ลองสำรวจตู้เสื้อผ้าของตัวเองดูซิว่า มีรองเท้าสนีกเกอร์กี่คู่ และคุณเปลี่ยนรองเท้าสนีกเกอร์ ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าวิ่งออกกำลังกาย หรือใส่ไปวันทำงานหรือไปเที่ยวปีละกี่คู่ และไม่ใช่แค่เช็คว่ารองเท้าสนีกเกอร์ที่คุณสวมใส่นั้น ผลิตมาจากวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่ แต่อาจจะต้องดูว่าทั้งกระบวนการการผลิตนั้น สร้างรอยเท้าคาร์บอนมากน้อยเพียงใด เพราะบางทีรองเท้าสนีกเกอร์ที่ได้ชื่อว่า ‘เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ แต่เมื่อดูวงจรการผลิตทั้งหมดก็ไม่ใช่ว่าจะดีต่อสิ่งแวดล้อมเสมอไป
อุตสาหกรรมรองเท้าและเสื้อผ้า เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนไม่น้อย คิดเป็นมากกว่า 8% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก ซึ่งมากกว่าอุตสาหกรรมขนส่งทางเครื่องบินและเรือเสียอีก
จากรายงานของ National Geographic กล่าวว่าในปี 2018 ที่ผ่านมา มีการผลิตรองเท้าสนีกเกอร์สูงถึง 2.4 หมื่นล้านคู่ (และยิ่งมากขึ้นเมื่อตอนนี้รองเท้าสนีกเกอร์เป็นเทรนด์ฮิต และสามารถสวมใส่ไปทำงานได้) มากกว่า 2 พันล้านคู่ขายในสหรัฐอเมริกา และ 1 ใน 7 คู่จะกลายเป็นขยะที่สุดท้ายไปจบชีวิตที่บ่อฝังกลบ
จากงานวิจัยของ MIT ร่วมกับแบรนด์รองเท้าสนีกเกอร์ Asics ในเรื่องการผลิตรองเท้าสนีกเกอร์และการสร้างก๊าซคาร์บอนพบว่า รองเท้าสนีกเกอร์ 1 คู่สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดวงจรการผลิตของมันสูงถึงประมาณ 14 กิโลกรัม แบ่งเป็นในขั้นตอนการผลิตวัสดุที่ใช้ทำรองเท้า 4 กิโลกรัม ขั้นตอนการผลิตรองเท้า 9.5 กิโลกรัม ขั้นตอนการขนส่ง 0.2 กิโลกรัม และขั้นตอนการขาย การใช้ ไปจนกระทั่งสิ้นอายุการใช้งานของรองเท้าอีก 0.3 กิโลกรัม
ขณะที่ปัจจุบันนี้ บริษัทผลิตรองเท้าต่างๆ หันมาใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้สร้างสรรค์รองเท้าที่ ‘เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ มากขึ้น ทั้งวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้ หรือแม้กระทั่งการนำเอาขยะพลาสติก (โดยเฉพาะขวดพลาสติก) มาสร้างเป็นเส้นใยใหม่และใช้ผลิตรองเท้าที่กล่าวกันว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ออกสู่ตลาดอีกครั้ง
แต่มันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงหรือ
ในแง่หนึ่งการนำเอาขยะพลาสติกกลับมาสร้างสรรค์ใหม่ให้กลายเป็นวัสดุในการทำรองเท้า เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยในกระบวนการการรีไซเคิลขยะ แต่หากเราพิจารณาทั้งวงจรในการผลิตรองเท้าสนีกเกอร์ก็จะพบว่า แม้รองเท้าคู่นั้นจะผลิตจากขยะพลาสติก (ขวดพลาสติก) ผ่านกระบวนการทางเทคโนโลยีจนกลายเป็นเส้นใยที่นำมาใช้ทำรองเท้า แต่มันกลับไม่ได้ ‘เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ มากขนาดนั้น เพราะโฟกัสไปที่จุดขายเรื่องวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพียงจุดเดียว แต่ไม่โฟกัสทั้งระบบ ที่ในแต่ละขั้นตอนนั้นก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมไม่ต่างจากการผลิตรองเท้าสนีกเกอร์แบบธรรมดาที่ไม่ได้แปะป้ายว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เพราะอะไรน่ะหรือ
จากรายงานชิ้นเดิมของ MIT พบว่า บรรดาแบรนด์รองเท้ากีฬาทั้งหลาย ที่ผลิตรองเท้าที่อ้างว่า ‘เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ ทั้งหลายออกมาขาย ยังคงใช้ฐานการผลิตในประเทศอย่าง จีน เวียดนาม กัมพูชา หรืออินโดนีเซีย ซึ่งสุดท้ายแล้วพลังงานที่ใช้ขับเคลื่อนการผลิตทั้งหมดในโรงงานเหล่านี้ล้วนมาจากพลังงานที่เกิดจาก ‘ถ่านหิน’ ซึ่งกระบวนการผลิตพลังงานก็ล้วนแล้วแต่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น
