เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีงานวิจัยชิ้นสำคัญถูกตีพิมพ์ภายใต้ทุนขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) ที่ชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศใต้ท้องทะเลที่มีจำนวนลดน้อยลง โดยเฉพาะปลาทะเลน้ำลึก และงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า มีสัตว์ทะเลจำนวนมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ กำลังอยู่ในวิกฤตใกล้สูญพันธ์ุและมีความเป็นไปได้ว่าบางชนิดอาจสูญพันธุ์ก่อนที่จะถูกค้นพบ
งานวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับความคิดเห็นของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ที่เคยกล่าวในการเจรจาหารือบนเวทีสหประชาชาติ (United Nation: UN) ถึงประเด็นที่มนุษยชาติกำลังใช้ประโยชน์จากทะเลมากจนเกินไป จึงจำเป็นต้องมีเขตคุ้มครองน่านน้ำสากลเพื่อให้มหาสมุทรได้ฟื้นตัวอีกครั้ง
ทั้งนี้มีการพูดคุยประเด็นดังกล่าวมามากกว่า 10 ปี และปลายปีนี้จะมีการจัดการประชุมครั้งที่ 5 บนเวทีสหประชาชาติ โดยเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายเพื่อลงนามในสนธิสัญญาการคุ้มครองทางทะเล และกำหนดเส้นตายสำหรับบรรดาสมาชิกนานาชาติของยูเอ็นในสิ้นปีนี้
นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมให้ความเห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าวไม่ต่างจากความหวังที่มีเพื่อคุ้มครองสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลจากการกระทำของมนุษย์ ที่ผ่านมา พื้นที่มากกว่า 2 ใน 3 ของมหาสมุทรของโลกในปัจจุบันถือเป็นน่านน้ำสากล ซึ่งหมายความว่าทุกประเทศมีสิทธิจับปลา แต่มีเพียง 1.2 เปอร์เซ็นต์ของทะเลหลวงเท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครอง หากมติดังกล่าวมีผู้เห็นด้วยเกินกึ่งหนึ่ง จะทำให้กว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของมหาสมุทรได้รับการคุ้มครองภายใต้การรับรองของสหประชาชาติ
สนธิสัญญาดังกล่าวจะทำให้พื้นที่ต่างๆ ของมหาสมุทรโลกอยู่ในเครือข่ายพื้นที่คุ้มครองทางทะเล และมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนจะดำเนินการในกิจกรรมเชิงพาณิชย์ทุกรูปแบบ อาทิ การประมงน้ำลึกที่มากจนเกินไป หรือการทำเหมืองใต้ผิวน้ำ ซึ่งเป็นการขุดเพื่อนำแร่ธาตุออกจากก้นทะเล โดยแร่ธาตุเหล่านี้อาจเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลตามรายงานของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ
อย่างไรก็ดี ลีนา ลี (Rena Lee) ประธานการประชุมสหประชาชาติในเรื่องสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 4 กล่าวว่า เธอเชื่อมั่นว่านานาประเทศภายใต้สมาชิกของยูเอ็นจะเห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว เพราะมหาสมุทรไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของทุกชีวิตที่อาศัยบนโลกใบนี้ และการปกป้องมหาสมุทรของโลกก็มีความสำคัญสำหรับประชากรมนุษย์เช่นกัน เนื่องจากผู้คนจำนวนมากพึ่งพาทะเลเป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งรายได้ และกิจกรรมสันทนาการ
“ฉันเชื่อว่าด้วยความมุ่งมั่นและความทุ่มเทอย่างต่อเนื่อง เราจะสามารถสร้างสะพานและปิดช่องว่างที่เหลือได้”
ที่มา
https://www.bbc.com/news/science-environment-62524611
https://www.bbc.com/news/science-environment-45397674
https://www.un.org/en/conferences/ocean2022
Tags: Environment, สิ่งแวดล้อม, ยูเอ็น, ทะเล