ขึ้นชื่อว่ามนุษย์วัยทำงาน หรือวัยรุ่นที่ต้องทำกิจกรรมหลายอย่าง ‘กาแฟ’ มักเป็นเครื่องดื่มที่เหมาะแก่การกระตุ้นประสาทให้ตื่นตัวพร้อมรับทุกสถานการณ์ จากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยควิเบก (Quebec University) ประเทศแคนาดา พบว่ามีประชากรโลกบริโภคกาแฟมากถึง 2 พันล้านแก้วต่อวัน ขณะที่ชาวอเมริกันครองแชมป์ดื่มสูงสุดวันละ 3 แก้วต่อวัน

อย่างไรก็ดี นวัตกรรมกาแฟสำเร็จรูปประเภท ‘แคปซูล’ ที่หลายคนมองว่าสะดวกและเป็นที่นิยมถึงขั้นเบียดส่วนแบ่งตลาดธุรกิจกาแฟทั่วโลกราว 24% หรือมูลค่า 1.233 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 4 แสนล้านบาท) ในปี 2021 กลับกลายเป็นจำเลยสังคม หลังนักรณรงค์สิ่งแวดล้อมและนักวิชาการมองว่ามีส่วนในการสร้าง ‘คาร์บอนฟุตพรินต์’ (Carbon Footprint) จากการย่อยสลายโดยไม่จำเป็น เช่น แคปซูลที่ผู้ผลิตบางเจ้าใช้วัสดุพลาสติกหรืออะลูมิเนียมเป็นส่วนประกอบ ส่งผลให้บางเมือง เช่น ฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ออกกฎหมายแบนกาแฟแคปซูลตามอาคารสำนักงานในปี 2016

ทว่าเมื่อไม่นานมานี้ ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยควิเบกได้เผยผลงานวิจัยใหม่ที่ระบุว่า กาแฟแคปซูลอาจไม่ได้สร้างปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์มากเป็นอันดับหนึ่งตามที่เข้าใจกันมานาน

ทีมนักวิจัยแคนาดายืนยันผลงานวิจัยด้วยวิธีการวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) ที่เกิดจากวิธีการชงกาแฟทั้ง 2 แบบ คือผ่านเครื่องชงกาแฟแบบฝรั่งเศส (French Press) และผ่านเครื่องชงแคปซูลอัตโนมัติ ซึ่งทั้งสองจะต้องเตรียมกาแฟปริมาณ 280 มิลลิลิตร ทั้งนี้ การพิจารณาจะวัดภาพรวมตั้งแต่การผลิตเมล็ดกาแฟ จนถึงการฝังกลบย่อยสลายหลังชงเสร็จ

ผลสรุปของงานวิจัยนี้คือวิธีชงผ่านเครื่องชงกาแฟแบบฝรั่งเศส มีส่วนสร้างก๊าซเรือนกระจกมากกว่าเครื่องชงแคปซูลอัตโนมัติ โดยจุดวัดค่าความต่าง GHG อยู่ตรงที่ปริมาณการใช้เมล็ดกาแฟ ซึ่งกาแฟแบบแคปซูลถูกจำกัดไว้ชัดเจนว่าใช้เมล็ดไม่เกิน 11-13 กรัม ต่างจากเครื่องชงกาแฟแบบฝรั่งเศส ที่อาจมีปริมาณการใช้เมล็ดมากกว่า 13 กรัมขึ้นไป ขณะเดียวกันหากเป็นผู้ชงที่ไม่เชี่ยวชาญ อาจใช้จำนวนเมล็ดกาแฟเกินสัดส่วนความเป็นจริงถึง 20%

งานวิจัยยังเสริมอีกว่า วิธีการชงที่เป็นแชมป์ลดภาวะก๊าซเรือนกระจกคือ ‘กาแฟซองสำเร็จรูป’ เหตุผลเพราะใช้ปริมาณเมล็ดกาแฟจำนวนน้อย และใช้เวลาในการต้มน้อยกว่าการชงแบบอื่นๆ

อย่างไรก็ดี ปัญหาการสร้างก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมกาแฟ อาจไม่ได้อยู่ตรงปลายน้ำ แต่อยู่ที่ต้นน้ำ นั่นคือ ‘เกษตรกรรม’ ที่ไล่ตั้งแต่การเพาะปลูก ใส่ปุ๋ย พ่นยาฆ่าแมลง จนเก็บเกี่ยว ที่สามารถปล่อยค่า GHG ได้มากถึง 40-80%

“เราไม่ได้ต้องการสื่อว่าการชงแบบแคปซูลเป็นวิธีแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มหัศจรรย์ เพราะหากเกิดการกระตุ้นให้ผู้คนบริโภคพร้อมกัน ปัญหาดังกล่าวรวมถึงปัญหาขยะก็จะเกิดขึ้น แต่แคปซูลกาแฟที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ก็เป็นอีกหนึ่งทางออกที่ดี และภาพลักษณ์แย่ๆ ของกาแฟแคปซูลคงเตือนสติให้เรารู้จักหาข้อเท็จจริงก่อนจะปักใจเชื่อ” ลูเซียโน โรดริเกซ เวียนา (Luciano Rodrigues Viana) หนึ่งในทีมนักวิจัยกล่าว

ช่วงท้ายของงานวิจัยยังเผยอีกว่า หากต้องการมีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแต่ไม่อยากงดดื่มกาแฟ ทางออกที่สามารถทำได้ง่ายคือการกะเกณฑ์หัวเชื้อ (เอสเปรสโซ) ในปริมาณเหมาะสมที่ 50-100 มิลลิลิตรต่อการชง 1 ครั้ง หรือวัดตามขนาดภาชนะ เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียพลังงานโดยไม่จำเป็น

เห็นที ‘คอกาแฟ’ คงจะต้องปรับเปลี่ยนแนวทางบริโภค และตระหนักถึงทุกแก้วที่จิบกันมากขึ้น เพื่อผลลัพธ์สู่สิ่งแวดล้อมในอนาคตที่ดีกว่าปัจจุบัน 

 

ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-us-canada-64293750

https://coffeetalk.com/daily-dose/top-news/01-2023/96713/

https://www.euronews.com/green/2023/01/19/are-coffee-pods-better-for-the-environment-than-you-thought-new-research-offers-surprising

https://www.independent.co.uk/news/world/europe/hamburg-ban-germany-disposable-coffee-pods-packaging-a6887216.html

 

ภาพ: Getty Images

 

 

Tags: , , , , , , ,