‘น้ำท่วม’ ยังคงเป็นปัญหาที่สร้างความกังวลใจและความเสียหายให้กับหลายภาคส่วน ทั้งประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางชีวิตและทรัพย์สิน หรือภาคธุรกิจที่ได้รับความเสียหายจากการลงทุนและสูญเสียโอกาสทางธุรกิจ หากกิจการจมอยู่ใต้บาดาล

ทั้งนี้ภัยพิบัติดังกล่าวจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น หากเกิดในพื้นที่พื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ดังนั้นแล้ว เพื่อเป็นการป้องกัน ในหลายประเทศจึงมีแนวคิดวิธีการรับมือที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นการย้ายพื้นที่เศรษฐกิจเพื่อกระจายความเสี่ยง เช่น อินโดนีเซียที่มีการย้ายเมืองหลวงจากจาการ์ตา (Jakarta) ไปยังนูซันตารา (Nusantara) หรือการสร้างเขื่อนกั้นน้ำเพื่อป้องกันการเกิดภัยพิบัติ อย่างโครงการเดลตาเวิร์ก (Delta Work) ในเนเธอร์แลนด์ หรือโครงการมารีนาบาร์ราจ (Marina Barrage) ของสิงคโปร์

ทั้งนี้สาเหตุหลักของการน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เล่าให้ฟังว่า มีด้วยกันทั้งหมด 3 สาเหตุ ประกอบด้วย ปริมาณน้ำเหนือที่ไหลลงมา, ปริมาณน้ำฝนที่ตก และระดับน้ำทะเลที่หนุนสูงขึ้น 

โดย 2 ปัจจัยแรกอย่าง ‘น้ำเหนือ’ ผู้ว่าฯ กทม.ระบุว่าสามารถรับมือได้ เพราะมีเขื่อนกั้นน้ำสำคัญอยู่สองแห่งที่ยังมีสามารถรับปริมาณน้ำได้ ทั้งเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท และประตูระบายน้ำบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วน ‘น้ำฝน’ แม้ว่าศักยภาพการรับน้ำฝนของกรุงเทพมหานครจะอยู่ที่ 60 มิลลิเมตร แต่ทาง กทม.ได้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ และความพร้อมของสถานีสูบน้ำแล้ว 100% สามารถระบายน้ำได้ ไม่ทำให้น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน

อย่างไรก็ตาม ส่วนสำคัญอีกอย่างที่ กทม.จำเป็นต้องรับมือ คือปัจจัย ‘น้ำทะเลหนุน’ ที่จนถึงวันนี้ ยังไม่มีมาตรการรับมือชัดเจน 

หากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา ในระหว่างการล่องเรือเพื่อสำรวจระดับน้ำและความพร้อมในการรับมือน้ำท่วม ชัชชาติกล่าวในช่วงหนึ่งเพื่อสื่อสารไปถึงรัฐบาล เพื่อให้ทำการศึกษาสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อป้องกันน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน

“ถ้าน้ำในอ่าวไทยเพิ่มขึ้นจากภาวะโลกร้อน ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะสูงขึ้นด้วย ในอนาคตที่เราเคยเสนอไปกับทางรัฐบาลทำเขื่อนปิดปากแม่น้ำเจ้าพระยา เหมือนที่แม่น้ำเทมส์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อป้องกันน้ำทะเลที่สูงขึ้น เพราะเป็นน้ำเนื้อเดียวกัน ต้องคิดเป็นโครงการในระยะยาว 20-30 ปี”

แล้วโครงการที่ชัชชาติที่กล่าวถึงมีหน้าตาเป็นอย่างไร?

ต้องเล่าย้อนไปเมื่อปี 1953 ที่กรุงลอนดอนเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมอย่างหนัก จากพายุที่โหมกระหน่ำและน้ำทะเลที่หนุนสูงกว่า 4.7 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ทำให้เกิดการเอ่อล้นเข้าท่วมใจกลางกรุงลอนดอน สร้างความเสียหายกว่า 5,000 ล้านปอนด์ และมีผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติดังกล่าว 307 ราย

รัฐบาล ณ เวลานั้นเริ่มเล็งเห็นปัญหาและพูดคุยกันถึงเรื่อง ‘วิธีการป้องกันลอนดอน’ ไม่ให้จมอยู่ใต้บาดาล โดยได้ออกเป็นพระราชบัญญัติป้องกันน้ำท่วม ค.ศ. 1973 (Flood Protection Act 1973) ที่ทำให้เกิดการลงทุนโครงการผนังกั้นน้ำขนาดยักษ์อย่าง ‘เทมส์บาริเออร์’ (Thames Barrier) ด้วยงบประมาณสูงถึง 583 ล้านปอนด์ (ประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท) ตั้งอยู่กลางแม่น้ำเทมส์ ในย่านวูลวิช (Woolwich) ตอนใต้ของมหานครลอนดอน

