‘ซีรีส์วาย’ กลายเป็นที่นิยมในหลายประเทศในละแวกเอเชียตะวันออกและในประเทศจีน แต่ปัจจุบันเมืองหลวงของซีรีส์วายอยู่ไม่ใกล้ไม่ไกล ที่ประเทศไทยนี่เอง
อะไรทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของการผลิตและส่งออกเนื้อหาสายวาย มันเริ่มมาจากไหน วันนี้ขอพาย้อนดูความเป็นมาสักหน่อย
พูดถึงเรื่องของต้นตำรับสายวาย คงหนีไม่พ้นญี่ปุ่น คำว่า ‘วาย’ ก็เอามาจากวัฒนธรรมมังงะของญี่ปุ่นประเภทที่เรียกว่า ‘ยาโออิ’ (Yaoi) หมายถึง มังงะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างชายรักชาย หรือ ‘บอยส์เลิฟ’ (Boys’ Love) กลุ่มเป้าหมายทางการตลาดก็ชัดเจนแต่แรก คือไม่ใช่เพื่อเกย์ แต่เพื่อนักอ่านผู้หญิงเป็นหลัก ถึงกับมีคำพูดที่ว่า “นี่เป็นมังงะจากนักเขียนผู้หญิงเพื่อนักอ่านผู้หญิง”
เพื่อจะเข้าใจตลาดของนักอ่านของญี่ปุ่น ต้องอธิบายขยายความว่า ในญี่ปุ่นนั้นมีการแบ่งกลุ่มนนักอ่านมังงะอย่างชัดเจนไว้พอสมควร ในการออกนิตยสารมังงะที่รวมงานนักเขียนเด่นๆ ของแต่ประจำสัปดาห์ สำนักพิมพ์จะพยายามเลือกงานเขียนของเซ็นเซหรืออาจารย์ที่มีงานเขียนไปในแนวทางเดียวกันเพื่อตอบสนองต่อกลุ่มแฟนๆ นักอ่าน เช่น กลุ่มมังงะโชโจ (Shoujo) ก็เน้นเนื้อหาที่เจาะกลุ่มวัยรุ่นหญิง (ซึ่งก็จะมีมังงะบอยส์เลิฟอยู่ในนี้ด้วย) กลุ่มมังงะโชเน็น (Shounen) เน้นนักอ่านกลุ่มวัยรุ่นวัย 12-18 ปี และยังมีนิตยสารมังงะกลุ่มไซเนน (Seinen) ก็เน้นกลุ่ม Young Adult และ โจเซอิ (Josei) จะซึ่งเน้นกลุ่มผู้หญิงที่เป็นผู้ใหญ่หรืออายุมากกว่า 40 ขึ้นไป เป็นต้น
นั่นคือความชัดเจนของวัฒนธรรมการอ่านของคนญี่ปุ่น ทว่ามังงะในหมวดบอยส์เลิฟมีการจำแนกแยกย่อยออกไปหลากหลายประเภท เช่น เนื้อหาที่ไม่เน้นเรื่องเพศ แต่เน้นไปที่ความสัมพันธ์ของตัวละคร หรือเน้นความสัมพันธ์แบบนิยายรักโรแมนติก หรือจะเป็นแฟนตาซีสุดโต่ง ไม่มีพล็อต ไม่มีความเกี่ยวเนื่อง ไม่ต้องการความจริง มุ่งความบันเทิงเป็นหลักก็มี
เอาเป็นว่าเพื่อให้เข้าใจตรงกัน การพูดถึงวัฒนธรรม ‘วาย’ ต้นตำรับคือญี่ปุ่น
จุดเริ่มต้นของมังงะบอยส์เลิฟ เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางราวต้นทศวรรษ 1690 เมื่อนิตยสารแนวโชเน็น (การ์ตูนสำหรับเด็กผู้ชาย) เริ่มนำเสนองานเขียนลักษณะที่เรียกว่าบิโชเน็น (bishounen แปลว่า เด็กชายแสนสวย) มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเด็กชายและชายหนุ่มที่โตกว่าและหลงรักกันและกัน ซึ่งถือเป็นการนำเสนอที่แปลกใหม่ในสมัยนั้น มีการวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า นี่เป็นมังงะที่เฉยเมยต่อความไม่ชัดเจนของความสัมพันธ์ของตัวละคร แต่ขณะเดียวกันก็ดูน่าติดตาม
