ไอซ์แลนด์อยู่ในความเงียบงันมานานนับพันปี กว่าที่จะมีคนค้นพบปลาเฮร์ริงในน่านน้ำ จนนำพาไอซ์แลนด์เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม

ทุกวันนี้ปลาเฮร์ริงถือเป็นอาหารอันโอชะ “แต่ก่อนชาวไอซ์แลนด์เคยเชื่อว่ามันเป็นอาหารสำหรับคนหิวโหย และมีแต่คนยากจนเท่านั้นที่คิดจะกินมัน”  ฮัลล์ดอร์ ลักซ์เนส (Halldór Laxness) นักเขียนรางวัลโนเบลจากเมืองหลวงเรคยาวิก เคยเขียนไว้ใน Guðsgjafaþulan (บทสวดจากของประทานแด่พระเจ้า) นิยายจากปี 1972

บางปีปลาเฮร์ริงจะยกฝูงมาปักหลักหากินอยู่บริเวณนอกชายฝั่ง ล่อตาล่อใจให้ชาวประมงแห่แหนกันไปดักจับ บรรยากาศในหมู่บ้านราวกับตื่นทอง พอปลาเฮร์ริงล้นตลาด ผู้คนทั้งถิ่นใกล้ไกลเลิกสนใจ เมืองบูมแห่งฟยอร์ดทางตะวันตกเฉียงเหนือก็กลายเป็นเมืองร้างไปอีกหน ลักซ์เนสเขียนเล่าเรื่องราวของปลาเฮร์ริงและไอซ์แลนด์เรื่องนี้ด้วยสำเนียงเสียดสี

ในขณะที่ฮัลล์กริมัวร์ เฮลกาซอน (Hallgrímur Helgason) นักเขียนจากเรคยาวิกอีกคน เล่าถึงอีกภาพหนึ่งของไอซ์แลนด์ในนิยาย Sextíu kíló af sólskini (แสงแดด 60 กิโล) ถึงเหตุการณ์ในไอซ์แลนด์ช่วงเปลี่ยนผ่านศตวรรษที่ 20 ผ่านตัวละครเกษตรกรหนุ่มที่ใช้ชีวิตอยู่ในชนบทใกล้ฟยอร์ด วันหนึ่งเขาได้พบกับความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในท้องถิ่น เมื่อโลกใหม่พร้อมความทันสมัยเยื้องกรายเข้าไปพร้อมคนแปลกหน้าจากต่างถิ่น หลังจากปลาเฮร์ริงในน่านน้ำย่านนั้นถูกค้นพบ

ใดๆ ล้วนเฮร์ริง – การค้นพบปลาเฮร์ริงของไอซ์แลนด์เกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง ปี 1903 เจ้าของเรือชาวนอร์เวย์ได้เข้าไปก่อตั้งธุรกิจเรือประมงทางตอนเหนือของไอซ์แลนด์ ปี 1904 ฮันเนส ฮัฟสไตน์ (Hannes Hafstein) ผลักดันตัวเองขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของไอซ์แลนด์ ประจำอยู่ที่ไอซ์แลนด์ ไม่ใช่โคเปนเฮเกนเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา 

ในปี 1904 เช่นกัน รถยนต์คันแรกซึ่งได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐสภาก็เริ่มวิ่งบนผืนดินของไอซ์แลนด์ ปี 1911 มหาวิทยาลัยเริ่มเปิดรับนักศึกษาจำนวน 45 คนเข้าเรียนในสี่คณะ ปี 1915 เรือของไอซ์แลนด์แล่นออกสู่ทะเลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ยุคกลาง และได้รับการต้อนรับอย่างดี ชาวไอซ์แลนด์ 14,000 คนจากประชากรทั้งหมด 87,000 คนในขณะนั้นมีโอกาสซื้อหุ้น แต่ต่อมาหลายคนก็ ‘ติดดอย’ หลายโครงการล้มเหลวจากการระดมทุน โรงงานเฮร์ริงหรือที่เรียกว่า ‘โรงสีทองคำ’ ถูกปรับเปลี่ยนเป็นโรงงานผลิตแป้ง ปุ๋ยคอก และน้ำมันด้วยเงินทุนของชาวนอร์เวย์แทน

