เมื่อไม่นานมานี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ได้เขียนถึงกลุ่มธุรกิจใหม่ที่กำลังเติบโตในญี่ปุ่น คือ ‘บริการรับเคลียร์สิ่งของคนตาย’ แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่สำคัญของญี่ปุ่น คืออัตราการสร้างครอบครัวที่ลดต่ำลง และอัตราการตายที่ค่อยๆ แซงหน้าอัตราการเกิดไปไกลขึ้นเรื่อยๆ
ที่น่าสนใจคือจุดโฟกัสของสื่อไทยที่หยิบข่าวนี้มานำเสนอ กลับไม่ใช่ประเด็นดังกล่าว แต่เป็นข้อเท็จจริงที่ว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของบรรดาของใช้มือสองเหล่านั้น ซึ่งหมายความว่าของใช้ของคนตายอาจถูกส่งต่อให้คนไทยคนใดก็ตามที่บังเอิญซื้อมันไป
สำหรับชาวศตวรรษที่ 21 อย่างเราๆ ที่โตมาในโลกหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม มีเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้เลือกอุปโภคบริโภคทุกช่วงราคา ตั้งแต่ย่อมเยาไปจนถึงลักชูรี แนวคิดเสื้อผ้ามือสองเพื่อสิ่งแวดล้อม อาจเป็นตัวเลือกที่หลายคนได้ยินแล้วถึงกับส่ายหน้า
“ไม่อินมูฟเมนต์เสื้อผ้ามือสองเลย ไม่ใช่ทุกคนนะ ที่จะโอเคกับการใช้ของที่ผ่านมือใครมาบ้างก็ไม่รู้”
“อยากแชร์เป็นอุทาหรณ์ บ้านเราเคยชอบซื้อของมือสองเพราะถูก แต่พอเจอดีเข้าไปครั้งหนึ่ง เลิกเด็ดขาดกันทั้งบ้าน”
แท้จริงแล้ววัฒนธรรมการส่งต่อสิ่งของนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่เลย สมัยก่อนเสื้อผ้าชุดใหม่ไม่ใช่สิ่งที่คนทั่วไปจะสามารถเข้าถึงได้ หากจะบอกว่าเป็นเรื่องที่สงวนไว้ให้ชนชั้นสูงเท่านั้นก็ไม่ผิดเสียทีเดียว แต่กระนั้นก็ตาม แม้แต่ฉลองพระองค์สำหรับพิธีการสำคัญ หรือเครื่องอิสริยยศของกษัตริย์หลายๆ ชิ้นก็เป็นของเก่าที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
นั่นหมายความว่าแม้แต่คนมีอันจะกินที่มีตัวเลือกมากมาย ก็ไม่ได้รังเกียจเดียดฉันท์ของมือสองเลย หากว่ามันเป็นของดี
หากก่อนยุคร่วมสมัย คนเราสวมใส่เสื้อผ้ามือสองกันเป็นเรื่องปกติสามัญเสียจนไม่มีใครมัวมานั่งกลัวจริงๆ แล้วความไม่สบายใจที่คนส่วนหนึ่งมีต่อของมือสองในปัจจุบันมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่ตรงไหน
อาจดูเหนือความคาดหมายไปบ้าง แต่คำตอบที่ถูกต้องของคำถามนี้ คือการมาถึงของเทคโนโลยีสื่อสารมวลชนสมัยใหม่
ความไม่สบายใจจากทางบ้าน ทั้งสายวิทย์และสายมู
ในอดีต ตำนานพื้นบ้าน (Folklore) อย่างเรื่องภูตผีปีศาจ ผีสางนางไม้นั้นเป็นเรื่องราวที่มีพลังเพียงในพื้นที่จำกัด มีแค่เฉพาะกลุ่มคนที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมและบริบทของตำนานนั้นๆ เท่านั้นที่จะรู้สึกกลัวเมื่อได้ยินได้ฟัง
ทว่าทันทีที่โลกเดินทางเข้าสู่ยุคที่สื่อสารมวลชนเฟื่องฟู เรื่องราวเหล่านี้ก็เผยแพร่ต่อเป็นวงกว้าง จากที่เคยเดินทางผ่านการบอกเล่าปากเปล่าเฉพาะกลุ่ม ก็เริ่มแพร่หลายไปได้ทุกหย่อมหญ้า ยิ่งคนเสพเรื่องผีมากเท่าไร ก็ยิ่งมีเรื่องผีเกิดขึ้นใหม่มากเท่านั้น