งานเขียนนิยาย (สมัยก่อนนิตยสารรายสัปดาห์เหล่านี้มีงานเขียนทั้งแบบมังงะและนิยายให้อ่าน) ที่ดังที่สุดในยุคนั้นคือ A Lovers’ Forest โดยโมริ มาริ (Mori Mari) เนื้อหาว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างศาสตราจารย์กับคนรักที่อายุน้อยกว่าของเขา ซึ่งงานเขียนของโมริ มาริได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานหลายอย่างของนิยายและมังงะบอยส์เลิฟของญี่ปุ่นในเวลาต่อมา ว่ากันว่าผลงานของโมริและนักเขียนในยุคเริ่มต้นกระแสบอยส์เลิฟนั้นได้รับอิทธิพลจากทั้งวรรณคดียุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณคดีกอธิก (Gothic) ที่มักมีฉากหลังที่พูดถึงคนที่อยู่นอกกรอบของสังคม หรือตัวละครที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว เช่น คนหนึ่งมีการศึกษาร่ำรวย แต่อีกคนเป็นทาส หรือมีความแตกต่างของอายุอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงฉากเพ้อฝันที่ดูเหนือจริงผนวกกับอิทธิพลวรรณกรรมอีโรติกของอเมริกันช่วงกลางของทศวรรษ 1950 ที่เน้นเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องเพศ แต่ก็มีเนื้อหาที่น่าติดตาม จนเกิดนเป็นแนวงานเขียนที่เรียกว่า ‘เกคิกะ’ (Gekiga) คือการใช้มังงะบอกเล่าเรื่องราวที่จริงจัง
เกคิกะเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างมังงะที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่สมจริง เปิดทางสำหรับมังงะเข้าไปสำรวจและบอกเล่าเรื่องเพศของมนุษย์ในบริบทที่ไม่ใช่ภาพลามกอนาจาร แต่มีเหตุผลและจริงจัง โดยมุ่งเป้าไปผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่ขึ้น ในปี 1969 การ์ตูนสำหรับเด็กผู้หญิงของ ฮิเดโกะ มิซูโนะ (Hideko Mizuno) เรื่อง Fire! ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Shoujo Manga พูดถึงตัวละครชายรักเพศเดียวกันในวัฒนธรรมร็อกแอนด์โรลของอเมริกา เป็นหนึ่งในมังงะได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อวงการมังงะบอยส์เลิฟของญี่ปุ่น
หนึ่งในนักเขียนที่โด่งดังที่สุดของมังงะสายบอยส์เลิฟในยุคนั้นอีกคนก็คือ เคอิโกะ ทาเคมิยะ (Keiko Takemiya) ที่สร้างชื่ออย่างมากจากการเขียนมังงะท้าทายบรรทัดฐานทางเพศและขอบเขตทางเพศในมังงะ โดยเฉพาะเรื่องดังที่สุดของเธอ Kaze to ki no uta (The Poem of Wind and Trees) ถือเป็นมังงะแนวบอยส์เลิฟเรื่องแรกที่มีเนื้อหาโจ่งแจ้ง เช่น การข่มขืน การใช้ยาเสพติด การรักร่วมเพศ และความกลัวเพศทางเลือก สำนักพิมพ์ของเธอปฏิเสธที่จะพิมพ์งานดังกล่าวอยู่นาน แต่ทาเคมิยะเองยืนกรานจะไม่เปลี่ยนแปลงงานของเธอ ซึ่งตอนนั้นเธอโด่งดังและอยู่ในชั้นแนวหน้าของมังงะบอยส์เลิฟแล้วอย่าง The Door into Summer เธอใช้เวลากว่าเก้าปีกว่าที่ Kaze to ki no Uta จะได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร Shoujo Comic ในปี 1976 และเขียนต่อเนื่องมาอย่างยาวนานจนถึงปี 1984 รวมทั้งหมด 17 เล่ม แม้ว่าเนื้อที่อาจดูรุนแรง แต่ก็ได้รับความนิยมและเป็นที่กล่าวถึงว่าเป็นหมุดหมายสำคัญอีกหนึ่งเหตุการณ์ของมังงะสายวายหรือยาโออิ (Yaoi) ของญี่ปุ่น
