ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาทีมงาน The Momentum มีโอกาสลงพื้นที่สำรวจภูเก็ต ดินแดนที่ได้ชื่อว่า ‘ท้องฟ้าและผืนฟ้ามาบรรจบกัน’ ท่ามกลางความสวยงามของน้ำทะเลสีคราม ธรรมชาติเขียวขจี หาดทรายขาวนวลไกลสุดลูกหูลูกตา กลับมีสิ่งหนึ่งที่แทรกเข้ามา
นั่นคือ ‘สึนามิ’ (Tsunami) ภัยพิบัติที่เคยเกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าวันที่ 26 ธันวาคม 2547 สร้างความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ให้กับชายฝั่งทะเลอันดามัน หาดป่าตอง หาดกะรน หาดกมลา หาดไม้ขาว หาดราไวย์ และหาดในยางที่ใกล้กับสนามบินนานาชาติภูเก็ต ที่ถูกคลื่นสูงไม่ต่ำกว่า 4 เมตร พัดถล่มจนสภาพราบเป็นหน้ากลอง และหากมองภาพรวมใหญ่กว่านั้นมีจังหวัดทางภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบถึง 6 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล ที่น่าเศร้าคือ ทั้งชาวบ้านและนักท่องเที่ยวนับพันรายไม่มีเวลาหรือโอกาสมากพอจะหนีเงื้อมมือมฤตยูดังกล่าวทัน
5,400 รายคือจำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตที่สามารถระบุได้จากเหตุสึนามิครั้งนั้น ยังไม่นับรวมตัวเลขผู้สูญหายที่ไม่สามารถพิสูจน์อัตลักษณ์หรือร่างถูกซัดจมหายไปในทะเลมากกว่าหมื่นราย
เพื่อลดทอนความสูญเสียและยับยั้งไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าวอีกครั้ง รัฐบาลในยุคทักษิณ ชินวัตร จึงจัดตั้ง ‘ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ’ (ศภช.) โดยมีระบบเตือนภัย ได้แก่ หอเตือนภัย สถานีถ่ายทอดสัญญาณเตือนภัย (CSC) หอกระจายข่าวในชุมชน, เครื่องรับสัญญาณเตือนภัยผ่านดาวเทียม (EVAC) แอปพลิเคชัน THAI DISASTER ALERT และบนบัญชีแอปพลิเคชัน LINE Official Account โดยอาศัยระบบตรวจจับผ่านอุปกรณ์ที่เรียกว่า ‘ทุ่นสึนามิ’ (Tsunami Buoys)
ทั้งนี้ ทุ่นสึนามิดังกล่าวมีจำนวนทั้งหมด 2 ตัว คือ
1. สถานี 23401 ติดตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ 1 ชั่วโมง 45 นาที-2 ชั่วโมง
2. สถานี 23461 ติดตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ 45 นาที
ฟังเท่านี้อาจสบายใจได้ว่า แม้วันใดวันหนึ่งหากเกิดเหตุซ้ำรอยสึนามิประชาชนในพื้นที่เสี่ยงย่อมปลอดภัย ถึงกระนั้น เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 กลับมีรายงานจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย (ปภ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการแจ้งเตือนภัยสึนามิในปัจจุบันว่า ทุ่นสึนามิประจำสถานี 23461 หลุดจากตำแหน่งประจำการและหยุดส่งสัญญาณ โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 กระทั่งวันที่ 7 สิงหาคม 2566 ปภ.จะร่วมกับกองทัพเรือภาคที่ 3 เพื่อเก็บกู้ทุ่นดังกล่าวขึ้นฝั่งเพื่อตรวจสอบและซ่อมแซมต่อไป
ทั้งนี้ อาจเบาใจได้ในระดับหนึ่งเมื่อ ปภ.รายงานว่า ทุ่นสึนามิชุดใหม่จะถูกขนส่งจากประเทศสหรัฐอเมริกาและมาถึงภายในเดือนมีนาคม 2567 ก่อนที่ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันจะมีการติดตั้งทุ่นสึนามิชุดใหม่มาประจำการแทนของเดิม โดยการติดตั้งใหม่จำเป็นต้องใช้ทีมงานที่เชี่ยวชาญ ซึ่งสามารถคำนวณสภาพผืนน้ำ สภาพอากาศ และแรงลมที่คาดว่าจะมีกำลังมหาศาลเนื่องจากอยู่ในหน้ามรสุม
แต่คำถามสำคัญคือ ทุ่นสึนามิที่ควรจะเป็นอุปกรณ์สำคัญต่อการแจ้งเตือนภัยพิบัติร้ายแรง กลับถูกละเลยจนพังแล้ว พังอีก พังต่อ ทั้งที่เหตุการณ์ข้างต้นไม่ใช่ครั้งแรกที่อุปกรณ์ดังกล่าวพัง
ที่มีข้อมูลแน่ชัดนั้นมีตั้งแต่ปี 2556 หลังปภ. (ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติในเวลานั้น) รายงานว่า ทุ่นสึนามิประจำสถานี 23461 หยุดส่งสัญญาณ
เมื่อไม่นานมานี้ในปี 2564 มีรายงานว่า ทุ่นสึนามิสถานี 23401 หลุดจากตำแหน่งติดตั้ง และสถานี 23461 หยุดส่งสัญญาณ รวมไปถึงปี 2565 ที่ฟังก์ชันตรวจวัดคลื่นของทุ่นสึนามิขัดข้องจนส่งสัญญาณผิดพลาดและต้องปิดการแสดงข้อมูลชั่วคราวบนเว็บไซต์ของ ปภ.