เรื่องผีที่เกิดขึ้นใหม่เล่านี้เองที่เริ่มนำเอาบริบทและวัตถุดิบที่เชื่อมโยงกับความเป็นสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ จนเกิดเป็นเรื่องผีร่วมสมัย (Contemporary Ghost Lore) อาทิ ‘ป๊อก ป๊อก ครืด’ ตำนานผีเรื่องดังที่มีต้นกำเนิดจากหอพักมหาวิทยาลัยในจังหวัดทางภาคเหนือของไทย หรือ ‘ฮานาโกะ’ ผีเด็กผู้หญิงจากเรื่องราวที่มีฉากหลังเป็นห้องน้ำโรงเรียนมัธยมในญี่ปุ่น
ภาพ: ช่อง 3, ช่อง one
หนึ่งในโทรปเรื่องผีร่วมสมัยเกิดใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ก็คงหนีไม่พ้นเรื่องราวของผีที่สิงสู่อยู่ในข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสื้อผ้า
ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือการผลิตซ้ำพล็อตเรื่องที่คล้ายคลึงกันในละครไทย ในช่วงเวลาเพียง 15 ปี มีละครเรื่องดังเกี่ยวกับภูตผีหรือคำสาปอาถรรพ์ที่แฝงตัวมากับเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มมากถึง 5 เรื่อง แถมยังได้รับความนิยมถล่มทลายทุกเรื่อง
แต่แน่นอนว่าสื่อไม่ได้ทำหน้าที่เผยแพร่เพียงบันเทิงคดีจรรโลงโลกเท่านั้น แต่ยังเผยแพร่ชุดข้อมูลความรู้ด้วย ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของความไม่ไว้วางใจในเสื้อผ้ามือสองอีกรูปแบบหนึ่ง นั่นคือความกังวลเรื่องสุขอนามัยนั่นเอง
Fast Fashion: เบื่อง่าย หน่ายไว ส่งผลอย่างไรต่อโลก
โดยสถิติแล้ว มีเสื้อผ้าแค่ 10% เท่านั้น ที่ถูกนำเข้ากระบวนการรีไซเคิลสำเร็จ ส่วนอีก 90% ที่เหลือนั้นถูกส่งไปรอฝังกลบตามพื้นที่ว่างใน ‘ประเทศโลกที่สาม’ กลายเป็น ‘ขยะแฟชัน’ ที่สร้างมลพิษทางกลิ่น ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้อาศัยในบริเวณใกล้เคียง
ในระหว่างนี้ หากเสื้อผ้าชิ้นไหนไม่ได้ผลิตขึ้นจากวัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ พวกมันจะค่อยๆ เสื่อมสภาพลงและแยกตัวเป็นผงอนุภาคพลาสติกขนาดเล็ก (Microplastics) ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า สามารถปนเปื้อนเป็นฝุ่นลอยอยู่ในอากาศรอให้ถูกสูดดม หรือลงไปตกค้างอยู่ตามแหล่งน้ำ รอวันย้อนกลับเข้ามาในห่วงโซ่อาหารโดยซ่อนอยู่ในวัตถุดิบที่เราบริโภค
หรือต่อให้เป็นเสื้อผ้าจากวัสดุธรรมชาติ 100% ก็ยังทิ้งรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) ยาวเหยียด ในปีหนึ่งๆ แค่อุตสาหกรรมผ้าฝ้ายเพียงอย่างเดียว ก็ใช้สอยพื้นที่ในการเพาะปลูกไปแล้วถึง 3.3 ล้านเอเคอร์ (ประมาณ 1.3 หมื่นตารางกิโลเมตร) ซึ่งส่วนมากก็มาจากการถางป่าที่ว่าง ทั้งยังใช้น้ำปริมาณมากถึง 1.6 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
หากจะเทียบให้เห็นภาพชัดเจน ในการผลิตเสื้อยืดสักตัวหนึ่งนั้น ต้องใช้น้ำราว 2,700 ลิตร ซึ่งเป็นปริมาณที่มากพอสำหรับให้คนคนหนึ่งดื่มได้นานถึง 900 วันเลยทีเดียว
