เมื่อครั้งที่ แอร์วิน รอมเมล (Erwin Rommel) เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการกองรถถังในเดือนตุลาคม 1939 หัวหน้าสำนักกำลังพลทหารมองว่าเขาเหมาะสมที่สุดสำหรับกองรบภูเขา อีกทั้งเขายังเคยผ่านการสู้รบมาแล้วในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นายพลผู้ทะเยอทะยานใฝ่ฝันถึงรถถังมานาน แถมมีวิสัยทัศน์ในการใช้มันทำสงคราม และแล้วความปรารถนาของเขากลายเป็น ‘คำสั่งของท่านผู้นำ’ ในเดือนกุมภาพันธ์ 1940 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ สั่งการให้รอมเมลได้ตำแหน่งผู้บัญชาการกองรถถังที่ 7 ซึ่งเป็นกองรบระดับหัวแถวของกองทัพเยอรมัน ก่อนผละออกจากห้องทำงานของผู้นำ ฮิตเลอร์มอบหนังสือ Mein Kampf พร้อมข้อความลายเซ็น “มอบแด่นายพลรอมเมลเพื่อเป็นที่ระลึกด้วยไมตรี” สองเดือนถัดมารอมเมลเขียนจดหมายเล่าความในใจถึงลูซี-มาเรีย (Lucie-Maria) ผู้เป็นภรรยา “ถ้าเราไม่มีผู้นำท่านนี้ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีผู้ชายเยอรมันคนไหนอีกหรือไม่ที่เข้าใจลึกซึ้งถึงศิลปะของการนำกองทัพและการเมืองเช่นนี้”

รอมเมลไม่เพียงชื่นชมท่านผู้นำแต่ฝ่ายเดียว ฮิตเลอร์ยังแสดงความชื่นชมด้วยการยกฐานะให้เขาเป็นนายพลคนสนิทและตอบแทนเขาด้วยลาภยศ ขณะเดียวกันเขาก็รับใช้โยเซฟ เกิบเบลส์ (Joseph Goebbels) ในฐานะนายทหารที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการโฆษณาชวนเชื่อเรื่องสงคราม และในฐานะ ‘สุนัขจิ้งจอกทะเลทราย’ เขายังเป็นคนเยอรมันที่มีชื่อเสียงโด่งดังรองจากฮิตเลอร์ทั้งในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา แม้แต่ศัตรูรายใหญ่ของนาซีเยอรมนีก็ยังให้ความเคารพต่อแอร์วิน รอมเมล

แอร์วิน รอมเมล เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 1891 ในเมืองไฮเดนไฮม์ของแคว้นชวาเบน เป็นลูกคนที่สองของครอบครัวพี่น้องสี่คน พ่อเป็นครูหัวโบราณที่เคร่งครัดเรื่องระเบียบวินัย กำหนดเส้นทางชีวิตให้ลูกเลือกสองทาง ถ้าไม่เป็นครูก็เป็นนายทหาร แอร์วินใฝ่ฝันตั้งแต่วัยเยาว์ว่าโตขึ้นอยากเป็นวิศวกรเครื่องบิน เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมฯ ปลาย ปี 1910 รอมเมลเลือกเรียนต่อในสถาบันของทหาร แต่เมื่อจบหลักสูตรจากวิทยาลัยสงครามในเมืองดันซิกเขาทำได้เพียงใบประกาศนียบัตร ‘ทหารเกรดเฉลี่ย’ พร้อมเป็นกำลังพลให้กับกองทัพเท่านั้น รอมเมลสร้างชื่อเป็นทหารกล้าขึ้นมาจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ในสนามรบอิซอนโซครั้งที่สิบสอง เมื่อเดือนตุลาคม 1917 ระหว่างที่หน่วยรบเยอรมันรุดไปช่วยออสเตรียตอบโต้อิตาลี รอมเมล-ทหารยศนายร้อย กับหน่วยรบของเขาสามารถยึดเขามาตาจูร์ได้ภายใน 52 ชั่วโมงโดยไม่ได้หยุดพัก เป็นการเดินทัพระยะทาง 18 กิโลเมตร