มากไปกว่านั้นคือเมื่อรองเท้าที่ ‘เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ ได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ละแบรนด์จึงเพิ่มการผลิตมากขึ้นเป็นสองเท่า และนั่นยิ่งทำให้มีการใช้พลังงานถ่านหินสูงมากขึ้นไปอีก เท่ากับว่าแทนที่รองเท้าคู่นั่นจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพราะทำมาจากขยะพลาสติก แต่ในกระบวนการการผลิตมันยิ่งทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไปอีก
และเมื่อเปรียบเทียบตัวเลขรอยเท้าคาร์บอนกันระหว่างรองเท้าสนีกเกอร์ธรรมดาๆ และสนีกเกอร์ที่ได้ชื่อว่า ‘เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ จะพบว่าสนีกเกอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างคาร์บอนน้อยกว่ารองเท้าสนีกเกอร์ธรรมดาเพียง 9.12%
และหากย้อนกลับมาดูที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ จะพบว่า หาก 1 ปี เราซื้อรองเท้าสนีกเกอร์ 3 คู่ รองเท้าสนีกเกอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้ง 3 คู่นั้นสร้างคาร์บอน 38.3 กิโลกรัม ในขณะที่สนีกเกอร์ธรรมดาๆ สร้างคาร์บอน 42 กิโลกรัม หากเราซื้อเพียงปีละ 2 คู่ จะพบว่า รองเท้าสนีกเกอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2 คู่นั้นสร้างคาร์บอน 25.5 กิโลกรัม ในขณะที่สนีกเกอร์ธรรมดาๆ สร้างคาร์บอน 28.0 กิโลกรัม และหากเราซื้อเพียงปีละ 1 คู่ จะพบว่า รองเท้าสนีกเกอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 1 คู่นั้นสร้างคาร์บอน 12.8 กิโลกรัม ในขณะที่สนีกเกอร์ธรรมดาๆ สร้างคาร์บอน 14 กิโลกรัม
ตัวเลขนั้นต่างกันเพียงเล็กน้อย ซึ่งเราก็สามารถมองได้ว่าก็ดีแล้วไม่ใช่เหรอ อย่างน้อยสินค้าที่แปะป้ายว่า ‘เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ ก็ลดการปล่อยคาร์บอนกว่าสินค้าธรรมดา แม้จะเล็กน้อยก็ดีกว่าไม่ลดเลย หากมองในแง่นี้ก็ถูกส่วนหนึ่ง แต่ความเข้าใจเรื่องรอยเท้าคาร์บอนทั้งระบบที่เกิดขึ้นในวงจรการผลิตของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะทำให้เรารู้เท่าทัน และเดินทางไปสู่การเป็นผู้บริโภคสายสีเขียวได้อย่างถี่ถ้วนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น หากเราไม่รู้เรื่องรอยเท้าคาร์บอนที่เกิดขึ้นทั้งระบบ การซื้อรองเท้าสนีกเกอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 3 คู่ต่อปี เราก็อาจจะกระหยิ่มยิ้มย่องในใจว่า แม้เราจะใช้รองเท้าสนีกเกอร์ 3 คู่ต่อปี แต่มันเป็นรองเท้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่หากคิดทั้งระบบแล้ว คนที่ซื้อรองเท้าสนีกเกอร์ธรรมดาๆ ที่ไม่ได้แปะป้ายว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพียงแค่ 2 คู่ต่อปี คนคนนั้นมีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า ผู้บริโภคที่ซื้อสิ่งของที่แปะป้ายว่า ‘เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ ด้วยซ้ำไป
ซึ่งทำให้เราเห็นประเด็นเพิ่มเติมว่า ในบางกรณีการลดการใช้ (reduce) สิ่งของธรรมดาๆ อาจจะได้ประสิทธิภาพมากว่าการบริโภคในสิ่งเดียวกันที่มีการกล่าวว่าทำมาจากการรีไซเคิลก็ได้
เข้าใจว่ามันเป็นเรื่องซับซ้อน หยุมหยิม แต่การที่เราเลือกบริโภคอย่างรอบคอบมองให้เห็นองค์ประกอบและปัจจัยรอบด้าน ก่อนที่จะบริโภคอะไร หรือสร้างอะไรขึ้นมาในนามแห่งการรักษ์สิ่งแวดล้อม อย่างน้อยมันก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการที่เราจะทำร้ายโลกไปด้วยความหวังดี ซึ่งสิ่งนี้กำลังเกิดขึ้นในยามวิกฤติที่ใครๆ ต่างก็พยายามจะรักษ์โลกทั้งนั้น
อ้างอิง
http://news.mit.edu/2013/footwear-carbon-footprint-0522
https://www.nationalgeographic.com/science/2019/10/shoes-sneakers-plastic-problem/
ภาพ : STEPHANE DE SAKUTIN / AFP
Tags: สภาวะโลกร้อน, ปรากฏการณ์เรือนกระจก, รอยเท้าคาร์บอน, สนีกเกอร์