หากแนวคิดเรื่อง ‘การขุดคอคอดกระ’ ในพื้นที่จังหวัดชุมพรและระนอง เพื่อย่นระยะทางขนส่งระหว่างทะเลฝั่งอันดามันกับอ่าวไทย โดยไม่ต้องอ้อมเส้นทางผ่านระหว่างแหลมมลายูสู่บริเวณช่องแคบมะละกา ถูกยกขึ้นมาในวงสนทนาเมื่อหลายสิบปีก่อน เชื่อว่าคงไม่มีคนไทยคนไหนที่ไม่รู้จักแนวคิดดังกล่าว

แต่ด้วยอุปสรรคด้านงบประมาณและความกังวลประการสำคัญ นั่นคือการ ‘แบ่งแยกแผ่นดินไทย’ ออกเป็นซีกเหนือกับซีกใต้ ทำให้การขุดคอคอดกระไม่เคยเกิดขึ้นจริง ทว่านำมาสู่แนวคิดใหม่กับการสร้าง ‘แลนด์บริดจ์’ (Landbridge) สะพานเศรษฐกิจที่เชื่อมเส้นทางการค้าโลกของสองชายฝั่งเข้าด้วยกัน ด้วยถนนทางหลวงและทางรถไฟ

เมื่อไม่นานนี้ รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยิบแผนการสร้างแลนด์บริดจ์ที่ใช้งบประมาณราว 1.2 ล้านล้านบาท มาปัดฝุ่นใหม่ เพื่อหวังช่วงชิงส่วนแบ่งการขนส่งบริเวณช่องแคบมะละกา ที่กำลังประสบปัญหาความแออัดของเรือขนส่งสินค้าที่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน

อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อกังวลด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมหลายประการ โครงการแลนด์บริดจ์ไม่เพียงกลายมาเป็นประเด็นถกเถียงที่ร้อนแรงบนโลกออนไลน์เท่านั้น แต่ยังเผชิญการคัดค้านและความไม่พอใจจากคนในพื้นที่ ในระหว่างเวทีรับฟังความคิดเห็นงานสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม

The Momentum มีโอกาสสนทนากับ ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนเพื่อชุมชน ที่ยืดหยัดร่วมต่อสู้กับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการต่างๆ มาอย่างยาวนาน ปัจจุบัน เธอคือกำลังหลักด้านกฎหมายของชาวบ้านในพื้นที่ชุมพร-ระนองตอนใต้ ในการแสดงเจตนารมณ์คัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ บนเวทีประชาพิจารณ์ที่จัดขึ้นเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2566

รัฐกำลังมัดมือชกให้คนในพื้นที่ ‘เสียสละ’ เพื่อประโยชน์ของประเทศ

ส.รัตนมณีเริ่มอธิบายว่า หากไม่นับผลประโยชน์ตามคำโฆษณา ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นจริงหรือไม่ ผลประโยชน์แท้จริงจากโครงการที่คนในพื้นได้รับตามหลักการมีเพียงข้อเดียว คือค่าทดแทนราคาที่ดินเวนคืน

“แต่หากอ้างอิงจากกรณีศึกษาที่เคยมีมา แทบไม่เคยมีกรณีไหนที่ชาวบ้านได้รับเงินเยียวยา ในปริมาณที่สมเหตุสมผลกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น เพราะรัฐไม่เคยจ่ายค่าเวนคืนที่ดินตามราคาซื้อขายในตลาด แต่ใช้เกณฑ์การจ่ายเงินตามราคาประเมินที่ดินสำหรับการเสียภาษี ซึ่งน้อยกว่าราคาจริงอย่างน้อย 2-3 เท่า

“นั่นหมายความว่า เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนไปเพื่อโครงการนี้ จะต้องเสียผลประโยชน์อย่างแน่นอน พอเราพูดแบบนี้ คนนอกก็มักจะบอกว่า ‘หากเสียผลประโยชน์ก็ไปฟ้องศาลปกครองเอาสิ’ แต่การฟ้องศาลปกครองขอค่าเวนคืนเพิ่ม มีอัตราความสำเร็จต่ำมาแต่ไหนแต่ไร เพราะศาลมักตัดสินโดยคำนึงถึง ‘ประโยชน์สาธารณะ’ ที่เกิดจากโครงการ แล้วเอาประเด็นนี้มาลดทอนมูลค่าเงินชดเชยที่ประชาชนควรได้รับจากการถูกบังคับให้ขายที่ดิน