เส้นทางขึ้นเขาสูง 2,400 เมตร และทางลาดลงเขาอีก 800 เมตร ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวของเขาเป็นที่ประทับใจของทหารในกอง รอมเมลมักอยู่แถวหน้ากับนายทหารของเขาเสมอ จนเลื่องลือกันว่าแนวหน้าอยู่ไหนรอมเมลอยู่ที่นั่น นอกจากนี้เขายังเป็นชาวชวาเบนที่มัธยัสถ์ ขยันขันแข็ง และมีความลึกซึ้งกับสิ่งที่ตนเองทำ รอมเมลรวบรวมประสบการณ์ของเขาเขียนเป็นหนังสือ Infanteriegreift an (Infantry Attacks) ตีพิมพ์ออกมาในปี 1937 และกลายเป็นหนังสือขายดี อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่ชื่นชอบในงานเขียนของเขาได้แต่งตั้งรอมเมลในฤดูใบไม้ร่วงปี 1938 ขึ้นเป็นผู้บัญชาการ ‘กองพันคุ้มกันผู้นำ’ ก่อนที่กองทัพเยอรมันจะบุกโจมตีโปแลนด์ไม่นาน ฮิตเลอร์เลื่อนยศรอมเมลขึ้นเป็นนายพลคราวนั้นรอมเมลเขียนจดหมายถึงภรรยาว่า “เป็นเรื่องวิเศษจริงๆ ที่เรามีผู้ชายคนนี้(เป็นผู้นำ)” ลูซี รอมเมล ซึ่งเป็นสาวกฮิตเลอร์ตัวจริงจากเมืองดันซิกเห็นพ้องเช่นนั้น เธอมักตั้งคำถามกับแขกที่มาเยือนและเพื่อน ๆ ของเธอว่า “คุณสวดมนต์ให้กับผู้นำของเราทุกคืนหรือเปล่า” บ่อยครั้งรอมเมลได้รับเกียรติให้ร่วมมื้อกลางวันเคียงข้างผู้นำ เขากับฮิตเลอร์มักมีเรื่องพูดคุยกันเกี่ยวกับปัญหาในกองทัพ และทั้งสองมีความเห็นตรงกันว่า กองรถถังและกองบินเป็นยุทโธปกรณ์สำคัญของการนำทัพสมัยใหม่

ตำนานความสำเร็จในอาชีพทหารของ แอร์วิน รอมเมล บันทึกไว้จากเหตุการณ์สู้รบกับกองทัพฝรั่งเศสเมื่อปี 1940 เขานำกองรถถังที่ 7 ออกรบแนวหน้าเหมือนอย่างเคยและปฏิบัติภารกิจอย่างรวดเร็ว จนทหารฝรั่งเศสตั้งฉายาให้กองรบของรอมเมลว่าเป็น ‘กองรบปีศาจ’ รอมเมลและกองรถถังของเขาบุกโจมตีฝรั่งเศสในสนามรบฝั่งตะวันตกได้ภายใน 11 วัน เคลื่อนทัพถึงบริเวณใกล้เมืองอับเบอวิลล์ได้ในวันที่ 21 พฤษภาคม 1940 สร้างความปรีดาให้กับ ‘ผู้นำ’ เป็นอย่างมาก ผลงานครั้งนั้นทำให้นายพลรอมเมลได้รับเหรียญกางเขนอัศวิน ในปีถัดมาฮิตเลอร์ยังเรียกตัวเขาเข้าพบพร้อมมอบสัญลักษณ์ใบโอ๊คให้ โยเซฟ เกิบเบลส์ นำความชื่นชมยินดีของฮิตเลอร์ไปขยายความต่อด้วยการออกสื่อเชิดชูนายพลรอมเมลเป็นวีรบุรุษของชาติ ในช่วงเวลานั้นรอมเมลได้นำทัพเข้าร่วมกับกองกำลังของอิตาลี ใช้ชื่อว่า ‘แอฟริกาคอร์ป’ ต่อสู้กับฝ่ายสัมพันธมิตรในแอฟริกาเหนือ ครั้งนั้นเขาได้รับชัยชนะและเป็นที่ชื่นชม แต่ก็ต้องขอบคุณเบนิโต มุสโซลินี (Benito Mussolini) นายกรัฐมนตรีจอมเผด็จการของอิตาลี ที่ช่วยส่งกองกำลังจากลิเบียในอาณานิคมเพื่อต่อต้านราชอาณาจักรอียิปต์ที่อังกฤษหนุนหลัง

