ภาวะอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นสัปดาห์ที่สาหัสสำหรับหลายพื้นที่ในยุโรป โดยเฉพาะกรีซและสวิตเซอร์แลนด์ที่ต้องเผชิญกับไฟป่า รวมถึงแคว้นซาร์ดิเนีย (Sardinia) ของอิตาลีที่คาดการณ์ว่าอุณหภูมิภายในวันนี้ (19 กรกฎาคม 2023) จะพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 46 องศาเซลเซียส 

สาเหตุของอุณหภูมิที่พุ่งสูงของหลายประเทศในทวีปยุโรป นอกจากจะมีต้นเหตุเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทั่วโลกแล้ว รูปแบบสภาพอากาศแปรปรวน เอลนีโญ (El Niño) ที่เกิดขึ้นเฉลี่ยทุก 5 ปี ก็นับเป็นอีกตัวแปรสำคัญเช่นเดียวกัน

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาอิตาลีตั้งชื่อคลื่นความร้อนที่มาเยือนทวีปยุโรปอย่างฉับพลันในปีนี้ว่า ‘เซอร์เบอรัส’ (Cerberus) หรือ ‘เคร์เบรอส’ ชื่อของเทพปกรณัมกรีกโรมันที่เป็นสุนัข 3 หัว ผู้ทำหน้าที่เฝ้าประตูนรก

ขณะเดียวกันอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้คลื่นความร้อนในช่วงหลังมานี้ มีผลกระทบรุนแรงเป็นพิเศษ คือการเกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็วของพื้นที่เมือง ซึ่งนำมาสู่ปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘เกาะความร้อนเมือง’ (Urban Heat Island: UHI) อันเกิดจากการสะสมความร้อนในพื้นผิววัสดุสิ่งก่อสร้าง ทำให้พื้นที่ในมหานครหรือเมืองใหญ่ มีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณโดยรอบนั่นเอง

ทั้งนี้ นายแพทย์ปิแอร์ มาสโลต์ (Pierre Masselot) นักวิจัยจากวิทยาลัยสุขวิทยาและอายุรศาสตร์เขตร้อนแห่งลอนดอน (London School of Hygiene & Tropical Medicine) ลงความเห็นว่า ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมถือเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุในเมืองเหล่านั้น ได้รับความเสี่ยงจากคลื่นความร้อนมากเป็นพิเศษ

“ตัวอย่างเช่นปารีส ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ และมีผู้อยู่อาศัยจำนวนมากที่เป็นกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะชุมชนยากจนที่มักมีพื้นที่สีเขียว พื้นที่ร่ม หรือเครื่องปรับอากาศจำกัด ทำให้ต้องเผชิญกับความร้อนและความเสี่ยงเต็มประดา นอกจากนี้ผู้คนในชุมชนเหล่านี้ยังมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว ทำให้คลื่นความร้อนอันตรายกับพวกเขาเป็นพิเศษ” 

อย่างไรก็ดี องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) เผยว่า แม้คลื่นความร้อนที่ยาวนานและรุนแรงในปีนี้จะน่ากลัว แต่ก็ไม่ใช่ภัยพิบัติธรรมชาติที่คาดไม่ถึง เพราะผลกระทบส่วนใหญ่ค่อนข้างตรงกับการคาดการณ์ของหลายองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมทั่วยุโรป

ดังนั้น ในปีนี้ภาครัฐของประเทศที่ได้รับผลกระทบจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ เร่งติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกในการต้านทานความร้อน ระบบสอดส่องดูแลและช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการสร้างความตระหนักถึง ‘อันตรายที่มองไม่เห็น’ ของอากาศร้อน

โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงความจริงที่ว่า ในปี 2022 แม้จะมีการคาดคะเนผลกระทบและวางแผนรับมือเอาไว้ล่วงหน้าแล้วเช่นเดียวกัน แต่สุดท้ายก็ยังมีชาวยุโรปมากว่า 6 หมื่นคนที่เสียชีวิตท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนระอุ

Tags: , , , , ,