ยิ่งอากาศหนาวขึ้น ไฟตกแต่งส่องสว่างขึ้น เพลง Jingle Bells เปิดบ่อยขึ้น เราก็ยิ่งสุขมากขึ้น เพราะนั่นหมายถึงช่วงเวลาใกล้สิ้นปีที่เต็มไปด้วยเทศกาล โดยเฉพาะเทศกาล ‘คริสต์มาส’ ที่คนทั่วโลกต่างรอคอยร่วมฉลอง โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติและศาสนา
แต่นอกจากจะเป็นช่วงเวลาแห่งการให้และการรับแล้ว เทศกาลคริสต์มาสรวมถึงปีใหม่ยังเป็นช่วงเวลาแห่งการ ‘ทิ้ง’ ขยะมากมาย ที่ส่วนมากเพิ่งผ่านการใช้เพียงครั้งเดียว อย่างต้นคริสต์มาสและวัสดุตกแต่ง หรือที่เลวร้ายกว่านั้น คือของขวัญที่ยังไม่ผ่านการใช้เพราะไม่ถูกใจ และอาหารจากงานเลี้ยงมากมายที่ยังรับประทานได้ แต่ไม่มีใครต้องการ
มีการเก็บข้อมูลขยะคริสต์มาสในสหราชอาณาจักรพบว่า ชาวอังกฤษทิ้งขยะครัวเรือนมากขึ้น 30% จากช่วงเวลาปกติ ซึ่งคิดเป็นน้ำหนักรวมประมาณ 3 ล้านตันทั่วประเทศ
ทิ้งของขวัญที่ไม่ถูกใจรวมเป็นมูลค่ากว่า 42 ล้านปอนด์
ทิ้งการ์ดอวยพรวันคริสต์มาสกว่า 3 แสนตัน เป็นปริมาณมากพอจะเติมเต็มพื้นที่ในหอนาฬิกาบิ๊กเบนได้ 2.6 แสนครั้งในทุกปี
ทิ้งอาหารกินเหลือจากงานเลี้ยงกว่า 54 ล้านจาน เป็นไก่งวง 2.6 แสนตัว มินต์พาย 7.5 ล้านถาด น้ำเกรวี่ 9.8 ล้านถ้วย มากพอที่จะเติมสระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิกจนเต็ม และอาหารอื่นๆ อีกมากมาย
ทิ้งของตกแต่งจากพลาสติกกว่า 1 แสนตัน เป็นน้ำหนักเท่ากับกวางเรนเดียร์ประมาณ 6 แสนตัว
นี่คือตัวเลขขยะจากเฉพาะสหราชอาณาจักรเท่านั้น ยังไม่นับประเทศอื่นๆ ที่มีวัฒนธรรมเฉลิมฉลองคริสต์มาส รวมถึงประเทศพหุวัฒนธรรมอย่างไทย ที่โอบรับเทศกาลคริสต์มาสได้อย่างไม่ปิดกั้น แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเมืองพุทธก็ตาม
ในขณะที่ภาพขยะกระทงล้นตามแหล่งน้ำ และตัวเลขปริมาณขยะกระทงที่คนไทยบริโภคในแต่ละปี ต่างเป็นข้อมูลที่เราเห็นจนคุ้นชิน แต่เราไม่เคยสังเกตเห็นผลกระทบจากคริสต์มาสเป็นภาพหรือตัวเลขที่เป็นรูปธรรมเช่นนี้มาก่อน เพราะคิดว่านี่ไม่ใช่วัฒนธรรมหลักของไทย
แต่ในความเป็นจริง ขยะจากคริสต์มาสมีผลกระทบต่อทุกคน และน่ากลัวว่าประชากรในประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา อาจมีเหตุให้ต้องเตรียมรับมือกับขยะคริสต์มาสในระยะยาวยิ่งกว่าประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย เพราะสุดท้าย ขยะที่ชาติตะวันตกไม่สามารถกำจัดได้ด้วยตัวเอง มักมีจุดจบอยู่บ่อขยะใน ‘ประเทศโลกที่สาม’ สักที่บนโลก