หากดูจากรายงานของ ปภ.ในการซ่อมแซมหรือติดตั้งทุ่นสึนามิชุดใหม่แต่ละครั้ง มักใช้เวลา 5-6 เดือน โดยแต่ละครั้งใช้งบประมาณถึงหลักล้านเสมอ และ ศภช.ยืนยันว่ามีการซ่อมบำรุงทุ่นสึนามิเป็นประจำทุก 2 ปี ตามมาตรฐานขององค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA)
อย่างไรก็ดี หากดูจำนวนประชากรที่เข้ามาในเกาะภูเก็ต รวมถึงการประมงที่กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งหลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบในปี 2565 ทำให้การสัญจรท่องเที่ยวทางน้ำและการประมงชุกชุมทั่วน่านน้ำอันดามัน โดยเฉพาะในภูเก็ตที่มีจำนวนประชากรเวลานี้มากกว่า 4 แสนราย ซึ่งมีส่วนกระทบต่อจุดติดตั้งของทุ่นเตือนภัยสึนามิ ดังที่มีรายงานจาก ปภ.ว่า สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทุ่นเกิดชำรุดมาจากชาวประมงที่ผูกเรือกับทุ่นเพื่อจอดเรือหาปลา การแล่นเร็วของเรือสปีดโบ๊ต หรือแม้แต่ช่วงหน้ามรสุมที่รุนแรงต่างจากเมื่อก่อน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
แม้ ปภ.จะระบุว่า ความเสียหายของทุ่นสึนามิ สถานี 23461 ที่เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2566 จะไม่ใช่เรื่องอันตราย และสามารถประมวลข้อมูลเตือนภัยจากภาคีเครือข่ายในต่างประเทศ เช่น อินเดียและอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ในละแวกใกล้เคียง หรือติดตามข้อมูลข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำจากสถานีเฝ้าระวังบริเวณเกาะเมียง จังหวัดพังงา และสถานีเกาะราชาน้อย ภูเก็ต ของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ โดยที่ข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำมาประกอบวิเคราะห์กับแบบจำลองการเกิดคลื่นสึนามิ
ทว่าหากดูจากภาพรวมทั้งในแง่ของการลงทุนติดตั้ง ระยะเวลาซ่อมแซมแต่ละครั้ง และความเสถียรในการแจ้งเตือนภัยก่อนเกิดคลื่นยักษ์ได้ก่อน 1 ชั่วโมง 30 นาที โดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาข้อมูลจากชาติอื่นที่ไม่รู้ว่า หากถึงเวลานั้นจะเกิดขัดข้องพร้อมกันหรือไม่นั้น ก็ไม่อาจนิ่งนอนใจได้เลยว่า ปัญหาทุ่นสึนามิพังจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อวงกว้างเพียงใด เพราะนั่นไม่ใช่แค่เรื่องของทรัพย์สิน แต่คือ ‘ชีวิต’ ของผู้คน ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดความสูญเสียเฉกเช่นครั้งเมื่อปี 2547
ว่าง่ายๆ คือ ในเมื่ออะไรก็ไม่แน่นอนโดยเฉพาะเรื่องของธรรมชาติ การมีอุปกรณ์ที่เพียบพร้อมย่อมดีกว่าขาดมิใช่หรือ? นี่จึงเป็นโจทย์ที่รัฐบาล หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องร่วมด้วยช่วยกันดูแล พร้อมป้องกันไม่ให้ทุ่นสึนามิเสียหายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดีกว่าการที่จะมาวัวหายแล้วล้อมคอกซ้ำไปซ้ำมา โดยที่สักวันหนึ่งธรรมชาติอาจไม่ปรานีเราเหมือนที่ผ่านมา และส่งสัญญาณเตือนเราบ่อยครั้งมากขึ้น
อ้างอิง
https://www.thairath.co.th/news/tech/391829
https://www.springnews.co.th/news/825006
https://www.thaipbs.or.th/news/content/317259
https://www.thaipbs.or.th/news/content/317271
https://ndwc.disaster.go.th/ndwc/cms/7017?id=45015
Tags: อันดามัน, พังงา, Tsunami Buoys, ทุ่นสึนามิ, Environment, ภูเก็ต