สิงคโปร์ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปที่กรุงบรัสเซลส์เมื่อวันศุกร์ แม้ไทยเริ่มเจรจาเอฟทีเอกับอียูตั้งแต่ปี 2556 แต่ยุโรปได้ระงับการพูดคุยนับแต่รัฐประหารเมื่อปี 2557 และยืนยันจะเจรจาอีกครั้งเมื่อไทยมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้ว

เมื่อวันศุกร์ที่ 19 ตุลาคม นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลี เซียนลุง ลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปในโอกาสเข้าร่วมการประชุมเอเชีย-ยุโรป (EU ASEM) ในเมืองหลวงของเบลเยียม ซึ่งเป็นเวทีที่มีผู้นำชาติยุโรป เอเชีย และอาเซียนเข้าร่วมกว่า 50 คน รวมถึงนายกรัฐมนตรีไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

สิงคโปร์เริ่มเจรจาเอฟทีเอกับอียูเมื่อปี 2553 การเจรจาบรรลุข้อสรุปเมื่อปี 2557 แต่เนื่องจากมีการประท้วงโต้แย้งในประเด็นการค้าหลายเรื่อง จึงต้องส่งร่างข้อตกลงให้ศาลยุติธรรมยุโรปพิจารณา การจัดทำข้อตกลงฉบับนี้จึงต้องใช้เวลาร่วม 8 ปีกว่าจะได้ลงนามกัน

สำหรับไทยนั้น เริ่มการเจรจาในสมัยรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทว่าพอเกิดรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ยุโรปก็พับการเจรจาโดยทันที พร้อมกับประกาศเงื่อนไขว่า การเจรจาเอฟทีเอกับไทยจะรื้อฟื้นต่อเมื่อไทยมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งเท่านั้น

จนถึงขณะนี้ แม้รัฐบาลจากการยึดอำนาจแสดงท่าทีว่าจะให้มีการเลือกตั้งในราวช่วงครึ่งแรกของปี 2562 แต่ยังไม่มีหลักประกันว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นจริงตามสัญญา ดังนั้น ไทยจะได้ลงนามเอฟทีเอกับยุโรปเมื่อไร ยังไม่มีใครตอบได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีของไทย นั่งประชุมติดกับนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลี เซียน ลุง ในการประชุม EU-ASEM ที่กรุงบรัสเซลล์ วันที่ 19 ตุลาคม 2018 โดย Olivier HOSLET / AFP

ชาติแรกของอาเซียน

ผลประโยชน์หลักที่อียูกับสิงคโปร์จะได้รับจากเอฟทีเอ ก็คือ การไม่ต้องจ่ายภาษีสินค้านำเข้าในเกือบทุกรายการ และการดำเนินการทางศุลกากรที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน

สิงคโปร์เป็นชาติแรกในบรรดาสมาชิก 10 ประเทศของอาเซียนที่ได้ทำข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป แรกเริ่มเดิมที อียูสนใจจะทำเอฟทีเอกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งภูมิภาค แต่การเจรจาวงใหญ่ไม่ราบรื่นจึงระงับไปเมื่อปี 2552 แล้วเปลี่ยนกลยุทธ์เป็นการเจรจารายประเทศ

ชาติอาเซียนรายที่สองที่จะได้ลงนามกับอียู อาจเป็นเวียดนาม เพราะทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงในการเจรจาแล้ว และรายที่สามอาจเป็นอินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจา

นอกจากข้อตกลงเอฟทีเอแล้ว ยังมีข้อตกลงอีก 2 ฉบับที่สิงคโปร์ลงนามกับอียูในคราวเดียวกัน นั่นคือ ข้อตกลงคุ้มครองการลงทุน และกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ

ข้อตกลงการค้ากับข้อตกลงการลงทุนระหว่างสิงคโปร์กับอียูนี้ ยุโรปบอกว่าจะใช้เป็นแนวทางในการสร้างความตกลงระดับภูมิภาคระหว่างสหภาพยุโรปกับอาเซียนต่อไป

นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลี เซียน ลุง (ซ้าย) จับมือกับ ฌอง-คล็อด ยุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (ขวา) และมีนายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานสหภาพยุโรป ยืนอยู่ระหว่างกลาง (ภาพเมื่อ 19 ตุลาคม 2018 โดย Francisco Seco / AFP)

ความร่วมมือหลากหลายมิติ

สำหรับกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ (PCA-Partnership and Cooperation Agreement)  สิงคโปร์นับเป็นชาติอาเซียนรายที่สี่ที่ลงนามกับอียูต่อจากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

