ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การบริโภคอาหารทางเลือกใหม่อย่างแพลนต์เบส (Plant Based) กลายเป็นเทรนด์มาแรงของโลก ด้วยคุณประโยชน์เทียบเคียงการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์ และยังสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ที่ถปล่อยจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ หนึ่งในต้นตอของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) คิดเป็นจำนวน 7,200 ล้านตัน หรือ 13% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทุกอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกคนที่จะชื่นชอบรสชาติอาหารแนวมังสวิรัติ แล้วหากต้องการช่วยโลกแต่ยังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ เราจะมีทางเลือกไหม?

คำตอบคือ มี เพราะเมื่อไม่นานมานี้ มหาวิทยาลัยดัลเฮาซี (Dalhousie University) ประเทศแคนาดา ได้เผยผลงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสารการสื่อสารระหว่างโลกและสิ่งแวดล้อม (Communications Earth & Environment) ประจำเดือนกันยายน โดยมีใจความสำคัญว่า การเน้นบริโภคอาหารทะเลมีส่วนช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ในปริมาณมาก ที่สำคัญคุณค่าโภชนาการก็ไม่ด้อยไปกว่าเนื้อหมู ไก่ และวัว แม้แต่น้อย

ปีเตอร์ เทยดเมอร์ส (Peter Tyedmers) ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ประจำมหาวิทยาลัยดัลเฮาซี ได้อธิบายถึงผลงานวิจัยชิ้นดังกล่าว โดยยกตัวอย่างสัตว์ทะเลจำนวน 18 ชนิดทั้งจากธรรมชาติและการเพาะเลี้ยง ที่คนทั่วโลกมักนำไปบริโภค ว่ามีคะแนนคุณค่าโภชนาการเท่าไรจากคะแนนเต็ม 10 และสามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้จำนวนเท่าไร หากบริโภคพวกมันปีละ 1 ตัน

สำหรับตัวอย่าง 5 อันดับแรก ได้แก่

1. ปลาแซลมอนสีชมพู (Pink Salmon) คะแนนคุณค่าโภชนาการ 6.5 คะแนน และปล่อยก๊าซเรือนกระจก 932 กิโลกรัม ต่อการบริโภค 1 ตัน

2. ปลาซิวแก้ว (European Sprat) คะแนนคุณค่าโภชนาการ 5.4 คะแนน และปล่อยก๊าซเรือนกระจก 836 กิโลกรัม ต่อการบริโภค 1 ตัน

3. ปลาแซลมอนแอตแลนติก (Atlantic Salmon) คะแนนคุณค่าโภชนาการ 5.4 คะแนน และปล่อยก๊าซเรือนกระจก 6,978 กิโลกรัม ต่อการบริโภค 1 ตัน

4. ปลาไน (Common Carp) คะแนนคุณค่าโภชนาการ 4.8 คะแนน และปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3,235 กิโลกรัม ต่อการบริโภค 1 ตัน

5. ปลาทูน่าครีบเหลือง (Yellowfin Tuna) คะแนนคุณค่าโภชนาการ 4.5 คะแนน, ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 4,843 กิโลกรัม ต่อการบริโภค 1 ตัน

นอกจากนี้ งานวิจัยยังเผยการบริโภคเนื้อสัตว์ยอดนิยมอีก 3 ประเภท เพื่อนำมาเทียบเคียงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การบริโภคเนื้อสัตว์เหล่านี้เพียงแค่ 1 กิโลกรัม จะสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนเท่าไร (วัดเป็นกิโลกรัมต่อกิโลกรัม)

1. เนื้อวัว คะแนนคุณค่าโภชนาการ 3.56 คะแนน และปล่อยก๊าซเรือนกระจก 56.24 กิโลกรัม ต่อการบริโภค 1 กิโลกรัม

2. เนื้อหมู คะแนนคุณค่าโภชนาการ 3.74 คะแนน และปล่อยก๊าซเรือนกระจก 6.96 กิโลกรัม ต่อการบริโภค 1 กิโลกรัม

3. เนื้อไก่ คะแนนคุณค่าโภชนาการ 2.38 คะแนน และปล่อยก๊าซเรือนกระจก 6.96 กิโลกรัม ต่อการบริโภค 3.5 กิโลกรัม

ปีเตอร์ เทยดเมอร์ส อธิบายเพิ่มเติมว่า คะแนนคุณค่าสารอาหารดังกล่าววัดจากเกณฑ์พิจารณาโดยอาศัยฐานข้อมูลจากประเทศที่มีประชากรนิยมบริโภคอาหารทะเล อาทิ ญี่ปุ่น สวีเดน และแคนาดา โดยพบว่าประชากรของประเทศเหล่านี้มีสุขภาพดีและได้รับสารที่จำเป็นต่อร่างกายอย่างเหมาะสม เช่น วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินบี12 กรดไขมันอิ่มตัว และโซเดียม

“เราใช้ระยะเวลานานพอสมควรเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่ถูกต้อง และเราพบว่าอาหารทะเลถือเป็นแหล่งคุณค่าโภชนาการระดับสูง ทั้งปัจจัยด้านการผลิตยังมีผลกระทบต่อสภาพอากาศเพียงเล็กน้อย น้อยยิ่งกว่าเนื้อวัว หมู และไก่ ที่ผู้คนทั่วโลกนิยม อย่างไรก็ดี เรายังคงดำเนินงานวิจัยเพื่อเฟ้นหาอาหารทดแทนประเภทอื่นๆ เพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้บริโภคและโลก” ปีเตอร์กล่าว

แม้จะมีผลวิจัยชี้ชัดว่าการบริโภคอาหารทะเลมีส่วนในการลดสภาวะเรือนกระจก แต่ในมุมมองของผู้บริโภค เรายังคงพบเห็นความกังวลที่จะต้องพึ่งพาแค่อาหารประเภทใดประเภทหนึ่ง ที่อาจเกิดปัญหาไม่คาดคิดในอนาคต ยกตัวอย่างกรณีสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น รั่วไหลลงสู่ทะเล เมื่อต้นปี 2021 หรือกรณีที่อุปสงค์ต่อการบริโภคอาหารทะเลที่มากเกินไป นั่นหมายความว่า ชาวประมงจะต้องออกเรือเพื่อจับสัตว์ทะเลถี่ขึ้น และเมื่อเรือประมงส่วนใหญ่ยังคงเป็นเครื่องยนต์ประเภทสันดาปที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ย่อมหมายถึงปัญหาสภาพอากาศที่วนกลับมาไม่จบสิ้น ดังนั้น การช่วยโลกไม่ว่าจะวิธีใดควรอยู่ในขอบเขตพอดี และมองถึงความเป็นไปได้ให้ถี่ถ้วนเสียก่อน

ที่มา

https://www.dailymail.co.uk/sciencetech/article-11190257/Swapping-meat-seafood-provides-greater-nutrition-reduced-climate-impacts-study-reveals.html

https://phys.org/news/2022-09-swapping-meat-seafood-nutrition-emissions.html

https://www.natureasia.com/en/earth-env/research/14210

Tags: , , ,