นอร์เวย์มีบทบาทในไอซ์แลนด์มาตั้งแต่ปฐมบทของประวัติศาสตร์ นอร์เวเจียนกลุ่มหนึ่งละทิ้งถิ่นฐานของตนเอง ล่องเรือไปในมหาสมุทรแอตแลนติก กระทั่งไปพบเจอเกาะหนึ่งซึ่งขณะนั้นยังไม่ปรากฏชื่อไอซ์แลนด์ และมีการบันทึกเรื่องการย้ายถิ่นฐานขึ้นเกาะอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี 874 หลังจากนั้นไอซ์แลนด์ก็เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรนอร์เวย์

ผู้คนชาวไอซ์แลนด์ต้องเรียนรู้ในการปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ สิ่งหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาอย่างมาก ทั้งในอดีตและปัจจุบัน นั่นคือภูเขาไฟจำนวนมากที่ยังคุกรุ่นอยู่ นอกนั้นเป็นเรื่องของการปรับตัวให้เข้ากับโลกภายนอก 

นอกจากภูเขาไฟแล้ว ชาวเกาะยังต้องเผชิญกับโรคฝีดาษระบาด การถูกควบคุมกดขี่จากชาวเดนมาร์ก รวมไปถึงโจรสลัด ที่รุกรานจากหลายฟากของเกาะ พวกมันปล้นสะดม ฉุดลากผู้คนไปขายเป็นแรงงานทาส ใครที่รอดพ้นเงื้อมมือจากกลุ่มโจรสลัดได้ต้องเข้าไปซ่อนตัวในถ้ำหรือโขดผา

ทาส 242 คนจากไอซ์แลนด์ถูกเหล่าโจรพาไปขายที่อัลจีเรีย กษัตริย์คริสเตียนที่ 4 ของเดนมาร์กหยิบยื่นความช่วยเหลือ ซื้อตัวกลับมาได้เพียง 13 คนจากทั้งหมด

ในศตวรรษที่ 17 เช่นกัน เมื่อพ้นจากภัยคุกคามของโจรสลัดแล้ว ไอซ์แลนด์ก็เข้าสู่ยุคล่าแม่มด คล้ายประเทศอื่นๆ ทั่วยุโรป เพียงแต่ไอซ์แลนด์แตกต่างจากที่อื่น ตรงที่มีพ่อมดมากกว่าแม่มด ทั้ง 130 คดีที่เข้าสู่การพิพากษา มีแค่ 13 รายเท่านั้นที่เป็นแม่มด

ความพยายามของไอซ์แลนด์ที่จะปลดแอกจากเดนมาร์กดำเนินอยู่นานนับร้อยปี โซ่ข้อแรกของไอซ์แลนด์ปลดได้เมื่อปี 1918 เปลี่ยนสถานะเป็นรัฐอิสระไอซ์แลนด์ ก่อนจะประกาศเอกราชเป็นประเทศสาธารณรัฐได้สำเร็จในปี 1944

แม้จะเป็นประเทศขนาดเล็ก แต่ไอซ์แลนด์ก็ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีการจัดตั้งรัฐสภาก่อนใครในโลกเมื่อปี 930 ไอซ์แลนด์เลือกผู้หญิงเป็นประธานาธิบดีคนแรกของโลก ไอซ์แลนด์มีนายกรัฐมนตรีหญิงเป็นโฮโมเซ็กชวลคนแรก ไอซ์แลนด์เป็นชาติขนาดเล็กที่สุดที่มีทีมฟุตบอลเข้ารอบในฟุตบอลโลก (ปี 2018) ไอซ์แลนด์มีกฎหมายที่ห้ามจ่ายค่าแรงให้ผู้หญิงในอัตราต่ำกว่าผู้ชาย และไอซ์แลนด์เคยชนะสงคราม! (สงครามปลา ซึ่งเป็นศึกแย่งชิงน่านน้ำระหว่างไอซ์แลนด์กับอังกฤษ โดยไม่มีการเสียเลือดเนื้อ)

