วันนี้ (11 มีนาคม 2024) สถาบันแห่งศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์ (AMPAS) จัดงานประกาศผลรางวัล Academy Awards หรือออสการ์ (Oscars) ประจำปี 2024 โดยตลอดเวลาเกือบ 3 ชั่วโมง ภายในงานมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

1. ปรากฏการณ์ของ Oppenheimer ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นสุดยอดหนังประจำปี

หลังถูกพูดถึงและเป็นกระแสมาตลอดตั้งแต่ช่วงกลางปี 2023 ทั้งในเรื่องความนิยมที่เป็นเหมือนตัวจุดชนวนให้คนหันกลับมาดูหนังในโรงอีกครั้ง ในช่วงเวลาที่เข้าฉายไล่เลี่ยกับเรื่อง Barbie รายได้ที่กอบโกยไปกว่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกทั้งยังทำให้เหล่าทีมนักแสดงมากมาย โดยเฉพาะ คิลเลียน เมอร์ฟี (Cillian Murphy) นักแสดงนำเจ้าของบท เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) ถูกจดจำ

แม้ในช่วงต้นปี 2024 ผลงานเรื่องนี้ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) คว้ารางวัลไปมากมาย ทั้งจากเวทีลูกโลกทองคำ (Golden Globes), BAFTA 2024 และ Critics’ Choice Awards รวมถึงถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 13 สาขา แต่ก็ถูกท้าท้ายจากมวยรองที่เป็นหนังนอกกระแส เช่น Poor Things, Zone of Interest และ American Fiction ที่มีสิทธิปาดหน้าแซงคว้ารางวัลเช่นกัน

อย่างไรก็ดี สุดท้าย Oppenheimer ก็สามารถกวาดรางวัลออสการ์ถึง 7 สาขา ทั้งรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม, รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม, รางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม, รางวัลตัดต่อภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, รางวัลดนตรีประกอบยอดเยี่ยม, รางวัลงานถ่ายภาพยอดเยี่ยม และรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ถือเป็นการลบเครื่องหมายคำถาม พร้อมพิสูจน์ว่านี่เป็นอีกหนึ่งภาพยนตร์ทรงคุณค่าอย่างแท้จริง 

2. ปีแห่ง ‘ครั้งแรก’ ของใครหลายคน

คริสโตเฟอร์ โนแลน, คิลเลียน เมอร์ฟี และโรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ (Robert Downey Jr.) แม้ทั้ง 3 รายจะมีชื่อเสียงระดับโลกและได้รับการยอมรับในโลกฮอลลีวูด แต่เชื่อหรือไม่ว่าพวกเขากลับไม่เคยคว้ารางวัลออสการ์สักครั้ง แต่ที่น่าประหลาดใจกว่านั้นคือ พวกเขาสามารถคว้ารางวัลตุ๊กตาทองคำพร้อมกันจากเรื่อง Oppenheimer

ก่อนหน้านี้ โนแลนเคยได้รับการเสนอชื่อในสาขารางวัลผู้กำกัดยอดเยี่ยมมาแล้วจากเรื่อง Dunkirk (2017) ด้านดาวนีย์ จูเนียร์ในครั้งนี้ถือเป็นการเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 3 แล้วสำหรับตัวเขา และในรายของเมอร์ฟี เพิ่งได้รับการเสนอชื่อในเวทีนี้ครั้งแรก

ก่อนที่สุดท้าย พวกเขาทั้งสามคว้ารางวัลออสการ์ครั้งแรกไปครองอย่างภาคภูมิ ได้แก่ รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมของโนแลน, รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมของเมอร์ฟี และรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมของดาวนีย์ จูเนียร์

และที่น่าตื่นเต้นกว่านั้น คือการคว้ารางวัลสาขาวิชวลเอฟเฟกต์ของภาพยนตร์เรื่อง Godzilla: Minus One ที่แม้จะจำกัดโซนฉายแค่ในประเทศญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา แต่ราชันย์แห่งสัตว์ประหลาดก็สามารถสั่นสะเทือนเวทีออสการ์เป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี โดยที่ ทากาชิ ยามาซากิ (Takashi Yamazaki) กลายเป็นบุคคลที่ 2 ในประวัติศาสตร์ ที่สามารถคว้ารางวัลดังกล่าวในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์และผู้ควบคุมวิชวลเอฟเฟกต์ ต่อจาก สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) จากภาพยนตร์เรื่อง Space Odyssey เมื่อปี 1968

