ไม่ว่ามนุษย์ไปที่ไหนก็มักจะทิ้งขยะไว้ที่นั่นเสมอ ไม่เว้นแม้แต่ในอวกาศที่ตอนนี้มีขยะจากฝีมือมนุษย์หลายแสนชิ้น ไม่ว่าจะเป็นชิ้นส่วนจากจรวดเก่า ดาวเทียมที่ใช้การไม่ได้ 3,500 ดวง และชิ้นส่วนเล็กๆ น้อยๆ อื่นๆ อีกกว่า 750,000 ชิ้น โคจรรอบโลกด้วยความเร็ว 20,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และหากไม่รีบจัดเก็บขยะอวกาศเหล่านี้ โดยเฉพาะขยะชิ้นใหญ่ๆ ความเสี่ยงที่ขยะเหล่านี้จะพุ่งชนวัตถุใดๆ ที่มนุษย์จะส่งขึ้นสู่อวกาศก็เพิ่มมากขึ้น
“ลองจินตนาการถึงความอันตรายในการล่องเรือในทะเลที่มีคลื่นลมแรง โดยมีเรือทุกลำในประวัติศาสตร์ที่เคยจมไปในทะเลกลับมาลอยอยู่บนผิวน้ำดูสิ นี่คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวงโคจรของโลก และมันจะต้องไม่เป็นแบบนี้ต่อไป” ยาน เวิร์นเนอร์ ผู้อำนวยการองค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA กล่าวถึงสถานการณ์ขยะอวกาศในปัจจุบัน
ในปี 2025 องค์การอวกาศยุโรป วางแผนที่จะปล่อยหุ่นยนต์ขึ้นไปเก็บขยะในอวกาศ ภายใต้ชื่อโครงการ ClearSpace-1 โดยจะเป็นหุ่นยนต์สี่แขนที่ไล่เก็บขยะอวกาศเหมือนตัว Pac-Man ไล่กินมอนสเตอร์ในเขาวงกต
ขั้นแรกของโครงการนี้คือการเก็บขยะอวกาศขนาดเล็กเพื่อยืนยันว่าโครงการดำเนินการได้จริง โดยเป้าหมายของขยะที่จะจัดเก็บมีชื่อว่า Vespa ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่เหลือจากการปล่อยจรวด Vega ขององค์การอวกาศยุโรปเมื่อปี 2013 โคจรอยู่สูงจากผิวโลก 800 กิโลเมตร เป็นขยะที่มีน้ำหนักพอๆ กับดาวเทียมขนาดเล็ก และมีรูปทรงที่ง่ายต่อการให้หุ่นยนต์สี่แขนเก็บ เมื่อหุ่นยนต์จับขยะได้แล้วก็จะเหวี่ยงมันออกจากวงโคจร และปล่อยให้ถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศ อย่างไรก็ดี การทำแบบนี้ก็จะทำลายตัวหุ่นยนต์เก็บขยะไปด้วยเหมือนเครื่องบินกามิกาเซ่ แต่ในอนาคต องค์การอวกาศยุโรปหวังว่าจะหาวิธีการที่ทำให้หุ่นยนต์สามารถจัดการกับขยะได้โดยที่ตัวมันเองยังปลอดภัย และสามารถจัดการกับขยะชิ้นอื่นได้ต่อไป
ClearSpace ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ตอัปจากสวิสเซอร์แลนด์เป็นผู้รับผิดชอบในการออกแบบหุ่นยนต์ โดยเป้าหมายสูงสุดของการออกแบบคือสร้างยานอวกาศที่มีความสามารถสูงในขับเคลื่อนและกำหนดทิศทางด้วยตัวเองในวงโคจรระดับต่ำ โดยโครงการนี้คาดว่าจะมีมูลค่าถึง 117 ล้านยูโร
ด้านผู้อำนวยการองค์การอวกาศยุโรปยังเรียกร้องให้มีการกำหนดให้ผู้ปล่อยดาวเทียมจะต้องรับผิดชอบในการนำมันออกจากวงโคจรเมื่อหมดอายุการใช้งานอีกด้วย
ที่มา
https://www.livescience.com/esa-space-junk-removal-kamikaze-robot.html
ภาพ : NASA
Tags: นาซ่า