“สะดวก ง่าย ใช้แล้วทิ้ง” ดูจะเป็นกลุ่มคำที่อธิบายวิถีชีวิตของคนเมืองสมัยนี้ได้เป็นอย่างดี และกลายเป็นเทรนด์ที่ผู้ประกอบการทั้งหลายนำมาเป็นโจทย์สำคัญในการผลิตสินค้าและออกแบบบริการให้ตอบสนองความต้องการของคนยุคใหม่
ไม่ว่าจะช้อปปิ้งออนไลน์ บริการส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ ไปจนถึงของใช้ในชีวิตประจำวันที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อรองรับวิถีชีวิตสมัยใหม่ แม้กระทั่งบนโต๊ะอาหาร ตั้งแต่ยามตื่นจนเข้านอน ชีวิตของเรารายล้อมด้วยสิ่งละอันพันละน้อยที่สะดวกหยิบใช้ สะดวกหยิบกิน และสะดวกโยนทิ้งลงถังขยะ จนบางครั้งเราอาจหลงลืมไปว่า เมื่อมันถูกย้ายออกจากถังขยะในบ้านหรือออฟฟิศเราแล้ว มันจะไปไหนต่อ มันจะอยู่ในธรรมชาตินานแค่ไหนกว่ามันจะย่อยสลาย แล้วระหว่างทางนั้น มันจะไปทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง
เราจึงอยากชวนทุกคนมาสำรวจพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่เรามัก “เอาสะดวกเข้าว่า” หรือแม้แต่อะไรที่พื้นฐานมากๆ ที่ใครๆ ก็ทำกัน แต่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยว่ามันแสนจะไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเมื่อเรารู้แล้ว เราจะมีทางเลือกและช่วยโลกอย่างไรบ้าง
ล้างมือด้วยสบู่ล้างมือ
สบู่ล้างมือเป็นของสามัญประจำอ่างล้างหน้าไปแล้ว สบู่ล้างมือหลายแบรนด์มักจะมีส่วนผสมของไตรโคลซาน ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ผลิตสบู่ประเภทป้องกันเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพและสาเหตุของมะเร็งในหนู นอกจากนี้ เมื่อไตรโคลซานปนเปื้อนไปกับน้ำใช้ในบ้านเรือนลงสู่แหล่งน้ำแล้ว มันก็ไปทำลายแบคทีเรียที่เป็นฐานของห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศในทะเลด้วย
เราจะทำอย่างไร : หลีกเลี่ยงได้ด้วยการอ่านฉลากข้างขวดให้ละเอียด และไม่ใช้สบู่ชนิดป้องกันแบคทีเรีย เพราะไม่มีการยืนยันว่าสบู่ป้องกันแบคทีเรียจะกำจัดแบคทีเรียได้ดีกว่าสบู่ธรรมดาอย่างไร
ใช้ยาสีฟันหรือเจลล้างหน้าที่มีเม็ดบีดส์
ยาสีฟันและเจลล้างหน้าหลายๆ แบรนด์มักโฆษณาว่าใส่เม็ดบีดส์ลงไปในเนื้อผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยขัดฟันให้สะอาด หรือเป็นสครับบ์ช่วยขัดผิว ทั้งสีสันที่อยู่ในเนื้อเจลก็ทำให้รู้สึกน่าใช้ แต่เจ้าเม็ดบีดส์พวกนี้มันมีอันตรายมหันต์ทีเดียว เพราะมันคือพลาสติกไมโครบีดส์ที่ไม่ย่อยสลายในธรรมชาติ และมีขนาดที่เล็กมากจนสามารถผ่านเครื่องกำจัดน้ำเสียไปได้ ในแต่ละปี มีไมโครบีดส์ถูกปล่อยลงสู่ทะเลราว 8 ล้านตันทีเดียว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทะเล และส่งผลกระทบต่อเราด้วยจากอาหารที่เรากินเมื่อมันไปอยู่ในท้องปลาและสัตว์ทะเล