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 1941 เมื่อแอร์วิน รอมเมล เคลื่อนพลถึงเมืองทริโปลี เขาสั่งการให้พลรถถังขับสำแดงอำนาจไปมาท่ามกลางขบวนพาเหรดต้อนรับ เพื่อประกาศความแกร่งกร้าวให้สายสืบของอังกฤษได้ประจักษ์ ต่อมาเขายังสั่งการให้สร้างหุ่นรถถังจากโครงรถและไม้อัดของโฟล์กสวาเกน ลูกล่อลูกชนที่แพรวพราวของรอมเมลอย่างนี้เองเป็นที่มาของสมญานาม ‘สุนัขจิ้งจอกทะเลทราย’ สี่สิบวันหลังจากเดินทางถึงแอฟริกา ทั้งที่หน่วยรบฝีมือเจนจัดยังเดินทางมาถึงทริโปลีไม่ครบ เขาก็เริ่มนำทัพออกศึกโจมตีซีเรนาอิกา (เมืองทางชายฝั่งตะวันออกของลิเบีย) และยึดคืนได้สำเร็จภายในเวลาสามสัปดาห์ กองรบของเขาสามารถยึดครองพื้นที่ในรัศมีราว 800 กิโลเมตร ในแอฟริกาด้านตะวันออกไปจนถึงพรมแดนของอียิปต์

เจ้าหน้าที่กระทรวงโฆษณาการภายใต้การดูแลของโยเซฟ เกิบเบลส์ นำข่าวนี้มาโฆษาณาชวนเชื่ออีกครั้ง คราวนี้ปั้นแต่งให้เขาเป็นลูกกรรมกรและอดีตสมาชิกพรรคนาซีที่ประสบความสำเร็จถึงขั้นนายพล ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ใช่ หลังจากรอมเมลและหน่วยรบของเขาบุกเข้ายึดปราการโทบรุคได้สำเร็จ ในเดือนมิถุนายน 1942 ฮิตเลอร์ได้แต่งตั้งนายพลวัย 50 เป็นจอมพลที่อายุน้อยที่สุดเท่าที่เคยมี

แอร์วิน รอมเมล เป็นนักยุทธศาสตร์ที่ชาญฉลาด แต่บางครั้งเขาก็ผิดพลาดในเรื่องการคาดการณ์ด้านเสบียงและกำลังพลในระยะยาว ปลายปี 1941 กองทัพอังกฤษเริ่มรุกคืบโจมตีตอบโต้ เพื่อไม่ให้ฝ่ายอักษะรุกคืบเข้าไปในอียิปต์มากขึ้น แต่ก็ตรึงกำลังไว้ได้แค่เมืองอัล-อะละมัยน์ ระยะห่างราวหนึ่งร้อยกิโลเมตรทางตะวันตกของอเล็กซานเดรีย ในฤดูร้อน 1942 รอมเมลพยายามล้ำเส้นของฝ่ายสัมพันธมิตรอีกสองครั้งแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ นายพลเบอร์นาร์ด มอนต์โกเมอรี (Bernard Montgomery) ของอังกฤษ นำทัพเข้าสู่ยุทธการเพื่อแย่งชิงฐานยุทธศาสตร์คลองสุเอซ และสามารถพลิกเกมของกองทัพนาซีได้โดยใช้กลยุทธ์ลวงทัพแอฟริกาคอร์ปของรอมเมลว่ามีกองกำลังอยู่ทางใต้จากอัล-อะละมัยน์ จนรอมเมลต้องติดกับ และนายพลมอนต์โกเมอรีก็บุกเข้าโจมตีอีกครั้งในตอนกลางคืนของวันที่ 2 พฤศจิกายน 1942 จนแอฟริกาคอร์ปแตกพ่าย ต้องถอยทัพกลับไปที่ลิเบีย และไปสิ้นสุดที่ตูนิเซีย นอกจากทัพจะแตกพ่ายแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างรอมเมลกับฮิตเลอร์ก็แตกหักในคราวนั้นเช่นกัน