การฉลองคริสต์มาสอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงถือเป็นหนึ่งวาระสำคัญแห่งฤดูเทศกาลที่ไม่ควรมองข้าม อาจฟังดูเหมือนทำจริงได้ไม่ง่ายนัก แต่หากเราเพียงเริ่มต้นจากการคำนึงถึง 3 สิ่งดังต่อไปนี้ ขั้นตอนอาจไม่ซับซ้อนอย่างที่คิด
1. แลกของขวัญอย่างมีสติ
เพื่อป้องกันไม่ให้ของขวัญที่เราตั้งใจเลือกจำต้องกลายเป็นขยะที่ผู้รับไม่ต้องการ เราควรพยายามไตร่ตรองถึงความเหมาะสมของของขวัญชิ้นนั้นๆ ต่อผู้รับให้มากขึ้น
แน่นอนว่าถามไถ่ความต้องการของกันและกันได้โดยตรง และเลือกมอบเป็นของขวัญที่อีกฝ่ายต้องการและสามารถใช้ได้จริง ย่อมเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แต่หากเป็นกรณีที่เราไม่รู้ว่าใครจะได้รับของขวัญนี้ไป อาจลองเลือกเป็นสิ่งของที่ไม่ว่าใครก็ใช้ประโยชน์ได้
หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้น อาจลองพิจารณาลดรอยเท้าคาร์บอนของทั้งเราในฐานะผู้ให้และอีกฝ่ายในฐานะผู้รับ ด้วยการลองมองหาของมือสองสภาพดีมาส่งต่อเป็นของขวัญที่เป็นมิตรต่อโลก
2. ส่งเสริมการรียูสวัสดุตกแต่ง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าวัสดุตกแต่งคือปัจจัยสำคัญที่สร้างขยะคริสต์มาสให้กับโลกมากเป็นอันดับหนึ่ง โดยแทบไม่ต้องพูดข้ามไปถึงประเด็นอุตสาหกรรมต้นสนเพื่อนำมาทำเป็นต้นคริสต์มาส สิ่งแรกที่เราทำได้ทันทีและทำได้ง่ายที่สุด โดยเริ่มจากปีนี้ คืออย่าลืมเก็บของตกแต่งทั้งหมดเอาไว้ เพื่อนำมาใช้ใหม่ในปีถัดไป และลดการซื้อวัสดุเดิมๆ ซ้ำในปีถัดไป
3. อาหารงานเลี้ยงที่ยังอร่อยอยู่ในวันถัดมา
ตู้เย็นคือมิตรแท้ของอาหารงานเลี้ยง ที่ไม่เพียงช่วยลด Food Waste เท่านั้น แต่ยังช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้ เพื่อให้เราสามารถสำรองทุนทรัพย์เอาไว้ใช้ทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์กว่า ในเดือนธันวาคมแห่งจับจ่ายใช้สอยเช่นนี้
นอกจากจะเก็บเอาไว้อุ่นหรือครีเอตเมนูใหม่ๆ มารับประทานกันเองภายในบ้านได้ การบริจาคอาหารเหล่านี้ให้กับคนไร้บ้านและชุมชนผู้ยากไร้ ยังเป็นตัวเลือกที่มอบโอกาสให้เราได้สัมผัสจิตวิญญาณของเทศกาลแห่งการให้ ไปพร้อมกับการต่อลมหายใจให้กับผู้ที่ต้องการ
อ้างอิง
https://www.theguardian.com/sustainable-business/christmas-waste-green-recycling
https://www.bbc.co.uk/bitesize/articles/ztdccmn
https://www.businesswaste.co.uk/christmas-waste-facts-its-not-very-jolly/
https://www.gwp.co.uk/guides/christmas-packaging-facts/
Tags: ปีใหม่, Christmas Waste, Festive Waste, ขยะคริสต์มาส, ขยะเทศกาล, Environment, คริสต์มาส