วิกฤตทางสภาพภูมิอากาศมีส่วนผลักดันให้ผู้คนทั่วไปเกิดความวิตกกังวลต่อระบบนิเวศในปัจจุบัน โดยงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า การถดถอยลงเรื่อยๆ ของสิ่งแวดล้อมย่อมส่งผลต่อมนุษย์ทุกคนบนโลก บางคนอาจรู้สึกถึงผลกระทบน้อย บางคนอาจรู้สึกว่าได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก และมีหลายคนที่กำลังวิตกกังวลถึงความแปรปรวนของธรรมชาติโดยที่ไม่รู้ตัว และความเครียดนี้จะส่งผลต่อความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกของคู่รักหลายคู่

สหรัฐอเมริกาเคยทำผลสำรวจด้านสิ่งแวดล้อมในปี 2019 พบว่า 38 เปอร์เซ็นต์ ของคนช่วงวัย 18-29 ปี นำเรื่องความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศมาอยู่ในปัจจัยการเลือกคู่ชีวิตหรือการวางแผนสร้างครอบครัว นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ชาวอเมริกันหนึ่งในสามที่อายุระหว่าง 20-45 ปี มองว่าสภาพอากาศที่แปรปรวนจะต้องทำให้หวนกลับมาคิดทบทวนถึงอนาคตของลูกตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม

ลอรา โวเวลส์ (Laura Vowels) นักบำบัดด้านความสัมพันธ์ของแอพพลิเคชันบำบัดเรื่องทางเพศ Blueheart กล่าวว่า ลูกค้าหลายรายเข้ามาปรึกษาวิธีแก้ปัญหาอาการวิตกกังวลหรือโรคเครียด เพราะพวกเขารู้สึกว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมกระทบต่อความสัมพันธ์ส่วนตัว

ความวิตกกังวลด้านสิ่งแวดล้อมที่ว่ามีทั้งเรื่องเล็กๆ อย่างการจินตนาการว่าคู่เดตของตัวเองจะใส่ใจสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เป็นคนที่มีแนวคิดรุ่นใหม่หรืออนุรักษนิยม ร้านที่กำลังจะไปเดตกันเป็นร้านที่มีแนวคิดฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ไปจนถึงกระทั่งเรื่องการมีเพศสัมพันธ์และการวางแผนมีบุตร รวมทั้งการตั้งคำถามว่าวิธีการคุมกำเนิดใดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุด และหากจะมีลูกต้องคิดถึงปัจจัยใดบ้าง สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและสังคมที่อยู่เหมาะสมต่อการมีบุตรมากน้อยแค่ไหน

เรื่องราวเหล่านี้ฟังดูน่าเหลือเชื่อ จนเกิดการตั้งคำถามตามมาอีกว่า อากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยกับวิกฤตสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกและการสร้างครอบครัวจริงหรือ คำตอบตอบที่ได้คือเป็นได้กับหลายครอบครัว แต่ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นกับทุกความสัมพันธ์ของทุกคน เช่น ครอบครัวที่อาศัยอยู่ใจกลางเมืองในประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศด้อยพัฒนา มักเผชิญกับปัญหาค่าฝุ่นที่พุ่งสูงอยู่ตลอดเวลา บางพื้นที่เผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัดหรือหนาวจัด หรือพื้นที่ที่มีภัยพิบัติบ่อยครั้ง ทำให้บางคนเริ่มกลับมาคิดทบทวนว่าสภาพอากาศแบบนี้เหมาะสมต่อเด็กที่กำลังจะเกิดมาในอนาคตมากน้อยแค่ไหน

ส่วนบางคนก็อาจเผชิญกับความเครียดในบางเรื่องที่ไม่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง เช่น ความกังวลเรื่องการกำจัดถุงยางอนามัย (มักถูกถกเถียงในประเทศที่มีระบบการจัดการขยะย่ำแย่) เพราะบางคนกังวลไปถึงขั้นว่าถุงยางอนามัยใช้แล้วของเขาจะสร้างมลพิษทางทะเล

ข้อมูลขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ใน 1 ปีมีการผลิตถุงยางอนามัยประมาณหมื่นล้านชิ้น เมื่อใช้แล้วมักกำจัดด้วยการฝังกลบเพราะไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ รวมถึงส่วนประกอบของถุงยางอนามัยมักเต็มไปด้วยสารเคมี และมีเพียงไม่กี่ยี่ห้อเท่านั้นที่ใช้วัสดุยั่งยืนหรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เมื่อมองว่าถุงยางสร้างภาระกับโลก จึงเกิดการคิดต่อไปว่ามีวิธีคุมกำเนิดแบบไหนอีกบ้าง และสุดท้ายมักจบลงด้วยการให้ฝ่ายหญิงกินยาคุมกำเนิดหรือทำหมัน แต่วิธีการเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ปลอดภัยจากโรคติดต่อทางเพศ ส่วนฝ่ายหญิงก็ได้รับผลกระทบจากการกินยาคุม เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพภายหลัง ประกอบกับในสังคมปัจจุบันที่การสวมถุงยางอนามัยขณะมีเซ็กซ์เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ด้วยข้อจำกัดยุ่งยากที่บางคนเกิดความรู้สึกคิดไม่ตก ส่งผลให้ความต้องการทางเพศลดน้อยลงเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว

โวเวลส์แสดงความคิดเห็นถึงสถานการณ์ดังกล่าวว่า “เราจะเห็นคนจำนวนมากเลือกที่จะไม่มีลูก เพราะคิดว่าลูกน้อยของตัวเองจะต้องเผชิญกับผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศแบบไหน หนักหนากว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้หรือไม่ นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่จะส่งผลต่อความวิตกกังวลขณะมีเพศสัมพันธ์ และทำให้ความสุขทางเพศลดลง”

แคร์รี นักพิล (Carrie Nakpil) นักจัดพอดแคสต์ด้านสิ่งแวดล้อม วัย 26 ปี ที่ทำงานอยู่ในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นหนึ่งในผู้ที่มองเห็นปัญหาและความวิตกกังวลที่ว่านี้ เธอกล่าวว่ามีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่สำรวจอัตราการมีลูกในประเทศพัฒนาแล้ว และพบว่ายิ่งอัตราการเกิดเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ การสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 58.6 ตันต่อปี เพราะยิ่งมีคนเยอะมากขึ้น การบริโภคก็จะสูงขึ้น และจะทำลายธรรมชาติมากขึ้นตามไปด้วย

มีบางครอบครัวถึงขั้นตัดสินใจรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมแทนการวางแผนตั้งครรภ์ โดยอ้างว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายธรรมชาติ (ประมาณว่ารับเลี้ยงเด็กที่ลืมตาดูโลกแล้วดีกว่า) เคสเหล่านี้ทำให้นักพิลมองว่า ในโลกแห่งความจริง เป็นเรื่องยากมากที่คนรักสิ่งแวดล้อมจะรักษาความสัมพันธ์ข้างกายกับรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการทำความเข้าใจและหาจุดกึ่งกลางคือสิ่งสำคัญที่ต้องทำให้ได้

ส่วน ลอรา โวเวลส์ แสดงความคิดเห็นว่า คู่รักที่ซีเรียสเรื่องสิ่งแวดล้อมควรเปิดอกคุยสิ่งที่กังวลกับคู่รักของตัวเอง แนะนำให้จัดลำดับความสำคัญและหาวิธีแก้ปัญหาไปทีละเรื่อง เพื่อทำความเข้าใจในมุมมองที่อาจมองต่างกัน

Tags: , , , ,