“เหตุที่เราใช้คำว่า ‘บังคับขาย’ เพราะการเวนคืนเปรียบดังการมัดมือชกให้เสียสละที่ดิน โดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่แท้จริงชาวบ้านกลับไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการถูกบังคับนี้เลย”

ผลกระทบของถนนมอเตอร์เวย์และรถไฟรางคู่

หนึ่งในความจริงหลายประการที่สาธารณชนอาจไม่รู้ คือผู้คนในชุมชนที่อยู่รอบๆ แทบจะไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์จากถนนที่สร้างขึ้นในโครงการนี้ และหากพิจารณาจากแผนปัจจุบันของโครงการก็จะพบว่า ถนนเส้นนี้ถูกสร้างขึ้นในลักษณะของ ‘มอเตอร์เวย์’ กล่าวคือเป็นถนนที่ต้องจ่ายค่าผ่านทางเพื่อเข้าไปใช้งาน

“เมื่อก่อนชาวบ้านล้วนคิดว่าตนเองจะเข้าไปใช้พื้นที่ได้ ก่อนจะมาทราบภายหลังว่าไม่สามารถใช้ได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่สามารถใช้ได้อย่างสะดวกแน่นอน นอกจากจะมีข้อจำกัดเรื่องค่าผ่านทางแล้ว ทางเข้ามอเตอร์เวย์เองก็ไม่ได้มีครอบคลุมทุกตำบล และส่วนมากจะอยู่ห่างออกไปเป็นหลักอำเภอ

“ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น คือความกว้างของแลนด์บริดจ์นี้ ไม่ใช่แค่ถนนกว้าง 4-8 เลน เพียงเท่านั้น แต่ยังต้องคำนวณรวมกับความกว้างของทางรถไฟรางคู่ที่จะสร้างขนานไปกับถนนอีก ซึ่งรวมกันแล้วเป็นความกว้างในระดับที่จะทำให้ชาวบ้านบางส่วนสูญเสียพื้นที่ทำกินทั้งหมด”

ส.รัตนมณีระบุถึงกรณีข้อพิพาทนี้ก่อนจะเล่าต่อว่า อีกหนึ่งปัญหาที่พบเกิดขึ้นกับชาวบ้านกลุ่มที่มีที่ดินติดกันเป็นแนวยาว

“ทันทีที่ถนนแลนด์บริดจ์ถูกสร้างพาดผ่านที่ดินแนวยาวเหล่านี้ ชาวบ้านจะเข้าถึงที่ดินอีกแห่งซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแลนด์บริดจ์ได้ยากมาก จนกลายมาเป็นปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าจะมีการเยียวยาหรือแก้ไขอย่างไร”

ผลกระทบของท่าเรือน้ำลึก

การจะสร้างท่าเรือทั้ง 2 ฝั่งให้เป็นท่าเรือน้ำลึก ที่เรือเดินสมุทรแล่นเข้ามาเทียบท่าได้ จะต้องมีการถมทะเลเพื่อให้ตัวท่าอยู่ลึกเข้าไปจากชายฝั่งมากพอสมควร ซึ่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งที่ตามมาเรียกได้ว่า ‘มหาศาล’ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกาะต่างๆ ที่ทั้งสองจังหวัดพยายามสร้างมูลค่าจากการท่องเที่ยวทางทะเลกันมาอย่างยาวนาน ก็จะต้องรับแรงกระแทกอย่างหนักตลอดกระบวนการก่อสร้าง ยังไม่นับผลเสียหลังการก่อสร้างเสร็จสิ้น ที่เกิดจากการเป็นทางผ่านของเรือสินค้า