ครั้งนั้นรอมเมลรู้ตัวว่ากองรบของตนด้อยกว่าเพราะมีรถถังพร้อมปฏิบัติการอยู่เพียง 35 คัน เขาจึงมีแผนคิดจะถอนกำลัง แต่ฮิตเลอร์กลับสั่งการให้ตรึงกำลัง “หน่วยรบของคุณจะต้องไม่ปฏิบัติการอย่างอื่น นอกจากรบจนชนะหรือตาย” รอมเมลรับปฏิบัติตามคำสั่ง ทว่าในวันถัดมาฮิตเลอร์มีคำสั่งให้ถอนกำลังเสียเอง รอมเมลไม่เข้าใจที่ว่าฮิตเลอร์มองแอฟริกาเหนือเป็นเพียงสงครามรองบ่อน แต่กลับไปทุ่มเทความสำคัญให้กับสงครามฟากตะวันออกของเยอรมนี หลังความปราชัยในครั้งนั้น ทำให้ฮิตเลอร์เรียกตัวแอร์วิน รอมเมล กลับเข้าประจำการในสำนักไรช์ ที่กรุงเบอร์ลินในเดือนมีนาคม 1943

ต่อมากลางเดือนพฤษภาคมแอฟริกาคอร์ปที่เหลือก็เผชิญกับความพ่ายแพ้อย่างราบคาบ รอมเมลเริ่มกลายเป็นคนป่วยซึมเศร้า ปลายปี 1943 รอมเมลถูกย้ายไปประจำการในฝรั่งเศส แต่แล้วต้นเดือนมิถุนายน 1944 อเมริกาและอังกฤษเริ่มแผนปฏิบัติการ ‘Overlord’ โดยส่งพลร่มลงพื้นที่นอร์มังดีอย่างที่คาดการณ์ไว้ ในระหว่างที่รอมเมลร่วมฉลองวันเกิดของภรรยาอยู่ที่บ้าน ห้าวันหลังจากดี-เดย์ ฝ่ายสัมพันธมิตรค่อย ๆ รุกคืบยึดคืนพื้นที่ ในตอนนั้นรอมเมลเชื่อว่าเยอรมนีถึงคราวพ่ายแพ้แน่แล้ว และน่าจะมีทางออกเพียงทางเดียว คือการเจรจาสันติภาพกับอเมริกาและอังกฤษเพื่อไม่ต้องทำสงครามกับรัสเซียต่อไป

