เดือนนี้ คำสั่งแบนหลอดไฟฮาโลเจนของสหภาพยุโรปเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 1 กันยายน ที่ผ่านมา

การตัดสินใจแบนหลอดฮาโลเจนเริ่มขึ้นในปี 2009 ตอนนั้นเป็นเรื่องถกเถียงกันอย่างร้อนแรง และเมื่อสหภาพยุโรปประกาศจะให้เลิกใช้ ก็มีรายงานว่าคนพากันไปกักตุนหลอดไฟฮาโลเจนเอาไว้จนหาซื้อในท้องตลาดไม่ได้ แม้แต่หนังสือพิมพ์ในอังกฤษฉบับหนึ่งยังจัดแคมเปญมอบหลอดไฟ 5 ดวงให้กับผู้อ่านด้วย

เดิมที สหภาพยุโรปจะยุติการใช้หลอดไฟชนิดนี้เมื่อสองปีก่อน แต่ก็ต่อเวลาออกไปเพื่อให้ผู้บริโภคมีเวลาเปลื่ยนไปใช้หลอด LED

ในเยอรมนี ผู้บริโภคเลือกใช้หลอดไฟฟ้าแบบขดลวดหรือแบบฮาโลเจนเพราะมันให้แสงสว่างจ้าและราคาไม่แพง หลายคนบอกว่า หลอดไฟแบบใหม่อย่างหลอด LED มีแสงที่ไม่เป็นธรรมชาติ เป็นแสงที่ให้ความรู้สึกเย็นชา

มาถึงปี 2018 การห้ามใช้หลอดไฟแบบฮาโลเจนเริ่มบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา แต่รอบนี้ไม่ได้สร้างความตื่นตระหนกนัก ส่วนหนึ่งมาจากการไม่รู้ เพราะสื่อยุโรปแทบไม่ได้พูดถึง ผลจากการแบนทำให้ผู้ผลิตหลอดไฟต้องหยุดจำหน่ายหลอดฮาโลเจน ร้านค้ายังคงขายได้จนกว่าของจะหมด ส่วนหลอดฮาโลเจนบางแบบได้รับการยกเว้น เช่น ในเตาอบและไฟที่ใช้สำหรับถ่ายรูป

นักสิ่งแวดล้อมยืนยันว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้จะทำให้ผู้บริโภคประหยัดเงินในระยะยาว และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

ในยุโรป มีหลอดไฟฮาโลเจน 500 ล้านดวงที่ใช้ในครัวเรือน แต่ละหลอดกินไฟมากกว่าหลอด LED 6 เท่า ดังนั้นท้ายที่สุดแล้ว การห้ามใช้หลอดฮาโลเจนช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภค

แม้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยจะบอกว่าหลอดแบบ LED แพงกว่าหลอดฮาโลเจน แต่นักรณรงค์สิ่งแวดล้อมบอกว่า หลอด LED มีอายุการใช้งานนานกว่า 12 เท่า และราคาลดลงจาก 5 ปีก่อนถึง 80% นอกจากนี้ หลอดไฟ LED ยังพัฒนาจากเดิมมาก มีรูปร่างหลายแบบ หลายสี รวมทั้งมีคุณภาพของแสงไฟที่ให้เลือกและปรับความสว่างได้

สหภาพยุโรปคาดว่าจะช่วยประหยัดพลังงานได้ถึง 64 เทราวัตต์ต่อปีภายในปี 2020 เทียบเท่ากับปริมาณไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ในครัวเรือนในประเทศอิตาลี นอกจากนี้ ยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์เทียบเท่ากับที่รถยนต์ 10 ล้านคันปล่อยต่อปี

นอกจากในยุโรปแล้ว ออสเตรเลียก็จะเริ่มแบนหลอดฮาโลเจนในปี 2020 ด้วย

 

ที่มา:

Tags: ,