“ไหนจะวัสดุที่ใช้ถมทะเลอีก ปัจจุบัน เริ่มมีการขอประทานบัตรทำเหมืองหินทั้งในชุมพรและระนองไปบ้างแล้ว เพราะโครงการแลนด์บริดจ์จะต้องใช้หินปริมาณมหาศาลในการสร้าง สำหรับทั้งโครงสร้างถนน รางรถไฟ และการถมทะเล ถ้าถามว่าจะมาจากไหนได้อีก แน่นอนว่าต้องมาจากการทำเหมืองหินและระเบิดภูเขา หมายความว่าไม่ใช่แค่ในพื้นที่ระบบนิเวศเท่านั้น แต่เป็นภูเขาทั้งลูกหรืออาจจะหลายลูก ที่จะต้องหายไปในอนาคตอันใกล้นี้” ส.รัตนมณีกล่าวด้วยน้ำเสียงเป็นกังวล

รัฐจงใจสื่อสารข้อมูลอย่าง ‘ไม่ตรงไปตรงมา ไม่รอบด้าน ไม่ทั่วถึง’

ทันทีที่ถามถึงความพยายามในการสื่อสารข้อมูลของรัฐ ส.รัตนมณีหัวเราะก่อนจะตอบมาว่า ‘แทบไม่มี’ โดย 3 คำที่เธอใช้อธิบายวิธีการที่เจ้าที่หน้ารัฐใช้ ได้แก่

ไม่ตรงไปตรงมา

ไม่รอบด้าน

ไม่ทั่วถึง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด คือเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโครงการทางรถไฟรางคู่แลนด์บริดจ์ระดับ ค.2 ที่เพิ่งจัดขึ้น

“ต้องเท้าความก่อนว่า เวทีรับฟังความคิดเห็นจะมีทั้งหมด 3 ระดับ คือ ค.1 ค.2 และ ค.3 ตามหลักการแล้ว เวที ค.1 ที่เป็นระดับแรก ควรจะเป็นเวทีสื่อสารระดับสูงสุดที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงเป็นวงกว้าง เพราะถือเป็นขั้นแรกของการรับฟังและการตัดสินใจสิ่งต่างๆ

“แต่สิ่งที่เกิดขึ้น แทบไม่มีคนที่พื้นที่รู้เลยว่า ค.1 จัดขึ้นไปแล้วตอนไหน รู้ตัวอีกทีก็จะจัด ค.2 แล้ว ทำให้เกิดความมึนงงสับสนอย่างมากว่า จู่ๆ มันเลยเถิดมากถึง ค.2 อย่างไร จึงเป็นชนวนเหตุการประท้วงกันในงานว่า เหตุใดจึงไม่มีการสื่อสารเรื่องเวที ค.1”

รัตนมณีเล่าต่อว่า ที่น่าเจ็บใจยิ่งไปกว่านั้น คือเหตุที่เริ่มมีคนในจังหวัดรู้ว่าจะมีการจัดเวที ค.2 ก็เพราะว่าชาวบ้านด้วยกันเองอีกนั่นแหละที่เข้าไปทวงถาม จนภายหลังรัฐถึงมีประกาศกำหนดการเวที ค.2 หัวข้อทางรถไฟออกมา

“หากไม่ใช่เพราะชาวบ้านกลุ่มนั้นเริ่มตื่นตัวเรื่องโครงการ เชื่อได้เลยว่าข้อมูลเกี่ยวกับ ค.2 คงไม่มีทางมาถึงหูเราแน่นอน”

ความ ‘ไม่ตรงไปตรงมา’ ประการถัดมา คือวิธีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น รวมถึงการจัดทำการประเมินผลกระทบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) หรือสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment: EHIA) ของโครงการที่แยกย่อยออกเป็นส่วนเล็กๆ ไปเสียหมด

“ฟังดูเหมือนจะดี เพราะจะได้มีการประเมินอย่างละเอียดถึงกันทุกส่วน แต่จริงๆ แล้วมันคือวิธีการนำเสนอข้อมูลแบบ ‘เปิดส่วนนั้น ปิดส่วนนี้’ ไปทีละส่วนๆ ทำให้คนมองไม่เห็น ‘ภาพใหญ่’ ของผลกระทบทั้งหมด เพราะวิธีการประเมินแยกกันให้ผลกระทบดูน้อยกว่าความเป็นจริง