เราจะทำอย่างไร : ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไมโครบีดส์ อ่านฉลากให้ละเอียด หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติที่ช่วยผลัดเซลล์ผิว เช่น เกลือ น้ำตาลทราย กากกาแฟ
ใช้ทิชชู่เปียก
ทิชชู่เปียกดูจะเป็นไอเท็มติดกระเป๋าของคนยุคใหม่ ด้วยที่มันสามารถใช้เช็ดทำความสะอาดร่างกายหรือทำความสะอาดทั่วไปได้แทนการล้างด้วยน้ำและมีความเหนียวยืดหยุ่น ไม่ฉีกขาดง่าย ซึ่งคุณสมบัติของมันกลับกลายเป็นโทษมหันต์เมื่อมันไปอยู่ในท่อระบายน้ำ เพราะมันเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้ท่อระบายน้ำอุดตัน อีกทั้งใยพลาสติกที่เป็นส่วนผสมก็ทำให้มันใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 100 ปี
เราจะทำอย่างไร : แม้ว่าจะมีตัวเลือกอย่างทิชชู่เปียกที่ทิ้งลงชักโครกได้ (Flushable) แต่อย่างไรก็ตาม ทิชชู่เปียกชนิดนี้ก็ยังทำให้ชักโครกอุดตันได้อยู่ การใช้เท่าที่จำเป็นก็อาจช่วยลดขยะจากทิชชู่เปียกได้บ้าง
ดื่มกาแฟแบบแคปซูล
ผู้ที่ชอบดื่มกาแฟรสชาติพรีเมียมคงไม่มีใครไม่รู้จักเครื่องชงกาแฟแบบแคปซูลที่สามารถชงกาแฟได้รสชาติดีเทียบเท่าดื่มที่ร้าน แถมสะดวกและประหยัด เพราะราคาของแคปซูลหรือพอดที่บรรจุกาแฟคั่วบดนั้นราคาไม่แพงเลย แต่ว่าสิ่งที่แพงกว่านั้นคือ พลาสติกและอลูมิเนียมที่เป็นส่วนประกอบของแคปซูลนั้น ยากอย่างยิ่งยวดที่จะนำมารีไซเคิล และในแต่ละปีเจ้าแคปซูลจำนวนเป็นพันล้านถูกทิ้งจากครัวเรือนและอาคารต่างๆ ก็ถูกนำไปถมในที่ทิ้งขยะ
เราจะทำอย่างไร : ชงกาแฟด้วยวิธีอื่นที่สร้างขยะน้อยกว่า เช่น ต้มกาแฟในหม้อ Moka pot หรือชงแบบ French Press อาจไม่ง่ายด้วยปลายนิ้วเดียวเหมือนแบบแคปซูล แต่รักษ์โลกกว่าเยอะ
ใช้ตะเกียบไม้แบบใช้แล้วทิ้ง
ตะเกียบไม้ใช้แล้วทิ้งมีแพร่หลายทั่วไปในร้านอาหารเอเชีย ด้วยที่มันราคาถูก และไม่ต้องล้างเอากลับมาใช้ใหม่ สะดวกต่อการเก็บกวาด และไม่ต้องเปลืองค่าแรง แต่เชื่อไหมว่า เราต้องสูญเสียต้นไม้ 4 ล้านต้น เพื่อผลิตตะเกียบชนิดนี้ 57 พันล้านคู่ในแต่ละปี เป็นตัวเลขที่น่าตกใจทีเดียว นอกจากนี้ในการผลิตมันยังใช้สารเคมีที่มีผลต่อสุขภาพของทางเดินหายใจด้วย
เราจะทำอย่างไร : หากเราพกหลอดสแตนเลสหรือแก้วน้ำ เราอาจจะเพิ่มการพกตะเกียบติดกระเป๋าไปด้วยเผื่อไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ไม่เพียงตะเกียบ แต่ช้อนส้อมแบบใช้แล้วทิ้งก็นิยมแจกในร้านสะดวกซื้อ
ช้อปปิ้งออนไลน์
หลายคนอาจเถียงในใจว่าเมื่อนั่งช้อปอยู่บ้าน ไม่ได้ขับรถออกไปห้างแล้วมันจะไม่รักษ์โลกได้ยังไง แต่ด้วยการที่มันง่ายและสะดวกนี่แหละที่เป็นสาเหตุ เพราะมันทำให้เราซื้อเยอะขึ้น ทำให้มีการขนส่งเพิ่มมากขึ้นด้วย การขนส่งที่เป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่อากาศ นอกจากนี้สินค้าที่ถูกส่งตรงถึงหน้าบ้านลูกค้าก็ต้องแพ็คอย่างดีเพื่อให้ของข้างในยังอยู่ในสภาพดี ของชิ้นหนึ่งอาจสร้างขยะได้อีกหลายชิ้น ทั้งกล่องพัสดุ เทปปิดกล่อง วัสดุกันกระแทก คิดดูว่าเดี๋ยวนี้มีโปรโมชั่นมากมายออกมาล่อตาล่อใจที่ทำให้แม้แต่ตัวเราเองยังช้อปออนไลน์เกือบทุกวัน แล้วถ้าคนทั้งโลกทำเหมือนเรา มันจะสร้างมลพิษและขยะมหาศาลขนาดไหน
