบชีวิตตัวเองด้วยยาหรือการช่วยเหลือทางการแพทย์ในสหรัฐอเมริกานั้น รัฐโอเรกอนเป็นรัฐแรกที่ผ่านกฎหมายนี้ในปี 1997 กว่า 10 ปีให้หลังจึงตามมาด้วยวอชิงตัน ซึ่งเมื่อรวมรัฐเมนล่าสุดนี้ก็จะมีถึง 8 รัฐด้วยกันที่ผ่านกฎหมายนี้ ในขณะที่อีก 18 รัฐกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา และอีกหนึ่งรัฐก็คือมอนทานา ที่แม้จะไม่ได้ผ่านกฎหมายออกมาเป็นรูปธรรม แต่ได้ยึดเอาคำพิพากษาของศาลสูงในปี 2009 ที่มีความเห็นว่าแพทย์สามารถปฏิบัติตามคำร้องขอของผู้ป่วยในการเลือกจบชีวิตด้วยการใช้ยาได้โดยไม่มีความผิดทางกฎหมาย

แม้รัฐเมนจะผ่านกฎหมายนี้ออกมาบังคับใช้ในไม่ช้า รวมไปถึงมีการพิจารณาของอีก 18 รัฐอยู่ในขณะนี้ แต่ประเด็นเรื่องการให้ยาหรือการช่วยเหลือทางการแพทย์เพื่อจบชีวิตคนไข้ตามคำร้องขอ หรือแพทยานุเคราะหฆาต หรือการการุณยฆาตนั้นยังถือเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างมากในสังคมอเมริกันว่าเป็นเรื่องที่สมควรหรือไม่

 

อ้างอิง

https://time.com/5605925/maine-8th-state-legalize-medically-assisted-suicide/

https://edition.cnn.com/2019/06/13/politics/maine-assisted-suicide-janet-mills/index.html

https://www.apnews.com/7f0fe9d789294a02852c1669c892f382

https://www.usatoday.com/story/news/nation/2019/06/12/maine-medically-assisted-suicide-legalization-eighth-state/1438468001/

 

ภาพ: gettyimages

Tags: , , ,