ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 เพจเฟซบุ๊ก ‘ชมรม STRONG ต้านทุจริตจังหวัดสุราษฎร์ธานี’ ได้เผยแพร่ภาพหน้าจอที่บันทึกมาจากบัญชี Tiktok ส่วนตัวของนักท่องเที่ยวรายหนึ่ง พร้อมแคปชันว่า

ชาวบ้านสงสัย ตรงนี้สร้างได้หรือครับ

โดยภาพหน้าจอดังกล่าว ประกอบด้วยภาพถ่ายมุมสูงของอาคารหินขนาดย่อม ที่ถูกสร้างขึ้นบริเวณบนโขดหินริมทะเล และได้รับการตกแต่งอย่างสวยงามให้กลมกลืนไปกับธรรมชาติ พร้อมข้อความที่ระบุว่า นี่คือห้องพัก ‘C5C’ ที่ได้ชื่อว่าจองยากหนักหนาของ ‘เคปชาร์ควิลล่า’ (Cape Shark Villas) รีสอร์ตหรูชื่อดังแห่งเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ต่ออย่างรวดเร็วบนโลกโซเชียลฯ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ถึงความโปร่งใสของการอนุญาตให้ก่อสร้าง รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของอาคารที่พักดังกล่าว ร้อนไปถึงเทศบาลตำบลเกาะเต่า รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเจ้าท่า สำนักงานสิ่งแวดล้อม และสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ ทำให้ต้องส่งหนังสือแจ้งระงับการใช้อาคารไปยังรีสอร์ตภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง

เขียนงบไปเท่าไรถึงได้สิทธิมาสร้าง

มีเงินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีอิทธิพลด้วย

สร้างมานมนานหลายปี รุกล้ำแน่นอนและยังมีอีกหลายหลัง ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐไม่รู้เห็น ไม่เอี่ยว จะสร้างขนาดนี้ได้อย่างไร”

วันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จึงสั่งการเร่งด่วนให้ ยุทธพล อังกินันทน์ (ที่ปรึกษา) จตุพร บุรุษพัฒน์ (ปลัดกระทรวง) และชีวะภาพ ชีวะธรรม (หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง) นำกำลังเจ้าหน้าที่ของกระทรวงและศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องหลังการก่อสร้างอาคาร

จากการตรวจสอบพบว่า ห้องพักหรูดังกล่าวไม่ได้ยื่นเอกสารขออนุญาตก่อสร้างและเช่าที่ดินจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่สุราษฎร์ธานีอย่างถูกต้อง ทั้งตั้งอยู่ในเขตที่ราชพัสดุ แปลงหมายเลขทะเบียน สฏ.588 ท้องที่ตำบลเกาะเต่า อำเภอพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตพื้นที่ใต้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามประกาศของ ทส. เมื่อปี 2557

ลักษณะสถาปัตยกรรมของรีสอร์ตแห่งนี้ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียว จำนวน 1 หลัง ขนาด 48 ตารางเมตร โดยตัวอาคารก่อสร้างทับหาดหิน ทำให้ทัศนียภาพบริเวณหาดเสียหาย เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพของหาดไปจากเดิม ตลอดจนเคลื่อนย้ายและตัดแต่งโขดหินที่มีอยู่ตามธรรมชาติ โดยรวมมีความผิดที่แน่นอนแล้ว 3 ข้อหา ได้แก่

1. ยึดถือ ครอบครองและรุกล้ำพื้นที่ราชพัสดุ โดยไม่มีสิทธิชอบด้วยกฎหมาย

2. ไม่มีการแจ้งขออนุญาตก่อสร้างและใช้งานอาคาร ถึงสำนักงานธนารักษ์พื้นที่สุราษฎร์ธานีหรือเทศบาลตำบลเกาะเต่า

3. ละเมิดประกาศคุ้มครองสิ่งแวดล้อมหลายประการ อาทิ ความสูงของอาคารจากระดับน้ำทะเลท่วมถึง การปล่อยน้ำทิ้งลงทะเลที่เป็นแหล่งน้ำสาธารณะของแผ่นดินโดยไม่บำบัด