วันเวลาในแต่ละปีที่ไอซ์แลนด์ส่วนใหญ่ปกคลุมไปด้วยความสลัวมืด และเงียบสงบแม้ในช่วงฤดูร้อน ยกเว้นในเมืองหลวงเรคยาวิก ประเทศเกาะนี้น่าจะเป็นสถานที่โปรดของนักท่องเที่ยวรักธรรมชาติ แต่ไม่เหมาะกับนักท่องเที่ยวสายปาร์ตี้ เพราะราคาค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไอซ์แลนด์แพงและจำกัดเปอร์เซ็นต์ของแอลกอฮอล์

ยิ่งถ้าไปนั่งดื่มตามบาร์ในเรคยาวิก นักท่องเที่ยวบางคนเขียนความเห็นลงในบลอกท่องเที่ยวว่า ดื่มและเมากันจนเป็นหนี้

ไอซ์แลนด์เริ่มออกกฎหมายห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์มาตั้งแต่ปี 1915 ซึ่งเป็นมติเห็นชอบจากชาวไอซ์แลนด์เพศชายราว 60 เปอร์เซ็นต์ (ผู้หญิงยังไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงในเวลานั้น) แต่กฎหมายห้ามคงความศักดิ์สิทธิ์อยู่ไม่นาน ไม่กี่ปีถัดมาก็เริ่มมีการนำเข้าไวน์ และช่วงทศวรรษ 1930s เริ่มมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดแรง ในทั้งหมดมีเพียงเบียร์เท่านั้นที่ราคาถูก จนทำให้รัฐบาลต้องชั่งใจ เกรงว่าประชาชนจะหันมาบริโภคเบียร์มากขึ้นในวันฟ้าครึ้มอากาศหนาว อีกทั้งลึกๆ ในใจของชาวไอซ์แลนด์เองคิดว่า เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่นอกจากจะอันตรายแล้ว ยังแสดงถึงความไม่รักชาติด้วย นั่นเพราะเบียร์เป็นเครื่องดื่มที่ชาวเดนมาร์กหลงใหล …เดนมาร์กที่ไอซ์แลนด์ไม่อยากได้เป็นผู้ปกครอง

เบียร์ที่มีแอลกอฮอล์เกินกว่า 2.25 เปอร์เซ็นต์ยังคงเป็นสินค้าต้องห้าม จนกระทั่งปี 1989 ที่กำแพงกั้นขวางระหว่างเยอรมนีตะวันออกและตะวันตกทลายลง ชาวไอซ์แลนด์ได้ร่วมฉลองไปพร้อมกับการยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับเครื่องดื่มเบียร์ ที่คล้ายถูกจองจำมานานถึง 74 ปี แต่ตามร้านค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตยังคงขายเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์จำกัดที่ 2.25 เปอร์เซ็นต์มาถึงปัจจุบัน

และในปี 1989 ที่รัฐบาลไอซ์แลนด์เริ่มเปิดเสรีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีผลทำให้อัตราการดื่มของประชาชนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนอายุ 15-16 ปี วัยรุ่นราว 42 เปอร์เซ็นต์ยอมรับว่าดื่มเป็นประจำ บางคนดื่มจนเมามายขาดสติ

แต่ทุกวันนี้ไอซ์แลนด์กลับได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ ‘คลีน’ ที่สุดในยุโรป การดื่มของวัยรุ่นลดลงเหลือ 5 เปอร์เซ็นต์ การเสพสารเสพติดลดลงจาก 17 เหลือ 7 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงการสูบบุหรี่ลดลงจาก 23 เหลือเพียง 3 เปอร์เซ็นต์