ช่วงปี 1970 ก็เกิดนิตยสารมังงะรายเดือนอย่าง JUNE ซึ่งก็ถือว่าเป็นก้าวย่างสำคัญในประวัติศาสตร์บอยส์เลิฟเช่นกัน เพราะนิตยสารมังงะเล่มนี้นำเสนอเนื้อหาที่ชัดเจน ที่เน้นที่โครงเรื่องและตอนจบที่น่าสลดใจของคู่รักชายรักชาย นิตยสารนี้มีอิทธิพลมาก จนคำว่า ‘มิถุนายน’ เองยังคงเชื่อมโยงและเป็นตัวแทนของวัฒนธรรมบอยส์เลิฟ และลามไปถึงวัฒนธรรมเกย์ รวมถึงข้ามมาถึงเมืองไทยอีกด้วย (ในช่วงที่นิตยสารสำหรับชายรักเพศเดียวกันเมื่อสัก 20 ปีก่อน ก็มีนิตยสารที่ชื่อ มิถุนา เกิดขึ้นเช่นกัน) อีกทั้งยังมีการเกิดขึ้นของกลุ่มนักเขียนที่เรียกตัวเองว่า ‘Year 24 Group’ ซึ่งเป็นการรวมกันของกลุ่มนักเขียนหญิงที่เขียนมังงะบอยส์เลิฟในสไตล์ที่เรียกว่า Shoujo manga คือมังงะที่เน้นเขียนเรื่องราวที่เจาะกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นผู้หญิงเป็นหลัก ยิ่งทำให้บทบาทของมังงะที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชายรักชายเติบโตและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง
คาซูมิ นากาอิเกะ (Kazumi Nagaike) รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยโออิตะ เป็นหนึ่งในนักวิจารณ์เกี่ยวกับวัฒนธรรมมังงะแบบบอยส์เลิฟว่า ในสังคมญี่ปุ่น ผู้ชายที่อ่านบอยส์เลิฟนั้นมีไม่มาก ผู้ชายที่อ่านก็ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่เรื่องเพศหรือความสัมพันธ์แบบชายรักชาย แต่รู้สึกผูกพันกับตัวละครมากกว่า หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ก็เหมือนผู้ชมเพศชายที่ชอบดูซีรีส์จีนอย่าง ปรมาจารย์ลัทธิมาร (The Untamed) ซึ่งกว่าจะรู้ว่าเป็นซีรีส์วายก็ชอบดูไปแล้ว เพราะรู้สึกผูกพันกับตัวละครและมิตรภาพ ที่แม้จะดูเกินเพื่อนไปบ้าง
เงื่อนไขหนึ่งที่เป็นปัจจัยใหญ่ไม่แพ้กันก็คือ ในสังคมญี่ปุ่นนั้นยึดถือผู้ชายเป็นใหญ่ ค่านิยมรักร่วมเพศของญี่ปุ่นมีมานานมากและพบได้ทั่วไป ในสังคมซามูไรมีคำเรียกความรักระหว่างพวกเดียวกันเองว่าชูโดะ (Shudo) ในแวดวงละครคาบูกิก็เรียกความสัมพันธ์แบบนี้ว่าคาเกมะ (Kagema) การรักชอบกันของผู้ชายด้วยกันเองส่วนหนึ่งมาจากการมีพื้นที่สาธารณะให้ผู้หญิงยุคก่อนน้อยมาก ตัวตนและเรื่องราวของผู้หญิงญี่ปุ่นขาดความหลากหลาย แม่แบบของผู้หญิงญี่ปุ่นวนเวียนอยู่กับนางรำ ความเป็นแม่เป็นเมียเท่านั้น การได้เห็นบทบาทของผู้ชายที่โลดแล่น ฟาดฟัน และกดขี่กันเอง หรือกระทั่งรักกันเอง เป็นภาพที่ผู้หญิงญี่ปุ่นอาจดูคุ้นเคยและรับได้ ในมุมหนึ่งอาจดูสมเหตุสมผลมากกว่าการเขียนให้ผู้หญิงเก่งและมีบทบาทเหมือนผู้ชายเสียด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน โลกของมังงะบอยส์เลิฟที่เคยเป็นเรื่องที่เขียนโดยผู้หญิงเพื่อผู้หญิงกำลังจะเปลี่ยนไป เพราะเริ่มมีนักเขียนชายอย่าง โคจู อาโออิ (Kujou Aoi) มังงะของเขามีการแปลเป็นไทยหลายเรื่องเช่น อุณหภูมิความรัก หรืองานเขียนของ ซากุระ ไฮอิจิ (Sakura Haiji) ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย
ปัจจุบันคลื่นของมังงะแบบบอยส์เลิฟถูกเปลี่ยนมาเป็นซีรีส์วาย แพร่หลายออกไปทั่วเอเชียตะวันออก ซีรีส์วายกลายเป็นหนึ่งในรายได้หลักของประเทศไทยที่ส่งออก Soft Power ไปยังหลายประเทศ
จุดเด่นที่ทำให้ไทยสามารถสร้างซีรีส์วายได้อย่างน่าสนใจ ส่วนหนึ่งก็มาจากการรับอิทธิพลที่เราได้รับจากมังงะจากญี่ปุ่นที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทย พร้อมๆ กับการเข้ามาลงทุนของกลุ่มทุนจากญี่ปุ่นในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลต่อวิธีคิดหลายๆ อย่างในการสร้าง Soft Power ของไทยโดยเฉพาะคนในเจนเนอเรชันเอ็กซ์ ซึ่งรับอิทธิพลเหล่านี้มาเต็มๆ