ต้นตอปัญหาที่มาจากแฟชัน จึงไม่ใช่แค่เรื่องของวัสดุเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พฤติกรรมการบริโภคเกินจำเป็น (Overconsumption) ซึ่งเป็นผลกระทบอีกทอดหนึ่ง จากวงจรแฟชันที่นับวันยิ่งหดสั้นลงเรื่อยๆ เพราะการเกาะกระแสนิยมเพื่อผลิตและขายเสื้อผ้าปริมาณมากๆ ในเวลาอันรวดเร็วของนายทุนนั่นเอง
Let’s Be Brave and Slow Down the Fashion
นอกจากการลดละเลิกซื้อเสื้อผ้าที่ไม่จำเป็นแล้ว การเลือกซื้อสินค้าคุณภาพดีที่มีความคงทน ใช้งานได้นาน และการรณรงค์ให้ผู้บริโภคหมั่นตรวจสอบที่มาของสินค้า หรือจริยธรรมด้านสิ่งแวดล้อมของแบรนด์ต่างๆ ล้วนเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและยั่งยืนกว่าการซื้อเสื้อผ้ามือสองอย่างไม่ต้องสงสัย
แต่ปัญหาของวิธีการเหล่านี้คือราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่มขึ้น สาเหตุที่กลุ่มทุนใหญ่ๆ เลือกกรรมวิธีการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อโลก ก็เพื่อต้องการลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด นั่นหมายความว่าการเลี่ยงผลกระทบที่ว่ามีราคาที่ผู้ผลิตจะต้องจ่าย และตัวเลขนั้นก็จะสะท้อนอยู่ในราคาของสินค้าด้วย
ดังนั้นหลายๆ ครั้ง ปุถุชนคนธรรมดาที่มีรายได้ไม่มากนี่แหละ คือกลุ่มคนที่มักถูกทิ้งให้ยืนอยู่ในหลืบมุมที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของโลกแฟชัน
จะซื้อเสื้อผ้าราคาถูกจากแบรนด์ที่ไร้ความรับผิดชอบก็รู้สึกผิด
จะซื้อจากแบรนด์ที่เคลมเรื่องความเขียวก็ไม่มีเงิน
แต่จะให้ไปซื้อเสื้อผ้ามือสองก็ดันกลัวอีก ซึ่งก็น่าเสียดาย เพราะเป็นทางเลือกที่ประหยัดค่าใช้จ่ายและเห็นผลเป็นรูปธรรม นอกจากจะลดการปล่อยคาร์บอนและลดการใช้ทรัพยากรแล้ว การยืดวงจรชีวิตเสื้อผ้ามือสองด้วยการนำกลับมาสวมใส่ ยังช่วยชะลอความเร็วในการเกิดแฟชันขยะไปในตัว
ในเมื่อความไม่สบายใจที่เรามีต่อเสื้อผ้ามือสองมาจากสื่อ ก็อาจเป็นหน้าที่ของสื่ออีกเช่นกันที่จะต้องหันมาพูดถึงอีกด้านหนึ่งของเหรียญที่ถูกมองข้ามไป
1. เสื้อผ้ามือสองไม่สะอาด
อาจใช่ แต่เสื้อผ้าผลิตใหม่ส่วนมากก็ไม่ได้สะอาดมากไปกว่ากันเท่าไร
หลายคนอาจไม่รู้ว่าความรู้สึกสะอาดที่เราได้จากการลองสวมใส่เสื้อผ้าใหม่ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะมันสะอาดจริงๆ แต่เกิดจากสารเคมีประเภทเรซิน (Resins) หรือฟอร์มัลดีไฮน์ (Formaldehyde) ที่เคลือบอยู่บนผิวผ้าเพื่อคงรูปและสีสันของเสื้อผ้าให้อยู่ทนไปจนกว่าจะถูกซื้อไป
หากเป็นเสื้อผ้าขายในช็อปที่ลูกค้าสามารถลองได้นั้นยิ่งแล้วใหญ่ เพราะมีทั้งเชื้อโรคและแบคทีเรียที่เรากลัวนักหนาว่าจะต้องสัมผัสหากสวมใส่เสื้อผ้ามือสอง
แนวทางปฏิบัติที่สมเหตุสมผลที่สุดจึงไม่ใช่หลีกเลี่ยงเสื้อผ้ามือสอง แต่เป็นการซักทำความสะอาดเสื้อผ้าที่ซื้อมาก่อนสวมใส่ทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าใหม่ หรือเสื้อผ้ามือสอง
2. เสื้อผ้ามือสองไม่หลากหลายและไม่ทันสมัย