ข้อตกลงพีซีเอ อียู-สิงคโปร์ ที่ว่านี้ ครอบคลุมความสัมพันธ์ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม อาทิ สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ พลังงาน การศึกษา วัฒนธรรม การจ้างงาน สวัสดิการสังคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การขนส่ง การต่อต้านการก่อการร้าย และการปราบปรามแก๊งอาชญากรรม

เอฟทีเอ อียู-สิงคโปร์ นับเป็นรูปธรรมของการสนับสนุนแนวทางการค้าเสรี ท่ามกลางข้อพิพาทการค้าระหว่างมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯกับหลายประเทศ ภายใต้นโยบาย ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งถูกนานาชาติมองว่าเป็นลัทธิกีดกันทางการค้า

คำว่า การค้าเสรี ถือเป็นคีย์เวิร์ดในแถลงการณ์สรุปผลการประชุมเอเชีย-ยุโรปครั้งที่ 12 ในรอบนี้ ถ้อยแถลงระบุว่า บรรดาผู้นำมุ่งมั่นที่จะให้เกิดการค้าที่เสรีและเปิดกว้างบนความเสมอภาค และคัดค้านการกีดกันทางการค้าทุกรูปแบบ รวมถึงการใช้มาตรการฝ่ายเดียวและการทำการค้าโดยไม่เป็นธรรม

ไทยแลนด์รอไปก่อน

การไปร่วมประชุม เอเชีย-ยุโรป พ่วงด้วยการประชุม อาเซียน-ยุโรป ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครั้งนี้ ถือเป็นภาพสะท้อนความสัมพันธ์ที่กระเตื้องขึ้นระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป หลังจากอียูเคยลดความสัมพันธ์กับไทยภายหลังการยึดอำนาจ

หลังจากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ในวันรุ่งขึ้น สหภาพยุโรปแสดงปฏิกิริยาด้วยการประกาศระงับการเยือนอย่างเป็นทางการระหว่างกัน คือ ผู้แทนอียูจะงดเยือนไทย และไม่ต้อนรับผู้แทนไทยไปเยือนอียู

อียูประกาศด้วยว่า จะไม่ลงนามกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือกับประเทศไทย จนกว่าไทยจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แม้ว่าอียูกับไทยได้บรรลุข้อตกลงฉบับนี้ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 แล้ว

สำหรับข้อตกลงการค้าเสรี อียู-ไทย ซึ่งเริ่มเจรจาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 นั้น นับแต่รัฐประหารจนถึงวันนี้ อียูยังไม่มีกำหนดนัดหมายเจรจากับไทยรอบใหม่กับไทย

ความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปมีแนวโน้มในทางบวกหลังจากอียูประกาศเมื่อ 11 ธันวาคม 2560 ที่จะฟื้นคืนการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ไทยทุกระดับ หลังจากในตอนนั้นผู้นำไทยให้คำมั่นที่จะจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561

อย่างไรก็ตาม อียูยังคงยืนยันเงื่อนไขที่ว่า อียูจะยังไม่ลงนามทั้งข้อตกลงพีซีเอและข้อตกลงเอฟทีเอกับไทย จนกว่าไทยจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย

สหภาพยุโรปมีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศของไทยมากทีเดียว อียูเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสามของไทยรองจากจีนและญี่ปุ่น และไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสามของอียูในกลุ่มอาเซียน

ตามตัวเลขเมื่อปี 2558 ไทยส่งออกสินค้าไปยังอียูคิดเป็นมูลค่า 19,600 ล้านยูโร ขณะที่อียูส่งออกมายังไทยคิดเป็นมูลค่า 13,400 ล้านยูโร

ถ้าไทยจัดการเลือกตั้งในปีหน้าได้จริง ยังไม่รู้ว่าถึงตอนนั้นจะเกิดคำถามผุดซ้อนหรือไม่ ว่า การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นนั้น เป็นไปโดยเสรีและเป็นธรรมหรือเปล่า แล้วหากไทยมีนายกฯ ที่สืบทอดอำนาจจากระบอบรัฐประหาร นั่นจะเป็นประเด็นที่อียูติดใจ หรือว่าไม่ติดใจ.

 

“ผมเพิ่งกลับถึงบ้านมีเจ้าหมีมารอรับครับ การประชุมที่เบลเยียมผ่านไปด้วยดี ทุกคนที่ผมพบและประชุมด้วย ล้วนชื่นชมประเทศไทยของเราทั้งนั้น หายเหนื่อยครับ”
(ที่มา: เพจประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha https://www.facebook.com/prayutofficial/photos/a.464772180685069/471777153317905 )

 

อ้างอิง:

Tags: ,