เราจะทำอย่างไร : พยายามไปซื้อของด้วยตัวเอง ซึ่งเราสามารถนำของใส่ถุงผ้าหรือถุงพลาสติกรียูสได้ หากทำไม่ได้จริงๆ บางครั้งคิดหลายๆ ครั้งก่อนกดสั่งซื้อของก็อาจช่วยได้
สั่งอาหารเดลิเวอรีหรือสั่งกลับบ้าน
อีกหนึ่งความสะดวกของคนเมืองหลวงที่สร้างขยะมากกว่าที่คิด ยิ่งตอนนี้มีบริการเดลิเวอรีของหลายเจ้าออกมาเป็นทางเลือกให้คนชอบกินแต่ไม่อยากออกจากบ้านได้เลือกใช้ ทั้งแข่งกันโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมมากมายจูงใจให้ใช้บริการ ขณะที่แต่ละออเดอร์นั้นสร้างขยะมากมาย และส่วนใหญ่เป็นถุงพลาสติก กล่องพลาสติกใส่อาหาร ช้อนส้อมแล้วใช้แล้วทิ้ง และซองใส่ซอสต่างๆ ที่ทุกคนก็รู้ดีว่าเป็นศัตรูต่อสิ่งแวดล้อมขนาดไหน
เราจะทำอย่างไร : ค่อนข้างยากที่จะเปลี่ยนไปทำอาหารกินเองหรือไปรับประทานอาหารที่ร้านที่สร้างขยะน้อยกว่า เพราะความสะดวกต่างกันลิบ แต่เราอาจสนับสนุนผู้ประกอบการที่ใช้ภาชนะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า หรือโน้มน้าวแนะนำเจ้าประจำให้เปลี่ยนใจมาใช้ภาชนะที่ย่อยสลายได้แทน
เมื่อได้ตระหนักว่าบางพฤติกรรมมีส่วนในการทำร้ายโลกแล้ว ทุกคนก็คงเข้าใจคำว่า “ทุกสิ่งที่เราทำล้วนส่งผลกระทบต่อโลกเสมอ” ได้มากขึ้น แต่เมื่อเราทราบอย่างนั้นแล้ว เราจะทำอย่างไรที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้บ้าง
หากยังไม่รู้จะเริ่มอย่างไร หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) และ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาขยะทะเลและผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น และได้จัดกิจกรรม “#SeaYouTomorrowRun วิ่งคืนคุณค่าสู่ทะเล” โดยเปิดโอกาสให้นักวิ่งและผู้สนใจที่อยากเริ่มเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูทะเลเข้าร่วมกิจกรรม #SeaYouTomorrowRun‘วิ่งคืนคุณค่าสู่ทะเล’ ตามระยะที่ต้องการ 5K | 10K | Plogging 1K ในวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2562 เวลา 05.00 น. ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกองทัพเรือสัตหีบ รายได้ทั้งหมดจากการสมัครวิ่ง มอบให้โรงพยาบาลเต่าทะเล ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลกองทัพเรือ สัตหีบ
และสนับสนุนหน่วยงานที่คืนคุณค่าสู่ทะเล
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง https://www.seayoutomorrow.org/activities/SeaYouTomorrowRun
อ้างอิง
อ้างอิง
- https://edition.cnn.com/eco-bad-habits
- https://www.insider.com/daily-habits-impact-the-environment
- https://www.voathai.com/a/triclosan-effects-sex-health
- https://mgronline.com/onlinesection