ทั้งนี้ มีอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ เพราะหากลองค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับรีสอร์ตเพิ่มเติม จะพบว่า ‘ห้อง C5C’ หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘The Hideaway Villa’ ของเคปชาร์ควิลล่านั้น มีชื่อเสียงเลื่องลือในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่สนใจเกาะเต่ามาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยมีกระทู้ Consumer Review ในห้องเที่ยวไทยของเว็บไซต์พันทิปมาตั้งแต่ปี 2561 และมีภาพถ่ายอาคารที่เผยแพร่ในเพจของรีสอร์ตมาตั้งแต่ปี 2557

ขณะเดียวกันชาวบ้านเกาะเต่าต่างรู้กันดีว่า ทั่วทั้งเกาะมีสถานที่พักแบบนี้แค่ที่เดียวเท่านั้น เป็นเหตุให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าพักต้องจองคิวกันข้ามปี นอกจากทิวทัศน์ที่สวยงามและบรรยากาศสดชื่นใกล้ชิดทะเล วิลล่าห้องนี้ยังมาพร้อมห้องซาวน่าริมหาด ระเบียงกว้างขวาง อุปกรณ์ครัวครบครัน และทางเข้าที่มีความเป็นส่วนตัว แม้แต่คนมีชื่อเสียงอย่าง นุ่น-วรนุช ภิรมย์ภักดี และคิมเบอร์ลี แอน โวลเทมัส ยังเคยแวะเวียนมาเข้าพัก

ภาพ: เพจ Cape Shark Villas

เบื้องต้น สุนิสา ลาพอร์ท เจ้าของรีสอร์ตและบริษัท เคปชาร์ค พูล วิลล่า จำกัด ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่และยอมรับผิดทุกข้อกล่าวหา พร้อมยืนยันว่าตนทำไปโดยไม่รู้ข้อกฎหมาย จึงยินดีรื้อถอนอาคารและรับผิดชอบฟื้นฟูพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้กลับคืนสู่สภาพเดิม

อย่างไรก็ดี ชื่อเสียงของรีสอร์ต ตลอดจนข้อมูลที่สืบค้นเจอได้อย่างง่ายดายข้างต้น ทำให้เชื่อได้ยากว่า การมีอยู่ของอาคารที่ผิดกฎหมายนี้ จะรอดพ้นหูตาของเจ้าหน้าที่รัฐ 

ฉะนั้นคำถามสำคัญคือ เหตุใดเจ้าหน้าที่รัฐจึงปล่อยให้รีสอร์ตเปิดบริการมายาวนานกว่า 5 ปี โดยปราศจากการตรวจสอบใดๆ และผลักภาระหน้าที่ตรวจสอบให้เป็นของภาคประชาชน

นับว่าโชคดีที่ในครั้งนี้ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนในสื่อโซเชียลฯ นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม แต่ขณะเดียวกัน หลายฝ่ายที่เข้ามาร่วมแสดงความเห็นก็ได้คอมเมนต์บอกเป็นนัยว่า นอกจากเกาะเต่าแล้ว ยังมีสิ่งปลูกสร้างที่น่าสงสัยอีกหลายแห่ง ที่อาจรุกล้ำเขตผืนป่าสงวน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่า ชายหาด เกาะ หรือดอยต่างๆ โดยมีเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานรัฐคอยอำนวยความสะดวกอยู่เบื้องหลัง

ลำพังเพียงรื้อถอนอาคารที่พักออกอย่างเดียวคงไม่พอสำหรับประเทศไทย การแก้ไขในส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการผลักดันให้มีการรื้อสร้างระบบป้องกันการทุจริตเสียใหม่ เพราะหากภาครัฐที่เกี่ยวข้องดูแลตรวจสอบพื้นที่เหล่านี้อย่างโปร่งใส เข้มแข็ง และสม่ำเสมอ ประชาชนทั่วประเทศที่รวมตัวกันจัดตั้งชมรมต่อต้านทุจริต คงไม่ต้องทำงานหนักอย่างที่เป็นอยู่

ที่มา

https://www.komchadluek.net/news/local/552201

https://mgronline.com/south/detail/9660000056919

https://mgronline.com/south/detail/9660000057881

https://mgronline.com/travel/detail/9660000058180

https://pantip.com/topic/38069085

Tags: , , , , , , , , ,