ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้นที่ต้องทนทุกข์กับปัญหาสภาพแปรปรวนและโรคระบาด เมื่อมีรายงานว่า ‘เพนกวิน’ บนเกาะเซาท์จอร์เจีย (South Georgia Island) ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก กำลังเผชิญกับโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ HPAI
รายงานดังกล่าวมาจากองค์กรนิเวศวิทยาประจำแอนตาร์กติก (British Antarctic Survey) เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2024 โดยรายงานดังกล่าวระบุว่า มีเพนกวินอย่างน้อย 10 ตัว ที่ยืนยันแล้วว่ากำลังติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ HPAI (Highly Pathogenic Avian Influenza) แต่ที่น่ากังวลกว่านั้น คือสถานที่แพร่เชื้อซึ่งอยู่บนเกาะเซาท์จอร์เจีย ที่เป็นอาณานิคมรวมเพนกวินจำนวนหลากสายพันธุ์ โดยเฉพาะเพนกวินเจนทู (Gentoo Penguin) และเพนกวินราชา (King Penguin) รวมจำนวนแล้วมากกว่า 1 แสนตัว โดยพวกมันจะรวมตัวกันเพื่อหาคู่ผสมพันธุ์ ทำรัง และเลี้ยงดูลูก
นอร์แมน แรตคลิฟฟ์ (Norman Ratcliffe) นักวิทยาศาสตร์และหนึ่งในทีมงานขององค์กรนิเวศวิทยาประจำแอนตาร์กติก ระบุถึงสถานการณ์ดังกล่าวด้วยความกังวลว่า ไข้หวัดนกสายพันธุ์ HPAI อาจส่งกระทบต่อสัตว์ปีกบนเกาะเซาท์จอร์เจียเป็นวงกว้าง น่ากลัวกว่านั้น คืออาจส่งกระทบไปถึงบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่นแมวน้ำขนปุยอเมริกาใต้ (South American Fur Seal) ที่มีอยู่จำนวนมาก
“ฉันเปรียบเซาท์จอร์เจียเป็นดังอุทยานแห่งชาติเซเรนเกติที่มีสภาพนิเวศคล้ายเทือกเขาแอลป์ ซึ่งอุดมไปด้วยสัตว์นานาชนิด ทั้งนกเพนกวิน นกอัลบาทอส และแมวน้ำหลากสายพันธุ์
“ถ้าสถานการณ์ไข้หวัดนกนี้ระบาดจนมีผู้เสียชีวิต แน่นอนว่าจะต้องเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เพียงแต่ตอนนี้การแพร่ระบาดของเชื้อยังอยู่ในวงจำกัด แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศไม่น้อย” ทัศนะส่วนหนึ่งของแรตคลิฟฟ์ขณะให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี (BBC)
สันนิษฐานว่า การแพร่ระบาดดังกล่าวต้องย้อนกลับไปยังปลายปี 2023 เมื่อนกสคัวสีน้ำตาล (Brown Skua) และนกนางนวลใหญ่ (Kelp Gull) บนหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ (Falkland Islands) เกิดติดเชื้อไข้หวัดนก และเป็นไปได้ว่าพวกมันอาจบินมายังเกาะเซาท์จอร์เจีย กระทั่งเป็นพาหะนำเชื้อโรคมาสู่หมู่นกเพนกวิน โดยเฉพาะนกสคัวสีน้ำตาลที่มักขโมยกินไข่และลูกนกเพนกวิน โดยนกสคัวสีน้ำตาลอาจแพร่เชื้อผ่านอุจจาระที่ถ่ายทิ้งไว้ในรัง จนเพนกวินเกิดสัมผัสสารคัดหลั่งนั้น ทว่าก็ใช้เวลาอยู่หลายเดือนกว่าเชื้อจะฟักตัวและออกอาการป่วย
สำหรับไข้หวัดนกสายพันธ์ุ HPAI มีการระบาดอยู่เรื่อยมาหลายศตวรรษ ต่างจากไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ที่เป็นสายพันธ์ุใหม่และเพิ่งระบาดอย่างหนักนับตั้งแต่ปี 2006 โดย HPAI มักก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักในสัตว์ปีกจำพวกไก่งวง นกกระทา และไก่ฟ้า แต่ในรายของนกเพนกวินเป็นเรื่องใหม่ที่นักวิจัยยังเฝ้าสังเกตการณ์อยู่
อย่างไรก็ดี แม้จะเสี่ยงต่อชีวิตสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แต่ยังเบาใจได้ว่าวิกฤตดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ เพราะสมาคมระหว่างประเทศกลุ่มผู้ดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวแอนตาร์กติกา (International Association of Antarctica Tour Operation: IAATO) มีมาตรการห้ามนักท่องเที่ยวข้องเกี่ยวกับบนเกาะเซาท์จอร์เจียจนกว่าเหตุแพร่ระบาดจะสงบและเข้าสู่สภาวะปกติ
ที่มา:
– https://www.bbc.com/news/science-environment-68538190
– https://www.bas.ac.uk/media-post/penguins-test-positive-for-avian-flu-on-south-georgia/
– https://www.independent.co.uk/news/science/bird-flu-penguins-antarcita-spread-b2510978.html
Tags: เพนกวิน, ไข้หวัดนก, Environment, สิ่งแวดล้อม