ปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญหน้ากับสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) อย่างต่อเนื่อง และไม่ใช่แค่มนุษย์ที่ต้องประสบความยากลำบากต่อสถานการณ์ดังกล่าว เพราะเพื่อนร่วมโลกจากทวีปแอนตาร์กติกา อย่าง ‘เพนกวินจักรพรรดิ’ (Emperor Penguin) ก็เป็นอีกหนึ่งสปีชีส์ที่ต้องประสบเคราะห์กรรมด้วยเช่นกัน และน่าเป็นห่วงถึงขั้นอาจ ‘สูญพันธุ์’ ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า

จากรายงานของสถาบันแอนตาร์กติกาแห่งอาร์เจนตินา (The Argentine Antarctic Institute: IAA) เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ระบุว่าเพนกวินจักรพรรดิใกล้เสี่ยงสูญพันธุ์ในไม่ช้า เนื่องจากสภาพแวดล้อมในซีกขั้วโลกใต้มีอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ภูเขาน้ำแข็งละลายกลายเป็นน้ำทะเล จนส่งผลให้พวกมันไร้ถิ่นที่อยู่อาศัย และไม่สามารถสืบพันธุ์ได้ตามธรรมชาติ ซึ่งจำเป็นต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิ -40 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ ลูกของพวกมันที่เพิ่งเกิดก็อาจจมน้ำทะเลหรือหนาวตาย เพราะยังไม่โตพอที่จะว่ายน้ำด้วยตัวเองและมีขนปกคลุมป้องกันอากาศหนาวติดลบ

ในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ลูกเพนกวินจักรพรรดิจะฟักออกจากไข่มาลืมตาดูโลก มาร์เซลา ลิเบอร์เตลลี (Marcela Libertelli) นักชีววิทยาหญิงชาวอาร์เจนตินา พร้อมทีมงานจากสถาบัน IAA จะออกเดินทางไกลถึง 65 กม. ด้วยมอเตอร์ไซค์ ไปยังบริเวณฮัลเลย์เบย์ (Halley Bay) ที่อดีตเคยเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เพนกวินชนิดดังกล่าว เพื่อชั่งน้ำหนักและตรวจเลือดบรรดาลูกๆ เพนกวิน ก่อนจะนำค่าตัวอย่างที่ได้มาเทียบเคียงกับสภาพแวดล้อมปัจจุบัน และนำไปจัดทำเป็นค่าสถิติ 

สถิติดังกล่าวทำให้ทีมวิจัยพบเจอกับความจริงอันน่าเศร้า เพราะนับตั้งแต่ปี 2016 มีเพนกวินจักรพรรดิหายไปเฉลี่ยปีละ 15,000-24,000 ตัว และมีตัวเต็มวัยเหลือเพียง 595,000 ตัว ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization) ที่ระบุไว้ว่าปริมาณน้ำทะเลในทวีปแอนตาร์กติกาเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากภูเขาน้ำแข็งละลาย ระดับน้ำฝนที่ตกลงมามากผิดปกติ โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมไปถึงการถูกคุกคามจากธุรกิจเรือท่องเที่ยวและประมง ซึ่งทุกปัจจัยล้วนส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของพวกมัน

นอกจากนี้ มาร์เซลาคาดการณ์เพิ่มเติมว่า หากเป็นเช่นนี้ต่อไปภายใน 30-40 ปี เพนกวินจักรพรรดิคงจะถึงคราวสูญพันธุ์ จนส่งผลให้ระบบนิเวศพังทลายตามไปด้วย

“การคาดการณ์ของพวกเราชี้ให้เห็นว่า ทวีปแอนตาร์กติกา ณ บริเวณที่ตั้งอยู่ระหว่างละติจูด 60 ถึง 70 องศา กำลังจะหายไปในอีกไม่ช้า และเสี่ยงทำให้เพนกวินจักรพรรดิสูญพันธุ์ในอีก 30-40 ปีข้างหน้า แน่นอนว่าการสูญพันธุ์ย่อมหมายถึงโศกนาฏกรรมของโลก ที่ต้องสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตจะเป็นประเภทไหน เล็กหรือใหญ่ แม้กระทั่งพืชพันธุ์ก็ตาม” 

สถานการณ์ล่าสุด องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ได้เรียกร้องต่อที่ประชุมสนธิสัญญาแห่งแอนตาร์กติก เพื่ออนุมัติขึ้นทะเบียนให้เพนกวินจักรพรรดิเป็นสัตว์คุ้มครองพิเศษภายในปี 2022 และไม่ใช่แค่เพนกวินจักรพรรดิเท่านั้นที่เสียงต่อการสูญพันธุ์ แต่ยังครอบคลุมไปถึงเพนกวินอีก 2 สายพันธุ์ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในทวีปแอนตาร์กติกา ได้แก่ เพนกวินชินสแตรป (Chinstrap Penguin) และเพนกวินราชา (King Penguin) ดังนั้น การร่วมมือแก้ไขปัญหาสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากเงื้อมมือมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่ต้องร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน ก่อนที่เพื่อนร่วมโลกตัวน้อยชนิดนี้จะหายไปตลอดกาล

.

ที่มา:

https://economictimes.indiatimes.com/news/environment/flora-fauna/emperor-penguin-at-serious-risk-of-extinction-due-to-climate-change/articleshow/91374745.cms

https://www.foxnews.com/science/emperor-penguins-extinction-risk

– https://nypost.com/2022/05/08/emperor-penguins-at-risk-of-extinction-experts-say/

.

ภาพ: Reuters

 

Tags: , , ,