หลังจากใช้เวลาเจรจาต่อรองและพิจารณากันนานกว่าปีครึ่ง  เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน ผู้นำประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปหรืออียูก็เห็นชอบกับข้อตกลงการแยกตัวของสหราชอาณาจักรหรือเบร็กซิต (Brexit) ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าแล้ว

ในการประชุมที่กรุงบรัสเซลล์ ผู้นำชาติต่างๆ ได้ลงนามรับรองเอกสารยาว 26 หน้าซึ่งจะใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไปก่อนจะถึงเที่ยงคืนวันที่ 29 มีนาคม 2019 วันสุดท้ายที่อังกฤษจะเป็นสมาชิกอียู ขณะที่ยังมีรายละเอียดอีกมากที่ยังไม่ได้ตกลงกัน รวมทั้งเรื่องเสรีภาพของอังกฤษในการควบคุมเศรษฐกิจของตัวเอง นอกจากนี้ ทั้งอังกฤษและอียูยังต้องเจรจาในเรื่องความสัมพันธ์ในอนาคตอีก

หลังจากเริ่มประชุมไปได้ครึ่งชั่วโมง ประธานคณะกรรมการธิการยุโรป โดนัลด์ ทัสก์ (Donald Tusk) ก็ทวีตว่า สมาชิก 27 ประเทศ รับรองข้อตกลงแยกตัวเป็นอิสระจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรแล้ว

สมาชิกอียูเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ในข้อตกลงแยกตัวเป็นอิสระของอังกฤษตามที่ระบุไว้ในเอกสารยาว 585 หน้า ซึ่งครอบคลุมถึงเรื่องสิทธิของพลเมือง ประเด็นพรมแดนไอร์แลนด์เหนือ

การที่อังกฤษต้องจ่ายเงิน 50 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นค่าใช้จ่ายในการแยกตัวของจากอียู  รวมทั้งปฏิญญาทางการเมืองที่จะกำหนดกรอบความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียูหลังจากเบร็กซิต เช่น การค้าระหว่างกัน และนโยบายความมั่นคง

ข้อตกลงที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้นำชาติสมาชิกอียู 27 ประเทศจะทำให้อังกฤษยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายส่วนใหญ่ของอียู แต่ไม่ใช่ในฐานะสมาชิก ไปจนถึงสิ้นปี 2020 โดยยังต้องต่อรองความสัมพันธ์อื่นๆ อีก ไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ประเด็นสุดท้ายที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันก่อนที่จะลงมตินั้นมาจากสเปน เป็นเรื่องเกี่ยวกับเขตแดนของอังกฤษในช่องแคบยิบรอลตาร์ในอนาคต ซึ่งได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

ในแถลงการณ์อย่างเป็นทางการ ผู้นำประเทศสมาชิกเรียกร้องให้สถาบันต่างๆ ของอียู ดำเนินการตามที่จำเป็นเพื่อเป็นหลักประกันว่าข้อตกลงซึ่งจะมีผลในวันที่ 30 มีนาคม 2019 เป็นไปอย่างเรียบร้อย

เว็บไซต์ Politico รายงานการให้สัมภาษณ์ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศสว่า “นี่ไม่ใช่ทั้งโอกาสที่น่ายินดีและก็ไม่ใช่วันที่น่าเศร้า มันเป็นการเลือกที่มาจากประชาชนที่มีอำนาจสูงสุด เป็นเวลาแห่งศักดิ์ศรีและความรับผิดชอบ” เขายังบอกด้วยว่า การประชุมครั้งนี้เป็น “ก้าวสำคัญ” แสดงให้เห็นว่าสหภาพยุโรปมีองค์ประกอบของความเปราะบาง แต่ก็ยังสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ส่วนเว็บไซต์ Guardian ลงคำสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ มาร์ก รูทท์ ว่าข้อตกลงนี้มีเนื้อหาที่ยอมรับได้หากมองจากฝั่งสหราชอาณาจักรที่ต้องทั้งระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากเบร็กซิต ขณะเดียวกันก็ต้องเคารพผลประชามติที่ต้องการออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งเขากล่าวเข้าข้างเทเรซ่า เมย์ว่าเธอต้องพยายามอย่างหนักเพื่อให้เกิดข้อตกลงที่ยอมรับได้ และบอกว่า “วันนี้ไม่มีใครเป็นผู้ชนะ พวกเราต่างสูญเสีย” ส่วนอังเกลา แมร์เคิล ผู้นำเยอรมนีไม่ได้ให้สัมภาษณ์ใดๆ หลังเสร็จสิ้นการประชุม

เทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร เผชิญกับแรงกดดันทั้งจากฝ่ายต้องการแยกตัวออกจากอียูและฝ่ายที่ต้องการให้คงสภาพสมาชิกอียูต่อไป ซึ่งขั้นตอนถัดไป รัฐสภาอังกฤษจะมีกำหนดจะลงมติอีกครั้งในเดือนธันวาคม

ไมเคิล บาร์นิเออร์ (Michel Barnier) หัวหน้าทีมเจรจาของอียูกล่าวว่า การเจรจาช่วงแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว สหราชอาณาจักรและอียูต้องทำงานเพื่อสร้างความร่วมมือที่แสนท้าทายและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนต่อไป จากนั้น รัฐสภายุโรปจะต้องเป็นฝ่ายรับรองข้อตกลงในรายละเอียดก่อน ซึ่งคาดว่าจะน่าจะเกิดขึ้นช่วงต้นปี 2019  หลังจากนั้น รัฐสภาของอังกฤษก็ต้องเห็นชอบเช่นกัน

 

ที่มา:

Tags: , , , , ,