ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยสเตอร์ลิง (University of Stirling) ประเทศสก็อตแลนด์ ได้ทำการเก็บตัวอย่างขยะทะเลจากชายหาด 10 แห่ง รอบแนวปากแม่น้ำเฟิร์ทออฟฟอร์ท (Firth of Forth) พบว่า บนขยะทะเลจำนวนมหาศาลที่เกยตื้นบนหาดนั้น ไม่ต่างจากแหล่งกักเก็บเชื้อโรคนานาชนิด โดยเฉพาะแบคทีเรียอีโคไล (E. coli) ที่สามารถอยู่อาศัยในขยะพลาสติกได้เป็นอย่างดี

ศาตราจารย์ ริชาร์ด ควิลเลียม (Richard Quilliam) ผู้นำทีมวิจัยเผยว่า ขยะทะเลที่พบว่ามีเชื้อโรคอยู่อาศัยมากที่สุด ส่วนใหญ่มาจากทิชชูเปียกและสำลีก้านที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว โดยเชื้อโรคนานาชนิดที่ติดมากับขยะเหล่านี้ บางสายพันธ์ุก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ แต่อีกหลายสายพันธ์ุก็สามารถอยู่ได้นานพอที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ที่ไปสัมผัสกับขยะเหล่านี้ เช่น แบคทีเรียเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) หรือที่รู้จักกันว่า อีโคไล ชนิดที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษและท้องเสียรุนแรง เมื่อแบคทีเรียชนิดนี้ออกจากร่างกายมนุษย์ผ่านของเสียและไปสัมผัสกับขยะทะเลชิ้นอื่นๆ พวกมันจะทำการปรับตัวให้ขยะทะเลเหล่านั้นกลายเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราว เพื่อใช้สิ่งมีชีวิตและขยะทะเลที่เชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ชอบเป็นพิเศษ เช่น ขยะจำพวกพลาสติก ที่มีความคงทนและย่อยสลายยาก เป็นพาหนะชั่วคราวในการส่งต่อเชื้อโรค

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังพบอีกว่า แบคทีเรียสายพันธุ์วิบริโอ (Vibrio) บางชนิดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์ สามารถอยู่อาศัยบนขยะทะเลจำนวนมาก ไม่ต่างจากในตัวของมนุษย์ และเมื่อนำแบคทีเรียเหล่านี้เข้าสู่ห้องแล็บ พบว่าแบคทีเรียเหล่านี้สามารถปรับตัวและมีอัตราการดื้อต่อยาปฏิชีวนะสูงมากจนผิดปกติ

ศาสตราจารย์ยังกล่าวเสริมอีกว่า ขยะที่นำมาตรวจสอบเป็นเพียงขยะที่ลอยมาเกยตื้นบนชายหาดเท่านั้น ซึ่งหากไปตรวจสอบในบริเวณที่มีการปล่อยสิ่งปฏิกูลลงสู่แม่น้ำและทะเลโดยตรง อาจค้นพบสิ่งที่น่าตกใจมากกว่านี้ และเห็นใจกับสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ซึ่งกำลังหันมาทำร้ายมนุษย์เอง หากทุกคนไม่ช่วยกัน คงเป็นเรื่องยากในการจัดการปัญหาต่างๆ

อย่างไรก็ดี การใช้พลาสติกไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิด แต่สิ่งที่ควรรณรงค์ คือการจัดการคัดแยกขยะ ส่วนที่สามารถรีไซเคิลได้ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่เป็นขยะต้องมีการดูแลจัดการที่ดีและได้มาตรฐานเพียงพอ ที่สำคัญ คือต้องไม่ให้ของเสียเหล่านี้ตกไปถึงทะเล จนกระทั่งปล่อยให้ทะเลเป็นผู้รับชะตากรรม ส่วนเรื่องของสิ่งแวดล้อมคงไม่สามารถให้ใครเป็นผู้แบกรับปัญหาไปได้ตลอด ดังนั้น ทั้งภาครัฐและภาคประชาชนต้องช่วยกันจัดการ โดยเฉพาะปัญหาขยะทะเลเหล่านี้

ที่มา

https://www.bbc.com/…/uk-scotland-tayside-central-61594833

https://www.technologynetworks.com/…/harmful-bacteria…

Tags: , , ,