รัฐบาลไอซ์แลนด์ทำให้คนรุ่นใหม่ของประเทศ ‘คลีน’ ได้ภายในเวลา 20 ปี ด้วยมาตรการ 5 ข้อ …

1.เคอร์ฟิว ใครอายุต่ำกว่า 16 ปี ต้องกลับเข้าบ้านก่อนสี่ทุ่ม จะมีการตรวจตราโดยกลุ่มผู้ปกครองลาดตระเวน

2.ผู้ปกครองลงนามในสัญญา สมาคม ‘Home and School’ ของไอซ์แลนด์ทำงานร่วมกับผู้ปกครองเด็ก เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กในความปกครองประพฤติในสิ่งไม่ชอบ

3.คูปองกิจกรรม เพื่อให้วัยรุ่นหันมาสนใจทำกิจกรรม เด็กนักเรียนทุกคนจะได้รับคูปองเพื่อใช้ในการเข้าร่วมกิจกรรมตามสโมสรฟุตบอล หรือโรงเรียนสอนขี่ม้า เป็นต้น

4.การวิจัย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาความไม่พอใจของเด็กๆ หน่วยงานรัฐของไอซ์แลนด์จะส่งแบบสอบถามทุกปี เพื่อสอบถามความเห็นของวัยรุ่นในเพื่อน ครอบครัว และความรู้สึกของพวกเขาเกี่ยวกับแอลกอฮอล์และยาเสพติด

5.การเมือง เป็นมาตรการต่อยอดจากแบบสอบถามความเห็น และเป็นภาระหน้าที่ของนักการเมืองท้องถิ่น ที่จะนำความเห็นของเด็กๆ ไปพูดคุยและแก้ปัญหาร่วมกันกับผู้ปกครองเด็ก สโมสรที่จัดกิจกรรมต่างๆ และครูในโรงเรียน

ความสำเร็จของมาตรการเหล่านี้เป็นที่สนใจของประเทศอื่นๆ ในยุโรปแล้วเหมือนกัน

อ้างอิง:

Hallgrímur Helgason, 60 Kilo Sonnenschein (Sextíu kíló af sólskini), Tropen-Verlag, Stuttgart (2020)

Halldór Laxness, Die Litanei von den Gottesgabe (Guðsgjafaþulan), Steidl Verlag (2015)

https://adventures.is/de/information/islands-geschichte/

https://www.deutschlandfunk.de/kristof-magnusson-ueber-die-kulturgeschichte-islands-alles.691.de.html?dram:article_id=457904

https://www.jetzt.de/alkolumne/alkohol-auf-island

https://www.watson.ch/international/kinder/945062568-von-42-auf-5-prozent-wie-island-seine-teenager-von-alkohol-und-drogenmissbrauch-abhaelt

Fact Box

ไอซ์แลนด์มีพื้นที่ประเทศ 103,125 ตารางกิโลเมตร จากการสำรวจเมื่อปี 2019 มีประชากรราว 361,000 คน เฉลี่ย 4 คนต่อหนึ่งตารางกิโลเมตร นับเป็นประเทศเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับสองของยุโรป ประชากรกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ใช้ชีวิตในเมืองหลวงและปริมณฑล เป็นประเทศที่ยอมรับในสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ มีเสรีภาพในเรื่องโฮโมเซ็กชวล และเริ่มมีกฎหมายยอมรับคู่สมรสเพศเดียวกันตั้งแต่ปี 2010 คุณภาพชีวิตและรายได้ต่อหัวของประชากรชาวไอซ์แลนด์เทียบเท่ากับฮ่องกง ในอันดับที่ 4 จากการสำรวจของ Human Development Index (HDI) เมื่อปี 2019

Tags: , , ,