ความนิยมดอกกุหลาบ รวมถึงสถานะ ‘สัญลักษณ์แทนความรัก’ ตามสากลของดอกไม้ชนิดนี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เมื่อไรนั้น ไม่มีใครสามารถตอบได้แน่ชัด รู้เพียงแต่ว่าความหมายของกุหลาบหยั่งรากลึกลงในใจของผู้คนจากอดีตถึงปัจจุบัน ทั้งในตะวันตกและตะวันออก จากเทพนิยายกรีกโบราณ ตำนานฮินดู บทกวีของเชกสเปียร์ ไปจนถึงภาษาดอกไม้ที่กลายเป็นที่นิยมในยุควิกตอเรียน

แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ‘อุตสาหกรรมดอกไม้’ เป็นหนึ่งวงการที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกระบวนการเพาะปลูกกุหลาบปริมาณมหาศาล เพื่อรองรับความต้องการในโอกาสสำคัญ แน่นอนว่าในโอกาสการแสดงความรักสุดพิเศษ สิ่งสำคัญคือหน้าตาที่สวยงามของดอกไม้ จึงไม่แปลกที่สารเคมีจะถูกใช้เพื่อป้องกันแมลงหรือศัตรูพืชจนเป็นเรื่องปกติ แม้รู้ดีกว่าสารเคมีเหล่านี้ตกค้างอยู่ในพื้นที่เพาะปลูกและระบบนิเวศประจำถิ่นก็ตาม

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบด้านพลังงานและมลพิษที่เกิดจากการเพาะปลูกในเรือนกระจกและขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ เนื่องจากกุหลาบไม่ใช่พืชพันธ์ุประจำท้องถิ่นของหลายพื้นที่ทั่วโลก และเดือนกุมภาพันธ์ก็ไม่ใช่เดือนที่ดอกกุหลาบผลิบานตามธรรมชาติ สำหรับประเทศต่างๆ ที่สภาพอากาศไม่เป็นใจ รวมถึงประเทศไทย 

ดังนั้น ดอกกุหลาบที่วางขายในช่วงเทศกาลแห่งความรัก จึงนำเข้าจากประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ เช่น เนเธอร์แลนด์หรือสาธารณรัฐประชาชนจีน

อ้างอิงจากข้อมูลของสถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง ดอกกุหลาบที่ขายในประเทศไทยกว่า 60% (และ 90% ในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์) มาจากประเทศจีน โดยเฉพาะจากตลาดโต่วหนาน (Dounan Flower Market) ในนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นตลาดการค้าดอกไม้สดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน แม้แต่ในปากคลองตลาดที่เป็นตลาดดอกไม้สดที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ ยังประสบกับปัญหาทุนจีนครองส่วนแบ่งตลาด โดยวิธีตั้งนอมินีเข้าซื้อตึกเปิดร้านขายดอกไม้ เพื่อแข่งกับร้านค้าดอกไม้ประจำถิ่นดั้งเดิมที่ดำเนินการโดยคนไทย

ยังไม่นับรวมถึงขยะมูลฝอยแบบ Single-Use ปริมาณมหาศาลจากวัสดุที่ใช้ในการจัดดอกไม้ ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก โฟม และวัสดุประเภทอื่นๆ ที่ไม่สามารถย่อยสลาย หรือนำมารีไซเคิลได้ ไหนจะภูเขาดอกไม้ในกองขยะหลังช่วงเทศกาลที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกด้วยผลเสียนานัปการของอุตสาหกรรมดอกไม้นอกฤดูกาลนี้ ทำให้นักสิ่งแวดล้อมทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปและอเมริกาเหนือ เริ่มรณรงค์ให้ผู้คนหันมาเลือกดอกไม้ประจำถิ่นที่เบ่งบานตามฤดูกาล โดยเฉพาะดอกไม้นอกวงอุตสาหกรรมที่เติบโตตามธรรมชาติ สำหรับมอบให้คนรัก เพื่อน และครอบครัวเพื่อแทนความในใจแทน

โชคดีที่สำหรับเมืองร้อนอย่างประเทศไทย เรามีดอกไม้ให้เลือกมากมาย ทั้งดอกไม้ฤดูหนาวประจำถิ่นที่ผลิบานตามธรรมชาติในเดือนกุมภาพันธ์ เช่น ลำดวน พะยอม แก้วเจ้าจอม กระดังงา รักเร่ เสลา ช่อมาลี จันทร์กะพ้อ ปีบ (กาสะลอง) ตลอดจนดอกไม้ที่ผลิบานตลอดทั้งปีทำให้มีราคาค่อนข้างถูก เช่น มะลิ สร้อยอินทนิล พุดแคระ แก้ว บานไม่รู้โรย คุณนายตื่นสาย และกระดุมทอง

หากศึกษาความหมายของดอกไม้พื้นถิ่นสายพันธุ์ต่างๆ เราอาจพบว่าดอกไม้เหล่านี้เป็นสัญลักษณ์แทนความรักและความชื่นชมได้อย่างลึกซึ้งและสวยงามไม่แพ้กัน ยกตัวอย่างเช่น

ดอกลำดวน-สื่อถึงความรักที่ยั่งยืนยาวนาน

ดอกกระดุมทอง-สื่อว่าจะรักมั่นคง ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใดที่เข้ามา

ดอกแก้ว-สื่อว่าอีกฝ่ายเป็นดั่งแก้วตาดวงใจ

ดอกช่อมาลี-สื่อถึงความตั้งใจจะปกป้องทะนุถนอมอีกฝ่าย

ดอกกระดังงา-สื่อถึงเสน่ห์เย้ายวนที่ดูมีความเป็นผู้ใหญ่

Tags: , , , , , , , , , , , ,