แต่นอกเหนือจากนั้น สิ่งที่เอื้อให้เกิดพัฒนาซีรีส์วายอีกอย่างหนึ่งคือโครงสร้างวัฒนธรรมของประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้เคียงในเอเชียตะวันออกหรือในประเทศที่มีอุตสาหกรรมบันเทิงใหญ่กว่าเราอย่างฮ่องกงหรือไต้หวัน ที่พอจะมีสื่อที่เกี่ยวข้องกับชายรักชายออกมาบ้าง แต่ก็ไม่สามารถสร้างเอกลักษณ์ของเนื้อเรื่องแบบบอยส์เลิฟหรือขึ้นมาได้
แม้แต่อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ ซึ่งถือว่าครองส่วนแบ่งของอุตสาหกรรมบันเทิงในเอเชียไว้ได้มากที่สุดแห่งหนึ่งก็ยังยาก เนื่องจากซีรีส์วายค่อนข้างขัดกับค่านิยมแบบชายเป็นใหญ่ของเกาหลี ซึ่งยังเป็นสังคมปิดสำหรับเนื้อหาแบบบอยส์เลิฟ แม้ว่านักร้องเกาหลีจะดูมีเอกลักษณ์หลายๆ อย่างที่เข้าเค้ากับความเป็นไบโชเน็นหรือ ‘เด็กชายแสนสวย’ ก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถสร้างบริบทหรือเนื้อหาให้น่าเชื่อถือได้ เพราะโครงสร้างทางวัฒนธรรมอาจไม่ได้ยืดหยุ่นเรื่องเพศมากเท่ากับไทย ไอดอลเกาหลีจึงเป็นได้แค่ภาพลักษณ์ที่หยิบยืมมาจากวัฒนธรรมญี่ปุ่น แต่ไปไม่ถึงการสร้างเนื้อเรื่องมารองรับภาพลักษณ์นั้นได้อย่างแนบเนียนเหมือนอย่างซีรีส์วายไทย
แม้แต่ญี่ปุ่นเองก็เช่นกัน เมื่อมาเป็นซีรีส์วายที่มีนักแสดงเป็นคนจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในสังคมญี่ปุ่น เพราะเมื่อมันดู ‘จริง’ เกินไป คนญี่ปุ่นเองก็รับไม่ได้ และตลาดไม่ได้ใหญ่เหมือนกับมังงะ เพราะคนญี่ปุ่นลึกๆ ก็มีปัญหากับการเผชิญความจริงอยู่เหมือนกัน กลายเป็นมังงะหรืออนิเมะเป็นพื้นที่ในการแสดงออกที่ดูเหมาะสมกว่า
ความโชคดีจึงตกมาอยู่ที่ไทย ที่เปิดกว้าง รักสนุก รักญี่ปุ่น และปรับตัวเก่ง
อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า ตัวเลขคร่าวๆ ของอุตสาหกรรมซีรีส์วายตอนนี้ว่าน่าจะอยู่ที่ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ซีรีส์วายของประเทศไทยได้รับความนิยมมากในไต้หวัน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศในละตินอเมริกา ตัวเลขของซีรีส์วายที่ถูกผลิตในปี 2020 กว่า 24 เรื่อง ความสำเร็จของละครอย่าง นิทานพันดาว หรือ แปลรักฉันด้วยใจเธอ และอีกหลายๆ เรื่อง ทำให้อุตสาหกรรมซีรีส์วายของไทยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐอย่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) อย่างจริงจัง
แต่ก็เป็นตลกร้าย ในประเทศที่เปิดโลกทัศน์ของซีรีส์วาย ประเทศไข่แดงที่แวดล้อมด้วยประเทศมุสลิม ประเทศที่ถูกภายใต้โครงสร้างวัฒนธรรมจีนซึ่งให้ความสำคัญกับชายเป็นใหญ่ ประเทศไทยเต็มไปด้วยโอกาสที่จะพัฒนาให้โลกเห็นการเป็นประเทศที่เปิดกว้างหลากหลาย แต่ดูเหมือนเรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นแต่ในละคร
เพราะเมื่อย้อนดูชีวิตจริงของเราแล้ว โอกาสของสายวาย ‘ตัวจริง’ นั้นดูไม่ง่ายเหมือนละคร
Tags: Entertainment Weekly Round-Up, มังงะวาย, บอยส์เลิฟ, Boys’ Love, ซีรีส์, มังงะ, ซีรีส์วาย