3. ปีแห่งการถูกหลงลืมของหนังบางเรื่อง

เมื่อมีผู้แพ้ก็ต้องมีผู้ชนะ เพราะนอกจากความสำเร็จของ Oppenheimer แล้ว ในอีกมุมหนึ่งเราได้เห็นการไปไม่ถึงฝั่งฝันของหนังที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลอีกหลายเรื่อง 

โดยเฉพาะ Barbie ผลงานของผู้กำกับ เกรตา เกอร์วิก (Greta Gerwig) ที่สร้างปรากฏการณ์ร่วมกับ Oppenheimer ในช่วงกลางปี 2023 จนเกิดเป็นปรากฏการณ์​ ‘Barbenheimer’ ขณะเดียวกันยังสามารถถ่ายทอดประเด็นเสียดสีคติชายเป็นใหญ่อย่างเฉียบคม 

ถึงกระนั้น ในการประกาศรางวัลออสการ์ครั้งนี้ Barbie กลับคว้าไปได้เพียงแค่รางวัลเดียว คือรางวัลเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเพลง What Was I Made For? ของ บิลลี อายลิช (Billie Eilish)

แต่ที่ต้องเผลออุทานดังๆ ว่า ‘ช็อกซินีม่า’ คงจะหนีไม่พ้นภาพยนตร์เรื่อง Killers Of The Flower Moon ของปรมาจารย์ มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงถึง 10 สาขา ทว่ากลับไม่ได้รางวัลติดมือกลับบ้านสักรายการเดียว แม้กระทั่งรางวัลสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมที่ ลิลลี แกลดสโตน (Lily Gladstone) เป็นตัวเต็งก็ชวดไปเสียอย่างนั้น

นอกจากนี้ยังมี Past Lives ผลงานของ ซีลิน ซง (Celine Song) และ Maestro ของผู้กำกับ แบรดลีย์ คูเปอร์ (Bradley Cooper) ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิง แม้จะเอาชนะใจคนดูแต่ยังไม่ชนะใจกรรมการ นั่นจึงน่าเสียดายอยู่นิดๆ ที่หนังเหล่านี้ไม่สามารถคว้ารางวัลใดกลับไป

4. สปีชที่กินใจต้องยกให้ The Zone of Interest

แม้ช่วงเช้าของวันนี้ เราจะเห็นทีมงานและนักแสดงของ Oppenheimer ผลัดกันขึ้นมาพูดขอบคุณและกล่างถึงความสำเร็จครั้งนี้เป็นระยะ เช่น โนแลนที่กล่าวขอบคุณทีมงานยกใหญ่, คิลเลียน เมอร์ฟีที่ขอมอบรางวัลที่ได้มาแก่ทุกสันติภาพบนโลก กระทั่งดาวนีย์ จูเนียร์ที่ขอบคุณศรีภรรยาที่เคี่ยวเข็น และคอยประคบประหงมจนกลายเป็นนักแสดงมากคุณภาพ

แต่หากจะมีรางวัลการขึ้นพูดบนเวทีประจำปีนี้ คงต้องขอมอบให้ โจนาธาน เกลเซอร์ (Jonathan Glazer) ผู้กำกับจาก The Zone of Interest หนังที่จิกกัดและสะท้อนความเลวร้ายในค่ายกักกันเชลยศึกของกองทัพนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

ภายหลังที่หนังเรื่องนี้คว้ารางวัลหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม เกลเซอร์ขึ้นรับรางวัลและย้ำถึง ‘สาร’ ของหนัง ที่ย้ำเตือนถึง ‘การลดทอนความเป็นมนุษย์’ ที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด

“ภาพยนตร์เรื่องนี้ คือการหล่อหลอมอดีตและปัจจุบันออกมาให้เห็นภาพว่า การลดทอนความเป็นมนุษย์โดยคนกลุ่มหนึ่ง นำไปสู่จุดที่เลวร้ายที่สุดของสังคมอย่างไร

“ตอนนี้ เรายืนอยู่ตรงนี้ในฐานะผู้ปฏิเสธความเป็นยิว และความหมายของโฮโลคอสต์ที่ถูกฉกฉวยไป จนนำไปสู่ความขัดแย้งต่อผู้บริสุทธิ์ ทั้งเหยื่อในวันที่ 7 ตุลาคมในอิสราเอล และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกาซา เหยื่อทั้งหมดคือการลดทอนความเป็นมนุษย์ เราจะต่อต้านสิ่งนี้ได้อย่างไร”เกลเซอร์กล่าวขณะขึ้นรับรางวัล

Tags: , , , , , ,