16 มิถุนายน 1944 สิบวันหลังจากฝ่ายสัมพันธมิตรยกพลขึ้นบก ฮิตเลอร์เดินทางถึงฝรั่งเศสเพื่อให้ แกร์ด ฟอน รุนด์ชเด็ดต์ (Gerd von Rundstedt) รายงานสถานการณ์ ลงท้ายด้วยเสียงคำราม “จะไม่มีการถอย ไม่มีการหลบเลี่ยง พวกคุณจะต้องยืนหยัด สู้ หรือไม่ก็ตาย” เขายังปฏิเสธการเจรจาสันติภาพ ทั้งยังสั่งการให้ “รบต้านอย่างดุดัน” ก่อนผู้นำจะจากลา รอมเมลเอ่ยถาม “ท่านผู้นำท่านคิดว่าสงครามนี้จะดำเนินต่อไปอย่างไร” ฮิตเลอร์ได้ฟังแล้วหงุดหงิด “นั่นไม่ใช่คำถามที่ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างคุณต้องมาถาม ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผม” ในตอนนั้นรอมเมลคาดหวังในใจว่าฮิตเลอร์จะลาออก ส่วนความคิดที่จะลอบสังหารนั้นเขาไม่สามารถทำได้ เพราะด้วยบุญคุณค้ำอยู่ กระทั่งมีปฏิบัติการ ‘แผนลับ 20 กรกฎาคม 1944’ขึ้น เป็นความพยายามลอบสังหารฮิตเลอร์ภายในกองบัญชาการสนาม ‘รังหมาป่า’ ของนายทหารระดับสูงฝ่ายที่เห็นค้านฮิตเลอร์ ต้องการช่วงชิงอำนาจการปกครองเยอรมนีให้พ้นจากพรรคนาซี เพื่อนำมาซึ่งสันติภาพกับฝ่ายสัมพันธมิตร แต่การปฏิบัติการล้มเหลว ทำให้ผู้คบคิดและผู้ปฏิบัติการถูกจับกุมและถูกประหารชีวิต แอร์วิน รอมเมล ติดอยู่ในรายชื่อผู้ต้องสงสัยในแผนปฏิบัติการครั้งนั้นด้วย เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ก่อการบางคน ความปรานีที่ฮิตเลอร์หยิบยื่นให้คือ การส่งลูกน้องมาเจรจาให้ทางเลือกว่าจะเข้าสู่การพิจารณาคดีต่อหน้าศาลประชาชนหรือจะฆ่าตัวตาย และให้ถือเป็นการตายในฐานะผู้บาดเจ็บเสียชีวิต “ผมเคยรักท่านผู้นำ และยังรักอยู่” รอมเมลบอกกับภรรยา ก่อนเดินไปเปิดประตูรถยนต์ ก้าวขึ้นนั่ง และกัดแคปซูลไซยาไนด์

ทุกวันนี้ทั่วโลกกำลังขับเคลื่อนเรื่องการรื้อถอนอนุสรณ์สถานที่รำลึกถึงบุคคลในประวัติศาสตร์ตามสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่ารูปปั้นนักค้าทาสอย่างเอ็ดเวิร์ด โคลสตัน ในบริสตอล รูปปั้นคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสในริชมอนด์ (รัฐเวอร์จิเนีย) และเซนต์ปอล (รัฐมินเนโซตา) ฯลฯ ที่เมืองไฮเดนไฮม์ รัฐบาเดน-เวืร์ตเทมแบร์กของเยอรมนีก็เช่นกัน ผู้คนกำลังเคลือบแคลงเกี่ยวกับแผ่นหินขนาดใหญ่บนเนินเขาซังเงอร์ที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงจอมพลแอร์วิน รอมเมล มาตั้งแต่ปี 1961 และเชิดชูวีรกรรมของเขาในฐานะ ‘สุนัขจิ้งจอกทะเลทราย’ นายพลแอฟริกาคอร์ปของเยอรมนีระหว่างประจำการในแอฟริกาเหนือ (กุมภาพันธ์ 1941-มีนาคม 1943) ซึ่งเคยวางกับระเบิดเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ในลิเบียและตูนีเซีย

นับแต่ทศวรรษ 1980s เป็นต้นมา นักสถิติสรุปยอดผู้เสียชีวิตจากกับระเบิดนั้นไม่ต่ำกว่า3,300 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกราว 7,500 คน แต่ที่ไม่มีใครเคลือบแคลงสงสัย นั่นคือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 1944 ที่ฮิตเลอร์ บังคับให้รอมเมลต้องทำอัตวินิบาตกรรม เขาเป็นบุคคลสำคัญในโฆษณาชวนเชื่อของกองทัพนาซีเยอรมัน และถือเป็นบุคคลตัวอย่างของ ‘นายทหารที่มือสะอาด’ เป็นที่เคารพแม้กระทั่งของฝ่ายอังกฤษซึ่งเป็นศัตรูในขณะนั้น อีกทั้งมีหนังสือภาษาอังกฤษหลายเล่มที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเขา รวมถึงนำเรื่องราวของเขาไปสร้างเป็นภาพยนตร์

 

อ้างอิง:

https://www.grin.com/document/204752

https://www.landeskunde-baden-wuerttemberg.de/rommel-erwin-mythos

https://www.welt.de/geschichte/zweiter-weltkrieg/article212092805/Denkmal-fuer-Erwin-Rommel-Der-Wuestenfuchs-und-seine-Minenfelder.html

Tags: , ,