โครงการดังกล่าวเป็นการออกแบบเป็นประตูกั้นน้ำ เป็นโครงเหล็กทรงโดมที่สามารถพับเปิด-ปิด ได้ สำหรับกระบวนการทำงานนั้นไม่ซับซ้อนมาก เพราะในช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ผนังกั้นน้ำก็ถูกใช้งาน เพื่อปิดไม่ให้น้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเอ่อเข้าท่วมมหานคร และหากผ่านพ้นช่วงเวลาดังกล่าวไปแล้ว ผนังกั้นน้ำก็จะถูกพับเก็บลงไปใต้ท้องน้ำ เพื่อเปิดทางให้เรือสามารถเดินทางได้

ทั้งนี้ตามการรายงานของสำนักสิ่งแวดล้อม (Enviroment Agency) ของสหราชอาณาจักรเปิดเผยข้อมูลถึงความมีประสิทธิภาพของโครงการผนังกั้นน้ำยักษ์​ ที่ช่วยทำให้ประชาชนชาวลอนดอนและพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจรอดพ้นวิกฤตน้ำท่วมในปี 2014 จากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งมีการเปิดใช้งานกั้นน้ำมากถึง 28 ครั้งในปีเดียว และหากรวมการทำหน้าที่ป้องกันน้ำท่วมมหานครลอนดอนของผนังกั้นน้ำนี้กว่า 40 ปีที่ผ่านมา รวมแล้วกว่า 221 ครั้ง

แอนดี แบตเชเลอร์ (Andy Batchelor) ผู้ปฏิบัติงานมากว่า 25 ปีที่ The Thames Barrier เล่าให้สำนักข่าว BBC ฟังว่า รู้สึกภูมิใจที่ผนังกั้นน้ำนี้สามารถปกป้องลอนดอนตลอด 40 ปีที่ผ่านมา และยังจะเป็นเช่นนั้นต่อไป

“มันเหมือนกับยักษ์ที่หลับใหล แต่มันจะตื่นขึ้นเมื่อคนลอนดอนต้องการ”

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ระดับน้ำทะเลในมหาสทุทรเพิ่มสูงขึ้นจากการละลายของธารน้ำแข็ง ทางสำนักสิ่งแวดล้อมระบุว่า จะต้องให้การสนับสนุนเทมส์บาริเออร์ และระบบป้องกันน้ำท่วมเพิ่มเติมในผนังกั้นน้ำอีก 8 แห่งทั่วมหานคร ซึ่งจะสามารถป้องกันน้ำท่วมลอนดอนได้ถึงปี 2100

จะเห็นได้ว่าปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ที่หลายประเทศพบเจอ ต้องพยายามหาทางออกเพื่อป้องกันให้ประชาชน และพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจยังคงอยู่รอดได้ ไม่ว่าจะอาศัยวิธีการทางภูมิศาสตร์หรือความก้าวหน้าทางวิศวกรรมก็ดี

สำหรับประเทศไทยเอง เดิมทีเคยมีแนวคิดการสร้างแนวเขื่อนกั้นน้ำบริเวณปากอ่าวไทยเช่นเดียวกัน โดยเป็นเขื่อนยาวตลอดแนวจากฝั่งจังหวัดสมุทรสงคราม ไปจนถึงจังหวัดสมุทรปราการ ที่คาดว่าจะใช้งบประมาณหลักล้านล้านบาท เพื่อจัดการปัญหาน้ำทะเลหนุนและป้องกันให้น้ำไม่ท่วมกรุงเทพมหานคร โดยเป็นนโยบายหาเสียงตั้งแต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และทักษิณ ชินวัตร ก็เพิ่งประกาศวิสัยทัศน์ Vision for Thailand ซึ่งส่วนหนึ่งคือการ ‘ถมทะเล’ สร้างเมืองใหม่เช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาทางสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และความหลาหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างแนวเขื่อน โดยเฉพาะระบบนิเวศป่าชายเลนบริเวณปากอ่าวตัว ก ของอ่าวไทย ซึ่งจะกระทบกับประชาชนในพื้นที่หลายจังหวัด แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ได้ผืนดินงอกขึ้นมาใหม่ และสามารถป้องกันอุทกภัย และภัยที่จะเกิดจากน้ำทะเลขึ้นสูงในอนาคต

แน่นอนว่าโครงการขนาดใหญ่ระดับนี้ไม่อาจเกิดขึ้นโดยง่าย และยังต้องเผชิญกับเสียงค้านอีกหลายขั้นตอน แต่การหาทางออกเพื่อป้องกันวิกฤตจากภาวะโลกรวนถือเป็นเรื่องใหญ่ และหากไม่ทำอะไร ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับวิกฤตที่หนักขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/environment/2023/jun/30/before-the-flood-how-much-longer-will-the-thames-barrier-protect-london

https://www.bbc.com/news/uk-england-london-68972351

https://www.bbc.com/news/magazine-26133660

https://mgronline.com/daily/detail/9540000087402

Tags: , , , , , ,