ในช่วงวันที่ 14-25 พฤษภาคม 2024 แฟนๆ ภาพยนตร์ต่างจับจ้องไปยังเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ครั้งที่ 77 (2024 Cannes Film Festival) ที่หลายคนต่างเฝ้ารอการเดินพรมแดงของเหล่านักแสดงและทีมงานจากเรื่องต่างๆ ติดตามกระแสของหนังที่ได้รับฉายภายในงานว่า ถูกอกถูกใจเหล่านักวิจารณ์หรือไม่ รวมถึงลุ้นไปกับการประกาศผลรางวัลว่า เรื่องที่ชื่นชอบนั้นจะคว้ารางวัลติดไม้ติดมือกลับมาได้กี่รางวัล
ทว่าในปีนี้ อีกหนึ่งสิ่งที่ผู้คนต่างจับจ้องคือการเป็นประธานกรรมการตัดสินรางวัลของ เกรตา เกอร์วิก (Greta Gerwig) ผู้กำกับจากเรื่อง Barbie เนื่องจากตลอด 77 ปี ที่จัดเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ มีผู้หญิงเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้ดำรงตำแหน่งนี้
ซึ่งนอกจากความคาดหวังในการคัดเลือกหนังสำหรับปีนี้แล้ว แฟนๆ ยังให้ความสนใจในประเด็นสังคมที่เกิดขึ้นกับวงการภาพยนตร์ฝรั่งเศส ทั้งกรณีของ Sous les écrans la dèche (Broke Behind the Screens) กลุ่มแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฝรั่งเศส ที่รวมตัวประท้วงเพื่อให้แก้กฎหมายแรงงาน รวมถึงกระแสต่อต้านการปฏิบัติและล่วงละเมิดทางเพศ หรือ #MeToo ที่เป็นกระแสขึ้นหลัง จูดิธ โกเดรช (Judith Godrèche) นักแสดงชาวฝรั่งเศส เล่าถึงเหตุการณ์ที่เธอถูกล่วงละเมิดทางเพศโดย ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) โปรดิวเซอร์ชื่อดัง ในระหว่างที่เธอมาโปรโมต ภาพยนตร์เรื่อง Ridicule (1996) ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีนั้น
ทั้งสองประเด็นนี้ เกรตาซึ่งเป็นเหมือนหัวเรือใหญ่ของงานในปีนี้ ให้สัมภาษณ์ว่า เธอสนับสนุนและเห็นด้วยกับกลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องในทั้งสองประเด็นที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้
“ฉันอยู่ฝั่งขบวนการแรงงานอย่างแน่นอน ในประเทศของฉัน (สหรัฐอเมริกา) เราผ่านเรื่องนี้มาแล้ว ซึ่งทางออกของเรื่องนี้คือ การร่วมพูดคุยและสร้างข้อตกลงที่เหมาะสมสำหรับทุกฝ่าย เพราะฉันเชื่อมั่นเป็นอย่างมาก ว่าการจะทำอะไร เราต้องได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับแรงงานและผลลัพธ์ที่ทำลงไป”
“เรื่อง #MeToo ฉันว่ามันก็เหมือนกับที่สหรัฐอเมริกา ที่ผู้คนเริ่มออกมาพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้น มันไม่ได้อยู่แค่ในฮอลลีวูด แต่ยังรวมถึงแวดวงหนังในพื้นที่อื่นๆ มันเป็นสิ่งที่ดีนะ ฉันสนับสนุน สิ่งเหล่านี้คือการเดินไปข้างหน้าที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดพื้นที่ในการพูดคุยและสื่อสารในเรื่องที่ไม่เคยพูดมากยิ่งขึ้น”
สุดท้าย เกรตามองว่า แม้จะใช้เวลานานกว่าพื้นที่อื่น แต่ปัญหาต่างๆ ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฝรั่งเศสก็เริ่มถูกพูดถึงมากขึ้นในสังคม ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ดังนั้นจึงต้องติดตามต่อไปว่า ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านต่างๆ จะร่วมรับฟังและแก้ปัญหากับทั้งสองประเด็นนี้ต่อไปอย่างไรบ้าง
อ้างอิง
https://www.indiewire.com/news/festivals/greta-gerwig-cannes-metoo-scandal-strike-1235004361/
Tags: เกรตา เกอร์วิก, metoo, Cannes Film Festival, เทศกาลภาพยนตร์คานส์, Me Too ฝรั่งเศส