ใครที่สนใจความเป็นไปในวงการแฟชัน อาจเคยได้ยินประโยคที่ว่า ‘กระแสแฟชั่นในอดีตจะหวนกลับมาทุกๆ 20 ปี’ และการกลับมาของเทรนด์ยุค Y2K ที่เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้าเราเคยย้อนมองด้วยความอับอาย ก็น่าจะพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าทุกอย่างกลับมาได้จริงๆ
เช่นเดียวสไตล์ฮิปปี้แบบยุค 70 ที่กลับมาฮิตในช่วง 2015-2017 เสื้อผ้า Oversized ทรงหลวมโคร่งแบบยุค 80 ที่กลับมาอีกครั้งในช่วง 2018-2019 รวมถึงเสื้อครอปและกางเกงเอวสูงสไตล์ 90 ที่กลายมาเป็นไอเท็ม Must Have ประจำปี 2020-2021
ความคิดที่ว่าเสื้อผ้ามือสองไม่หลากหลายและไม่ทันสมัยจึงผิดอย่างมหันต์
3. เสื้อผ้ามือสองคุณภาพไม่ดี
กลับกันด้วยซ้ำ การที่เสื้อผ้าเหล่านี้ผ่านฝนผ่านหนาว ผ่านการซักตากซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาได้โดยไม่ชำรุดเสียหายนั้น คือเครื่องพิสูจน์คุณภาพชั้นดีต่างหาก
หัวใจสำคัญของเสื้อผ้ามือสองคุณภาพดีจึงอยู่ที่การเลือก ข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งของสินค้ามือสองคือราคาที่ถูกลงมาจากราคาป้าย แทนที่จะซื้อเสื้อผ้าผลิตใหม่คุณภาพต่ำที่มีดีแค่ความทันสมัย เสื้อผ้ามือสองคุณภาพระดับไฮเอนด์ที่ซื้อมาด้วยราคาเท่ากันอาจอยู่กับเราได้นานกว่ามาก
4. เสื้อผ้ามือสองอาจมีผีซ่อนอยู่
อย่างที่เขียนถึงไปแล้วในช่วงต้นของบทความแล้วว่า วัฒนธรรมการส่งต่อเสื้อผ้ามือสองไม่ใช่สิ่งใหม่ในสังคมไทยแต่อย่างใด
ณ ช่วงเวลาหนึ่ง เสื้อผ้านั้นถือว่าเป็นมรดกของครอบครัว บางครั้งอาจต้องย้อนไปหลายชั่วอายุคนกว่าจะพบต้นตอว่าถูกตัดเย็บขึ้นเมื่อใด หากสวมใส่เสื้อผ้าที่รับมาจากคนอื่นแล้วจะต้องถูกผีหลอกจริง คนสมัยก่อนก็คงไม่เป็นอันต้องใส่อะไรกันพอดี
บางทีอาจถึงเวลาแล้วที่เราควรจะทบทวนว่าความกลัวนี้สมเหตุสมผลหรือไม่ เพราะผีจะมีอยู่จริงหรือไม่นั้น อาจไม่มีใครมีวันได้รู้ แต่ภาวะโลกร้อนเป็นปรากฏการณ์ที่พิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์และมีอยู่จริงอย่างแน่นอน
ที่มา
https://www.bloomberg.com/news/features/2018-07-18/japan-s-lonely-death-industry
https://www.bbc.com/news/science-environment-60382624
https://www.goclimate.com/blog/the-carbon-footprint-of-clothes/
https://www.matterprints.com/journal/guide/second-hand-shopping/
Dégh, Linda. American Folklore and the Mass Media. Bloomington: Indiana University Press, 1994.
นลิน สินธุประมา. “เรื่องผีในสังคมไทยร่วมสมัย: บทบาทและการผสมผสานทางวัฒนธรรม.” ปริญญานิพนธ์อักษรศาสตร์บัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2017. https://www.arts.chula.ac.th/folklore/index.php/2020/06/06/seniorproject-2560-1/
Tags: ผี, Sustainability, Environment, Fast Fashion, เสื้อผ้ามือสอง, Second-Hand Clothing, Fashion Waste, ขยะแฟชั่น