“ตลอดเวลาที่ผ่านมา ชาวบ้านตาสีตาสาทั่วไปจึงไม่สามารถจินตนาการภาพได้เลยว่า โครงการที่จะสร้างนั้นเป็นโครงการที่ใหญ่โตขนาดไหน ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการ นักกฎหมาย นักสิ่งแวดล้อม จึงต้องเข้าไปมีบทบาทในการเข้าไปเล่าให้ชาวบ้านฟังว่า จากนี้กำลังจะเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่บทบาทนี้ไม่ใช่หน้าที่ของเราเลย แต่เป็นหน้าที่ของรัฐทั้งนั้น” ทนายความหญิงอธิบาย

‘ความ (คาดหวังว่าจะ) เจริญ’ ที่ต้องแลกมากับการสูญเสีย

ส.รัตนมณีบอกเล่าต่อด้วยน้ำเสียงหนักแน่น ใจความว่าถึงคุณค่าของถิ่นทำกินผืนนี้ เธอยืนยันว่า หากโครงการแลนด์บริดจ์เดินหน้าต่อ ก็ต้องแลกมากับการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่ประเมินค่าไม่ได้

“พื้นที่บริเวณที่จะสร้างแลนด์บริดจ์ ทั้งในจังหวัดชุมพรและระนอง ส่วนใหญ่ถือเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ ‘สะอาดบริสุทธิ์’ ต้องใช้คำว่าสะอาดบริสุทธ์จริงๆ เพราะอยู่ห่างไกลจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากภาคอุตสาหกรรม

“นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง สวนทุเรียนของชาวบ้านแถวนี้เป็นแหล่งผลิตทุเรียนส่งออกระดับคุณภาพ ถึงขนาดที่ว่ามี ‘ล้ง’ (ธุรกิจรับซื้อผลไม้คนกลาง) จากต่างประเทศมารอรับถึงหน้าสวนแทบทุกวัน”

ในขณะที่จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันจังหวัดแรกบนด้ามขวานไทยอย่างระนอง มีประชากรน้อยที่สุดของประเทศ รวมทั้งสิ้นเพียง 1.8 แสนคน ถือเป็นจังหวัดสุดท้ายในประเทศไทยที่มี ‘พื้นที่ป่า’ อยู่ในเมืองอย่างแท้จริง ทำให้เป็นจังหวัดที่เลื่องชื่อเรื่องความเขียวชอุ่มร่มรื่นและอากาศบริสุทธิ์อันเป็นอานิสงส์จากผืนป่า

ส่วนชุมพรได้ชื่อว่าเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำหลักเมืองหนึ่งของภาคใต้ ทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ครบเครื่อง ทั้งด้านแร่ธาตุ ป่าไม้ ประมง ทรัพยากรทางทะเล ทรัพยากรทางการเกษตร และทรัพยากรการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ตั้งแต่ทะเล น้ำตก ภูเขา ไปจนถึงทะเลหมอก

ทันทีที่ท่าเรือน้ำลึกสองชายฝั่งทะเล ถนนมอเตอร์เวย์ และทางเดินรถไฟสร้างขึ้น ความเปลี่ยนแปลงถัดมาที่ยากจะหลีกเลี่ยงคือการเวนคืนที่ดินเพิ่มเติม เพื่อเอื้อให้เกิดนิคมอุตสาหกรรม ยังไม่นับรวมถึงความเปลี่ยนแปลงจากมลภาวะทางอากาศ เสียง และความสั่นสะเทือนของการจราจรที่แน่นขนัดบนเส้นทางสายแลนด์บริดจ์

เห็นทีคำโฆษณาที่ว่าการมาถึงของโครงการแลนด์บริดจ์ จะ ‘พลิกโฉม’ ภาคใต้ให้กลายเป็นระเบียงเศรษฐกิจ (Southern Economic Corridor: SEC) แห่งใหม่นั้น อาจถือว่าไม่เกินจริง เพราะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของเมกะโปรเจกต์ชิ้นนี้ มหาศาลพอที่จะทำให้ระนองและชุมพรที่เรารู้จักหายไปตลอดกาล

Tags: , , , , , , , ,